ผศ. ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร

“ศรีบูรพา” เป็นนามปากกาของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทในวงวรรณกรรมไทยตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๗๒ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ จะเป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของนักเขียนท่านนี้ และยังเป็นโอกาสสำคัญยิ่งในวงวรรณกรรมไทย คือเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องจากยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

บทความนี้จะกล่าวถึงนวนิยายเล่มสำคัญของ “ศรีบูรพา” ได้แก่ ลูกผู้ชาย สงครามชีวิต ข้างหลังภาพ ป่าในชีวิต จนกว่าเราจะพบกันอีก และแลไปข้างหน้า เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของนวนิยายดังกล่าวที่มีต่อพัฒนาการนวนิยายไทย

รุ่งอรุณนวนิยายไทย : ลูกผู้ชาย กับอุดมคติสามัญชน

เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ “ศรีบูรพา” เป็นหนึ่งในขบวนนักเขียนหนุ่มสาวผู้สร้างสรรค์นวนิยายไทยที่นำเสนอเนื้อหาซึ่งสัมพันธ์กับสังคมไทยในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองอย่างเข้มข้น “ศรีบูรพา” ม.จ. อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ และ “ดอกไม้สด” เขียนนวนิยายที่แสดงความนึกคิด ความเชื่อ ความใฝ่ฝันและวิถีชีวิตซึ่งต่างไปจากนวนิยายก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังสอดแทรกการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคม ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นพัฒนาการจากเนื้อหานวนิยายที่มักนิยมเรื่องหวือหวาพาฝัน มุ่งแต่ความสนุกสนานกับเรื่องเกี่ยวกับความรัก มาสู่การมองปัญหาความรักอย่างสัมพันธ์กับความเป็นจริง โดยนำปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมาพิจารณาด้วย

ลูกผู้ชาย แสดงถึงความใฝ่ฝันของสามัญชนโดยเสนอแนวคิดเชิงอุดมคติเกี่ยวกับความเป็น “ลูกผู้ชาย” ของหนุ่มสมัยนั้นว่า การเป็นลูกผู้ชายไม่ได้ขึ้นอยู่กับตระกูลหรือยศศักดิ์แต่อยู่ที่ความมานะบากบั่นเพียรพยายามในการสร้างตนเอง เป็นผู้มีคุณธรรม รู้จักเสียสละ และมีความยุติธรรม ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับความยุติธรรม ผู้ที่เป็นลูกผู้ชายย่อมเลือกความยุติธรรม มาโนช ตัวเอกของเรื่องเป็นแบบอย่างของลูกผู้ชายในอุดมคติผู้ก่อร่างสร้างตัวจากสามัญชนกรรมาชีพ ลูกช่างไม้มาเป็นขุนนางชั้นคุณพระและได้เป็นผู้พิพากษา การสร้างตัวละครเอกเช่นนี้ยังสะท้อนให้เห็นความหวังของสามัญชนในระยะนั้นซึ่งมีความเชื่อมั่นว่า พวกเขามีโอกาสเลื่อนฐานะของตนมาอยู่ในสังคมชั้นสูงได้ด้วยความเพียรพยายามหมั่นศึกษาและประพฤติตนอยู่ในคุณธรรม ลูกผู้ชาย เสนอแนวความคิดที่ตรงกับความใฝ่ฝันของสามัญชนผู้มีการศึกษาในสมัยนั้น ทำให้ได้รับความนิยมแพร่หลาย เนื่องจากเป็นตัวแทนความรู้สึกของหนุ่มสาวร่วมสมัยในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้หากพิจารณาแนวคิดย่อยของลูกผู้ชาย จะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านความคิดเห็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นสูง ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นว่าตระกูลหรือยศศักดิ์มิใช่เครื่องรับประกันความเป็นคนดีมีคุณธรรม ตัวละครฝ่ายร้ายในเรื่องคือ คิรี เป็นลูกผู้ดี แต่การกระทำของเขาเองทำให้ชีวิตตกต่ำจนต้องกลายเป็นโจรติดตะราง ทัศนะเช่นนี้ยังพบได้ในนวนิยายเรื่องอื่นๆ ของ “ศรีบูรพา” ที่เขียนในช่วงเวลาเดียวกับลูกผู้ชาย เช่น มารมนุษย์ พระอารีอดิศัย ตัวผู้ร้ายก็เป็นขุนนาง ปราบพยศ หลวงมหิทธิ ก็เป็นขุนนางที่มีความประพฤติเหลวแหลก เป็นต้น ตัวละครฝ่ายร้ายของ”ศรีบูรพา” มักมาจากตระกูลขุนนาง ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า การใช้ตำแหน่งขุนนางมาจำแนกความดี-ความเลวนั้นไม่ยุติธรรม ตอนหนึ่งในปราบพยศ ซึ่ง “ศรีบูรพา” แสดงความคิดเห็นเช่นนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า

“ผมต้องการพูดกับสุภาพบุรุษเท่านั้น ถ้าคุณทั้งหมดเป็นสุภาพบุรุษ

ก็ขอได้ตัดคำว่าขุนนางออกเสียเถิด เพราะขุนนางไม่ใช่เครื่องหมายอันแท้จริง

ที่จะรับรองความเป็นคนดีของคนเราได้”

“คุณพูดถูก ขุนนางไม่ใช่คนดีไปเสียทั้งหมด…”๑

นอกจากนี้ยังให้ภาพของผู้ที่เคยเป็นนายแต่กลับต้องมาเป็นคนใช้ในภายหลัง คือชีวิตของคุณนายมุ้ยในโลกสันนิวาส “ศรีบูรพา” เสนอว่า ชีวิตของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “บุพเพ” แต่ขึ้นอยู่กับโลกสันนิวาส คือการกระทำของแต่ละคนที่จะบันดาลชีวิตของผู้นั้น อันแสดงถึงความหวังและการมองโลกในแง่ดีของสามัญชนคนหนึ่ง

ภาพวิถีชีวิตที่สวนทางกันของคนสองกลุ่ม คือ ชนชั้นสูงกับสามัญชน ชนชั้นสูงมองเห็นวิถีชีวิตที่ตกต่ำลงของตน ส่วนสามัญชนเริ่มมีความหวังอันแจ่มใสต่อวิถีชีวิตซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในสังคม ไม่เพียงแต่จะเห็นได้ในนวนิยายของ “ศรีบูรพา” เท่านั้น แต่ยังพบในนวนิยายของ ม.จ. อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ และ “ดอกไม้สด” ด้วย

“ศรีบูรพา” ยังนำเสนอการวิพากษ์วิจารณ์ค่านิยมเดิมที่ถือกันว่ากุลสตรีควรมีสามีคนเดียวและชีวิตสมรสครั้งแรกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตอย่างที่เรียกกันว่า “ปลูกเรือนผิดคิดจนตัวตาย” ในนวนิยายของ “ศรีบูรพา” จะเห็นภาพตัวละครเอกฝ่ายหญิงที่มักเคยผิดหวังในชีวิตสมรสมาแล้ว ตัดสินใจแยกทางเดิน เธอจึงไม่ใช่หญิงสาวบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนางเอกแบบฉบับทั่วไป เช่น เรณู สรลักษณ์ นางเอกในเรื่องมารมนุษย์ แต่งงานกับคนที่ตนเองไม่ได้รัก เพราะประเพณีคลุมถุงชน ชีวิตสมรสจึงล้มเหลว เธอตัดสินใจหย่า และได้แต่งงานกับพระเอกในที่สุด หรือ วันเพ็ญ ในผจญบาป ยอมแต่งงานกับชายที่ตนเองไม่ได้รักซึ่งบิดามารดาจัดการให้ กว่าจะพบความสุขที่แท้จริงก็ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย จนในที่สุดได้แต่งงานกับน้องชายสามีเก่าที่เคยเป็นคู่รักอยู่เดิม

สงครามชีวิต : จุดเริ่มต้นของสำนึกทางมนุษยธรรมต่อผู้ยากไร้

“ศรีบูรพา” เขียนนวนิยายเรื่องสงครามชีวิต และรวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๗๕ ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงไม่ถึงเดือน นวนิยายเรื่องนี้แสดงสำนึกทางมนุษยธรรมต่อผู้ยากไร้ในสังคม พร้อมกันนั้นก็สะท้อนสภาพความเลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยและค่านิยมบางประการที่งมงายไร้สาระ

สงครามชีวิต เป็นนวนิยายในรูปแบบจดหมาย โครงเรื่องกล่าวถึงความสัมพันธ์ของหญิงชายคู่หนึ่งซึ่งติดต่อกันทางจดหมาย ทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคม ช่องว่างทางเศรษฐกิจ และค่านิยมบางประการที่ไร้เหตุผล ความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ้นสุดลงเมื่อฝ่ายหญิงตัดสินใจไปเป็นนางเอกภาพยนตร์และแต่งงานกับผู้กำกับในที่สุด เรื่องจบลงด้วยความเศร้า เมื่อฝ่ายชายต้องพ่ายแพ้ในสงครามชีวิต  นวนิยายเรื่องนี้มีความสำคัญต่อพัฒนาการนวนิยายไทย เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของความสำนึกทางมนุษยธรรมในนวนิยาย ด้วยทัศนะที่เห็นอกเห็นใจผู้ยากไร้ “ศรีบูรพา” จึงนำเรื่องราวชีวิตของพวกเขามาเขียน ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีนวนิยายไทยที่กล่าวถึงความยากจนในลักษณะผู้หญิงยากจนไปรักชายร่ำรวย หรือชายเป็นยาจกไปหลงรักดอกฟ้าผู้สูงศักดิ์ แต่ก็จบลงด้วยความสุข เพราะต่อมาพบว่าฝ่ายหญิงเป็นทายาทกองมรดก หรือฝ่ายชายก่อร่างสร้างตัวได้ อันเป็นลักษณะนวนิยายทำนองเพ้อฝัน ชีวิตของเพลินกับระพินทร์ในสงครามชีวิต จึงเป็นชีวิตของผู้ยากไร้คู่แรกในนวนิยายไทยที่จบลงด้วยความเศร้า

อย่างไรก็ตามความสำนึกทางมนุษยธรรมในสงครามชีวิต ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ ซึ่ง “ศรีบูรพา” ได้แบบอย่างโครงเรื่องมาจากเรื่อง Poor People ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ (Fyodor Dostoyevsky๒) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย Poor People เป็นนวนิยายเรื่องแรกของดอสโตเยฟสกี้ เขียนขึ้นปี ค.ศ. ๑๘๔๕ (พ.ศ. ๒๓๘๘) เมื่ออายุเพียง ๒๔ ปี เรื่องนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังในรัสเซียทันที อีก ๘๗ ปีต่อมา “ศรีบูรพา” ได้อิทธิพลทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาจากนวนิยายเรื่องนี้มาเขียนสงครามชีวิต นับเป็นครั้งแรกที่นวนิยายไทยได้รับอิทธิพลจากนวนิยายรัสเซีย

Poor People เป็นเรื่องราวความรักของหญิงชายผู้ยากไร้คู่หนึ่ง ฝ่ายชายชื่อ มาร์คา อเล็กเซเยวิช ชายสูงอายุผู้หลงรักหญิงสาวแรกรุ่นชื่อ วาร์วารา อเล็กเซเยฟน่าทั้งสองเขียนจดหมายโต้ตอบกัน นอกจากจะพรรณนาถึงความรักความห่วงใยต่อกันแล้ว ยังเล่าถึงสภาพความยากจนข้นแค้นของเพื่อนบ้าน และตั้งปัญหาถึงความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน แม้ว่ามาร์คาจะเสียสละแม้กระทั่งเสื้อผ้าชุดทำงานเพื่อซื้อของกำนัลและช่วยเหลือวาร์วาราเมื่อเธอเจ็บป่วย แต่ในที่สุดวาร์วาราก็ตัดสินใจแต่งงานกับเจ้าของที่ดินชื่อ ไบคอฟ ด้วยเหตุผลว่า

ถ้าหากจะมีใครสักคนที่จะช่วยกำจัดความเสื่อมเสียเกียรติยศ รักษา

ชื่อเสียงอันดีงามของฉันไว้ได้ และพลิกเปลี่ยนความยากจน ความยากลำบาก

และเคราะห์กรรมทั้งหลายของฉันได้ คนคนนั้นก็คือเขานั่นเอง…เฟดอร่า

บอกว่า คนเราไม่ควรปล่อยโอกาสที่จะได้รับความสุขให้หลุดลอยไป๓

โครงเรื่องของสงครามชีวิต กับ Poor People คล้ายคลึงกันมาก “ศรีบูรพา” นำโครงเรื่องของ Poor People มาใช้โดยตลอด เริ่มตั้งแต่เรื่องราวความสัมพันธ์ของหญิงชายคู่หนึ่งซึ่งฐานะยากจน ฝ่ายหญิงเคยมีฐานะดีมาก่อนแต่ยากจนลง ทั้งสองเขียนจดหมายโต้ตอบกัน แสดงความรักความห่วงใยต่อกัน พร้อมกันนั้นก็เล่าถึงสภาพความแร้นแค้นของตนเองและของเพื่อนผู้ยากไร้ ภายหลังฝ่ายหญิงตัดสินใจแต่งงานกับชายอื่น เพราะเลือกความอยู่รอดและความสุขสบาย ทิ้งให้ฝ่ายชายต้องพ่ายแพ้ชีวิตอย่างสิ้นเชิง

การดำเนินเรื่องใช้วิธีเล่าเรื่องโดยจดหมายเหมือนกัน นอกจากนี้ยังใช้บันทึกช่วยดำเนินเรื่องบางตอน แต่ก็ไม่เหมือนกับใน Poor People ทีเดียว เพราะใน Poor People วาร์วาราส่งบันทึกของตนในอดีตสมัยพบรักครั้งแรกกับปัญญาชนหนุ่มที่ต้องตายไปด้วยการทำงานหนักให้มาร์คาอ่าน แต่ในสงครามชีวิต “ศรีบูรพา” ตัดเรื่องราวเหล่านี้ออก อดีตของเพลินจึงไม่มีรายละเอียด มีเพียงคำบอกเล่าของเพลินว่า “ดิฉันได้สาบานไว้ในเรื่องที่เกี่ยวกับคนคนนี้” เท่านั้น ด้วยเหตุนี้การตัดสินใจของเพลินจึงพลิกความคาดหมายของผู้อ่านอยู่บ้างเพราะรายละเอียดเกี่ยวกับอดีตที่ถูกทรยศรักของเพลินไม่แจ่มชัด

นอกจากนี้ “ศรีบูรพา” ยังดำเนินเรื่องโดยใช้สถานการณ์และรายละเอียดบางตอนเหมือน Poor People นับตั้งแต่เริ่มเรื่องด้วยจดหมายของฝ่ายชาย กล่าวถึงสภาพบ้านที่ตนอยู่ การให้เห็นสภาพแร้นแค้นของผู้ยากไร้ โดยเล่าถึงความเป็นอยู่ของเพื่อนบ้าน การแสดงความเห็นใจด้วยการช่วยเหลือทั้งๆ ที่เป็นผู้ยากไร้เหมือนกัน พร้อมกับสะท้อนความไร้มนุษยธรรมของผู้มั่งมี การสละแม้เสื้อผ้าของฝ่ายชายเพื่อช่วยเหลือฝ่ายหญิงซึ่งเป็นการเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างพระเอกกับนางเอกเพราะนางเอกต้องการช่วยเหลือตัวเอง  แต่ในด้านรายละเอียด “ศรีบูรพา” ได้กล่าวถึงเหตุการณ์แต่ละตอนอย่างวิเคราะห์วิจารณ์และมองถึงปัญหาความอยุติธรรมในสังคม

ด้านลักษณะตัวละคร ระพินทร์ในสงครามชีวิต กับมาร์คาใน Poor People เป็นผู้ยากไร้เหมือนกัน แต่ระพินทร์จะมองโลกและสังคมด้วยสายตาของผู้ได้รับการศึกษา ส่วนมาร์คามองโลกอย่างผู้ได้รับการศึกษาน้อย มาร์คามีลักษณะเป็นผู้ยากไร้ธรรมดาที่ได้บทเรียนจากประสบการณ์ในชีวิต และยังเป็นชายวัยชราที่บางขณะมีท่าทางงกๆ เงิ่นๆเมื่อต้องประสบเหตุการณ์บีบคั้น ส่วนระพินทร์เป็นหนุ่ม มีความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมในสังคม สามารถวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลอย่างปัญญาชน บุคลิก โลกทัศน์ และจิตใจของระพินทร์จึงไม่เป็นผู้ยากไร้อย่างมาร์คา ส่วนทัศนะที่ว่าชายต้องเป็นฝ่ายช่วยเหลือหญิง ทั้งระพินทร์และมาร์คานั้นเหมือนกัน

ด้านตัวละครฝ่ายหญิง เพลินในสงครามชีวิต กับวาร์วาราใน Poor People เป็นผู้มีฐานะดีแล้วตกต่ำเหมือนกัน แต่เพลินมีบุคลิกเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวกว่า ทั้งยังมีความคิดเห็นอย่างผู้ที่ได้รับการศึกษา สามารถวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคม และบางครั้งมองปัญหาความเลื่อมล้ำในสังคมได้ชัดเจนกว่าระพินทร์ ซึ่งแสดงว่า “ศรีบูรพา” ให้ความสำคัญกับตัวละครฝ่ายหญิง และให้เป็นฝ่ายเข้มแข็งกว่าฝ่ายชายซึ่งต่างจากดอสโตเยฟสกี้ การเน้นให้เพลินมีสำนึกทางมนุษยธรรม เห็นอกเห็นใจผู้ยากไร้และเป็นหญิงมีอุดมคติ การตัดสินใจของเพลินในตอนท้ายจึงพลิกความคาดหมายของผู้อ่านอยู่บ้าง มาลัย ชูพินิจ นักเขียนร่วมรุ่นกล่าวว่า “‘ศรีบูรพา’ ฆ่าเพลินซึ่งเป็นไอดีลของเรื่องอย่างเลือดเย็น”๔ ลักษณะเช่นนี้ต่างจาก Poor People ของดอสโตเยฟสกี้ เพราะภาพของวาร์วาราจะไม่เด่นชัดมากกว่ามาร์คา

“ศรีบูรพา” ใช้แบบอย่างเรื่อง Poor People โดยนำเค้าโครงเรื่อง การดำเนินเรื่องรวมทั้งลักษณะเด่นมา จากนั้นจึงสร้างรายละเอียดขึ้นใหม่ตามสภาพสังคมไทย และยังมีบุคลิกเฉพาะตัวเด่นชัดขึ้นอีกด้วย หาก “ศรีบูรพา” ไม่กล่าวไว้ในจดหมายฉบับหนึ่งถึงเรื่อง Poor People ของดอสโตเยฟสกี้แล้ว ผู้อ่านก็อาจจะไม่ทราบเลยว่าเขาได้รับอิทธิพลด้านโครงเรื่อง และการดำเนินเรื่องตลอดจนการสร้างตัวละครจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่๕ อย่างไรก็ตามการที่ “ศรีบูรพา” หยิบยกนวนิยายเรื่องนี้มาดัดแปลงในช่วงที่สังคมไทยเริ่มสนใจวิพากษ์วิจารณ์ความเลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมจึงสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยในระยะนั้นเป็นอย่างดี

การนำเสนอนวนิยายเกี่ยวกับผู้ยากไร้นับเป็นการเริ่มต้นหันไปมองสภาพสังคมในมุมที่เป็นความเลวร้ายด้วยท่าทีเห็นอกเห็นใจผู้ยากไร้ นวนิยายเรื่องนี้จึงแสดงสำนึกทางมนุษยธรรมพร้อมๆ กับการวิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม หัวใจของสงครามชีวิต อยู่ที่การเสนอปัญหาความอยุติธรรมในสังคม ระพินทร์และเพลินวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยนับตั้งแต่ฉากแรก สนทนากันถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ค่านิยมเรื่องการทำบุญเพื่อหวังผลตอบแทน ความไม่เท่าเทียมทางโอกาสของบุคคลต่างชนชั้น ระบบการศึกษาที่สูญเปล่า การดูถูกเหยียดหยามทางเชื้อชาติและอาชีพ และสิ่งที่เน้นย้ำมากที่สุดก็คือ สภาพสังคมที่ถือเงินเป็นพระเจ้า สงครามชีวิต ก็คือสงครามกับธนานุภาพนั่นเอง

ภาพเปรียบเทียบชีวิตของคนมั่งมีกับผู้ยากไร้ตอนหนึ่งมีว่า

บางคราวฉันก็รักบ้าน บางคราวฉันก็เบื่อบ้าน ที่จริงฉันจะไม่เบื่อบ้าน

เลย ถ้าทุกๆ บ้านในโลกจะเหมือนกันหมด แต่นี่แหละ แม่เพื่อนรัก บ้านที่สวย

วิเศษกว่าที่ฉันอยู่เดี๋ยวนี้ มันมีมากมายเหลือเกิน โรงเก็บรถยนต์หรือโรงม้า

ของท่านพวกผู้ลากมากดี ขยับจะน่าอยู่กว่าบ้านของนายระพินทร์ ยุทธศิลป

ไปเสียอีก ดูไปดูมา อ้ายคนอย่างเราจะมีค่าน้อยกว่ารถยนต์หรือม้าเป็นไหนๆ…๖

จากนั้นเขาจึงให้ ดุสิต สมิตโตปกรณ์๗ ปัญญาชนในอุดมคติของเขา ปรากฏขึ้นด้วยบุคลิกของนักประพันธ์ผู้เข้าใจเงื่อนไขอันเลวร้ายของสังคม เขาสรุปให้ระพินทร์ฟังว่า กฎเกณฑ์ของสงครามชีวิตไม่ต่างจากสัตว์ คือ สัตว์ใหญ่ทำลายสัตว์ที่เล็กกว่า และสัตว์ที่เล็กกว่าทำลายสัตว์ที่เล็กที่สุด สำหรับมนุษย์ “พวกที่มีอำนาจมากเอาเปรียบพวกมีอำนาจน้อยกว่า และพวกมีอำนาจน้อยกว่าเอาเปรียบผู้มีอำนาจน้อยที่สุด” เขาตระหนักว่า เงินกำลังเป็นพระเจ้า

