หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตา ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ บนหน้าจอโทรทัศน์ บนเวทีเสวนา และหน้าชั้นเรียน ในฐานะนักวิชาการผู้เป็นสัญลักษณ์ของความสมานฉันท์
และเป็นอาจารย์หน้าดุใจดีที่พร่ำสอนลูกศิษย์ให้รู้จักการเมืองเชิงสันติ แต่อีกด้านหนึ่งของ ดร.ชัยวัฒน์ คือ นักเขียน ที่ ณ วันนี้ เป็นเจ้าของรางวัลศรีบูรพาประจำปี 2555 แล้ว
ดร.ชัยวัฒน์ มีผลงานทางวรรณกรรมหลากหลายประเภท ทั้งด้านวิชาการ งานแปล สารคดี ไปจนถึงทำหน้าที่บรรณาธิการ แต่กว่าที่เขาจะมาเป็น ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างในปัจจุบัน เขาได้รับรางวัลทุนเรียนดีภูมิพล เรียนจบรัฐศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นเขาก็ได้ทุนการศึกษาจาก East West Center ไปเรียนต่อจนจบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตจาก University of Hawai’i สหรัฐอเมริกา
ไม่เพียงเท่านั้น วิทยานิพนธ์ในสาขาปรัชญา-ทฤษฎีการเมืองสันติวิธีเรื่อง The Nonviolent Prince ของเขายังถูกเสนอชื่อเพื่อพิจารณาให้รับรางวัล 1982 Council of Graduate Schools/University Microfilms, International Dissertation Award
ราว 30 ปีก่อน เมื่อประสบความสำเร็จด้านการศึกษา ก้าวต่อไปคือชีวิตการทำงาน ไม่ว่ามองไปทางไหน คงไม่มีอาชีพใดเหมาะสมกับเขามากเกินไปกว่าเป็นอาจารย์หรือนักวิชาการ และด้วยค่าประสบการณ์เกี่ยวกับปรัชญาการเมืองและแนวทางสันติวิธีที่สั่งสมมาจนเต็มภูมิ เขาจึงเลือกสอนหนังสือแก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเดิมซึ่งเคยฟูมฟักเขาให้กลายเป็นคนคุณภาพ
“ผมเป็นอาจารย์ในวันนี้เพราะตั้งแต่เรียนหนังสือตอน ม.ปลาย ก็มีคนบอกว่าผมอธิบายอะไรคนฟังพอจะเข้าใจ ก็น่าจะลองมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ตอนแรกผมอยากจะทำงานกระทรวงต่างประเทศ แต่คิดว่าคงไม่สามารถเข้าไปในกระทรวงได้มั้งด้วยเหตุผลนานาชนิด พอมีคนชี้ทางเรื่องการเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์ก็เริ่มสนใจ พอมาเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ ก็ได้รับอิทธิพลจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ จันทรวงศ์ ท่านทำให้ผมเห็นว่าการเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาการเมืองมันน่าทึ่งมาก ผมก็หันมาสนใจ” ดร.ชัยวัฒน์กล่าว
ดร.ชัยวัฒน์ สอนวิชา ‘ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมือง’ ซึ่งน่าจะนับได้ว่าเป็นการสอนวิชาสันติวิธีในมหาวิทยาลัยของรัฐครั้งแรกในประเทศไทย
เขาเล่าว่า ขณะเรียนและเริ่มทำงานตรงกับช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาพอดิบพอดี แนวคิดทางการเมืองจึงผลิดอกออกผลในสมองเขาเสมอมา
“ผมเป็นอาจารย์ได้ไม่ถึงเดือนละมั้ง ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมก็ถือว่าได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์นั้น และผมโตมากับขบวนการนักศึกษา เพราะ 14 ตุลา ผมอยู่ปีสองที่ธรรมศาสตร์ ทั้งหมดนี้มีส่วนต่อความคิดของผม ปัญหาต่างๆ มีอะไรบ้าง ทำให้ผมสนใจและตั้งขอสังเกตเกี่ยวกับความรุนแรงเรื่อยมา”
จากการสอนหนังสือค่อยๆ ขยับขยาย เขาเคยเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา และรองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งเป็นนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งนอกจากบทบาททางวิชาการในรั้วแม่โดมแล้ว นอกมหาวิทยาลัยเขาคือบุคคลสำคัญเกี่ยวกับความสมานฉันท์ของประเทศไทย เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, เป็นคณะกรรมการแก้ไขความขัดแย้งกรณีท่อก๊าซยาดานา, เป็นประธานกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล, เป็นอดีตรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เคยเป็นนักวิจัย (Research Fellow) ของ Institute for Southeast Asian Studies (ISEAS), Singapore, ศาสตราจารย์รับเชิญ คณะรัฐศาสตร์ University of Hawai’I, และเคยเป็นศาสตราจารย์ประจำโครงการศึกษาสันติวิธีของ International University for People’s Peace (IUPIP), Rovereto, Italy
นอกจากนั้น ดร.ชัยวัฒน์ ยังสวมหัวโขนอีกหลายใบ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลยังวนเวียนอยู่กับคำว่า “สมานฉันท์” อาทิ เป็นผู้อำนวยการโครงการจัดพิมพ์ คบไฟ, ผู้อำนวยการ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา, เป็นรองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ เป็นต้น
“ผมเชื่อว่าความรุนแรงเป็นปัญหาที่เอาชนะได้ ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมเรียนมันมีข้อสรุปสองสามอย่าง อย่างที่หนึ่งคือ ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติ ผมจึงไม่มุ่งขจัดความขัดแย้ง ไม่เคยเลย แต่ผมคิดว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติ และทางออกจากความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องเผชิญกับความรุนแรง มันน่าจะมีทางเลือกอื่น และนั่นก็น่าจะเป็นสันติวิธี”
แม้ระยะเวลาจะดำเนินมากว่า 30 ปีแล้ว เขาก็ยังมุมานะทำหน้าที่ “สร้างสันติ” อย่างเต็มกำลัง เพราะทุกวันนี้เขายังปรากฏกายต่อหน้าลูกศิษย์เพื่อสอนวิชา ‘ปรัชญาการเมืองในศตวรรษที่ 21’ และ ‘สัมมนาการเมืองกับนวนิยาย’ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำคณะเดียวกันนี้ด้วย
และแทบจะเป็นของคู่กันระหว่างนักวิชาการกับการแสดงปาฐกถา ดร.ชัยวัฒน์ คือหนึ่งในองค์ปาฐกเกี่ยวกับสันติวิธีและความรุนแรงที่โดดเด่นที่สุด เขาเคยแสดงปาฐกถาทั้งในและต่างประเทศ ในปาฐกถาสำคัญของโลกหลายครั้ง เขาคือองค์ปาฐก !
อาทิ แสดงปาฐกถาเรื่อง ‘The Politics of Forgiveness.’ A Gandhi Memorial Lecture organized by Gandhi Samirti Dashan Samiti ที่รัฐสภาอินเดีย กรุงนิวเดลฮี, 21 สิงหาคม 1993
แสดงปาฐกถาเรื่อง ‘The Silence of the Bullet Monument: From Dusun Nyor 1948 to “Kru-ze” 2004’ ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 9 ที่ Northern Illinois University (Dekalb), 4-6 เมษายน 2005
แสดงปาฐกถาเรื่อง ‘Transforming Terrorism with Muslims’ Nonviolent Alternatives?’ ที่ University of Manchester Peace Lecture, 5 พฤษภาคม 2006
แสดงปาฐกถาเรื่อง ‘Bejeweled Dialogue: Illuminating Deadly Conflicts in the Twenty-First Century’ ในการประชุม Asian Pacific Peace Research Association (APPRA), National Dong Hwa University, Taiwan, 10 กันยายน 2009
แสดงปาฐกถาเรื่อง ‘Overcoming Cultural Resistance to Non-Violence.’ เป็น 2010 Peace Lecture, Dunedin Abrahamic Interfaith Group and Otago University Chaplaincy, University of Otago, 12 กรกฎาคม 2010
เมื่อชื่อของ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ปรากฏในจุดประกายวรรณกรรม หากไม่เกี่ยวข้องกับวงวรรณกรรมคงไม่ได้ ทว่าชื่อนี้หาได้เพียงเกี่ยวข้องไม่ เพราะเขามีผลงานเขียนมากมาย ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ งานหลายชิ้นถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย เช่น ภาษาอาหรับ อินโดนีเซีย เยอรมัน ญี่ปุ่น และเกาหลี ทั้งยังรับหน้าที่ทั้งในฐานะผู้เขียนและบรรณาธิการ ซึ่งแน่นอนว่ากลิ่นอายแห่งสันติภาพ สันติสุข สมานฉันท์ ยังคละคลุ้งในเนื้องานของเขาอย่างสม่ำเสมอ
ผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์เป็นเล่ม ในภาษาต่างประเทศ อาทิ
Islam e Nonviolenza. (Trans. into Italian by Paolo De Stafani) (Torino: Edizioni Gruppo Abele, Novembre 1997)
Agama dan Budaya Perdamaian (Religion and Peace Culture). (Translated into Bahasa Indonesia by Taufik Adnan Amal) (Yogyakarta: Forum kajian Budaya dan Agama, Pusat Studi Keamanan dan Perdamaian, University Gadjah Madah; Quaker International Affairs, 2001)
The Life of This World: Negotiating Muslim Lives in Thai Society. (Singapore, New York: Marshall Cavendish, 2005)
Essays of the Three Prophets: Nonviolence, Murder and Forgiveness (Dunedin: Dunedin Abrahamic Interfaith Group, University of Otago, 2011)
สำหรับผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์เป็นเล่มในภาษาไทยล่าสุด ได้แก่
ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551)
เป็นบรรณาธิการ แผ่นดินจินตนาการ : รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ (สำนักพิมพ์มติชน, 2551)
เป็นบรรณาธิการ หมู่บ้าน…ไม่สงบ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2553)
เป็นบรรณาธิการ ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย (สำนักพิมพ์มติชน, 2553)
สำหรับผลงานทั่วไปนอกวงวิชาการ ได้แก่
งานแปล ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน (คบไฟ, 2544)
ราวกับมีคำตอบ (สารคดี, 2547)
มีกรอบไม่มีเส้น (สารคดี, 2547)
ถึงเว้นไม่เห็นวรรค (สารคดี, 2547)
เมื่อพิจารณาผลงานข้างต้น แม้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ก็น่าจะเข้มข้นพอให้มอบตำแหน่งนักเขียนคุณภาพที่ผลิตผลงานเพื่อสังคมได้อย่างต่อเนื่อง และอาจจะมากกว่านักเขียนหลายคนที่ส่งผลงานมาทีหายไปหลายที จนบางคนนั่งญาณไปถามเทพยดาแล้วว่ากำลังกินบุญเก่า…
“งานเขียนส่วนมากเป็นงานทางวิชาการ แต่ก็มีงานนอกๆ อยู่บ้าง นานๆ ทีผมก็เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์บ้างเวลาที่ผมคิดว่าจำเป็น หรือมีประเด็นบางอย่างที่สังคมไทยควรจะคิด”
ทำงานเพื่อสังคมมาก็หลายสิบปี มีผลงานคุณภาพก็มาก รางวี่รางวัลย่อมมาสู่ ดร.ชัยวัฒน์ เป็นธรรมดา สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งกำลังใจสำหรับการทำงาน และที่สำคัญ เป็นเครื่องการันตีคุณภาพของเขา
เมื่อปี 2541 เขาได้รับยกย่องเป็น ครูดีเด่น จากมูลนิธิ เอกิน เลาเกเซ่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ปี 2549 เป็นกีรติยาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ของสภาวิจัยแห่งชาติ
ปัจจุบันเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
และในปีนี้ (2555) ผลงานทางวรรณกรรมอันทรงคุณค่า แนวคิดอันดีงาม และมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่ดีงาม รวมทั้งเป็นแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคม และมนุษยชาติอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนของเขาก็เข้าตา ‘กองทุนศรีบูรพา’ อย่างเป็นเอกฉันท์ ให้ได้รับรางวัล ‘ศรีบูรพา’
ซึ่งเจ้าตัวก็น้อมรับรางวัลนี้พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า “ผมรู้สึกตกใจ รู้สึกแปลกใจ จริงๆ รู้สึกไม่ค่อยแน่ใจ เพราะความเข้าใจของผมก็คงเหมือนคนทั่วไป เพราะชื่อของศรีบูรพายิ่งใหญ่ ตัวผมเองก็เข้าใจว่าผมเป็นนักวิชาการธรรมดาคนหนึ่ง ที่ได้รับรางวัลยิ่งใหญ่ขนาดนี้ผมก็ไม่แน่ใจ ก็รู้สึกว่าไม่ใช่มั้งตั้งแต่ต้น แต่ทางกองทุนฯ เขาก็บอกว่า ใช่ เพราะรางวัลนี้ไม่ได้ให้กับนักเขียนอย่างเดียว ไม่ได้ให้กับนักหนังสือพิมพ์อย่างเดียว เขาให้ด้วยเหตุอื่น”
พิธีมอบรางวัลศรีบูรพากำหนดขึ้นพร้อมกับงานวันนักเขียน วันที่ 5 พฤษภาคม 2555
วันนั้นเราอาจได้ฟังสุนทรกถาระดับโลกจาก ดร.ชัยวัฒน์ ก็เป็นได้