ปฏิทินชีวิต กุหลาบ สายประดิษฐ์

พ.ศ. ๒๔๔๘ – ๓๑ มีนาคม กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดที่กรุงเทพฯ  พ่อชื่อสุวรรณ เป็นเสมียนเอก ทำงานอยู่กรมรถไฟ  แม่ชื่อสมบุญ มีลูกสาวอีกคนหนึ่งชื่อ จำรัส เป็นพี่สาวของกุหลาบ

พ.ศ. ๒๔๕๒ – เข้าเรียนโรงเรียนวัดหัวลำโพง

พ.ศ. ๒๔๕๓ – รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต

พ.ศ. ๒๔๕๔ – พ่อเสียชีวิต เมื่อกุหลาบอายุได้ ๖ ขวบ แม่ต้องรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า และส่งพี่สาวไปฝึกเล่นละครรำและละครร้อง เพื่อช่วยหาเงินส่งเสียให้กุหลาบเรียนหนังสือ

พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๔๖๘ – หลังจากจบชั้นประถม ๔ ที่วัดหัวลำโพงแล้วได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนทหารเด็ก ของกรมหลวงนครราชสีมา แต่เรียนได้ไม่นาน แม่ให้ย้ายมาอยู่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ในชั้นมัธยม ๒ และเรียนจนจบชั้นมัธยม ๘

พ.ศ. ๒๔๖๐ – เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์

พ.ศ. ๒๔๖๕ – เรียนชั้นมัธยม ๖ ออกหนังสือพิมพ์ในห้องชื่อ ศรีเทพ ใช้นามปากกา “ดาราลอย”

พ.ศ. ๒๔๖๖ – เรียนชั้นมัธยม ๗ ออกหนังสือพิมพ์ในห้องชื่อ เทพคำรน ต่อมาเปลี่ยนเป็น ศรีสัตตคารม

  • ใช้ในนามปากกา “ศรีบูรพา” เป็นครั้งแรกในบทความชื่อ “แถลงการณ์” ลงในหนังสือพิมพ์ ทสวารบรรเทิง
  • มีงานเขียนประเภทบทกลอนลงหนังสือพิมพ์ ฉันทราบหมด และภาพยนตร์สยาม

พ.ศ. ๒๔๖๗ – เรียนชั้นมัธยม ๘ เริ่มทำงานกลางคืนเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนรวมการสอน เป็นนักประพันธ์ในสำนักรวมการแปล ของนายแตงโม จันทวิมพ์

  • มีนวนิยายเรื่องแรกชื่อ คุณพี่มาแล้ว ในนามปากกา “ศรีบูรพา” พิมพ์ออกจำหน่าย
  • ใช้ชื่อจริง กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นครั้งแรกในงานเขียนกลอนหกชื่อ “ต้องแจวเรือจ้าง” ลงในหนังสือพิมพ์ แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์

พ.ศ. ๒๔๖๘ – รัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคต

  • จบชั้นมัธยม ๘ เป็นบรรณาธิการหนังสือรายทส ชื่อ สาสน์สหาย ซึ่งออกมาได้เจ็ดเล่ม
  • ๒๙ ตุลาคม เข้าทำงานที่กรมยุทธศึกษาฯ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ซึ่งมีบรรณาธิการคือ พ.ท. พระพิสิษฐพจนาการ (ชื่น อินทรปาลิต บิดาของ ป. อินทรปาลิต) แต่มีตำแหน่งเป็น “เจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์”

พ.ศ. ๒๔๖๙ – มีงานเขียนลงในหนังสือพิมพ์ประเภทบรรเทิงคดีรายคาบที่ออกมาแพร่หลายในช่วงเวลานี้ เช่น สมานมิตรบรรเทิง รายปักษ์ สวนอักษร รายปักษ์ สาราเกษม รายปักษ์ ปราโมทย์นคร รายสัปดาห์  ดรุณเกษม รายปักษ์ เฉลิมเชาว์ รายเดือน ฯลฯ

  • มีผู้ซื้องานเขียนไปพิมพ์เป็นเล่มออกจำหน่าย ได้แก่ พิษนางกำนัล ชีวิตวิวาห์ และโลกสันนิวาส นามปากกา “ศรีบูรพา”
  • ช่วยทำหนังสือพิมพ์ ธงไทย ซึ่ง เฉวียง เศวตะทัต เพื่อนร่วมรุ่นเป็นหัวเรือใหญ่

พ.ศ. ๒๔๗๐ – เปลี่ยนตำแหน่งจากเจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์ เป็น เลขานุการแผนกบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาฯ

  • เริ่มหัดต่อยมวย
  • ร่วมกับเพื่อนจัดพิมพ์หนังสือออกจำหน่าย ใช้ชื่อสำนักพิมพ์ว่า “นายเทพปรีชา” โดยหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์คือ ชีวิตสมรส

พ.ศ. ๒๔๗๑  – เขียนนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง เล่นกับไฟ ลงในเสนาศึกษาฯ  มีประโยคที่จะมีความสำคัญในกาลต่อมา คือ “ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น”

  • เขียนนวนิยายเรื่อง ลูกผู้ชาย ซึ่งนับเป็นนวนิยายที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ “ศรีบูรพา”

พ.ศ. ๒๔๗๒ – ลาออกจากหนังสือพิมพ์เสนาศึกษาฯ

ก่อตั้งคณะสุภาพบุรุษ กลุ่มนักประพันธ์นวนิยายรุ่นหนุ่มสาวฝีมือดีที่เป็นสามัญชน โดยออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ชื่อ สุภาพบุรุษ มีกุหลาบเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ สำนักงานอยู่ที่ห้องเกษมศรี หน้าวัดชนะสงคราม  ฉบับปฐมฤกษ์ วันที่ ๑ มิถุนายน เป็นหนังสือพิมพ์ที่เริ่มประเพณีการซื้อเรื่องลงในหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรก ยกระดับงานเขียนหนังสือให้เป็นงานที่มีเกียรติและเป็นอาชีพได้  และได้ประกาศความหมายของคำว่า “สุภาพบุรุษ” อันเป็นอุดมคติที่มั่งคงในชีวิตของกุหลาบ สายประดิษฐ์

พ.ศ. ๒๔๗๓  – รับเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน บางกอกการเมือง เพื่อช่วยปรับปรุงหนังสือพิมพ์ซึ่งออกจำหน่ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ นับเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่อาณาจักรหนังสือพิมพ์ข่าว โดยนำเพื่อนนักเขียนในคณะสุภาพบุรุษเข้ามาเป็นกองบรรณาธิการ  แต่ทำอยู่ได้ ๓ เดือนก็ลาออก

  • หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ฉบับสุดท้ายคือปีที่ ๒ เล่มที่ ๓๗ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน โดยไม่มีการชี้แจงจากบรรณาธิการ
  • ช่วงปลายปีคณะสุภาพบุรุษจัดทำหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ ไทยใหม่ มีกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ นายเอก วีสกุล เป็นนายทุน

พ.ศ. ๒๔๗๔ – เปลี่ยนให้ สนิท เจริญรัฐ เป็นบรรณาธิการไทยใหม่

วันที่ ๘ และ ๑๑ ธันวาคม ไทยใหม่ ลงบทความของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เรื่อง “มนุษยภาพ” ซึ่งแสดงถึงความคิดทางสังคมที่ก้าวหน้ามากของนักเขียนในวัยเพียง ๒๖ ปี โดยเป็นการวิพากษ์สังคมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเรียกร้องความเสมอภาคของมนุษย์และความเป็นประชาธิปไตยในสังคม ทำให้หลวงวิจิตรวาทการเข้ามาถือหุ้นและเบี่ยงเบนนโยบายของหนังสือพิมพ์ คณะสุภาพบุรุษจึงลาออกทั้งคณะ

พ.ศ. ๒๔๗๕ – วันที่ ๑๐, ๑๖ และ ๒๑ มกราคม หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ลงบทความ “มนุษยภาพ” ใหม่อีกครั้ง ทำให้ ศรีกรุง ถูกสั่งปิดไป ๙ วัน นับเป็นเหตุการณ์ที่เกรียวกราวมากในยุคนั้น

  • คณะสุภาพบุรุษร่วมจัดทำหนังสือพิมพ์ ผู้นำ ซึ่งมีนายทองอิน บุณยเสนา (เวทางค์) เป็นบรรณาธิการ ออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน    – ๑ มิถุนายน นวนิยายเรื่อง สงครามชีวิต ของ “ศรีบูรพา” จัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก เป็นนวนิยายที่แสดงถึงสำนึกทางมนุษยธรรมต่อผู้ยากไร้ในสังคม ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการประพันธ์ไทย
  • วันที่ ๒๔ มิถุนายน คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
  • หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ ประชาชาติ รายวัน มีกุหลาบสายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ พร้อมด้วยคณะสุภาพบุรุษที่มาร่วมกองบรรณาธิการ ออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม เป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย และคัดค้านเผด็จการ
  • วันที่ ๑๐ ธันวาคม รัชกาลที่ ๗ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

พ.ศ. ๒๔๗๖ – กระทรวงมหาดไทย ออก พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๖

พ.ศ. ๒๔๗๗ – วันที่ ๒๗ มิถุนายน วันเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

  • อุปสมบทที่วัดเบญจมบพิตร ๑ พรรษา

พ.ศ. ๒๔๗๘ – วันที่ ๑๙ สิงหาคม แต่งงานกับนางสาวชนิด ปริญชาญกล หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นเจ้าภาพ พร้อมทั้งได้ประทานที่ดินในซอยพระนางให้ปลูกเรือนหอ

พ.ศ. ๒๔๗๙ – จอมพล ป. พิบูลสงคราม เชิญหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นที่ปรึกษา เพื่อหวังให้ ประชาชาติ ลดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล  ในเดือนพฤษภาคม กุหลาบถือโอกาสลดความขัดแย้งด้วยการเดินทางไปดูงานหนังสือพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยได้รับคำเชิญจากหนังสือพิมพ์อาซาฮี เป็นเวลา ๖ เดือน  มาลัย ชูพินิจ จึงเป็นบรรณาธิการประชาชาติ แทน  เมื่อกุหลาบกลับมาแล้วก็ไม่ได้รับหน้าที่ในประชาชาติ อีก โดยเป็นเพียงนักเขียนพิเศษที่มีเรื่องลงประจำ

พ.ศ. ๒๔๘๐ – เขียนนวนิยายรักที่มีชื่อเสียงมากคือ ข้างหลังภาพ ลงในประชาชาติ และเรื่อง ป่าในชีวิต ลงในสยามนิกร รายวัน

  • เกิดกรณีประชาชาติ ลงข่าวเกี่ยวกับทหารในกรม ป.ต.อ. วิวาทชกต่อยกับกรรมกรสามล้อ ทหารไปล้อมวังท่านวรรณ กองบรรณาธิการจึงลาออกทั้งคณะ

พ.ศ. ๒๔๘๑ – พันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลคณะที่ ๙

สนิท เจริญรัฐ หนึ่งในคณะสุภาพบุรุษ ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชามิตร รายวัน สำนักงานอยู่ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม เรียกกันว่า วิกบางขุนพรหม  ฉบับปฐมฤกษ์ออกเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม  กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นกรรมการอำนวยการ

พ.ศ. ๒๔๘๒ – วันที่ ๒๔ มิถุนายน เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย

  • วันที่ ๑ กันยายน กองทัพเยอรมันบุกโปแลนด์ เปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ ๒
  • ออกหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ กับวิกบางขุนพรหม กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ เขียนบทความต่อต้านรัฐบาลเผด็จการมาโดยตลอด  ต่อมารวมประชามิตร กับสุภาพบุรุษ เป็นเล่มเดียวในชื่อ ประชามิตร สุภาพบุรษ แต่ในยุคนั้นเขียนว่า ประชามิตร สุภาพบุรุส

