จุดประกาย วรรณกรรม
ปีที่ 20 ฉบับที่ 6638
วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2550

วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2550

พรชัย จันทโสก : สัมภาษณ์ [email protected]

คนในแวดวงวรรณกรรมคงต้องกล่าวแสดงความยินดีกับ วัฒน์ วรรลยางกูร หลังจากคณะกรรมการ “กองทุนศรีบูรพา” ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เขาได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ.2550 และเป็นนักเขียนคนที่ 19 ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

วัฒน์ วรรลยางกูร เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2498 ที่ตำบลตะลุง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จบมัธยมปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย แล้วมาศึกษาต่อที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ไม่จบ เพราะต้องเตลิดหนีเข้าป่าด้วยเหตุผลทางการเมือง หลังเหตุการณ์สงบก็มาทำงานเป็นนักข่าว-นักเขียนประจำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ธงปฏิวัติ มาตุภูมิรายวัน นิตยสารถนนหนังสือ และ Good Life ตามลำดับ
ผลงานเขียนของเขาสะท้อนให้เห็นแนวคิดการต่อสู้เพื่อสังคมและอุดมการณ์ทางการเมืองโดยไม่เคยละทิ้งตัวละครที่เป็นชาวชนบทหรือชนชั้นล่างของสังคม โดยนำเสนอผ่านทางเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยาย จนเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง

ปัจจุบัน วัฒน์ วรรลยางกูร ยังคงเขียนหนังสืออยู่อย่างต่อเนื่อง และต่อไปนี้เป็นการให้ปากคำของเขาหลังรับรู้ว่า ได้รับการประกาศให้เป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ประจำปีนี้ ทั้งแง่ของชีวิตและผลงาน ตลอดจนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่งอยู่ในขณะนี้ ในฐานะเป็นนักเขียนที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาอย่างโชกโชน

  • รู้สึกอย่างไรหลังทราบว่าตัวเองได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้?

ความรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง เพราะว่ารางวัลศรีบูรพาเป็นรางวัลที่นักเขียนมอบให้กับนักเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศรีบูรพา” เป็นนักเขียนที่ได้จุดแรงบันดาลใจด้านงานประพันธ์ตั้งแต่ผมยังเป็นนักเรียน ผมได้อ่านเรื่อง “สงครามชีวิต” ที่ศรีบูรพาเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2474 และอ่านเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ทั้งสองเล่มนี้ตัวเอกใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักประพันธ์ พออ่านแล้ววิญญาณของตัวเอกทั้งสองเรื่องนี้ก็เข้ามาสิงสู่ผมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และจนถึงทุกวันนี้
นิยายเรื่อง “สงครามชีวิต” คือวิญญาณของ “รพินทร์ ยุทธศิลป์” ที่ไปรักกับ “เพลิน โรหิตบวร” เขียนจดหมายตอบกันไปตอบกันมา รพินทร์เป็นชายหนุ่มที่อยู่ในห้องเช่าซอมซ่อ ฐานะยากจน แต่ว่าฝักใฝ่งานประพันธ์และชอบงานเขียนหนังสือ และตอนจบรพินทร์ก็อกหักเพราะว่าเพลินไปแต่งงานกับผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งเป็นคนรวย นวนิยายเรื่องนี้ให้แรงบันดาลใจและความสะเทือนใจต่อชะตากรรมของรพินทร์ เวลาอ่านหนังสือก็จะเผลอคิดว่าเราเป็นตัวละครตัวนั้นตัวนี้ เขาเรียกว่าอินนั่นแหละ แต่ว่าตอนจบเศร้าและสวยงามมาก

  • เรียกว่า”ศรีบูรพา”เป็นบรมครูด้านการประพันธ์มาตั้งแต่ต้น?


ผมรู้สึกว่าเป็นงานชนิดที่หนักทั้งในแง่อารมณ์ ความรู้สึก และความคิด อีกคนหนึ่งที่ให้แรงบันดาลใจเยอะคือ “อ.อุดากร” เรื่องสั้นแรงและมีความคิดเชิงวิพากษ์สังคมด้วย จึงไม่แปลกใจว่าทำไมผมถึงมีความคิดอย่างนี้ได้ แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจคือเรื่องสั้น “เหมืองแร่” ของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” คือมีภาษาที่คมคาย สำนวนโวหารร้ายกาจมาก และ “”รงค์ วงษ์สวรรค์” นี่อีกคนหนึ่ง เป็นในเรื่องของความเท่ ทำให้รู้สึกว่าเป็นนักเขียนนี่เท่ ตอนคิดตัดสินใจเป็นนักเขียนอาชีพจริงๆ คือช่วงทำนิตยสาร “ถนนหนังสือ” เริ่มจะห้าสิบๆ หรือว่าร้อยไปเลยว่าจะทำงานหนังสือพิมพ์ไปด้วยหรือว่าออกมาเป็นนักเขียนอิสระ แต่ว่าใจโน้มมาทางนักเขียนอิสระแล้ว


