นพพร สุวรรณพาณิช

บังเอิญเมื่ออยู่ในวัยอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ไม่เคยอ่านเรื่องยาวแลไปข้างหน้าเลย จะได้อ่านบ้างก็เป็นนวนิยายต่างประเทศ เพราะเรียนหนังสืออยู่ในต่างแดน  กระนั้นก็ตาม มีผู้บอกว่าแลไปข้างหน้า คล้าย Little Master อยู่บ้าง  เมื่อลองอ่านแล้วก็เห็นว่าไม่คล้ายกันนัก อีกทั้งโครงเรื่องก็ต่างกัน แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้นนั้นมีอยู่ และคล้ายกันอย่างยิ่ง

เรื่อง Little Master หรือเจ้าชายน้อย เขียนโดย นัตสุเมะ โซเซกิ นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Botchan หรือ “บทซัง” แปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๗๒ (พ.ศ. ๒๕๑๕) แต่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๐๒ (พ.ศ. ๒๔๔๕)  Little Master เป็นเรื่องราวของคนใช้ที่มองดูพฤติกรรมเจ้านายว่ามีความแตกต่างอย่างไรบ้างกับตัวเขา

นัทสุเมะ โซเซกิ คล้ายนักเขียนยุโรปมากกว่านักเขียนอังกฤษ ยุคพระนางเจ้าวิกตอเรียนั้น วรรณคดีอังกฤษไม่คล้ายคลึงกับญี่ปุ่น แต่วรรณคดีอเมริกัน เอ็ดการ์ด แอลเลน โป มีส่วนที่นิยมกันมากในญี่ปุ่นยุคพระเจ้าเมอิจิ จนในที่สุดมีคำขวัญว่า “ใช้เทคโนโลยีตะวันตก แต่มีจิตใจญี่ปุ่น”  ความหวังของญี่ปุ่นคือการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง และการทหารที่ไม่มีชาติใดสามารถพิชิตได้  ขณะเดียวกันก็ไม่สูญเสียสิ่งอันเป็นความไพเราะและศีลธรรมของญี่ปุ่น

แม้ในยุคใหม่ซึ่งสหรัฐฯ กำลังอุบัติขึ้นในยุคพระเจ้าเมอิจิก็ตาม วัฒนธรรมของทั้งสองประเทศก็ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในรสนิยมการอ่าน แม้ว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่ชอบอ่านงานของ เซอร์วอลเตอร์ สกอต ชาวอังกฤษที่เขียนนิยายในยุคกลางก็ตาม แต่วรรณคดีอเมริกันนั้นชอบเขียนถึงผู้หญิงกับความรู้สึกในใจ เศร้า น่ากลัว และโหยหวน แต่มีความสบายในอารมณ์ โดยเขียนถึงความรักที่มีความทุกข์ยากและกลัดกลุ้มในใจ ดังเช่น The age of innocence ที่เขียนโดยนักเขียนนวนิยายอเมริกัน อีดิท วอร์ตัน  นักประพันธ์อเมริกันที่เคร่งขรึมเอาจริงเอาจัง กลับมองว่าไม่น่าอ่านหรือไม่ควรสนใจนัก

วรรณคดียุคโตกุกาว่าซึ่งมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนญี่ปุ่น มักบรรยายถึงสิ่งที่สิงสู่ในใจคนญี่ปุ่น เช่น เรื่องความสะดวกสบาย เรื่องของหญิงแพศยากับคนร่ำรวยที่แวะเวียนมาเกี้ยวเธอ ตลอดจนอารมณ์ที่ผันแปรไปของพวกเขา  ทั้งหมดนี้เป็นวรรณคดีญี่ปุ่นที่ได้รับการสรรเสริญและคำนิยม แต่พอถึงตอนปลายของยุคโตกุกาว่าก็ตกต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

บรรดานักประพันธ์ญี่ปุ่นสนใจเพียงแต่การนินทาที่ไม่มีความหมายและหนังสือที่ไร้รูปแบบ  เมื่อญี่ปุ่นเริ่มค้นหาวรรณคดีตะวันตกจึงไม่สนใจวรรณคดีที่มีค่าและควรสนใจ  ในบรรดานักเขียนเหล่านี้ ก็ได้เกิดนักประพันธ์ญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดขึ้น คือ นัทสุเมะ โซเซกิ ซึ่งเคยไปอาศัยอยู่ที่อังกฤษ และ โมริ โอไง ซึ่งเคยอยู่เยอรมนีถึง ๔ ปี  ในที่สุดวรรณคดีเหล่านี้ก็เป็นที่สนใจของชาวญี่ปุ่น แต่วรรณคดีอเมริกันมีแต่ แอลเลน โป เท่านั้นที่คนญี่ปุ่นยุคเมอิจิชอบอ่าน แม้ไม่เกี่ยวกับชนชั้นก็ตาม

ภาษาในวรรณคดีอเมริกันแตกต่างจาก นัทสุเมะ โซเซกิ ไม่น้อย  เดวิด ทอโร ใช้ภาษาที่เสียดสี กะลาสีเรือ เช่น เฮอร์มัน เมลวิลล์ ในนวนิยายโมบีดิ๊ก ใช้ภาษาไม่เหมือนกับภาษาญี่ปุ่น  ส่วนภาษาบริติชอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาที่ใช้เมื่ออ่านภาษาอเมริกันของมาร์ก ทเวน  กระนั้นนักเขียนเหล่านี้ก็เป็นคนอเมริกัน  คนญี่ปุ่นเห็นว่านักเขียนอเมริกันจบเรื่องแบบที่ตัวเอกเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่แยกเด็ดขาดจากกันและกัน ทว่าญี่ปุ่นสนใจดอกไม้ที่ปลิวไสว ไม่เก็บดอกไม้ที่ตกลงสู่พื้น

กระนั้นนวนิยายญี่ปุ่นเหมือนกับการทำสวนญี่ปุ่น มีสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการ” หรือ process และเป็นกระบวนการที่ไม่จบลงสิ้นสุดเด็ดขาดลงไป

นัทสุเมะ โซเซกิ เปรื่องในวรรณคดีสามประเทศ นั่นคือ ญี่ปุ่น จีน และอังกฤษ งานของเขาได้รับการอ่านและเคารพ เพราะโซเซกิมีความสามารถหลายอย่างคล้าย กุหลาบ สายประดิษฐ์  ทั้งสองคนเป็นบุคคลที่ปราดเปรื่องในเรื่องวรรณคดีต่างชาติและแปลงานไว้หลายชิ้นด้วยกัน

โซเซกิรู้สึกกระอักกระอ่วนกับภาษาและวรรณคดีอังกฤษ แต่เมื่อใช้บ่อยๆ ในวิชาชีพก็เริ่มคุ้นเคย  ตอนแรกเป็นนักเรียนในวิชานี้ ต่อมาเป็นครูสอนชั้นมัธยมตอนปลาย เป็นนักเรียนทุนไปเรียนที่อังกฤษ และในที่สุดก็ศึกษากับ ลาฟคาดิโย เฮิร์น ปราชญ์อเมริกันซึ่งเข้าใจสังคมญี่ปุ่นเป็นอย่างดี และเป็นยุคที่คนญี่ปุ่นอ่านงานของเขา

กุหลาบ สายประดิษฐ์ และภรรยาคุณชนิด ซึ่งเรียนจบทางอักษรศาสตร์ ได้เรียนและไถ่ถามภาษาอังกฤษจาก ดร. ดำเนิน การเด่น ดุษฎีบัณฑิตจากฮาร์วาร์ด ผู้แปลงานฟ้าบ่กั้นของ คำสิงห์ ศรีนอก เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์หลายครั้งโดยโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด  กุหลาบและ “จูเลียต” หรือชนิด ได้ถามปัญหาในการแปลงานภาษาอังกฤษหลายอย่างกับเขา ทั้งก่อนและหลังการเดินทางไปออสเตรเลีย  ดร. ดำเนิน เคยเป็นคนอเมริกัน ต่อมาโอนสัญชาติเป็นคนไทย และเคยเป็นอาจารย์กฎหมายที่ธรรมศาสตร์ซึ่งกุหลาบเคยเรียน

กุหลาบอาจคล้ายกับโซเซกิบ้างที่เป็นกระบวนการที่ยังไม่จบลง  กุหลาบเขียนเรื่องแลไปข้างหน้า เพียงภาคปฐมวัยและภาคมัชฌิมวัยเท่านั้น  เรื่องแรกๆ ของโซเซกิและกุหลาบไม่ประสบผลสำเร็จทันที มีความใหม่ในการเขียนอยู่ และฝีมือของทั้งสองอาจยังไม่สูงนัก  โซเซกิเขียนเรื่องฉันคือแมว ซึ่งเป็นการมองโลกด้วยสายตาของมนุษย์ที่แตกต่างกันระหว่างครอบครัวร่ำรวยกับครอบครัวปัญญาชนซึ่งมองดูทุกอย่างด้วยปัญญา แต่ไม่สามารถแก้ไขสังคมได้ เป็นการเสียดสีสังคมอย่างหนึ่ง  นวนิยายทำนองนี้ของโซเซกิมีคนอ่านและนิยมอยู่มาก แม้ไม่ใช่นวนิยายที่ดีที่สุดก็ตาม

ในทำนองเดียวกัน นวนิยายของกุหลาบมิได้สำเร็จผลโดยทันที ในช่วง ๓๐ ปีเศษที่คุณกุหลาบเขียนเรื่องนั้น แลไปข้างหน้า และข้างหลังภาพ เป็นนวนิยายที่เขียนขึ้นในช่วงหลังได้อย่างดีเลิศ

กระนั้นแลไปข้างหน้าไม่เหมือนวรรณคดีอเมริกันที่มีตัวเอกเป็นคนที่โดดเดี่ยว บางครั้งก็เป็นบุคคลที่เพื่อนมนุษย์ไม่คบหาด้วย เป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งแวดล้อม  สังคมอเมริกันเป็นดินแดนที่กว้างใหญ่เท่ายุโรปทั้งหมด  ความกว้างใหญ่นี้ทำให้พระเอกอเมริกันอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากกว่าอยู่รวมกลุ่ม

แต่วรรณคดีอังกฤษมักสมจริงมากกว่าวรรณคดีอเมริกัน มีความเอาจริงเอาจังกับกฎเกณฑ์ของสังคมและล้อเลียนคนอื่นที่ไม่ทำตามกฎ  อเมริกามักเน้นที่ “ปัญญา” ขณะที่ญี่ปุ่นเน้นที่ “อารมณ์” ไทยอาจเน้นที่ “ความรู้สึก”

นักวิจารณ์เรื่องแลไปข้างหน้า ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ มักกล่าวถึงครูซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตน เป็นที่มาหรือแบบอย่างในนวนิยาย และลักษณะเด่นของนวนิยายที่เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา มิใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นหรือกำลังเกิดขึ้น

หลายคนอาจประทับใจกับแลไปข้างหน้า และประทับใจมากกว่าการอ่านนวนิยายเรื่อง Goodbye Mr. Chips ประพันธ์โดย เจมส์ ฮิลตัน  กล่าวกันว่า Goodbye Mr. Chips เป็นการสะท้อนชีวิตครูที่มีความทุกข์ ความสุข และความเศร้า อยู่ในตัว  แต่ครูในแลไปข้างหน้า เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว มิใช่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

กระนั้นจุดที่เหมือนกันบ้างคือ ครูในแลไปข้างหน้า กับ Mr. Chips กลายเป็น “โรงเรียน” ไปแล้ว  Mr. Chips เป็นครูที่แก่เฒ่าและกำลังจะตาย ได้เป็นโอเอซิสหรือที่พักที่มีต้นไม้และน้ำกลางทะเลทรายในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง  ส่วนครูในแลไปข้างหน้า เหมือนการระลึกถึงความหลัง  ภาพแห่งความหลังในอดีตยังตรึงในความคิดคำนึงของผู้อ่านงานนี้อย่างน่าสนใจ

บางคนนั้นอาจอธิบายว่าแลไปข้างหน้าเขียนไม่จบ มีแต่ภาคปฐมวัยและภาคมัชฌิมวัยเท่านั้น ยังขาดภาคสุดท้ายอยู่  รูป “เดวิด” ของ ไมเคิล แอนเจโล่ หรือ มิเชล แอนเจโล่ อาจนำมาเทียบกับแลไปข้างหน้าได้โดยมิเชลปั้น “เดวิด” ขึ้นมาจากการต่อยหินออก แล้วขึ้นเป็นหุ่นเมื่อตอนที่สลักสำเร็จ  ทว่าขณะที่รูปสลักสำเร็จเพียงแต่แขนและไหล่อีกข้าง ก็ดูมีชีวิตเหมือนเอาอวัยวะจริงใส่ไปไว้กับแท่งหินที่ไร้ชีวิตไร้จิตใจ

แอนเจโล่ทำงานปั้นหยาบและสำเร็จพร้อมกัน ดูประหนึ่งว่าภาพปั้นเดวิดนั้นเคลื่อนไหวมีชีวิต  กระนั้นช่วงคอก็เป็นหุ่น ดูจะไม่สัมพันธ์กันนัก แต่เหมือนกับมีสิ่งมีชีวิตโผล่ขึ้นมาจากสิ่งไร้ชีวิต  รูปเดวิดของแอนเจโล่อาจเทียบกับแลไปข้างหน้าได้ดี เพราะยังมีสิ่งที่ทำไม่เสร็จสิ้นอยู่  หนทางที่พึงทำไว้ คือการแลออกไปข้างหน้า  สิ่งที่ไม่สิ้นสุดคืองานที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ในนั้น มิใช่งานที่สิ้นสุดโดยฉับพลัน.