พ.ศ. ๒๔๘๓ – เกิดสงครามอินโดจีน ไทยรบกับฝรั่งเศสเพื่อขอดินแดนคืน

พ.ศ. ๒๔๘๔ – รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศใช้ พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เกิดการข่มขู่ คุกคาม สิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์อย่างหนัก

  • เขียนบทความชุด “เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕” ลงใน สุภาพบุรุษ ตั้งแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม ถึง ๑๑ มิถุนายน รวม ๑๖ ตอน สร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาล
  • ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีพิธีเปิดป้ายสมาคมในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน กุหลาบเสนอให้พระยาปรีชานุศาสน์ (บิดาของอานันท์ ปันยารชุน) เป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ คนแรก กุหลาบเป็นเลขาธิการสมาคม
  • วันที่ ๘ ธันวาคม ญี่ปุ่นเดินทัพเข้าไทย เริ่มต้นสงครามมหาเอเชียบูรพา เกิดขบวนการเสรีไทย มีนายปรีดี พนมยงค์เป็นหัวหน้า

พ.ศ. ๒๔๘๕ – เขียนบทความคัดค้านการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ของรัฐบาล จนเป็นผลให้รัฐบาลต้องระงับไป และยังได้เขียนบทความคัดค้านรัฐบาลเรื่องการร่วมมือกับญี่ปุ่น จึงถูกรัฐบาลจับกุมข้อหากบฏในราชอาณาจักร ถูกขังอยู่ ๓ เดือน

พ.ศ. ๒๔๘๖ – สอบได้ ธรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พ.ศ. ๒๔๘๗ – รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออก เนื่องจากแพ้เสียงในการเสนอร่าง พ.ร.บ. สองฉบับ ต่อสภา

  • ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ คนที่ ๓ และได้ดำรงตำแหน่งอยู่สองสมัย (พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๙)

พ.ศ. ๒๔๘๘ – วันที่ ๑๕ สิงหาคม ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม วันที่ ๑๖ สิงหาคม ไทยประกาศสันติภาพ

  • เดือนตุลาคม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกจับในคดีอาชญากรสงคราม

พ.ศ. ๒๔๘๙ – ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๔๘๙ และมีการยกเลิก พ.ร.บ. ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖

  • วันที่ ๙ มิถุนายน รัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคตพ.ศ. ๒๔๙๐
  • วันที่ ๘ พฤศจิกายน คณะนายทหารทำรัฐประหาร มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม พลโท ผิน ชุณะหวัณ หลวงกาจ กาจสงคราม พันเอกเผ่า ศรียานนท์ พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ร่วมก่อการ  และให้นายควง อภัยวงศ์ จัดตั้งรัฐบาล ต่อมาเกิดการแก่งแย่งชิงอำนาจกันเอง
  • กุหลาบไปศึกษาวิชาการเมืองในประเทศออสเตรเลียเป็นเวลา ๒ ปี

พ.ศ. ๒๔๙๑ – จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐

พ.ศ. ๒๔๙๒ – เหมาเจ๋อตง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะจากพรรคก๊กมินตั๋ง ประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

  • ปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยการเมือง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓
  • กลับจากออสเตรเลีย กุหลาบตั้งสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ เพื่อพิมพ์และจำหน่ายหนังสือของ “ศรีบูรพา” และ “จูเลียต”

พ.ศ. ๒๔๙๓ – เกิดสงครามในคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ กับเกาหลีใต้ซึ่งปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย  รัฐบาลไทยประกาศส่งกำลังทหารเข้าร่วม

  • จนกว่าเราจะพบกันอีก จัดพิมพ์ครั้งแรก และเป็นเล่มแรกของสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ นวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนวนิยายเพื่อชีวิตซึ่งเป็นพัฒนาการใหม่ของนวนิยายไทย
  • เรื่องสั้น “คำขานรับ” ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดลิเมล์วันจันทร์
  • เขียนบทความเรื่อง “มองดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว” ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนำไปพิมพ์เพื่อเตือนสตินักการเมืองบางคนในยุคนั้นที่พยายามทำลายสถาบันแห่งนี้  ประโยคอมตะในบทความนี้คือ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”
  • เริ่มเขียน ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิสม์ ลงพิมพ์เป็นบทความต่อเนื่องใน อักษรสาส์น รายเดือน

พ.ศ. ๒๔๙๔ – เดือนกุมภาพันธ์ มีการประชุมสภาสันติภาพสากลเป็นครั้งแรก ที่เมืองเบอร์ลินตะวันออก เรียกร้องให้มหาอำนาจเจรจาตกลงกันให้เกิดสันติ าพขึ้น รวมทั้งกรณีสงครามเกาหลี  และมีการรับรองคนไทยสามคนให้เข้าร่วมงานส่งเสริมสันติภาพในสภานี้ด้วย คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สมัคร บุราวาศ และเพทาย โชตินุชิต

  • เดือนเมษายน มีการก่อตั้ง คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย นายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธาน
  • หนังสือ ข้าพเจ้าได้เห็นมา เรื่องราวจากประสบการณ์ที่ออสเตรเลีย จัดพิมพ์เป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๒๔๙๕ – เดินทางไปสวนโมกข์ ศึกษาพุทธศาสนากับท่านพุทธทาสภิกขุ

  • เรื่องแปลและเรียบเรียง เขาถูกบังคับให้เป็นโจร จัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก
  • ปราศรัยในที่ประชุมใหญ่สมาคมหนังสือพิมพ์ฯ และเขียนบทความเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ และยกเลิก พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
  • รับตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย เรียกร้องสันติภาพคัดค้านสงครามเกาหลี
  • เดือนตุลาคม เป็นประธานนำคณะจากสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ ไปแจกสิ่งของแก่ประชาชนภาคอีสานที่ประสบภัยแล้ง  วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน รัฐบาลจับกุมกุหลาบ สายประดิษฐ์ พร้อมทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ข้าราชการ จำนวนมากในข้อหา”ขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร” ถูกตัดสินจำคุก ๑๓ ปี ๔ เดือน และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวาง เรียกกันว่ากรณี “กบฏสันติภาพ”

พ.ศ. ๒๔๙๖ -เรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงของ “ศรีบูรพา” เรื่อง “ขอแรงหน่อยเถอะ” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ปิยะมิตรพ.ศ. ๒๔๙๗

  • ฝ่ายเวียดนามเหนือรบชนะฝรั่งเศสในสมรภูมิเดียนเบียนฟู
  • ไทยเข้าร่วมในองค์การ SEATO ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้

พ.ศ. ๒๔๙๘ – นวนิยายเรื่อง แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย จัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก

  • เขียนบทความเกี่ยวกับพุทธศาสนา นามปากกา “อุบาสก” ลงในหนังสือพิมพ์ วิปัสสนาสาร ของสำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดมหาธาตุ

พ.ศ. ๒๕๐๐ – เดือนกุมภาพันธ์ ได้รับนิรโทษกรรมเนื่องในวโรกาสครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ

  • เดือนเมษายน ร่วมประท้วงรัฐบาลกรณีจับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
  • เดือนกันยายน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนีออกนอกประเทศ
  • เดือนพฤศจิกายน ได้รับเชิญให้เดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตเพื่อร่วมฉลองครบรอบ ๔๐ ปีของการปฏิวัติโซเวียต
  • หนังสือ อุดมธรรมกับความเรียงเรื่องพุทธศาสนา ๑๓ บท จัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก
  • เขียน แลไปข้างหน้า ภาคมัชฉิมวัย ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในปิยะมิตร

พ.ศ. ๒๕๐๑ – วันที่ ๑ มกราคม จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ ๑๐

  • แม่ ผลงานแปลจากงานประพันธ์ของแมกซิม กอร์กี้ จัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน โดยสำนักพิมพ์บุษบาบรรณ
  • ไปสหภาพโซเวียต หนังสือเล่มสุดท้ายของสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ
  • เดือนสิงหาคม นำคณะผู้แทนส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน
  • วันที่ ๒๐ ตุลาคม จอมพลสฤษดิ์ ทำการปฏิวัติอีกครั้ง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง สั่งจับกุมคุมขังผู้รักชาติรักประชาธิปไตยจำนวนมาก  กุหลาบขอลี้ภัยอยู่ในจีน
  • เดินทางจากจีนไปร่วมประชุมกลุ่มนักเขียนเอเชีย-แอฟริกาที่เมืองทาชเคนท์ สหภาพโซเวียต

พ.ศ. ๒๕๐๖ – จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. ๒๕๐๗ – เป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิทยาศาสตร์ (สาขาสังคมศาสตร์) ที่ปักกิ่ง

พ.ศ. ๒๕๐๘ – เป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมนานาชาติที่ฮานอย ในการสนับสนุนประชาชนเวียดนามต่อต้านการรุกรานของสหรัฐอเมริกา

พ.ศ. ๒๕๐๙ – เป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมกลุ่มนักเขียนเอเชีย-แอฟริกาที่ปักกิ่ง

พ.ศ. ๒๕๑๖ – เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พลังประชาชนล้มล้างรัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาส-ณรงค์  กุหลาบเขียนบทกวีร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ส่งมาเมืองไทย

พ.ศ. ๒๕๑๗ – วันที่ ๑๖ มิถุนายน กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดบวมและเส้นโลหิตหัวใจตีบที่โรงพยาบาลเซียะเหอในปักกิ่ง อัฐิส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่สุสานปาเป่าซาน

พ.ศ. ๒๕๑๘ – แลไปข้างหน้า ภาคมัชฉิมวัย จัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก

พ.ศ. ๒๕๑๙ – เกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ผลักดันนักศึกษาจำนวนมากเข้าป่าเป็นแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

พ.ศ. ๒๕๒๑ – รัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม “คดี ๖ ตุลา”

พ.ศ. ๒๕๒๘ – ข้างหลังภาพ สร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก โดยเปี๊ยก โปสเตอร์

พ.ศ. ๒๕๓๑ – กองทุนศรีบูรพา มอบรางวัล “ศรีบูรพา” แก่นักเขียนที่สร้างสรรค์งานอันมีคุณค่าแก่สังคมและมนุษยชาติ เป็นปีแรก คือ “เสนีย์ เสาวพงศ์” หรือนายศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์

พ.ศ.๒๕๓๗ – อัฐิของกุหลาบได้รับการนำกลับมาไว้ที่สุสานหลวงวัดเทพศิรินทร์

พ.ศ. ๒๕๔๑ – ถนนสายหนึ่งในเขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ได้รับการตั้งชื่อว่า ถนนศรีบูรพา และมีการจัดทำแผ่นป้ายคำสดุดีสันติภาพลายมือกุหลาบ สายประดิษฐ์ติดไว้ที่สวนสันติภาพ

พ.ศ. ๒๕๔๓ – ในวาระเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส คณะอนุกรรมการฝ่ายรางวัลปรีดี พนมยงค์ มอบรางวัลปรีดี พนมยงค์ สำหรับบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านประชาธิปไตยในรอบ ๑๐๐ ปีแก่ กุหลาบ สายประดิษฐ์

พ.ศ. ๒๕๔๔ – ข้างหลังภาพ สร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งที่ ๒ โดยเชิด ทรงศรี

พ.ศ. ๒๕๔๕ – ข้างหลังภาพ จัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งที่ ๓๖

พ.ศ. ๒๕๔๖ – วันที่ ๑๗ ตุลาคม ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศการคัดเลือกบุคคลดีเด่นของโลก ปี พ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๔๘ รวม ๔๓ คน เป็นคนไทยสองคน คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และ กุหลาบ สายประดิษฐ์

พ.ศ. ๒๕๔๘ – วันที่ ๓๑ มีนาคม การฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์