“…มันเป็นเรื่องน่าอนาถใจแท้จริงเมื่อมาคิดถึงว่า คุณความดีไม่ได้ให้

ความสุขแก่มนุษย์เสมอไป…เดี๋ยวนี้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องซื้อต้องขายกันหมด

แล้วนะคุณ ตลอดจนเกียรติยศและความรัก เงินจะรับเหมาเป็นผู้ปรุงแต่ง

ทั้งหมด คุณความดีสิ้นอำนาจเสียแล้วในทุกวันนี้”๘

นอกจากนี้ “ศรีบูรพา” ยังสะท้อนให้เห็นว่า ความเมตตาเห็นอกเห็นใจคนยากไร้หาได้ยากในหมู่คนมั่งมี เพราะการกระทำทุกอย่างหวังผลตอบแทน เช่น การทำบุญ

เพื่อขึ้นสวรรค์ของยายแก่ผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง แต่กลับปฏิเสธที่จะให้ทานผู้ยากไร้ที่มาขออาหารประทังชีวิตให้หลาน เขาจึงให้ระพินทร์สรุปว่า เขาไม่หวังในความปรานีของคนมั่งมีตอนที่ระพินทร์คิดถึงความแตกต่างระหว่างชีวิตของเขากับนายเกยูร

คนจนๆ อย่างระพินทร์อาจถูกคนมั่งมีที่ใจบาปหยาบช้าเขาปฏิบัติ

อย่างว่าฉันเองเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ แต่ขอให้สวรรค์เป็นพยานเถิด, แม่

เพื่อนรัก, เราจะหวังความเป็นธรรมหรือความปรานีของคนพวกนี้ได้อย่างไร ?

สงครามชีวิต ที่ปรากฏในสายธารนวนิยายไทยใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้สร้างพัฒนาการ

ให้นวนิยายไทยหลายประการดังนี้

ประการแรก สงครามชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของความสำนึกทางมนุษยธรรมซึ่งเป็นนวทัศน์ของนวนิยายไทยในระยะที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลง การเสนอทัศนะเห็นอกเห็นใจ

ผู้ยากไร้ การไม่ดูถูกเหยียดหยามเชื้อชาติ “ต่ำ” แสดงถึงสำนึกทางมนุษยธรรมของ

“ศรีบูรพา” ตอนหนึ่ง “ศรีบูรพา” ให้ระพินทร์กล่าวว่า ความสำนึกทางมนุษยธรรมของระพินทร์เกิดขึ้นเพราะความขื่นขมในชีวิต ทำให้เขาฉุกคิดว่า คนเราต้องการการปลอบประโลม  เมตตาปรานีและเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่น มนุษยธรรมจึงงอกงามขึ้นในใจเขาทีละน้อย

เขาหันเข้าหาหนังสือซึ่งเพาะสำนึกนี้ให้งอกงาม ด้วยเหตุนี้เขาจึงอยากแต่งหนังสือเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นสักเล่มหนึ่ง “ศรีบูรพา” อาจมุ่งหมายให้สงครามชีวิต เป็นหนังสืออย่าง

ที่ระพินทร์หวังก็เป็นได้

ประการที่ ๒ สงครามชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของการวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคมไทยอย่างเน้นความสำคัญจนถึงเป็นแก่นเรื่อง อาจกล่าวได้ว่าเป็นนวนิยายสะท้อนปัญหาสังคม  เป็นไปได้ที่ “ศรีบูรพา” จะมิได้มุ่งเสนอสงครามชีวิต ให้เป็นเพียงนวนิยายรักที่เปลี่ยน

แปลงการจบอย่างพาฝัน หรือจบอย่างมีความสุขในยุคแรกมาเป็นการจบด้วยความไม่สมหวัง

เท่านั้น เพราะหัวใจของสงครามชีวิต อยู่ที่การวิพากษ์วิจารณ์ความอยุติธรรมในสังคม

ขณะที่เขียนสงครามชีวิต “ศรีบูรพา” มีประสบการณ์และจิตสำนึกทางการเมืองมาแล้วระยะหนึ่ง เขาเคยผ่านตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันหลายแห่งแม้จะมีอายุน้อย คือเริ่มจากบางกอกการเมือง ไทยใหม่ จนถึงตำแหน่งนักเขียนบทความที่ศรีกรุง และสยามราษฎร์ บทความของเขาเสนอความคิดเห็นทางการเมืองที่เรียกว่า “ก้าวหน้า” มากในสมัย

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะเขาเสนอความคิดเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตยจนถูกบีบบังคับจากนายทุน และต้องออกจากตำแหน่งหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยย่อท้อหรือหันเหทิศทาง

ความเห็นเพื่อสวัสดิภาพส่วนตัว ครั้งที่เป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สุดคือบทความชื่อ “มนุษย-

ภาพ” ซึ่งตีพิมพ์ในศรีกรุง ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นถูกถอนใบอนุญาต แท่นพิมพ์ถูก

ล่ามโซ่ อันเป็นข่าวเกรียวกราวก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเล็กน้อย นอกจาก

นี้ก่อนการเขียนสงครามชีวิต เขาเคยเขียนนวนิยายการเมืองชื่อ “ยอดปรารถนา” ลงใน

บางกอกการเมือง แต่เขียนยังไม่จบ มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องนี้ไว้ว่า “มีจุดมุ่งหมายโจมตีศักดินา เอี่ยมอ่องในด้านสำนวนโวหารซึ่งทั้งคมและเก๋ สรรพนามที่ใช้

กับตัวนางเอก กุหลาบนำเอาคำว่า ‘เขา’ มาใช้แทน ‘หล่อน’ หรือ ‘เธอ'”๙

ความสนใจและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างจริงจังเช่นนี้ จึงไม่น่าจะ

เป็นความผิดพลาดหากพิจารณาว่า สงครามชีวิต มีจุดมุ่งหมายเสนอปัญหาสังคม ภาพชีวิต

ของระพินทร์และเพลินเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของสงครามในสังคมที่มี “ธนานุภาพ”

หากพิจารณาในแง่นี้ สงครามชีวิต ก็เป็นนวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทยที่เกิดพร้อมกับ

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ประการที่ ๓ สงครามชีวิต แสดงถึงแนวโน้มใหม่ของนวนิยายที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมรัสเซีย นวนิยายของดอสโตเยฟสกี้เกี่ยวกับชนชั้นผู้ยากไร้ ซึ่งต่อมากลายเป็นวรรณกรรมของชนชั้นกรรมาชีพ (Proletarian Literature) นับเป็นครั้งแรกที่นวนิยายไทยได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมประเภทนี้ ซึ่งต่างจากเดิมที่มักได้รับจากอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งส่วนมากเป็นนวนิยายรักหวานชื่นหรือรักโศกที่ไม่เกี่ยวกับปัญหาสังคม

เช่น นวนิยายรักของ แมรี่ คอเรลลี่ ชาร์ลส กาวิช๑๐

กล่าวโดยสรุปบทบาทสำคัญของสงครามชีวิต ต่อพัฒนาการนวนิยายไทย คือการสะท้อนให้เห็นนวทัศน์ใหม่เกี่ยวกับความสำนึกทางมนุษยธรรม และการเสนอแนวคิด

วิพากษ์วิจารณ์สังคม นับได้ว่า สงครามชีวิต เป็นนวนิยายไทยเรื่องแรกที่มีเป้าหมายเสนอ

ปัญหาสังคม

ข้างหลังภาพ : ความตายของกรอบจารีตใน “โลกเก่า”

“ศรีบูรพา” เขียนนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ปีเดียวกับที่

“ดอกไม้สด” เขียนเรื่องผู้ดี นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนภาพวิถีชีวิตของ “ผู้ดี” ไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง คือเป็นชีวิตที่เศร้า ขมขื่น และแตกสลายของหญิงในราชตระกูล

หัวใจของเรื่องข้างหลังภาพ อยู่ที่การสวนทางกันของความรักและความเข้าใจของหญิงชายคู่หนึ่งซึ่งมิได้ต่างกันแต่เพียงวัยเท่านั้น หากคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ในสังคมแบบ

เก่า ได้รับการอบรมตามกรอบประเพณีของสังคมเก่า ส่วนอีกคนหนึ่งอยู่ในสังคมใหม่

อยู่ในโลกปัจจุบันไม่ใช่อดีต “ศรีบูรพา” แสดงให้เห็นความขัดแย้งของวิถีชีวิตและบุคลิก

ลักษณะซึ่งแสดงถึงความเป็นคนในสังคมต่างสมัยกันอย่างเด่นชัดตลอดเรื่อง

ม.ร.ว. กีรติ เป็นสาวใหญ่วัย ๓๕ ในราชตระกูล เมื่อพบกับนพพรขณะที่เธอไป “ฮันนีมูน” กับสามีวัยกว่า ๕๐ นั้น นพพรมีอายุเพียง ๒๒ ปี แต่ความงามของเธอทำให้นพพรคิดว่าเธออายุเพียง ๒๘ ปี เหตุผลในการแต่งงานของ ม.ร.ว. กีรติไม่ได้เป็นไปตาม

ความคาดหมายทั่วไปที่มักคิดว่า หญิงสาวแต่งงานกับชายชราเพราะเงิน หรือไม่เช่นนั้นก็ถูกบังคับ ม.ร.ว. กีรติถือว่าการแต่งงานครั้งนี้เป็นหนทางที่เธอจะได้หนีจากความซ้ำซากจำเจของชีวิตที่จำกัดอยู่ในกรอบประเพณีในสังคมอันคับแคบ ทำให้วัยสาวของเธอผ่านไปโดยแห้งแล้งขมขื่น ไม่มีรสชาติอันสดชื่นเหมือนหนุ่มสาวทั่วไป เธอต้องมีชีวิตอยู่เพื่อปรนนิบัติ

เจ้านายหญิงในวัง ได้รับการศึกษาจากแหม่มแก่ และรู้จักคนนับจำนวนได้ ด้วยการอบรมที่ไม่ได้สอนให้รู้จักคิด เพราะ “เราไม่ได้ถูกอบรมให้เป็นคนช่างคิด เรามีทางที่เขากำหนดไว้ให้เดิน เราต้องเดินอยู่ในทางแคบๆ ตามจารีตประเพณีขนบธรรมเนียม”

เมื่อวัยสาวเริ่มร่วงโรย การศึกษาที่ได้รับประกอบกับความบีบคั้นในขอบเขตอันคับแคบทำให้เธอมีความคิดและความเข้าใจสภาพของตนเองดีขึ้น เธอเข้าใจฐานะของสตรีที่ต้องตกอยู่ในสภาพที่ด้อยกว่าชาย ต้องถูกกำหนดให้มีวิถีชีวิตตามที่ชายต้องการ หญิงเป็นเพียงเครื่องประดับที่มีหน้าที่รักษาความงามไว้บำเรอชายเท่านั้น

เธอจงเห็นใจสตรีเพศ เราเกิดมาโดยเขากำหนดให้เป็นเครื่องประดับโลก

ประโลมโลก และเพื่อที่จะทำหน้าที่นี้อย่างดีที่สุด เราจำต้องบำรุงรักษารูปโฉม

ของเราให้ทรงคุณค่าไว้๑๑

…ยิ่งกว่านั้นบางทีคุณความดีของสตรีก็ถูกมองข้ามเลยไป ถ้ามิได้อาศัย

อยู่ในความงาม๑๒

แม้จะขมขื่นแต่เธอก็เพียงเข้าใจแล้วยอมรับสภาพเช่นนั้น ดังนั้นเธอจึงรักษาความงามจนวินาทีสุดท้ายของชีวิตเพื่อให้สมกับหน้าที่ของหญิงตามที่ถูกกำหนด

