นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2554

นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ 
(Vanchai Tantivitayapitak)

เกิด :   28 มกราคม พ.ศ. 2504
การศึกษา :  
2510-2521 ประถมศึกษา-มัธยมตอนปลาย โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพ
2522-2526 ปริญญาตรี  สาขาวิชาวรรณคดีอังกฤษ  คณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การทำงาน :  
2527-2528  กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ
2528-2531  กองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี
2531-2532  หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี
2533-2553  บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี
2554  รองผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ ทีวีไทย

การศึกษาดูงาน :
2537 ได้รับทุนจาก Asia Foundation ไปศึกษาดูงานการทำสื่อด้านธรรมชาติศึกษา ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาสองเดือน
2538 เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปปาฐกถาเรื่อง 50 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
2540 ได้รับทุนจากสถานทูตอังกฤษ ไปศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศอังกฤษเป็นเวลาหนึ่งเดือน
2541 สอบชิงทุนการศึกษา Chevening Scholarship ของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทได้ แต่ได้สละสิทธิ์ในเวลาต่อมา

กิจกรรมพิเศษ : 
2535-2543  เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
2537-2543 กรรมการตัดสินข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
2546-ปัจจุบัน  ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
2544-ปัจจุบัน รองประธานมูลนิธิโลกสีเขียว
2544-ปัจจุบัน คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว
2545-ปัจจุบัน  คอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ มติชน  ใช้นามปากกา “วันชัย ตัน”
2545-ปัจจุบัน ประธานคณะกรรมการตัดสินข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
2546-ปัจจุบัน      อนุกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย
2547   คณะอนุกรรมการ ประเมินผลการเสนอข่าวและรายการต่าง ๆ ของช่อง 9 อสมท.
2548-ปัจจุบัน คณะกรรมการตัดสินรางวัลหนังสือ “เซเว่นบุ๊คส์อวอร์ด”
2548-ปัจจุบัน กรรมการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)
2549  กรรมการตัดสินรางวัลอมตะ
2550- 2551        กรรมการตัดสินรางวัลหนังสือนายอินทร์
2550-ปัจจุบัน      รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ผู้บรรยายพิเศษ :
คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะมัณฑนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงานรวมเล่ม :
ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง   (แปลและเรียบเรียง) (2528, 2535, 2536, 2545)
ชีวิตและความตายของสืบ นาคะเสถียร (2533)
ก่อนจะไม่มีลมหายใจสำหรับพรุ่งนี้ ( 2536)  ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดีจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
โลกใบเล็ก (2537)
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 2459-2542 (2542)
คนกล้า (2544)
อ้วนแล้วไง (2545)
คน เขื่อน น้ำ ป่า กาแล็กซี่ (2546)
ยียวนก๊วนสี่ขา (2546)  
ผมซักฟอก  (2547)
ความจริงที่หายไป จากคลองด่านถึงเชียงดาว (2548)  ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดีจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ  และได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์ในเมืองไทย
ผมรวยแล้ว ผมพอแล้ว (2549)
ไปเที่ยว ไปทำงาน (2549) 
บันทึกญี่ปุ่น ( 2550)
บันทึกอียิปต์ (2551)
เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ (2553)
Notes from the Editor (2553)


วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ 
เป็นชาวสีลมโดยกำเนิด เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้น ป. 1 ได้หมายเลขประจำตัว 23937
จำได้ว่าวันที่สอบเข้าโรงเรียนเกิดป่วยเป็นหัดเยอรมัน แม่ต้องหิ้วข้าวต้มพาไปนั่งทำข้อสอบในหอประชุมสุวรรณสมโภช หอประชุมไม้สักเก่าแก่ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ (ปัจจุบันถูกผู้บริหารชุดใหม่ทุบทิ้งเพื่อสร้างอาคารสูง)
เรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญรวดเดียวจนถึงชั้น ม.ศ. 5   ตอนอยู่ชั้น ป. 7 ก็เริ่มทำกิจกรรมโดยไปช่วยครูประทีป อึ้งทรงธรรม (ซึ่งขณะนั้นยังเรียนหนังสืออยู่ที่วิทยาลัยครูและยังไม่ได้รับรางวัลแมกไซไซ) สอนหนังสือที่สลัมคลองเตย  พอขึ้นชั้น ม.ศ. 1 ก็หนีพ่อแม่ไปค่ายสร้างโรงเรียนของกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนาที่จังหวัดสุรินทร์เป็นเวลาเกือบเดือน และยังได้ร่วมเป็นกองบรรณาธิการของ อัสสัมชัญสาสน์ วารสารรายเดือนของโรงเรียนซึ่งมีพระไพศาล วิสาโล รุ่นพี่อัสสัมชัญเป็นสาราณียกร รวมทั้งเคยพยายามส่งเรื่องไปที่ ชัยพฤกษ์การ์ตูน แต่ก็ไม่เคยได้ตีพิมพ์เลย
ปี 2519 ชั้นมศ. 3  เป็นกองบรรณาธิการอายุน้อยที่สุดของวารสาร ปาจารยสาร  และได้หยุดไปชั่วคราวภายหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตค.19
ปี 2521  ชั้นมศ. 4 เป็นประธานค่ายอัสสัมชัญอาสาพัฒนา ออกค่ายสร้างโรงเรียนที่บ้านกุดขอนแก่น อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
ปี 2521 ชั้น ม.ศ. 5 เป็นสาราณียกรของ อุโฆษสาร หนังสือประจำปีของโรงเรียนอัสสัมชัญ 
ปี 2522 สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิชาวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ และทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด ได้แก่ เป็นสมาชิกของชุมนุมศิลปการแสดง ทำละครเคลื่อนไหวทางการเมือง เขียนบทงิ้วการเมืองและทำหน้าที่ฝ่ายโค้ดของชุมนุมเชียร์ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ทำสิ่งที่ภูมิใจที่สุด คือการแปรอักษรภาพอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี 2526  ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยในรอบ 30 กว่าปีที่มีการแสดงความเคารพท่านในที่สาธารณะ จนอาจารย์ปรีดีมีจดหมายจากฝรั่งเศสแสดงความขอบคุณที่ยังระลึกถึงท่านอยู่
หลังจบการศึกษา ได้เข้าทำงานในกองบรรณาธิการวารสาร เมืองโบราณ ต่อมาได้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร สารคดี ในปี 2528  และดำรงตำแหน่งบรรณาธิการตั้งแต่ พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน  เขียนสารคดีขนาดยาวมาแล้วไม่น้อยกว่า 100 ชิ้น
ปัจจุบันนอกจากงานประจำแล้ว ยังดำรงตำแหน่งประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, รองประธานมูลนิธิโลกสีเขียว, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, เป็นผู้บรรยายพิเศษในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  เป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ มติชน ใช้นามปากกา “วันชัย ตัน” ฯลฯ
เป็นคนที่มีความเชื่อว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว