พระนักปราชญ์ ผู้มองเห็นถึงปัญหาทั้งในเชิงปัจเจกและโครงสร้างของสังคม และเป็นกำลังสำคัญในหมู่ผู้แสวงหาทางออกให้กับสังคมไทยและโลกโดยสันติ


พระ ไพศาล วิสาโล ได้ชื่อว่าเป็นพระนัก ปราชญ์ เป็นนักคิด-นักเขียนชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ผู้มองเห็นถึงปัญหาทั้งในเชิงปัจเจกและในเชิงโครงสร้างของสังคม และเป็นกำลังสำคัญในหมู่ผู้แสวงหาทางออกให้กับสังคมไทยและโลกโดยสันติวิธี โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองขณะนี้แนวทางสันติวิธีหรือมาตรการปรองดองแห่ง ชาติน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ตลอดระยะ เวลาที่อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ 27 ปี พระไพศาล วิสาโล เป็นนักธรรมผู้สร้างสะพานเชื่อมธรรมะสู่คนรุ่นใหม่ เป็นพระสงฆ์นักกิจกรรมหัวก้าวหน้าที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางด้านพุทธธรรม มาอธิบายปรากฏการณ์ของชีวิตและสังคม ในบริบทของสังคมสมัยใหม่อย่างเข้าใจง่าย ชัดเจนเป็นรูปธรรม อธิบายหลักธรรมที่ยากและลึกซึ้งให้เป็นเรื่องง่ายต่อการทำความเข้าใจ รวมทั้งยังเป็นผู้ถ่ายทอดและสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานเขียน งานแปล และงานบรรณาธิกรณ์ โดยมีผลงานเขียนมากกว่า 100 เล่ม และเมื่อปี 2548 หนังสือชื่อ “พุทธศาสนาไทยในอนาคต : แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ” ยังได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ในสาขาศาสนาและปรัชญาอีกด้วย

ล่าสุด คณะกรรมการ กองทุนศรีบูรพา ได้ประกาศเกียรติคุณ ให้ พระไพศาล วิสาโล เป็นผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2553 นับเป็นผู้ได้รับรางวัลลำดับที่ 22 โดยพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น “วันนักเขียน” ของทุกปี โดยภายในงานมีนักเขียนหลากรุ่นมาร่วมสังสรรค์กันอย่างคึกคัก

“รางวัล ศรีบูรพานั้นถือกันว่าเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติอย่างยิ่งสำหรับนัก เขียนนักประพันธ์ในประเทศนี้ แต่อาตมาขอสารภาพว่าการขึ้นมากล่าวสุนทรกถาในฐานะผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพา นั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะบังเกิดกับตนเอง เพราะแม้อาตมาจะเขียนหนังสือมานานกว่า 30 ปี แต่ก็ไม่สามารถกล่าวอย่างเต็มปากว่าตนเองเป็นนักเขียนนักประพันธ์ จะเป็นได้อย่างมากก็นักเขียนสมัครเล่น ซึ่งไม่อาจเทียบชั้นเสมอนักเขียนชั้นครูหรือนักประพันธ์อาวุโสทั้งหลายที่ เป็นเจ้าของรางวัลอันทรงเกียรตินี้ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา

ยิ่งกว่า นั้นงานเขียนของอาตมาก็ไม่เคยแม้แต่จะเฉียดกรายเข้าใกล้แวดวง วรรณกรรมหรือวงการหนังสือพิมพ์ อันเป็นแวดวงที่ศรีบูรพาได้บุกเบิกสร้างสรรค์และฝากผลงานไว้มากมาย ทั้งนี้มิจำเป็นต้องเอ่ยว่าในอดีตไม่เคยมีพระภิกษุที่ได้รับรางวัลนี้ ด้วยเหตุนี้การได้รับรางวัลศรีบูรพาจึงเป็นเรื่องที่เหนือการคาดคิดของ อาตมา”

นั่นคือบทเริ่มต้นสุนทรกถาในโอกาสรับรางวัลศรีบูรพาของ พระไพศาล วิสาโล ก่อนจะกล่าวถึง “ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ว่าเป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย เป็น “สุภาพบุรุษ” ที่มั่นคงในอุดมคติและเปี่ยมด้วยคุณธรรมอันน่ายึดถือเป็นแบบอย่าง

“ชีวิต ของศรีบูรพาคือชีวิตของผู้ที่อยู่แถวหน้าในการต่อสู้กับเผด็จการ และอำนาจที่ไม่เป็นธรรม แม้จะประสบเภทภัยเพียงใด ก็ไม่ท้อแท้ท้อถอย หากยังคงมุ่งมั่นต่อสู้ตามอุดมคติปณิธานของตน นั่นเป็นเพราะท่านมีจิตใจมั่นคง แข็งแกร่ง และกล้าหาญ ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ ท่านเป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม อันได้แก่โภคทรัพย์ และชื่อเสียง เกียรติยศ จึงสามารถอดทนต่อการคุกคามของผู้มีอำนาจและไม่ยอมตนเป็นเครื่องมือของนายทุน จึงสามารถบำเพ็ญตนเยี่ยงเสรีชนได้อย่างยั่งยืนยาวนาน”

พร้อมทั้ง กล่าวอีกว่า…”สังคมไทยวันนี้กำลังถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรม สองกระแสใหญ่ๆ ซึ่งอาตมาขอเรียกว่าวัฒนธรรมแห่งความละโมบ และวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง วัฒนธรรมแห่งความละโมบนั้นได้ปลุกกระตุ้นให้ผู้คนถือเอาวัตถุเป็นสรณะ มีชีวิตเพื่อการเสพสุข เพราะเชื่อว่าความสุขจะได้มาก็ด้วยการเสพและครอบครองวัตถุ ยิ่งมีมากเท่าไรก็เชื่อว่าจะมีความสุขมากเท่านั้น ภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าว ผู้คนจึงมีความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัดและไม่รู้จักพอ ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันอย่างกว้างขวาง นำไปสู่ช่องว่างที่ถ่างกว้างระหว่างผู้คน ตอกย้ำความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้การทุจริตคอร์รัปชัน และอาชญากรรมนานาชนิดแพร่ระบาด รวมทั้งก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ขณะเดียวกันวัฒนธรรมแห่ง ความเกลียดชัง ได้ปลุกเร้าให้ผู้คนเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเพียงเพราะมีความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ ชาติพันธุ์ รวมทั้งสถานะทางสังคม ความกลัวและความหวาดระแวงทำให้มองผู้ที่คิดต่างจากตนเป็นศัตรู ทุกวันนี้การแบ่งฝักฝ่ายขยายตัวจนกระทั่งมองเห็นคนที่ใส่เสื้อคนละสีกับตน เป็นคนเลว เพราะปักใจเชื่อล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่ามีแต่คนเลว ไม่รักชาติ เหยียดหยามประชาชน อกตัญญูต่อสถาบัน เท่านั้นที่สวมใส่เสื้อสีนั้นๆ หรือสมาทานความเชื่อทางการเมืองที่ผูกติดกับสีนั้น ต่างฝ่ายต่างติดป้ายติดฉลากให้แก่กันจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและ กัน ผลก็คือพร้อมที่จะห้ำหั่นประหัตประหารกัน”

การแสวงหาทางออกของ พระนักสันติวิธีนั้น มองว่า “หากปรารถนาสังคมที่สงบสุข จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเสมอภาค ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมิได้มีแต่มิติด้านการเมืองเศรษฐกิจเท่านั้น มิติทางจิตวิญญาณก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน จะว่าไปแล้วมิติทั้งสองแยกจากกันไม่ออก จิตวิญญาณของผู้คนมิอาจเจริญงอกงามได้หากอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ เลวร้าย ในทางกลับกันระบบเศรษฐกิจการเมืองย่อมไม่อาจเจริญงอกงามได้หากจิตวิญญาณของ ผู้คนถดถอย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของสองมิติดังกล่าวมักจะถูกมองข้ามไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันละเลยมิติด้านจิตวิญญาณ ส่วนผู้ที่ใส่ใจกับมิติด้านจิตวิญญาณก็มักจะไม่สนใจสังคม หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเฉพาะตน ด้วยเหตุนี้สิ่งหนึ่งที่อาตมาพยายามทำก็คือการเชื่อมโยงทั้งสองมิติให้ ประสานกัน

แน่นอนว่าในฐานะพระภิกษุ ย่อมไม่มีอะไรดีกว่าการพยายามนำพาผู้คนให้ตระหนักถึงมิติด้านจิตวิญญาณ และช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณเพื่อขับเคลื่อนชีวิตและสังคมให้เป็น ไปในทางที่ดีงาม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการกระตุ้นเชิญชวนให้ผู้คนเห็นศักยภาพภายในที่สามารถนำ พาตนให้บรรลุถึงอิสรภาพทางจิตใจได้ ขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองเพื่อให้เห็นคุณงามความดีและความเป็นมนุษย์ของผู้ อื่น อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามร่วมกันโดยสันติวิธี เมื่อคำนึงถึงความสามารถที่มีอยู่อาตมาได้เลือกเอาการเขียนหนังสือเป็นหนทาง หนึ่งในการบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว อาตมาเชื่อว่าภารกิจดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะในยามที่ผู้คนพากัน ประดิษฐ์ถ้อยคำห้ำหั่นกัน ใส่ร้ายป้ายสีหรือกระตุ้นความเกลียดชังกันอยู่ในขณะนี้

สิ่งที่สังคม ไทยต้องการก็คือถ้อยคำที่เชิญชวนให้ผู้คนมีเมตตาต่อกัน เข้าใจความทุกข์ของกันและกัน รวมทั้งเชื่อมั่นในพลังแห่งความรักยิ่งกว่าพลังแห่งความโกรธเกลียด”

นอกจากส่วนหนึ่งของสุนทรกถาข้างต้นแล้ว พระไพศาล วิสาโล ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่รัฐบาลได้เสนอแผน “การปรองดองแห่งชาติ” ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งขณะนี้ว่า…
“อาตมา เชื่อว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมน่าสนับสนุนเพราะว่าในนั้นมันเหลือทางเลือก อีกไม่กี่ทาง และทางเลือกอันที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นสูงมากคือการสลายการชุมนุมซึ่งจะสูญเสีย มาก อาตมาคิดว่าการเสนอนโยบายมาตรการปรองดองนี้มันช่วยลดความตึงเครียดได้ ยิ่งถ้า นปช.ยอมรับด้วยยิ่งทำให้การยุติการชุมนุมจะเกิดขึ้นในเร็ววัน และอาตมาคิดว่าการนองเลือดก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ในระยะนี้”

แต่หลายฝ่ายยังเป็นห่วงต่อไปอีกว่าแม้จะยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แต่ความรู้สึกเกลียดชังของคนในสังคมไทยยังคงไม่หายไป และจะเกิดปัญหาความวุ่นวายตามมาอีก

“คือมันต้องรู้ว่าความเกลียดชังเกิด จากอะไร ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความรู้สึกเฉพาะหน้าคือความสูญเสีย โดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10, 22, 28 เมษายน ตรงนี้มีคนตาย มันต้องมีคนรับผิดชอบ นี่เป็นเรื่องซึ่งอาตมาคิดว่าการเยียวยาเกิดขึ้นได้มันต้องอาศัย “ความจริง” ต้องทำความจริงให้ปรากฏว่าการตายนี้เกิดจากอะไร ใครรับผิดชอบ และถ้าเกิดว่านำผู้ที่ผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ มันจะทำให้ความรู้สึกคับแค้นโกรธเคืองบรรเทาไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ว่ามันยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ฝ่ายต่อต้านเสื้อแดงไม่เชื่อว่าจะจงรักภักดีต่อสถาบันหรือล้มเจ้า มันจะทำให้เกิดความโกรธเกลียดอันนี้ขึ้นมา

อาตมาคิดว่าตรงนี้ต้องแก้ ด้วย ซึ่งกระบวนการยุติธรรมส่วนหนึ่งจะช่วยได้ ทำให้เห็นว่าเขาผิดจริงไหม อย่างไรก็ตามอาตมาคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องระยะสั้น ระยะยาวนี้มันต้องทำให้เกิดการเข้าอกเข้าใจกันในฐานะที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ เป็นมนุษย์เหมือนกัน คือตอนนี้ความโกรธความเกลียดมันเกิดขึ้นเพราะว่า “กลัว” อีกฝ่ายหนึ่งเพราะมีการวาดภาพว่าเป็นปีศาจเป็นมาร ทั้งสองฝ่ายเลย ตรงนี้อาตมาคิดว่าต้องทำให้เกิดการเข้ามารู้จักกันให้มากขึ้น คิดว่ามิติความเป็นมนุษย์ตรงนี้มันขาดหายไป มันทำให้มองกันเป็นยักษ์เป็นมาร ต้องทำให้คนสองกลุ่มนี้เข้ามาเห็นความเป็นมิตรของกันและกันมากขึ้น

อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม เรื่องสองมาตรฐาน อันนี้เป็นปัญหาพื้นฐานเลยที่มีมาแต่เดิม ตรงนี้ต้องแก้ด้วยซึ่งมาตรการปรองดองแห่งชาติระบุว่าจะแก้ตรงนี้ด้วย ทีนี้อารมณ์ความรู้สึกโกรธเกลียดมันมีหลายชั้น เริ่มจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เลยมาประท้วง พอมาประท้วงถูกมีการปะทะกัน มีการโจมตีกล่าวหากัน เกิดความรู้สึกโกรธเกลียดพยาบาทอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นตัวเลวร้าย และอย่างเหตุการณ์วันที่มีการฆ่ากันตาย ความโกรธความเกลียดก็มากขึ้น ฉะนั้น ความโกรธความเกลียดมันมีหลายชั้น จะต้องแก้กันไป และต้องแก้หลายชั้นด้วย ในชั้นหนึ่งก็เป็นเรื่องของกฎหมาย ใครผิดก็ต้องว่ากันไปตามผิด และในเรื่องของการทำให้คนเห็นความเป็นมิตรของกันและกันก็ต้องทำด้วยเช่นกัน

อันนี้เป็นมิติของความเป็นมนุษย์ ส่วนเรื่องของความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างก็ต้องทำกันไป เพราะมันมีหลายชั้น กระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปทางโครงสร้าง และการพยายามที่จะทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันมันต้องทำด้วย”


ในแง่ของ หลักธรรมที่จะเข้ามาช่วยเยียวยาหรือสร้างความปรองดองให้ประสบความสำเร็จนั้น

“ใน พระพุทธศาสนามีธรรมะที่ช่วยในเรื่องของการปรองดองคือความรักกันอยู่ 2 หมวด หมวดแรกคือ สังคหวัตถุ 4 คือทำให้เกิดความรักใคร่กัน 4 ประการ ได้แก่ ทาน คือแบ่งปันกัน ไม่ใช่แค่การแบ่งปันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ แต่ต้องแบ่งปันระหว่างชนชั้นด้วย เพราะตอนนี้ชนชั้นนำ-ชนชั้นกลางผูกขาดทรัพยากรไว้ ต้องแบ่งปันให้กับคนชั้นล่าง อันนี้เป็นเรื่องความเป็นธรรมในสังคม ปิยวาจา คือ คำพูดที่ไพเราะ ที่สุภาพ ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่ใช่ด่ากัน อัตถจริยา คือ การทำความดี การประพฤติดี การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และ สมานัตตา คือ ความเสมอต้นเสมอปลายก็ได้ หรือว่าการปฏิบัติต่อกัน การไม่ถือเขาถือเรา หรือว่าการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานเลยเพราะว่าเรื่อง “ไพร่” เรื่อง “อำมาตย์” เพราะมันไม่มีสมานัตตา ไพร่คิดว่าตัวเองด้วยกว่าอมาตย์ สมานัตตาช่วยให้รักกันได้

อีกอันหนึ่งเป็นเรื่อง สารณียธรรม 6 คือ เครื่องหมายทำให้เกิดความรักกันความสามัคคี ประกอบด้วย เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม สาธารณโภคิตา ศีลสามัญญตา และทิฏฐิสามัญญตา ทำให้มีความเห็นที่สอดคล้องกัน ไปในทางเดียวกัน เช่น เชื่อมั่นในประชาธิปไตยเหมือนกัน ไม่ต้องคิดอะไรเหมือนกันก็ได้ เพราะตอนนี้สังคมไทยจะคิดเหมือนนั้นมันเป็นไปไม่ได้ แต่ว่ามองไปข้างหน้า มีจุดร่วมเหมือนกัน เลิกทิฏฐิสามัญญตาและมีความคิดที่เห็นพ้องต้องกัน คือเห็นว่าอะไรเป็นความดี อะไรเป็นความชั่ว เห็นพ้องต้องกัน รวมทั้งการแบ่งปันกันหรือ “สาธารณโภคิตา” คือ การกระจายทรัพยากร หลักธรรมนี้มันจะช่วยให้เกิดความปรองดองได้ ความเข้าอกเข้าใจกัน จริงๆ หลักธรรมมันมีอีกเยอะ แต่ว่าเอาที่มันเหมาะกับปัจจุบัน

แต่ก่อนที่จะ ปรองดองนั้นมันต้องทะเลาะกันอย่างสันติวิธีหรือว่าถกเถียง กันอย่างอารยชน เพราะตอนนี้เหมือนจะฆ่ากันให้ตาย ทำอย่างไรถึงจะทะเลาะกันอย่างอารยชน คือว่าใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ด่ากัน ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน เพราะว่าตอนนี้แม้กระทั่งผัวเมีย พ่อกับลูก บางทีก็ไม่ยอมกัน เถียงกันเอาเป็นเอาตาย สถานการณ์เมืองไทยตอนนี้เอาแค่นี้ก่อนแล้วต่อมาค่อยข้ามมาสู่การปรองดอง”

เหตุการณ์ ที่ผ่านมาถือว่าให้บทเรียนกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก
“เชื่อ ว่าสังคมไทยตอนนี้เปราะบางมาก เพราะว่ามันมีความขัดแย้งเชิงโครงสร้างสูงมาก และมันขาดการสื่อสารระหว่างคนที่ขัดแย้งกัน และขาดกลไกที่จะแก้ปัญหาโดยสันติวิธี กลไกที่จะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีมันมีอยู่เยอะในสังคมไทย เช่น ศาล รัฐสภา แต่ว่าตอนนี้ล้มเหลวหมด แม้แต่การเลือกตั้งก็ไม่มีใครเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้เพราะว่าฝ่ายหนึ่งบอกว่า เลือกตั้งก็มีการซื้อเสียง พวกหนึ่งก็ไม่ยอมยุบสภา พอยุบสภาเลือกตั้งก็ซื้อเสียงกันอีก แม้แต่กระบวนการเลือกตั้งซึ่งควรจะเป็นกระบวนการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ตรงนี้แสดงว่าเมืองไทยมันขาดกลไกแก้ปัญหาโดยสันติวิธีและขาดพื้นที่จะมีการ ต่อรองกันในทางการเมืองแบบสันติวิธี

การเมืองระบอบประชาธิปไตยมัน เป็นเรื่องของการต่อรอง เป็นเรื่องของกลุ่มต่างๆ ถ้าคุณต่อรองกันตามระบบ ถ้าระบบมันดีมันก็ต่อรองกันได้อย่างสันติวิธี แต่ว่าตอนนี้คนไม่เชื่อมันเลยออกมากันตามท้องถนน พันธมิตรก็มาที่ท้องถนน เสื้อแดงก็มาที่ท้องถนน และมาแล้วก็พยายามที่จะทำให้มันเกิดความปั่นป่วน ให้รัฐบาลปกครองไม่ได้ สังคมไทยมันเคยมีพื้นที่ในการต่อรองกันไม่ใช่แค่บนท้องถนน แต่ตอนนี้พื้นที่การต่อรองหรือแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีมันไม่ได้ผล มันเลยต้องมาใช้ท้องถนน ยุบสภามันก็ต้องมีกระบวนการก่อนการเลือกตั้ง จะต้องมีการสัตยาบันหรือข้อตกลงแบบสุภาพชนหรือสัตยาบันก็ได้ ที่จะเป็นกติกายอมรับร่วมกัน คือผลจะเป็นอย่างไรไม่เป็นไร แต่ว่ากติกาจะต้องยอมรับร่วมกัน เช่น เรื่องการใช้สื่อ เรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง เรื่อง กกต. ทั้งหมดนี้ต้องมีการตกลงเรื่องกติกา มันถึงจะไม่นำไปสู่ความรุนแรงอีก”

นั่นคือทรรศนะของ พระไพศาล วิสาโล นักสันติวิธีตัวจริงซึ่งอยากเห็นการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงและแนวทาง การปรองดองน่าจะเป็นทางเลือกที่จะทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่สันติได้โดยไม่ สูญเสียอีก

{—-ล้อมกรอบ—-}

อภิชาตศิษย์
…………………..
สุ ลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2537 ผู้ถือเป็นครูและแบบอย่างในด้านการเขียนของ พระไพศาล วิสาโล นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2553 ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้ด้วยว่า…
“ถ้าใครมีลูก ก็อยากมีลูกเป็นอภิชาตบุตร และพระไพศาล วิสาโล เรียกได้ว่าเป็น “อภิชาตศิษย์” คือสามารถดีกว่าครูบาอาจารย์ทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องชีวิตพรหมจรรย์อันเป็นชีวิตอันประเสริฐ ในขณะที่ครูบาอาจารย์ยังย่ำอยู่กับที่อยู่กับ “หินชาติ” ของฆราวาส พร้อมกันนี้อยากจะเรียนยกย่องคณะกรรมการรางวัลศรีบูรพาที่ตัดสินเลือก “พระไพศาล วิสาโล” ให้ได้รับรางวัลในปีนี้ เพราะการเป็นกรรมการตัดสินให้รางวัลนั้นไม่ใช่ของง่าย ตัดสินมีทั้งผิดและถูก และรางวัลศรีบูรพาเป็นรางวัลประเสริฐ แต่หลายๆ ครั้งกรรมการตัดสินให้รางวัลคนซึ่งไม่ประเสริฐให้ได้รับรางวัลนี้ รวมถึงตัวผมด้วย (ฮา)
พูดอย่างนี้อยากจะเตือนคณะกรรมการไว้ว่าปีนี้พระ ไพศาลได้รับรางวัลแล้ว และปีต่อๆ ไปคณะกรรมการจะต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น อย่าให้คุณภาพของผู้ได้รับรางวัลลดน้อยถอยลงไปกว่านี้ เรียกว่าปีนี้ขึ้นถึงจุดสุดยอด เพราะถ้าหาคนไม่ได้จริงๆ เว้นเสียบ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ทุกปี อันนี้ผมอยากเตือนด้วยความเคารพ เพราะรางวัลนั้นจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อผู้รับรางวัลมีคุณภาพ ไม่จำเป็นจะต้องมีปริมาณ
พระไพศาลเอ่ยถึงคุณวัลลภ แม่นยำ ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไป พัลลภเป็นนักเขียนการ์ตูน ดังที่รางวัลนี้เคยให้ “ชัย ราชวัตร” ผมเชื่อว่าถ้าเขาอยู่ไปน่าจะได้รางวัลนี้ด้วย เพราะการ์ตูนของพัลลภนั้นเป็นการ์ตูนที่มีฝีมือ มีอารมณ์ขันหยอกล้อทางการเมือง ในขณะที่เวลานี้ทั้งเสื้อแดง-เสื้อเหลืองไม่มีอารมณ์ขันเลย และผมเห็นว่าการเมืองจะให้ได้ผลนอกจากมีมิติทางจิตวิญญาณอย่างที่พระคุณเจ้า ว่าแล้วต้องมีอารมณ์ขันเป็นปัจจัยสำคัญ พระไพศาลเอ่ยถึง “ท่านพุทธทาส” ถ้าใครเคยได้ยินท่านเทศน์ท่านจะหัวเราะไปเรื่อยๆ อารมณ์ขันเป็นสิ่งสำคัญ เวลานี้พระที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก คือ “องค์ทะไล ลามะ” ไปเทศน์ที่ไหนก็เอาอารมณ์ขันไปด้วย หัวเราะ และที่สำคัญท่านหัวเราะตัวท่านเองตลอดเวลา และตรงกับที่พระไพศาลพูด การแก้ไขปัญหาในสังคมให้ตรงนั้นท่านเริ่มที่แก้ปัญหาตัวเอง สันติภาวะภายในตน และนำสันติภาวะนั้นออกมาเพื่อเกื้อกูลชาวโลกและค้ำจุนโลก
อีก อย่างหนึ่งคือการแก้ไขปัญหาสังคมนั้น พระไพศาลเน้นต้องมี “สภาวะทางจิต” ผมไม่ได้ชอบคำว่า “จิตวิญญาณ” เป็นภาวะทางจิตใจมากกว่า นอกจากมีอารมณ์ขัน ภาวะทางจิตใจแล้ว อีกมิติหนึ่งซึ่งสำคัญมากคือ “มิติทางความงาม” คนไทยเวลานี้ขาดมิติทางความงามมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯเป็นเมืองที่อัปลักษณ์ที่สุด มีความถ่อย มีความน่าเกลียดทั้งทางกายภาพ และมันนำมาสู่สังคมการเมืองอย่างทุกวันนี้ อยากฝากคณะกรรมการศรีบูรพาด้วย พยายามมองหาคนที่มุ่งทางความงาม และความงามนั้น เป็นความดีและความจริง”




โดย : พรชัย จันทโสก : รายงาน
ที่มา
Life Style : Read & Write

วันที่ 10 พฤษภาคม 2553

http://www.bangkokbiznews.com