วิทยากร เชียงกูล
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งคนมักจะรู้จักในนามของ “ศรีบูรพา” ที่มีบทบาททางความคิดในสังคมไทยมากกว่านักเขียนนวนิยายมาก เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนบทความ และนักเขียนนวนิยายที่มีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มาจนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์เรืองอำนาจ  เขายังเป็นบรรณาธิการ เป็นกัปตันทีมที่มีลักษณะผู้นำสูง เป็นตัวของตัวเอง รวบรวมดึงดูดคนเก่งๆ มาทำงานร่วมกันได้มาก  เป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนผู้สนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพระบอบประชาธิปไตยและความเป็นธรรมที่คงเส้นคงวามากที่สุดคนหนึ่ง รวมทั้งยังเป็นนักมนุษยธรรมและชาวพุทธผู้รักสันติภาพความเป็นธรรม

ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาได้คัดค้านนโยบายเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นของรัฐบาลจอมพล ป. จนถูกจับกุมคุมขังระยะสั้นๆ  หลังสงครามโลกเขาก็เป็นหนึ่งในผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพและคัดค้านสงครามเกาหลี จนถูกจับกุมคุมขังข้อหาเป็นกบฏเป็นเวลาราว ๕ ปี  พ้นโทษในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เขายังเขียนเรียกร้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และนโยบายเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด จนเมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และจับกุมคุมขังนักเขียน นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าจำนวนมาก  คุณกุหลาบ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเยือนจีนจึงได้ขอลี้ภัยในจีน และอยู่ที่นั่นจนถึงแก่กรรม ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗

คุณกุหลาบเริ่มทำหนังสือพิมพ์หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๓  ช่วงหนุ่มเขาเป็นนักเขียนนวนิยายอัตถนิยมเชิงอุดมคติหลายเรื่อง ที่เด่น ๆ มีอาทิ ลูกผู้ชาย สงครามชีวิต ข้างหลังภาพ  งานนวนิยายของเขานอกจากจะเป็นงานประพันธ์อัตถนิยมรุ่นแรกๆ ที่มีศิลปะในการเขียนในระดับเดียวกับหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงและ “ดอกไม้สด” แล้ว ยังมีลักษณะของความคิดเสรีนิยมระดับก้าวหน้า ที่เริ่มตั้งคำถามต่อค่านิยมวิธีประพฤติปฏิบัติของคนในสังคมเมืองที่เขาเห็นว่าล้าสมัย ไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถือชั้นวรรณะ หรือประเพณีคลุมถุงชน

นอกจากการเขียนนวนิยายแล้ว คุณกุหลาบยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีอุดมคติ ที่เห็นว่าหนังสือพิมพ์ต้องมีเสรีภาพในการรายงานข่าวข้อเท็จจริง และเสนอความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน  ความตรงไปตรงมาของเขาทำให้เขาต้องขัดแย้งและยกทีมลาออกจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับ บางทีก็ขัดแย้งกับนายทุนหรือผู้จัดการ บางทีก็ถูกบีบจากทางการ อย่างไรก็ตามความที่เขามีฝีมือและมีใจรักทางนี้ทำให้เขาคงยึดติดอาชีพนี้มาตลอด และเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่สนใจในการศึกษาหาความรู้อยู่ไม่เคยหยุดนิ่ง  นอกจากคุณกุหลาบจะเป็นนักอ่านเป็นนักศึกษาด้วยตนเองแล้ว เขายังไปเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองจนได้ธรรมศาสตรบัณฑิต และช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๒ ก็ได้ไปศึกษาวิชาการเมืองที่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียด้วย

เมื่อจอมพล ป. ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก (พ.ศ. ๒๔๘๔ ) และมีแนวโน้มที่จะเป็นเผด็จการมากขึ้น คุณกุหลาบได้เขียนคัดค้านมาตลอด (หนังสือเบื้องหลังการปฏิวัติ (๒๕๓๕)  และเมื่อจอมพล ป. ร่วมมือกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร คุณกุหลาบก็คัดค้านจนถูกจับกุมคุมขัง  หลังสงครามเขาเขียนหนังสือ ทำหนังสือ เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย และพัฒนาความคิดความอ่านของคนอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลียราวปีเศษๆ  ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นช่วงที่ความคิดและขบวนการของพวกสังคมนิยมกำลังเติบโต ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งในออสเตรเลียและไทย คุณกุหลาบซึ่งมีความคิดในเชิงรักความเป็นธรรมอยู่แล้วได้สนใจศึกษาสังคมนิยมอย่างจริงจังในช่วงนี้

เมื่อคุณกุหลาบกลับจากออสเตรเลียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้จังหวะพอดีกับที่คุณสุภา ศิริมานนท์ ซึ่งกลับมาจากการทำงานสถานทูตไทยในยุโรป เริ่มออกนิตยสารอักษรสาส์น รายเดือน ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับปัญญาชนก้าวหน้าที่กำลังเริ่มเติบโตในสมัยนั้น  คุณกุหลาบได้ช่วยแปลและช่วยเขียนปรัชญาและการเมืองเกี่ยวกับสังคมนิยมลงไปในอักษรสาส์นอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นก็ได้แปลวรรณกรรมและเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย ที่เป็นแนววรรณกรรมเพื่อชีวิต วิพากษ์วิจารณ์ความไม่เสมอภาค การเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นสูง ความล้าสมัยของสังคมเก่า และเชิดชูความสำคัญของประชาชนที่ยากจนที่ต้องทำงานหนักแต่ได้ผลตอบแทนและการยอมรับน้อย

ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๕ ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพล ป. สนับสนุนนโยบายสหรัฐฯ ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และปราบปรามฝ่ายค้านทางการเมือง คุณกุหลาบได้ร่วมมือกับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และปัญญาชนคนอื่นๆ เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ และยกเลิก พ.ร.บ.  การพิมพ์ที่มีลักษณะจำกัดเสรีภาพ เคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพ และคัดค้านสงครามเกาหลี รวมทั้งยังได้เป็นผู้รวบรวมสิ่งของที่คนบริจาคช่วยเหลือชาวอีสานที่ประสบภัยแห้งแล้ง  รัฐบาลได้จับกุมคุณกุหลาบ ปัญญาชน และชาวบ้านจำนวนหลายสิบคนในข้อหากบฏ ต้องถูกคุมขังอยู่เป็นเวลาประมาณ ๕ ปี กว่าที่จะได้รับนิรโทษกรรมเนื่องในโอกาสฉลองกึ่งพุทธกาลในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๐

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๐๐ คุณกุหลาบถูกจับกุมคุมขังร่วมกับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ก้าวหน้าจำนวนมาก  คุณกุหลาบคงเขียนหนังสือออกมาอย่างสม่ำเสมอ  ทั้งนิยาย เรื่องแปล และบทความเกี่ยวกับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาสนใจและตีความในเชิงก้าวหน้า นวนิยายชิ้นที่สำคัญคือ แลไปข้างหน้า ที่เขียนไม่จบ แต่ก็มีเนื้อหาที่สมบูรณ์ในตัวเอง (ได้รับคัดเลือกจากคณะนักวิจัย สกว. ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้เป็นหนังสือดี ๑ ใน ๑๐๐ ที่คนไทยควรอ่าน รวมทั้งหนังสือเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕)

หลังจากได้รับนิรโทษกรรม คุณกุหลาบก็นั่งเขียนหนังสืออยู่ที่บ้าน และต่อมาก็ได้รับเชิญในฐานะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้มีชื่อเสียงไปเยือนโซเวียตรัสเซีย และจีน ตามลำดับ ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๑ เป็นช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ได้ทำรัฐประหารขึ้นมามีอำนาจแทนจอมพล ป.  จอมพลสฤษดิ์ช่วงแรกยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไปทางไหน ปัญญาชนก้าวหน้าเช่นคุณกุหลาบ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเป็นกลางคบกับทุกฝ่าย และสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม  แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารครั้งที่สองในปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๑  จอมพลสฤษดิ์เลือกตามสหรัฐและหันมาปราบปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าอย่างหนัก

ขณะที่ปัญญาชนก้าวหน้าถูกจับกุมอย่างขนานใหญ่ คุณกุหลาบอยู่ในระหว่างการเยือนจีน  คุณกุหลาบผู้รักเสรีภาพ และไม่ต้องการเสียเวลาในคุกของเผด็จการอีก ตัดสินใจที่จะขอลี้ภัยอยู่ในจีน และได้อยู่ที่นั่นต่อมาจนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๑๗  เขาต้องอยู่ในยามเนรเทศ (ชื่อหนังสือแปลเล่มหนึ่งของเขา) ตกค้างอยู่ในจีนถึง ๑๖ ปี โดยไม่ปรากฏว่าได้ทำงานเขียนหนังสือต่อแต่อย่างใด  คุณชนิดภรรยาของเขาซึ่งเป็นนักแปลวรรณกรรม (ใช้นามแฝงว่า “จูเลียต”) ได้เล่าว่าเป็นเพราะคุณกุหลาบอยู่ห่างไกลข้อมูลและเขาไม่อยากเขียนอะไรจนกว่าจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนแน่นอน  เหตุผลอาจจะมีมากกว่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เรายังรับรู้ไปไม่ถึง  แต่ก็ยังมีงานบันทึกและบทกลอนที่เขาเขียนให้กับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ซึ่งตอนแรกที่เขาเผยแพร่ไม่ได้ระบุว่าใครเขียน

การทำรัฐประหารยกเลิกประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จับกุมคุมขังปัญญาชนก้าวหน้าอย่างขนานใหญ่ของจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นการทำลายการเติบโตทางภูมิปัญญาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย  หนังสือก้าวหน้าถูกห้ามพิมพ์เผยแพร่ นักคิดนักเขียนก้าวหน้าถ้าไม่ถูกจับก็อยู่ในต่างประเทศหรือเลิกอาชีพเขียนหนังสือทำหนังสือกันไปหมด  งานเขียนของคุณกุหลาบช่วงหลังปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นงานที่มีลักษณะก้าวหน้าวิพากษ์วิจารณ์สูงถูกรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ปิดกั้นไม่ให้เผยแพร่ จึงไม่มีหนังสือแนวก้าวหน้าของคุณกุหลาบและนักเขียนคนอื่นๆ ที่ห้องสมุดและไม่มีใครกล้าพิมพ์ใหม่ จะมีก็เฉพาะแต่นวนิยายยุคแรกๆ ซึ่งออกไปทางโรแมนติกหรือเชิงอุดมคติที่ไม่ได้วิจารณ์สังคมอย่างก้าวหน้าหรือโดยตรงนัก

อย่างไรก็ตามชื่อเสียงของคุณกุหลาบ ทั้งในฐานะนักประพันธ์เอกและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีอุดมคติก็เป็นตำนานที่นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนรุ่นน้องและรุ่นลูกศิษย์เล่าขานต่อๆ กันมาอยู่เสมอ  และในช่วงหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เมื่อบรรยากาศทางการเมืองมีเสรีภาพมากขึ้น งานของคุณกุหลาบและนักเขียนก้าวหน้าคนอื่นๆ ก็ได้ถูกรื้อฟื้นนำมาตีพิมพ์ใหม่ และได้รับการต้อนรับจากปัญญาชนรุ่นใหม่อย่างกระตือรือร้น  งานบางชิ้นเช่น จนกว่าเราจะพบกันอีก และ  แลไปข้างหน้า รวมเรื่องสั้นและหรือเรื่องสั้นเด่นๆ บางเรื่องพิมพ์ซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

ประวัติชีวิตและงานของเขาได้มีคนนำมาเขียนถึงและพูดถึง ไม่แต่เพียงในแง่ของผู้มีผลงานเขียนที่ดีเด่นทั้งในแง่เนื้อหาและศิลปะเท่านั้น หากยังรวมทั้งในแง่ของคนที่ใช้ชีวิตเป็นปัญญาชนแบบอย่าง คือเป็นคนที่มีนิสัยดี โอบอ้อมอารี รักความเป็นธรรม และเป็น “สุภาพบุรุษ” ในความหมายที่ก้าวหน้าคือเป็นคนดี คนสุภาพ นับถือและเห็นใจคนสามัญอย่างจริงใจ (“สุภาพบุรุษ” คือชื่อกลุ่มนักเขียนที่เขามีส่วนก่อตั้งในช่วงทศวรรษ ๒๔๗๐ และภายหลังใช้เป็นชื่อสำนักพิมพ์ด้วย)

แม้กระนั้นก็ตามกล่าวโดยส่วนรวมแล้ว งานของคุณกุหลาบก็ยังไม่สามารถเผยแพร่ได้อย่างอิสระเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับนักเขียนรุ่นราวใกล้เคียงกันอย่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช งานของเขาถูกเซ็นเซอร์ พิมพ์และเผยแพร่ไม่ได้ในบางช่วง รวมทั้งเขาต้องอยู่ในสภาพผู้ลี้ภัย หยุดเขียนหนังสือในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๗  พวกปัญญาชนที่มีทัศนะไปทางจารีตนิยมก็มักไม่ค่อยสนใจหรือยอมรับงานของเขา หรือบางคนที่มีทัศนะมาทางเสรีนิยมหน่อย ก็อาจยอมรับเฉพาะงานนิยายเชิงโรแมนติกยุคก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๐ และไม่ยอมรับงานเขียนที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงก้าวหน้าหลังจากนั้น โดยอ้างว่าเป็นงานโฆษณาชวนเชื่อแบบพวกฝ่ายซ้ายที่ไม่มีศิลปะลึกซึ้ง

กระทรวงศึกษาไม่ยอมรับให้งานของ “ศรีบูรพา” เป็นบทเรียนสำหรับวิชาวรรณกรรมสมัยใหม่ ปัญญาชนรุ่นหลังอย่าง ส. ศิวรักษ์ (พ.ศ. ๒๔๗๕) ซึ่งเติบโตมาในแวดวงของคนชั้นกลางที่จารีตนิยม ทั้งๆ ที่เขาเป็นหนอนหนังสือ แต่ปรากฏว่าไม่เคยอ่านงานของคุณกุหลาบ และพวกนักเขียนก้าวหน้ายุคหลังสงครามแต่อย่างใด  ส. ศิวรักษ์ เพิ่งมายอมรับ ปรีดี พนมยงค์ คุณกุหลาบ และนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าอื่นๆ ก็ในสมัยหลัง (จากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ) เท่านั้น

ถ้าเราจะเปรียบเทียบระหว่างคุณกุหลาบ กับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ซึ่งเป็นคนรุ่นใกล้กัน(คุณกุหลาบอายุมากกว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ๖ ปี) ตลอดจนมีสติปัญญาความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และเขียนในระดับที่ไม่ห่างกันนัก เราจะพบว่าคุณกุหลาบกลับเป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไปในยุคหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๑ น้อยกว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ หลายเท่าเพราะ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มีโอกาสเผยแพร่ผลงานได้มากกว่า  ความจริงข้อนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของรัฐที่อยู่ในอำนาจของคนกลุ่มน้อยว่าสามารถที่จะจำกัดหรือเซ็นเซอร์งานเขียนและพูดที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ แสวงหาความจริงที่ท้าทายความชอบธรรมของระบบที่ดำรงอยู่อย่างงานของคุณกุหลาบ และนักเขียนก้าวหน้าคนอื่นๆ ได้อย่างมีอิทธิพล  ถ้าหากคุณกุหลาบไม่ถูกสถานการณ์ทางการเมืองบีบบังคับให้ต้องอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๑  งานของเขาจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่านี้ รวมทั้งเขาเองก็อาจจะผลิตผลงานใหม่ๆ ได้อีกมาก  ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าบทบาทของปัญญาชนทั้งในฐานะเอกชนและกลุ่มคน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเขาเท่านั้น หากยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของสังคมในแต่ละช่วง โดยเฉพาะบทบาทของชนชั้นสูงที่ครอบงำอำนาจรัฐและเครื่องมือในการเผยแพร่ความคิดอุดมการณ์ค่อนข้างมาก  การจะศึกษาทำความเข้าใจเรื่องบทบาทของนักคิดนักเขียนปัญญาชนในสังคมไทยได้อย่างถ่องแท้ จึงจะต้องศึกษาทำความเข้าใจเรื่องของรัฐและการครอบงำทางอุดมการณ์ควบคู่กันไปด้วย

ในขณะที่ปัญญาชนจารีตนิยม หรือแม้แต่เสรีนิยมจะมองคุณกุหลาบในฐานะที่เป็นนักเขียนที่ผูกพันกับอุดมการณ์ทางการเมืองหรือเป็นพวกซ้าย ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าด้วยกันดูจะมองคุณกุหลาบด้วยความเข้าใจมากกว่า  คุณสุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์รุ่นน้องคุณกุหลาบที่เป็นนักศึกษามาร์กซิสม์คนสำคัญ เคยวิจารณ์ให้ผู้เขียนฟังว่า คุณกุหลาบ “เป็นบุดดิสต์ (ชาวพุทธ) มากกว่ามาร์กซิสต์ เป็นผู้รายงานสภาพ ผู้ส่องไฟ มากกว่านักปฏิวัติ เพราะนิสัยไม่ให้”  อย่างไรก็ตามในบางบทความ คุณสุภาก็กล่าวถึงคุณกุหลาบในฐานะนักปฏิวัติ คือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงรากถึงโคน แม้จะไม่ถึงขั้นเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธก็ตาม

ไม่ว่าใครจะมองอย่างไรก็ตาม คุณกุหลาบก็ยังจะมีผลงานและชื่อเสียงปรากฏอยู่ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนคนสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่เขียนนวนิยาย เรื่องสั้นที่ดีเด่นหลายชิ้นที่ทิ้งรอยไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น หากเขายังเป็น “ลูกผู้ชาย” และ “สุภาพบุรุษ” ผู้พยายามทำตามอุดมคติความรักในเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ความเป็นมนุษย์อย่างคงเส้นคงวา ตลอดชั่วชีวิตของเขาด้วย

วิทยากร เชียงกูล : นักเขียนรางวัลศรีบูรพา อดีตกวี นักเขียนแนวเพื่อชีวิตแถวหน้า บทกวี “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ซึ่งกล่าววิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษามหาวิทยาลัยในยุคนั้นยังคงติดปากนักศึกษาและนักวิชาการอยู่จนถึงปัจจุบัน มีผลงานศึกษาชีวิตและงานของ “ศรีบูรพา” อย่างลุ่มลึก ปัจจุบันประจำอยู่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ล่าสุดผลงานวิจัยเกี่ยวกับ “วาทกรรมความยากจน” โดดเด่นอย่างมากเนื่องจากเป็นความพยายามเปิดมิติทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของ “ความยากจน” ซึ่งสังคมไทยอาจไม่คุ้นเคยหรือเคยมองเห็นมาก่อน