ความจริงก่อนไปทำ “ถนนหนังสือ” ลองไปอยู่บ้านเขียนหนังสืออย่างเดียว (2525) ไปอยู่ที่ปทุมธานี ปลูกกระท่อมอยู่เลย นั่งเขียนอย่างเอาจริงเอาจัง และได้นิยายมาสองเรื่องคือ “คือรักและหวัง” และ “บนเส้นลวด” หลังจากนั้นรู้สึกว่าหมด (หัวเราะ) เลยกลับไปทำงานประจำใหม่ ตอนนั้นอายุแค่ 25-26 ปี เรียกว่ายังเป็นช่วงทดลองอยู่ พลิกไปพลิกมา ตอนทำถนนหนังสือปี 2526 ความตั้งใจลึกๆ อยากไปดูก้นครัวว่านักเขียนจริงๆ เขาอยู่กันยังไง ไปทำสกู๊ป ไปบ้านนักเขียนแต่ละคน สัมภาษณ์มาขึ้นปก อยากรู้วิธีการอยู่ของเขาว่าเป็นยังไง

  • ในที่สุดก็ตัดสินใจได้ว่าอยากเป็นนักเขียนอิสระ?


คราวนี้ออกไปเขียนเรื่องสั้นชุด “ลูกพ่อคนหนึ่ง (ถากไม้เหมือนหมาเลีย)” ซึ่งเป็นงานชิ้นหนึ่งที่ผมตั้งใจทำมาก เพื่อนก็หาว่าผมทุ่มเทเพื่ออยากจะได้ซีไรต์ ผมบอกว่าความอยากของคนมีได้ ไม่แปลกหรอก ได้ตังค์ก็ดีสิ จะได้นั่งเขียนหนังสือได้สบายๆ ไม่ต้องลำบากมาก แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่เสียกำลังใจหรอก เพราะเรารักที่จะเขียน ผมเขียนหนังสือมาตั้งแต่ยังไม่มีซีไรต์โน่น อันนี้เป็นอาหารเสริม ไม่ได้กินมันก็ไม่อดตาย (หัวเราะ) เพื่อนเคืองอยู่เหมือนกัน ทิ้งงาน ทิ้งหมู่คณะ เพื่อนโกรธ ตอนหลังเขาก็ยกทีมไปหาผมถึงบ้าน แต่ผมเลือกที่จะเป็นนักเขียน เพราะว่าตอนนั้นเขียน “คือรักและหวัง” ออกไปปรากฏว่าเสียงสะท้อนกลับมันดีมาก “ลลนา” อยากได้นวนิยาย ยิ่งทำให้เลือกจะเป็นนักเขียนได้ง่ายขึ้น

  • การได้อ่านหนังสือดีๆสมัยเด็กกลายเป็นสิ่งปลูกฝังแนวคิดเพื่อสังคม?


สมัยก่อนไม่รู้หรอกว่าเป็นแนวคิดอะไร อยากจะอ่านเอาสนุกแค่นั้นแหละ พออ่าน “อิงอร” ก็เป็นเรื่องโศกนาฏกรรมของความรักชนิดต่างๆ ที่เป็นความคิดโน้มเอียงคือ “อ.อุดากร” เป็นความคิดยุค 2491-2492 ส่วนความคิดของศรีบูรพาเป็นความคิดของคนรุ่น 2475 ซึ่งความคิดเหล่านี้เป็นกระแสโลก ความคิดเรื่องประชาธิปไตย ความตื่นตัวเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ซึ่งกว่า 70 ปีสิ่งเหล่านี้ยังคาราคาซังอยู่ เคลื่อนตัวไปช้ามาก ส่วนงานเขียนของคนอื่น “มาลัย ชูพินิจ” เป็นความคิดเชิงมนุษยธรรม “ยาขอบ” เป็นความคิดแบบสุภาพบุรุษ หรืออย่างของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” นี่เป็นรุ่นหลังมาอีก งานของแต่ละคนมีความคิดทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าจะเป็นความคิดด้านไหน
0แล้วประสบการณ์ชีวิตในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย?
ผมจบชั้นมัธยมก็เจอช่วง 14 ตุลา 2516 พอดี ช่วงนั้นงานเก่าๆ ที่เคยเป็นวรรณกรรมต้องห้ามในยุคเผด็จการกำลังได้รับความนิยม เพราะเมืองไทยเป็นยุคเผด็จการตั้งแต่ปี 2490-2500 เลือกตั้งก็พลิกไปพลิกมา แต่พอปี 2500 เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ตอนนั้นผมเข้าร่วมอยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากมาย ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา มีหนังสือแนวความคิดสังคมการเมืองออกมาแล้ว อย่างนิตยสารปริทรรศน์ ชัยพฤกษ์ มหาราช ที่พูดถึงเรื่องความคิดทางการเมือง ความที่เป็นคนอ่านหนังสือก็ติดตามมาตลอดและเป็นคนมีพื้นทางความคิดที่อ่านวรรณกรรมเพื่อสังคมมาบ้างแล้ว


ตอนนั้นเป็นกระแสของความเบื่อเผด็จการ ประชาชนต้องการเสรีภาพ กระแสเหล่านี้ผันผวนปรวนแปรไปเรื่อยๆ บางยุคงานเขียนเชิงความคิดทางสังคมจะได้รับความสนใจสูง อย่างยุค 2475 หรือ 2490 เป็นยุคที่ “เสนีย์ เสาวพงศ์” เขียนเรื่อง “ปีศาจ” และ”ความรักของวัลยา” จนถึงปี 2500 “ลาว คำหอม” เขียน “เขียดขาคำ” งานดีๆ เชิงความคิดก็จะเกิด แต่ว่าบางยุคคนก็จะไม่สนใจงานเชิงความคิด อย่างเช่นยุคช่วงฟองสบู่คนจะไปอ่านหนังสือพวกทำอย่างไรให้รวย คิดแต่เรื่องหาเงินหาทองไป คือเป็นอารมณ์ทางสังคมในแต่ละยุค งานวรรณกรรมทางความคิดก็จะขายไม่ได้

  • จากนั้นพอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ต้องหนีเข้าป่า?


เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา เริ่มมีการจับเฉพาะในธรรมศาสตร์ถึงสองสามพันคน หลังจากนั้นก็ตามจับไปเรื่อยๆ นอกธรรมศาสตร์ ออกไปตามต่างจังหวัดที่หมายหัวไว้ และจับกันทั่วประเทศ และใครที่มีหนังสือการเมืองอยู่ในบ้าน ถ้าลูกไม่อยู่ลูกหนีเข้าป่าไปแล้วพ่อแม่ก็ต้องเอามาเผา ช่วงเดือนตุลาวันที่ 6-9 ตุลา ถ้าเราขึ้นไปบนฟ้ามองลงมาจะเห็นควันไฟเผาหนังสือกันทั่วประเทศเลย (หัวเราะ) หนังสือของผมที่สะสมมาตั้งแต่ต้นโดนเผาทั้งหมด เสียดายมาก เพราะเมื่อก่อนอ่านหนังสือตรงไหนชอบก็จะจดเอาไว้เป็นสมุด จดมาตั้งแต่สมัยอ่าน “สงครามชีวิต” ที่ผมจำได้เพราะว่าผมจดประโยคเด็ดๆ เอาไว้ ปรากฏว่าสมุดโดนเผาไปด้วย


ตอนเข้าป่าก็ไปจดใหม่อีก พอเกิด “ยุทธการล้อมปราบ” ก็โดนยึดอีก คือผมเอาไปเก็บไว้ในป่าข้างหลังที่พักที่จะทำเป็นร้านไม้ไผ่และมีผ้าใบคลุม พวกหนังสือพวกสมุดอะไรผมเอาไปเก็บไว้นั่น ทีนี้พอเขาเกิดยุทธการล้อมปราบ ยุทธการหนึ่งประมาณ 10-15 วัน เราต้องย้ายหนีออกจากตรงนั้น ไม่อย่างนั้นจะโดนยิง ต้องหนีไป พอทหารออกไปผมก็กลับไปดู หมดเลย ช่วงเข้าป่าแรกๆ ไม่มีหนังสืออะไร ผมอ่านไทยรัฐอ่านกำลังภายใน เจอประโยคมันๆ ก็จดไว้ เพราะสำนวนกำลังภายในมันดีอีกแบบหนึ่ง ตอนนี้เลยเลิกจดเลย (หัวเราะ)

  • ช่วงใช้ชีวิตอยู่ในป่าเคยวิ่งหลบกระสุนบ้างไหม?


คงไม่ถึงขนาดนั้นหรอก ไม่เหมือนในหนัง นานทีจะมีเหตุการณ์ตื่นเต้นหวาดเสียว อยู่กันปกติ เพียงแต่ว่าไม่ได้อยู่เป็นบ้านเรือนมั่นคง บางช่วงก็อยู่เป็นกระท่อมพื้นฟากไม้ไผ่ มีหลังคาผ้ายาง บางช่วงก็ผูกเปลระหว่างต้นไม้ แล้วแต่กรณี ถ้าอยู่ไม่นานก็ผูกเปลเอา อย่างเวลาเขามียุทธการล้อมปราบซึ่งมักจะมาในหน้าแล้ง ช่วงที่ย้ายไปต้องผูกเปลนอนไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นหน้าหนาวจะปูพื้นนอนกับดินจะอุ่น


ส่วนใหญ่ช่วงปีแรกคนที่เข้าป่าจะนอนป่วยเป็นมาลาเรีย นอนให้น้ำเกลือ อยู่กันจนคุ้นกับมาลาเรีย อาหารที่กินถ้าเป็นหน้าฝนก็กินหน่อไม้กันเป็นประจำ บางวันกินสามเวลา กินตั้งแต่มันอยู่ใต้ดินยันมันโผล่ขึ้นมาสูงเป็นสิบเมตรยังเขย่าลงมากิน หน้าแล้งกินแจ่วเป็นหลัก แจ่วคือพริกตำกับเกลือใส่ผงชูรสเป็นอาหารหลัก ผักหญ้าแล้วแต่จะหาได้ ยอดไม้ชนิดไหนกินได้กินหมด จริงๆ ยอดไม้เกือบทุกชนิดกินได้ เพียงแต่ว่าอร่อยหรือไม่อร่อยเท่านั้นเอง

  • เคยล่าสัตว์ในป่าบ้างหรือเปล่า?


ถ้าเป็นพวกกองทหารเขาจะล่าสัตว์เก่ง แต่อย่างพวกหน่วยพลเรือนล่าไม่เก่ง สำหรับผมถนัดทางล่าปลา เพราะเป็นคนล่าปลาบนภูเขา บางทีห้วยเล็กปลาก็จะตัวไม่ใหญ่ ปลาใหญ่จะอยู่ห้วยใหญ่ ยิ่งหน้าแล้งวังน้ำเล็กๆ เอง ไปหามาได้ ปลาขาวตัวเล็กๆ สี่ห้าตัว คนตั้งยี่สิบสามสิบกว่าคน เอามาทำป่นน้ำใสใส่น้ำเยอะๆ เอาข้าวเหนียวปั้นๆ จุ่มโหรงเหรงๆ แล้วก็กิน (หัวเราะ) ใครคุ้ยเอาเนื้อปลาขึ้นมาเยอะ โดนมองหน้าเลยนะ แต่ความคิดมันสดชื่น ทุกคนมีจิตใจปฏิวัติ ไม่มีปัญหาทางความคิด ถึงจะลำบากทางกายแต่ก็ไม่รู้สึกอะไร กลายเป็นเรื่องสนุกเสียด้วยซ้ำ ความลำบากกลายเป็นความสนุก เพราะกำลังเป็นวัยรุ่นอายุ 20-22 ปี ไม่คิดถึงความตาย ไม่ใช่ไม่กลัวหรอก แต่ยังไม่ห่วงเรื่องตาย ซึ่งก็ตายไปหลายคนเหมือนกัน


ในเขตผมนี่เป็นไข้มาลาเรียตายไปสามคน ถ้าตายจะเป็นปีแรกๆ และคนที่ตายจะเป็นคนแข็งแรงหมด เป็นคนไม่เคยป่วยเลย พอป่วยทีเดียวไปเลย เพราะคิดว่าตัวเองแข็งแรง ผมเข้าไปเดือนแรกก็ร่วงแล้ว เดินไม่ไหว ขนาดว่าจะอึ พวกพยาบาลผู้ชายต้องมาอุ้มไปเลย แล้วเขาก็ใช้เสียมขุดหลุมหลังทับหมอหรือโรงพยาบาล พอเสร็จก็เรียกเขามาอุ้มกลับไปนอน เดินไม่ไหว เป็นขนาดนั้น

  • กลับมาสู่เส้นทางนักเขียนอีกครั้งหลังออกจากป่า?


หลังจากนั้นผมมีโอกาสได้เข้าวงในของวงการหนังสือ ได้รู้จักคนโน้นคนนี้ ได้รู้จักรุ่นพี่ ต่อมาก็เป็น บก. พอเราเป็นนักเขียนอาชีพแล้วทำให้ง่ายที่จะติดต่อคนโน้นคนนี้ คือเป็นคนในวงการหนังสือมาก่อน พี่คนนี้ไปเป็น บก.อยู่ที่นี่ เอาเรื่องสั้นมาสิ ถ้าไม่รู้จักกันส่งมารอคิวเป็นปีก็ไม่ได้ลง เป็นเรื่องธรรมชาติของคนรู้จักกัน และอย่างน้อยเขาก็เชื่อฝีมือเราอยู่แล้ว เขาถึงบอกเอาเรื่องสั้นมาหน่อยและลงเลย บางที่เบิกตังค์ก่อนได้ด้วยซ้ำ


แต่แน่นอนว่าการที่จะเติบโตมาได้ก็ต้องมี “ลมใต้ปีก” อย่างที่เขาบอกว่านักเขียนศรีบูรพาต้องมีอายุงาน 30 ปีขึ้น ผมก็มานึกย้อนไปดู ผมก็เกิดจินตนาการว่าเราเหมือนมดตัวเล็กๆ ที่เดินไต่ไปตามขอบกระด้งและเดินมาครบวงได้ วงของสามสิบปีนะ แต่ก็มีวงอื่นต่อไปอีกโดยไม่หายไปในระหว่างทาง แต่ก็ตกหล่นเหมือนกัน ตกหล่นก็ปีนกลับขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าสำนวนฝรั่งเขาเรียกว่านกที่จะบินมาไกลๆ ได้ต้องขึ้นให้ถึงลมบน ไม่ใช่ลมพัดชายเขา ซึ่งนกที่จะบินถึงลมบนได้ต้องมีลมใต้ปีกเช่นเดียวกัน ลมใต้ปีกในที่นี้ก็คือ บก.หรือรุ่นพี่ หรือมิตรแท้ของเรา ที่คอยอ่านงานและพูดความจริงกับเรา

  • บรรณาธิการก็เป็น”ลมใต้ปีก”สำคัญเหมือนกัน?


ถ้าเรียง บก.ตามลำดับเวลาก็มี “คุณธิดา บุนนาค” ที่จัดรายการ “ถนนนักเขียน” สถานีวิทยุยานเกราะ ท่านต่อมาคือ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ที่แก้ต้นฉบับและถ้าเอาต้นฉบับจริงมาเทียบกับที่ลงไปจะรู้ว่าอะไรควรเขียนไม่ควรเขียนหรืออะไรที่เยิ่นเย้อไม่เยิ่นเย้อ ตรงไหนดีจะเน้นตัวดำตัวเอน อันนี้เป็นการศึกษาเป็นเหมือนครูโดยไม่ได้ไปเจอกัน คนถัดมาคือ “พี่เสถียร จันทิมาธร” และ “พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ” ที่ช่วยเขียนคำรวมบทกวี


คนต่อมาคือ “สุวรรณี สุคนธา” ผมเอาเรื่องสั้นไปส่ง แกจะเอาเงินสดจ่ายค่าเรื่องให้เดี๋ยวนั้นเลย และให้ราคาเพิ่มขึ้นของราคาทั่วไป ตอนนั้นราคาทั่วไป 500 บาท แต่แกให้ผมพันหนึ่งและบอกว่า “ฉันอยากให้เธออยู่ได้” ตอนนั้นเริ่มเป็นนักเขียนอาชีพตั้งแต่ปี 2524 แล้วก่อนตายแกก็เขียนฝากฝังไว้กับนักอ่าน ฝากนักเขียนคนนั้นคนนี้ คงเอ็นดูผมเหมือนลูก เพราะผมเป็นรุ่นเดียวกับ “น้ำพุ” ที่ตายเพราะยาเสพติด ถ้าเป็นช่วงปลายนี้คนที่เป็นกำลังเป็นแรงก็คือ “ชีวี ชีวา” เขาเอาใจใส่ผมดีทั้งที่เป็นยุคที่งานเขียนแบบผมไม่ได้อยู่ในกระแสแล้ว

  • นานมากที่งานวรรณกรรมแนวเพื่อสังคมไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร?


ผมว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา จะให้คนอ่านแต่วรรณกรรมเพื่อชีวิตหรือวรรณกรรมการเมืองตลอดคงเป็นไปไม่ได้ วรรณกรรมต้องมีหลายรสหลายชาติ ทั้งเรื่องผี เรื่องตลก หรือมีเรื่องที่อ่านเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว บันเทิงครึ่งสาระครึ่ง คงมีเฉพาะบางยุคเท่านั้นแหละที่เป็นยุคพิเศษ ยุคที่สังคมมีปัญหา อย่างเช่นยุคนี้คนก็เริ่มหันมาอ่านเรื่องของประวัติศาสตร์ เรื่องความคิดการเมืองกันอีกแล้ว หนังสือประเภทสอนลูกให้รวยคนก็ไม่อ่านกัน มันเป็นอนิจจัง เป็นฤดูกาล ไปบังคับไม่ได้ เรื่องของปัจจัยทางสังคมประกอบไปด้วยอะไรต่ออะไรมากมายมหาศาล เราก็เป็นมดตัวเล็กๆ มีหน้าที่ไต่ไปตามขอบกระด้งให้ถึงจุดหมายก็แล้วกัน ตกก็ปีนขึ้นมาใหม่


ช่วงนั้นผมหยุดเขียนหนังสือไปเลย รู้เลยว่าความคิดเราไม่กลมกลืนกับความปรารถนาความต้องการของสังคม บางช่วงก็ต้องหยุด หยุดเสียก่อนที่จะหมดแรง เหมือนมวยที่ถูกต้อนเข้ามุมต้องตั้งรับอย่างเดียว ต้องพลิกออกมาจากมุมหน่อย ก่อนที่จะทิ้งตัวลงนอนกับพื้น ต้องพลิกตัวออกมาจากมุมให้ได้ ธรรมดาถ้าผมไม่ได้ทำงานเขียนผมก็ไปทำงานในกองบรรณาธิการ แต่ผมรู้ว่าอายุผมมากแล้วคงไปทำงานนั้นไม่ได้ ผมพลิกออกไปโน่นเลย ไปขายอิฐขายปูน ทำอยู่เกือบสี่ปี เป็นเถ้าแก่ย่อยๆ แต่ว่าต้องขับรถบรรทุกเอง มีคนงานประมาณสามสี่คน เป็นยุคฟองสบู่ คนสร้างบ้านกันน่าดู ขายที่ดินปลูกบ้านเป็นสูตรเลย
ด้านหนึ่งผมคิดว่าได้เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ได้เจอคนที่ไม่คุยกันแต่เรื่องวรรณกรรมและนั่งบ่นกันว่าหนังสือขายไม่ออก น่าเบื่อมาก และมันเป็นความจริงด้วย (หัวเราะ) ผมเบื่อที่ต้องเจออะไรแบบนี้ วงการวรรณกรรมตอนนั้นเมื่อขายไม่ได้ นักเขียนต้องไปเพิ่งหลวงพ่อซีไรต์อย่างเดียว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะดลบันดาลให้หนังสือขายได้ อยู่ได้ในพริบตา คิดว่าออกจากมุมนี้ดีกว่า ถ้าอยู่ต่อตายแน่ๆ เลย เราจะติดหล่มไปอย่างนี้ไม่ได้ตลอด ต้องวิ่งต่อไป ผมถึงไปเจอคนที่เขาไม่รู้จักวรรณกรรมเลย ซีไรต์เขาก็ไม่รู้จัก เป็นอีกโลกหนึ่งเลย คนงานส่วนใหญ่ก็เป็นมอญ-พม่า (หัวเราะ) ขับรถเอาทรายไปส่งแล้วนั่งกินเบียร์กับลูกน้อง ผมถึงรอดมาได้ ไม่โดนน็อคไง

  • แต่ในที่สุดมดตัวนี้ก็กลับมาไต่ตามขอบกระด้งอีก?


ตอนนั้นวิ่งทรายเที่ยวหนึ่งได้มากกว่าเขียนเรื่องสั้นอีก แต่ต้องรีบเลิกถ้ารวยแล้วจะเลิกยาก (หัวเราะ) เพราะกิจการใหญ่ขึ้น แต่เสี่ยงตายหลายครั้ง ช่วงท้ายๆ เริ่มเบื่อ อยากกลับมาเขียนหนังสือแล้ว ขับรถเครียด พอเลิกก็มาเขียนความเรียง “เสียงเต้นของหัวใจ” มีความสุขมากเลย ประสบการณ์จากตรงนั้นที่มีเต็มๆ คือ “แรมทางกลางฝุ่น” เรื่องของประสบการณ์บางทีจะไปเอาสดๆ มาเขียนเลยคงไม่ได้ ต้องปล่อยให้ตกตะกอนก่อน ให้มันสุกก่อน เรื่องบางเรื่องต้องปล่อยไว้สักสิบยี่สิบปีแล้วมันจะปิ๊งขึ้นมา


สมมติผมอยากจะเขียนเรื่อง 6 ตุลา ที่เพิ่งออกมาจากป่า ถ้าเกิดผมเขียนช่วงที่ออกมาจากป่าใหม่ๆ คงจะเสียของแน่เลย มันยังขุ่นมัวอยู่ แต่ถ้าตอนนี้มันใสแล้ว ธีมเรื่องคืออะไรผมก็เห็น ธีมเรื่องสงครามกับความรักโคตรมันเลย นี่เป็นงานที่อยากจะเขียนเหมือนกัน แต่ว่าอยู่ที่เงื่อนไขชีวิต ยังคิดโน่นคิดนี่อยู่เสมอ

  • วรรณกรรมแนวลูกทุ่งๆล่ะ?


ช่วงหลังชื่อผมเลือนๆ ไป พอจะเป็นที่รู้จักของนักอ่านรุ่นหลังๆ ก็จากหนังเรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ส่วนเรื่อง “สิงห์สาโท” ก็มีคนพยายามจะขอเอาไปทำละครอยู่สามสี่ราย แต่ไม่ผ่านช่องเพราะชื่อไม่ได้ เพราะเป็นเรื่อง “เหล้า” โทรทัศน์ไทยก็ติดอยู่กับเรื่องพวกนี้ ติดในเปลือก ไม่ได้เข้าถึงเนื้อใน วรรณกรรมที่เป็นสีสันลูกทุ่งมันก็เป็นตัวตนของผม เขียนเรื่องพวกนี้ผมไม่ต้องไปขวนขวายหาข้อมูลอะไรมาก
อย่างเขียน “ฉากและชีวิต” ผมเขียนได้ไหลเรื่อยเหมือนสายน้ำ ไม่ต้องไปค้นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ภาพทุกอย่างอยู่ในความทรงจำผม และภาพเหล่านี้ไม่มีแล้วด้วย ทั้งวิถีชีวิต ทั้งน้ำที่มันใส ท้องทุ่งที่ผมเคยอยู่กลายเป็นน้ำเน่าเพราะโรงงานอุตสาหกรรม มันเป็นความสะเทือนใจที่รุนแรง น้ำในคลองที่เคยกินได้ดื่มได้ วันหนึ่งเน่าถึงขนาดที่ชาวบ้านต้องเอาโอ่งใส่เรือไปตักน้ำจากแม่น้ำใหญ่มาใช้ ส่วนยุคหลังสุดใช้น้ำประปากันหมดแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าโลกต้องเปลี่ยนแปลงก็จริง แต่ว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมีทิศทาง

  • คิดว่างานเขียนแนวนี้จะกลับมาได้รับความนิยมอีกไหม?


กระแสวรรณกรรมแบบนี้จะกลับมาอีกหรือไม่ ผมไม่ได้ชะเง้อรอคอย อย่างที่ผมบอกว่าในสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ก็ไม่ควรจะเอามาเป็นสิ่งกังวล ผมคิดอย่างนี้ตลอด ผมถึงไต่ขอบกระด้งมาได้เรื่อยๆ ถ้างานแนวนี้ขายไม่ได้ สำนักพิมพ์เขาก็ไม่พิมพ์ อันนี้คือความเป็นจริง อาจจะต้องพลิกไปบ้าง ธรรมชาติคนอ่านกับคนเขียนอายุมากน้อยกว่ากันไม่น่าจะเกินสิบหรือยี่สิบปี เว้นแต่มีกระแสอะไรเป็นพิเศษเข้ามา คนอ่านต้องโรยราไป แฟนหนังสือรุ่นผมตอนนี้ก็สายตายาวแล้ว ไม่อยากอ่านหนังสือเยอะ หรือหายสงสัยเกี่ยวกับวัฒน์แล้ว เขาต้องมีความสดชื่นใหม่ๆ อันนี้เป็นกฎธรรมชาติ แต่ถ้าเราจะอยู่ก็ต้องหามุมอยู่ของเราให้ได้ไม่ถึงกับลำบากลำบนน่าสมเพชเวทนามากนัก ที่สำคัญก็คือต้องมีแรงใจและความมุ่งมั่น

  • ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสังคมคนหนึ่งมองการเมืองตอนนี้เป็นอย่างไร?


ตอนนี้บอกว่า “ปฏิรูปการเมือง” ถามว่าปฏิรูปการเมืองอะไร แก้รัฐธรรมนูญผมบอกว่าไม่ใช่เลย การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเทคนิค แก้กันไปแก้กันมา เหล่านี้เป็นเรื่องเทคนิค ผมเลยดูโมเดลประชาธิปไตยไทยคล้ายๆ อังกฤษและญี่ปุ่น พอไปดูหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศอังกฤษเขาคลี่คลายการเมืองมาสู่ประชาธิปไตยที่ปกติได้เขาก็ผ่านการปฏิวัติอย่างนี้ บางครั้งก็มีนายพลขึ้นมาเป็นใหญ่ มีการฆ่ากันตาย ประเทศไทยยังถือว่าไม่มากเท่าไร ประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษมีการฆ่ากันแหลกราญ
การเมืองอังกฤษนิ่งได้เพราะผ่านการปฏิรูปสังคมอย่างก้าวกระโดดครั้งใหญ่สมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งผู้นำตอนนั้นเขาเสนอแผนว่าประเทศเขาต้องก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เขาบอกว่าประเทศอังกฤษจำเป็นต้องข้ามช่องเขา ถ้ากระโดดก้าวเล็กๆ มันข้ามช่องเขานี้ไม่ได้ และคุณจะต้องตกเหวตาย จะต้องก้าวอย่างแรงเลย ช่องเขากว้างๆ คุณกระโดดสองครั้งไม่ได้ จะก้าวเล็กๆ ปรับปรุงเล็กปรับปรุงน้อยไม่ได้ ต้องกระโดครั้งใหญ่โดยการจัดระบบรัฐสวัสดิการ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจัดรัฐสวัสดิการได้
คุณต้องจัดเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน หมายความว่าคนที่ร่ำรวยไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีเก่าเศรษฐีใหม่ที่มีที่ดินอยู่กลางเมือง ตารางวาละแพงๆ คุณจะต้องเสียภาษีมากและเอาเงินนั้นมาจัดรัฐสวัสดิการเรื่องรักษาพยาบาล เรื่องการศึกษา เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องสภาพแวดล้อม ทุกอย่างในชีวิตของประชาชน ต้องให้ประชาชนรู้สึกว่ามีความมั่นคง แก่ลงมีคนดูแล ตกงานมีเบี้ยเลี้ยงพอที่จะมีชีวิตอยู่รอดระหว่างการหางานทำไม่ได้ อังกฤษทำมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียอีก จากนั้นแหละการเมืองอังกฤษถึงได้นิ่ง

  • หมายถึงการจัดรัฐสวัสดิการจะช่วยให้ประเทศก้าวสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น?


ประเทศไม่เคยจัดรัฐสวัสดิการอะไรเลย คนแรกที่คิดเรื่องนี้คือท่าน “ปรีดี พนมยงค์” ตอนที่เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลืองว่ารัฐจะต้องออกพันธบัตรจัดซื้อที่ดินจากคนที่มีที่ดินอยู่มากๆ เพื่อมาปันให้กับคนจนได้มีที่ทำกิน มีสวัสดิการ ประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ต้องมีเงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยงชีพ และระบบสังคมจะต้องเป็นเหมือนระบบสหกรณ์ ทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของสหกรณ์อันนี้ และพูดถึงเรื่องภาษีมรดก แค่พูดขึ้นเท่านั้นแหละ โดนเนรเทศไปอยู่ประเทศอื่นเลย ข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครอยากจะพูดเรื่องพวกนี้อีก ถ้าคุณแก่ลงจะทำอย่างไรล่ะถ้ารัฐไม่ดูแล


ประเทศที่ประชาธิปไตยเขานิ่งในยุโรปมันผ่านระบบพวกนี้มาและมีรัฐสวัสดิการ อย่างพวกประเทศสวีเดน เดนมาร์ก แคนาดา ผมไม่เคยไปอยู่หรอก แต่หลัง 6 ตุลา เพื่อนผมไปอยู่หลายคน กลับมาเมืองไทยทีหนึ่งเขาก็มาเล่าให้ฟัง ถ้าหากเราสร้างระบบรัฐสวัสดิการขึ้นมา หมายความว่าคนรวย คนมีมรดก คนมีสมบัติ ต้องเสียสละบ้าง ถ้าคุณรวยอยู่คนเดียวโดยรอบข้างคุณจนฉิบหาย คุณก็อยู่ไม่ได้ หมายความว่าถ้าปล่อยให้คาราคาซังอยู่อย่างนี้ สักวันหนึ่งมันก็ต้องปั่นป่วนระส่ำระสายขึ้นเรื่อยๆ เกิดสงครามระหว่างกลุ่มคนขึ้น เวลานี้ความคิดก็แตกแยกอยู่แล้ว สมานฉันท์ไม่ได้ถ้าหากว่าคุณไม่ไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คุณต้องมีรัฐสวัสดิการมาดูแลประชาชน


ผมไม่รู้เหมือนกันว่าคนจำนวนมากเขาคิดกันอย่างไร แต่ถ้าไม่อยากสิ้นเปลืองเลือดเนื้อก็แปลว่าต้องเสียสละ คนที่มีเงินมีอำนาจต้องเสียสละเพื่อประเทศชาติ ถ้าคุณรักชาติจริง ถ้าต้องการให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างสมดุลและพอเพียงต้องมีรัฐสวัสดิการประกอบด้วย


ถ้าหากจะเรียกร้องแต่จิตสำนึกอย่างเดียวคงยาก ต้องบอกว่า “ขอแรงหน่อยเถอะ” อย่างที่ “ศรีบูรพา” เขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้เพื่อสะท้อนสังคมไทยว่าต้องเป็นอย่างนั้น