ประวัติผู้รับรางวัล
พระไพศาล วิสาโล

พระไพศาล วิสาโล เป็นพระนักคิด นักวิชาการ นักเขียนชั้นแนวหน้าท่านหนึ่ง ในหมู่ผู้แสวงหาทางออกให้แก่สังคมและโลกโดยสันติวิธี ท่านมีผลงานเขียนและงานแปลสม่ำเสมอ  นอกจากนี้ยังเป็นบรรณาธิการหนังสือหลายฉบับ เคยได้รับรางวัล“ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ ๒ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๘ จากผลงานหนังสือ “พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ” ในสาขาศาสนาและปรัชญา


กำเนิด
เดิมชื่อว่า  ไพศาล วงศ์วรสิทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่กรุงเทพมหานคร

การศึกษา
เข้าศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ
และต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หน้าที่การงาน


เริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่อยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ  เมื่ออยู่มหาวิทยาลัยก็เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือปาจารยสาร ซึ่งมีแนวทางในการประยุกต์พุทธธรรมและอหิงสธรรมมาใช้ใน
ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมในชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี

ไม่เชื่อในแนวทางมาร์กซิส   แต่กลับถูกมองว่าเป็นทั้ง “ซ้าย” และ “ขวา” กล่าวคือ ด้วยความที่สนใจการเมืองจึงถูกมองว่าเป็นพวกซ้าย ขณะเดียวกัน ความสนใจในพระพุทธศาสนาก็ทำให้นักศึกษาด้วยกันมองว่าเป็นพวกขวา

ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้ชุมนุมอย่างสงบในตึกเรียนแยกจากนักศึกษา เป็นการชุมนุมอดอาหารเรียกร้องคณะสงฆ์พิจารณาประเด็นที่เปิดโอกาสให้จอมพลถนอม กิตติขจร บรรพชาเป็น “สามเณรถนอม” ถูกจับในขณะที่ทหารตำรวจและฝ่ายขวาบุกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วก็กลับมาทำงานในกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ แต่ก็ไม่มีความสงบทางใจ มีแต่ความเหนื่อย เครียด ทะเลาะกับเพื่อนที่ทำงาน จึงได้ตัดสินใจบวชเรียนในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ณ วัดทองนพคุณ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร แล้วมาปฏิบัติธรรมที่วัดสนามใน ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

หลังจากนั้นก็ได้ไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดป่าสุคะโต ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ เพราะเป็นวัดสงบเงียบ สงบเย็น ร่มรื่น อยู่ในป่า มีพระอยู่น้อย ช่วงนั้นได้ช่วยหลวงพ่อคำเขียนทำสหกรณ์ข้าวด้วย

ครั้งแรกตั้งใจจะบวชเพียง ๓ เดือน แต่เมื่อปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้า เกิดความอาลัยในผ้าเหลือง จึงบวชต่อเรื่อยมา ได้ชื่อว่าเป็นพระนักกิจกรรมหัวก้าวหน้า เชื่อมโยงพุทธศาสนากับสังคม เป็นนักคิด นักวิชาการ มีงานเขียนอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากการรับเชิญไปแสดงพระธรรมเทศนาในที่ต่างๆ


ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต (วัดเอราวัณ) แต่มักจะเลือกจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามหาวัน (ภูหลง) บ้านตาดรินทอง ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อรักษาและอนุรักษ์ป่าตามโครงการวนาพิทักษ์ภูหลง เพราะทำให้ชาวบ้านเกรงใจไม่กล้าตัดไม้ วัดป่ามหาวันไปมายาก ทำให้มีเวลาทำงานและปฏิบัติธรรมได้มาก


นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง, กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย, กรรมการมูลนิธิสันติวิถี, กรรมการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และประธานเครือข่ายพุทธิกา

ผลงาน
ผลงานที่ผ่านมา ได้แก่ งานเขียนและงานบรรยายจำนวน ๑๐๐ เล่ม งานเขียนร่วม ๑๙ เล่ม งานแปลและงานแปลร่วม ๙ เล่ม งานบรรณาธิกรณ์และบรรณาธิกรณ์ร่วม ๗ เล่ม
ตัวอย่างผลงาน อาทิ


– มองอย่างพุทธ เพื่อความเข้าใจในชีวิตและสังคม ๒๕๔๖
– พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ ๒๕๔๖
– เส้นโค้งแห่งความสุข (๒) เราเป็นได้มากกว่าผู้บริโภค ๒๕๔๕
– เส้นโค้งแห่งความสุข (๑) สดับทุกข์ยุคบริโภคนิยม ๒๕๔๕
– ชีวิตและความตายในสังคมสมัยใหม่ ๒๕๔๕
– ฉลาดทำบุญ รวมเรื่องน่ารู้ คู่มือทำบุญให้ถูกวิธี ๒๕๔๔
– คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต ข้อความเปิดเผยเรื่องเร้นลับของความตาย ๒๕๔๓
– ร่มไม้และเรือนใจ ๒๕๔๓
– ประตูสู่สภาวะใหม่ คำสอนทิเบตเพื่อเตรียมตัวตายและช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย ๒๕๔๑
– อเมริกาจาริก : เดินทางสู่ชีวิตด้านใน จรไปในโลกกว้าง ๒๕๔๑
– อยู่ย้อนยุค : ทัศนะทวนกระแสบริโภคนิยม ๒๕๓๙
– ๖ ตุลาจารึก ความทรงจำ ความหวัง และบทเรียน ๒๕๓๙
– ช้างไทยในความทรงจำ ๒๕๓๗
– พลิกฟื้นไทยให้เขียวชอุ่ม ทางเลือกใหม่เพื่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ๒๕๓๖
– องค์รวมแห่งสุขภาพ ทัศนะใหม่เพื่อดุลยภาพแห่งชีวิตและการบำบัดรักษา ๒๕๓๖
– ห้วงลึกแห่งจิต ในทัศนะพุทธศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ๒๕๓๖
– กบกินนอน ชีวิตและความคิดอ่านจากประสบการณ์ในต่างแดน ๒๕๓๕
– โอบกอด ๒๕๓๔
– สถานะและชะตากรรมของมนุษย์ในยุคคอมพิวเตอร์ ๒๕๓๔
– ก่อนธารน้ำจะหยุดไหล ประสบการณ์และทางเลือกเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ๒๕๓๓
– แลขอบฟ้าเขียว : ทางเลือกสำหรับอนาคตที่กำลังปรากฏเป็นจริง ๒๕๓๓
– วิพากษ์คอมพิวเตอร์เทวรูปแห่งยุคสมัย ๒๕๓๓
– พุทธศาสนากับคุณค่าร่วมสมัย ๒๕๒๙
– แสวงหารากฐานของชีวิตในโลกแห่งกิจกรรม ๒๕๒๗
เคยได้รับรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ ๒ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๘ จากผลงานหนังสือ “พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ” ในสาขาศาสนาและปรัชญา
เมื่อปี ๒๕๔๘

ทัศนะต่อชีวิต
พระไพศาล วิสาโล ยืนยันว่า “ชีวิตอาตมาเป็นแค่พระอย่างเดียว ก็เป็นเกียรติและประเสริฐสุดในชีวิตแล้ว ไม่มีอะไรสูงสุดกว่าการเป็นพระ ที่เหลือเป็นส่วนเกิน”
(ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.visalo.org)