โอกาสของการแต่งงานที่ผ่านมาเพียงครั้งเดียวเมื่อวัย ๓๕ ปี ทำให้เธอตัดสินใจเลือกที่จะแหวกกรงขังของกรอบประเพณีไปสู่โลกกว้างกว่า แม้จะเป็นความผาสุกที่ไร้ความรัก แต่ก็คงดีกว่าการใฝ่ฝันกังวลถึงความรักโดยปราศจากความผาสุก

…นกน้อย เมื่อปีกแข็งยังสละรัง เที่ยวโบยบินไปชมโลกอันกว้างใหญ่

ไพศาล ก็ฉันเป็นคนและเติบโตเต็มที่จนจะคล้อยไปในทางร่วงโรยอยู่แล้ว

เหตุใดจะมาจับเจ่าเฝ้าอยู่แต่แห่งเดียว ฉันต้องการติดต่อคุ้นเคยกับโลก

ภายนอก ต้องการความเปลี่ยนแปลงในชีวิต…ไม่มีอะไรจะช่วยให้ฉันบรรลุ

ความต้องการเหล่านี้ได้นอกจากการแต่งงาน๑๓

วิถีชีวิตของ ม.ร.ว. กีรติ เป็นตัวอย่างหนึ่งของหญิงจากสังคมชั้นสูงที่ต้องอยู่ในกรอบอันรัดรึง และมีชีวิตอย่างแห้งแล้งขมขื่นมากกว่าจะมีความสุข เป็นวิถีชีวิตที่ถูกกำหนด

ให้เป็นไปตามจารีตของสังคมชั้นสูง และผู้ที่อยู่ในกรอบของจารีตดังกล่าวก็ตกเป็น “เหยื่อ” ของจารีตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะแสวงหาโลกภายนอกเพียงไรก็ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ได้ ชายที่พบจึงไม่อาจเข้าใจเธอ ทำให้เธอต้องอยู่กับความใฝ่ฝันตลอดชีวิต  เมื่ออยู่ในสังคมเจ้านายก็ใฝ่ฝันความรักและการแต่งงานอย่างที่เธอเรียกว่า “อุดมทัศนีย์”

แต่ก็ต้องพลาดหวัง พอออกมาสู่โลกภายนอก ความเคร่งครัดต่อจารีตไม่กล้าฝ่าฝืนกรอบประเพณี ต้องอดกลั้นไม่แสดงความรู้สึกที่ผิดศีลธรรม เธอจึงตายไปโดยปราศจากคนที่รักและเข้าใจเธอ

ชีวิตหลังการแต่งงานไม่ได้ทำให้การดำเนินชีวิตของเธอแตกต่างไปจากสังคมเก่า เธอจึงยังคงอยู่กับอดีตขณะที่นพพรค่อยๆ ลืมความทรงจำเมื่อ ๖ ปีก่อน เพราะต้องอยู่ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง เขากลายเป็นนักธุรกิจที่ไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่นนอกจากงาน “ศรีบูรพา” ค่อยๆ บรรจงแสดงวิถีชีวิตที่ติดอยู่กับอดีตของ ม.ร.ว. กีรติ

อันเป็นชีวิตที่ไม่เคลื่อนไหว มีแต่ความเศร้าโศก ส่วนนพพรเป็นชีวิตปัจจุบันที่มีเลือดเนื้อเคลื่อนไหวไปตามสังคมในโลกปัจจุบันเท่านั้น ภาพเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ตอนหนึ่งขณะที่ทั้งสองไปเที่ยวมิตาเกะจึงมีความหมายมากกว่าการบรรยายภาพธรรมดา

…ฉะนั้นเราก็เป็นเหมือนอาดัมกับอีฟในโลกน้อยนั้น ข้าพเจ้าเก็บ

ดอกไม้ป่าสีม่วง แล้วขออนุญาตเสียบให้ที่เรือนผมของหม่อมราชวงศ์กีรติ

และเธอก็เก็บดอกไม้อีกชนิดหนึ่งสีแดง เสียบให้ที่รังดุมเสื้อข้าพเจ้า…๑๔

สีม่วงเป็นสีแห่งความโศกเศร้า เป็นสีของอดีตและความตายซึ่งหมายถึงชีวิตของ ม.ร.ว. กีรติ ในขนบจารีตแบบเก่านั่นเอง๑๕ ส่วนสีแดงเป็นสีของเลือดเนื้อและชีวิตเช่นเดียว

กับวัยหนุ่มและโลกปัจจุบันของนพพร

เมื่อเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตในโลกที่มีความเจริญทางวัตถุ เขาจึงประทับใจกับความแช่มช้อยของหญิงในอดีต เขารักง่าย แรง และลืมง่าย เช่นเดียวกับความเป็นหนุ่ม ประกอบกับชีวิตเปล่าเปลี่ยวในต่างแดน เมื่อได้ใกล้ชิดกับหญิงที่เอาอกเอาใจและงามเพียบพร้อมมีเสน่ห์ เขาจึงลุ่มหลงอย่างเด็กหนุ่ม แต่การไม่คุ้นเคยกับความละเมียดละไม ระมัดระวังและไม่แสดงออกอย่างลุกลนและโจ่งแจ้ง นพพรจึงไม่เข้าใจความหมายเคลือบแฝงในคำพูดของ ม.ร.ว. กีรติ เช่น “นพพรเป็นโคลัมบัสของฉัน เธอนำให้ฉันได้มาพบกับโลกใหม่”๑๖ หรืออีกตอนหนึ่งที่มิตาเกะเมื่อนพพรถามว่า “คุณหญิงเป็นสุขมากไหม?” คำตอบของเธอกลับเป็น “มองจากที่นี่ไปที่ลำธารเบื้องล่าง ฉันรู้สึกว่าเราขึ้นมาสูงมาก ฉันยังสงสัยว่าจะมีแรงเดินลงไปได้อย่างไร”๑๗ ดังนั้นเมื่อ ม.ร.ว. กีรติ เขียนจดหมายให้เขา “สะกดกลั้น” ความรู้สึกว่า

แล้วความรู้สึกของเธอในตัวฉันอย่างรุนแรงนั้นจะค่อยเลือนหายไป

ในเวลาอันควร แล้วในที่สุดฉันก็จะไม่เป็นอะไรที่สลักสำคัญในชีวิตของเธอ

แล้วความผาสุกและความรู้สึกอันบริสุทธิ์งดงาม และปราศจากพันธนาการ

ของคนวัยรุ่นหนุ่มก็จะกลับคืนมาสู่จิตใจนพพรเช่นเดิม ฉันภาวนาและคอย

เวลาที่ว่านี้๑๘

นพพรก็เข้าใจตามนั้นโดยไม่เข้าใจพันธะของ ม.ร.ว. กีรติ และจารีตที่อบรมเธอให้อยู่ในศีลธรรมเกินกว่าจะทำตามความต้องการของความรู้สึก การอดกลั้นรอคอยของ

ม.ร.ว. กีรติ กับการแสดงออก และความต้องการตอบสนองฉับพลันของนพพรจึงเป็น

วิถีชีวิตคนละแบบ เหมือนกับตอนหนึ่งในจดหมายของ ม.ร.ว. กีรติว่า “ถ้าฉันเดินแต่เธอเหาะ มันก็ยากที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้ไม่ใช่หรือ”๑๙

“ศรีบูรพา” ได้ให้ภาพชีวิตของหญิงอีกคนหนึ่งในสังคมเก่าซึ่งต่างจากหญิงอย่าง

เพลินในสงครามชีวิต ม.ร.ว. กีรติแพ้สงครามชีวิตในโลกสมัยใหม่ ความตายของเธอคือความตายของ “เหยื่อ” ชิ้นหนึ่งของกรอบจารีตใน “โลกเก่า” ที่เมื่ออยู่ในสังคมนั้นก็ต้องมีชีวิตอันขื่นขม เมื่อออกมาเผชิญโลกภายนอกก็ไม่อาจสมหวังตาม “อุดมทัศนีย์” ความเหี่ยวแห้งทรุดโทรมอันแทบจะภินทนาการของร่างกาย ม.ร.ว. กีรติ มิอาจซ่อนเร้นด้วยเครื่องแต่งกายและการตกแต่งใบหน้า เช่นเดียวกับความเสื่อมสลายของจารีตประเพณีอันคับแคบตลอดจนวิถีชีวิตของชนชั้นสูงที่เป็นมาในอดีตเพราะไม่อาจเข้ากับสภาพสังคมปัจจุบันได้

เมื่อเปรียบเทียบภาพสะท้อนของ “ผู้ดี” ในนวนิยายของ “ศรีบูรพา” กับ

“ดอกไม้สด” จะเห็นความแตกต่างกัน “ดอกไม้สด” มองเห็นปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองที่ลดน้อยลง แต่เธอเสนอการพยุงเกียรติศักดิ์ของ “ผู้ดี” ไว้โดยให้ความหมายของ “ผู้ดี” แจ่มชัดขึ้นเพื่อความเหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง  ส่วน “ศรีบูรพา” เน้นฐานะของสตรีชนชั้นสูงที่ต้องตกอยู่ในสภาพถูกบีบบังคับด้วยจารีตวัฒนธรรมของ “ผู้ดี” จนหาความสุขในชีวิตได้ยาก หรืออาจกล่าวได้ว่าในทัศนะของ

“ศรีบูรพา” ชนชั้นสูงมิอาจดำรงชีวิตเช่นที่เคยเป็นมาได้อีก จำต้องเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านวัฒนธรรม จารีตประเพณี และค่านิยม เพื่อให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน มิฉะนั้นสิ่งที่

ได้รับก็จะพบเพียงความขมขื่นและชีวิตที่ไร้สุขเท่านั้น “ศรีบูรพา” สะท้อนภาพของหญิง “ผู้ดี” และความเสื่อมสลายของชนชั้นสูงอย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากอคติด้วยการพยายามแสดงชีวิตความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ของ ม.ร.ว. กีรติ อย่างเห็นอกเห็นใจ และไม่แทรกการวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงในฐานะผู้แต่ง พฤติกรรมของตัวละครจะเป็นไปอย่างมีเหตุผล หรือแม้แต่ภาพของชายในสังคม “ใหม่” ซึ่งมีลักษณะ “ตื้น” หรือรักง่ายหน่ายเร็ว

เช่นนพพร “ศรีบูรพา” ก็ให้ภาพโดยไม่เจือน้ำเสียงตำหนิการกระทำของนพพรแม้แต่น้อย

บทบาทเด่นของข้างหลังภาพ ต่อพัฒนาการนวนิยายไทยอยู่ที่การแสดงภาพชีวิตอันบีบคั้นของหญิงคนหนึ่งในสังคมโลกเก่าที่ต้องเผชิญกับโลกสมัยใหม่และต้องพ่ายแพ้จนสิ้นชีวิต ซึ่งเป็นการแสดงความ “ตาย” ของกรอบจารีตประเพณีใน “โลกเก่า” อย่างกลมกลืน นับได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของพัฒนาการนวนิยายไทย