นามปากกา ศรีดาวเรือง ได้แจ้งเกิดบนถนนวรรณกรรม จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 36 ปีแล้ว ศรีดาวเรือง นามปากกาของ วรรณา สวัสดิ์ศรี (นามสกุลเดิม ทรรปนานนท์) ผลงานที่ผ่านการกลั่นกรองและถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียนทุกชิ้น สื่อถึงผู้อ่านด้วยภาษาที่เรียบง่าย แม้จะมีความรู้เพียง ป. 4 แต่เธอมีความวิริยะ จนสามารถผลิตงานแปลภาษาต่างประเทศออกมาหลายเล่ม ส่วนผลงานของเธอบางเล่ม ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ งานเขียนเรื่อง มัทรี ยังได้รับการทำออกมาในรูปแบบภาพยนตร์สั้น โดยสินีนาฏ เกษประไพ สมาชิกกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว และทำให้เกิดการตีความเรื่องผู้หญิงที่หลากมิติยิ่งขึ้น จากผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์สั้น
ในวาระครบรอบ 36 ศรีดาวเรือง นักเขียนสตรีวัย 68 ย่าง 69 ปี ได้พูดคุยให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียน ว่าจริงๆ แล้วเธอเป็นคนบ้านนอก เกิดที่จังหวัดพิษณุโลก ก่อนเข้ามาทำงานขายแรงงานในกรุงเทพฯ วรรณาเคยเขียนเรื่องสั้นส่งไปลงตีพิมพ์ในจังหวัดบ้านเกิด แต่ไม่ผ่านการพิจารณา แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ทำให้เธอเลิกล้มการเป็นนักอ่าน และความอยากเป็นนักเขียน เมื่อวัยเด็กเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่ชั้นประถม และติดนิสัยรักการอ่านมาโดยตลอด บิดาของเธอเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านมีหนังสือมากมาย รวมถึงเรื่องแปลของต่างประเทศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เป็นคนรักการอ่าน เธอยังทำหน้าที่เป็นคนอ่านหนังสือนิทานคำกลอนให้คุณยายฟังเป็นประจำ และอานิสงส์จากตรงนี้ ทำให้มีความสามารถทางด้านการแต่งเพลง วรรณามีโอกาสได้อ่านหนังสือกลอนเก่าๆ วรรณคดีไทย อย่างเรื่องรามเกียรติ์ ก็อ่านเพราะบิดามีหนังสือเหล่านั้น
หลังจากมาทำงานขายแรงงานในกรุงเทพฯ วรรณาได้พบกับสุชาติ สวัสดิ์ศรี (คู่ชีวิต ซึ่งตอนนั้นเป็นบรรณาธิการให้กับหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์) และได้ไปฟังการอภิปรายด้านการเมืองและสังคม ตอนนั้นอยู่ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้รับรู้และเห็นว่าการเมืองวุ่นวาย แต่ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องการเมืองเท่าไหร่ ช่วงนี้เองที่เธอได้มีโอกาสพบปะกับปัญญาชน จากที่เมื่อก่อนคิดว่าตัวเองต่ำต้อยมาก เป็นแค่กรรมกรแรงงาน เมื่อได้ฟังปัญญาชนอภิปราย และให้กำลังใจ ว่าหากไม่มีแรงงาน ไม่มีกรรมกร ผู้คนร่ำรวยก็ไม่สามารถร่ำรวยขึ้นมาได้ ต้องอาศัยแรงงาน
วรรณา เล่าให้สุชาติฟัง ว่าจริงๆ เธอก็อยากจะเขียนหนังสือบ้างเหมือนกัน แต่คิดว่าก็คงเขียนไม่ได้ ด้วยกำลังใจจากสุชาติที่บอกให้เธอลองดูใหม่ พร้อมกับเลือกเฟ้นหาหนังสือที่ดีๆ มาให้วรรณาอ่าน การเขียนจึงได้เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และเริ่มใช้ได้ ระยะแรกสุชาติเป็นผู้ให้คำแนะนำและคำติ รวมถึงแนะนำให้อ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสือที่เกี่ยวกับการเมือง ทำให้วรรณาค่อยๆ ปะติดปะต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงนั้นได้อย่างเข้าใจมากขึ้น หนังสือเล่มแรกที่สุชาตินำมาให้อ่านคือ วีรชนอาเซีย ซึ่งเธอบอกว่าไม่เข้ากันกับผู้หญิงบ้านนอกที่เพิ่งมาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ แต่พอนานๆ เข้าก็เข้าใจว่าทำให้ได้รู้จักบุคคลสำคัญของประเทศเพื่อนบ้าน
นามปากกา ศรีดาวเรือง ปรากฏและเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรม เป็นครั้งแรกเมื่อเรื่องสั้น แก้วหยดเดียว ผ่านการพิจารณาและลงตีพิมพ์ในหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2517 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ศรีดาวเรืองจึงมีกำลังใจในการผลิตงานเขียนออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลักๆ แล้วเธอชอบเขียนเรื่องสั้น และมีผลงานเรื่องสั้นออกมามากกว่างานเขียนประเภทอื่น พอนานเข้าเธอก็อยากเรียนรู้การทำงานเขียนประเภทอื่นร่วมด้วยอย่าง กลอน บทละคร นิยาย และเขียนบทความให้คอลัมน์ต่างๆ เมื่อฝีมือเข้าฝัก สุชาติก็ไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงให้กับเธออีกต่อไป ศรีดาวเรืองมีความมั่นใจและตัดสินใจพิจารณาต้นฉบับและแก้ไขทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยให้เหตุผล ว่าหากรอแต่ให้สุชาติตัดสินใจให้ก็จะไม่มีความมั่นใจกับตัวเอง
เนื้อหาของเรื่องราวในงานเขียนที่ศรีดาวเรืองถ่ายทอดออกมา ในระยะแรกๆ เป็นชุดความคิดของคนใช้แรงงาน หลายคนจึงจัดเธออยู่ในกลุ่มนักเขียนเพื่อชีวิต จนมีนักวิจารณ์คนหนึ่งได้เตือนสติมา ว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่คนจนจะเป็นผู้ที่ถูกต้องเสมอไป และคนรวยจะเป็นคนผิดอยู่เรื่อย เพราะการเขียนงานในลักษณะนี้ กลายเป็นสูตรที่ตายตัวมากเกินไป เพราะในสถานะความเป็นคน ไม่ว่าคนจนหรือคนรวยก็ทำผิดทำถูกได้เหมือนกัน หลังจากได้รับคำวิจารณ์นั้นมา ศรีดาวเรืองรู้สึกดีใจที่มีคนเตือนสติมา เธอจึงค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ คลี่คลายและพัฒนางานเขียน งานเขียนระยะหลังของเธอเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแม่ ลูก และเพื่อนบ้าน ไม่ค่อยมีกรรมกรอยู่ตลอดเวลาเหมือนงานเขียนระยะแรก ศรีดาวเรืองเองออกตัว ว่าเธอห่างจากกรรมกรมานานพอสมควร และน้อยนักที่เพื่อนผู้ใช้แรงงานจะชอบอ่านงานเขียนแนวเพื่อชีวิต เพราะพวกเขาต่างอยากอ่านนิยายที่ว่าด้วยเรื่องราวของคนรวยๆ คุณหญิง คุณนาย ว่ามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร
ศรีดาวเรืองแสดงทัศนะต่องานเขียนเรื่อง มัทรี ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาโปรตุเกส และมีการนำไปทำเป็นภาพยนตร์ว่า
“รู้สึกดีใจที่ผู้อ่านตีความได้หลายอย่าง ทั้งๆ ที่คนเขียนตอนแรกคิดไปอย่างเดียว ไม่แน่ใจหรอกว่าคนจะเอาไปตีพิมพ์หรือไม่ คิดเรื่องศาสนา หลายคนต่อต้านหาว่าเราลบหลู่ศาสนา แต่ไม่มีความคิดนี้เลยสักนิด เรามีความคิดว่าศาสนาพุทธมีมาเท่าไหร่แล้ว มันยังอยู่แค่นี้ ตัวละครผู้หญิงในเรื่องนี้ก็เอาคำพระมาอ้าง ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เชื่อเลย อ้างได้หมด แต่ทีนี้พอคนตีความไปทางเฟมินิสต์มันก็ดี แต่เราท้วงว่าผู้หญิงคนนี้เอาลูกไปทิ้งมันไม่ถูก ถึงแม้จะบอกว่าพ่อก็ทิ้งได้ มันไม่ถูก คนจะมองว่าเท่าเทียมผู้ชาย มันทุกเรื่องไม่ได้ เราก็เลยมาสรุปทีหลังคำวิจารณ์ว่า เหมือนเราไปซื้อตัวเลโก้มาถุงหนึ่ง แล้วเอาไปต่อบ้าน บ้านทุกหลังมันไม่เหมือนกัน เรื่องมัทรีได้ให้บทเรียนกับคนเขียนด้วย ว่าผู้อ่านมีสิทธิ์จะตีความนะ และเป็นสิ่งที่ดีเสียด้วยที่มีการตีความออกมาหลากหลายมุมมอง”
สำหรับผลงานเล่มล่าสุดของศรีดาวเรือง คือนวนิยายเรื่อง ซ่อนกลิ่น เป็นนวนิยายเล่มแรกที่เขียนไว้เมื่อ 30 ปีก่อน แต่เนื่องจากเอาเวลาไปเขียนเรื่องอื่น จึงไม่มีเวลาที่จะเขียนให้เสร็จในคราวเดียว พอต้องมารวมเล่ม จึงนำต้นฉบับที่เขียนเอาไว้มาอ่านอีกรอบ และมีปรับแก้บ้าง โดยส่วนตัวแล้ว ศรีดาวเรืองถนัดการเขียนเรื่องสั้น พอต้องมาเขียนเรื่องยาวอย่างนวนิยาย เธอบอกว่าระยะแรกๆ ก็มีปัญหาพอสมควร เพราะรู้สึกว่าพอต้องมาเขียนเรื่องยาวๆ แล้วไม่ทันใจ โดยเฉพาะกับนักเขียนที่ถนัดเขียนเรื่องสั้นมาเป็นเวลานานๆ อย่างเธอ การเขียนนวนิยายต้องมีการวางโครงเรื่องไว้ตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าจะไปจบตรงไหน จะมีกี่ตอน
บทบาทของศรีดาวเรือง ในฐานะทูตทางวรรณกรรมหรือการเป็นนักแปล เริ่มต้นจากความรักการอ่าน และการที่เป็นคนเรียนมาน้อย อีกทั้งช่วงหนึ่งของชีวิตการขายแรงงาน เธอเคยไปทำงานหน้าที่กุลีที่บ้านชาวต่างชาติ ศรีดาวเรืองบอกว่า กุลีก็คือการทำความสะอาดบ้าน แล้วเธอเห็นคนทำอาหารคุยกับชาวต่างชาติรู้เรื่อง เธอจึงเริ่มขวนขวายด้วยการอ่านหนังสือประเภทเก่งภาษาอังกฤษใน 75 ชั่วโมง ใช้ความพยายามและศึกษาเอง โดยไม่มีใครแนะนำ จากนั้นได้สมัครเรียนภาษาอังกฤษทางไกลทางไปรษณีย์ แล้วก็มีเหตุให้ต้องหยุดเรียนไปพักใหญ่ๆ จนเมื่อต้องมาแปลวรรณกรรมเยาวชน ศรีดาวเรืองต้องกลับมารื้อฟื้นความรู้ภาษาอังกฤษที่เคยเรียนมาใหม่ เธอบอกว่าพจนานุกรมภาษาอังกฤษเป็นไทย ช่วยได้มากในการทำงานแปล และการที่ตัวเองเป็นนักเขียน ชอบอ่านหนังสือ ได้กลายเป็นอานิสงส์อันดีเยี่ยม เมื่อต้องมานั่งทำงานแปล เธอจึงสามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างมีวรรณศิลป์ ส่วนด้านไวยากรณ์นั้นก็มีผู้ตรวจทานให้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อความถูกต้อง
ศรีดาวเรือง บอกว่าถนัดการแปลวรรณกรรมเยาวชน เพราะไม่ยากเกินไป อ่านเข้าใจได้ง่าย เล่มสำคัญๆ ที่เธอแปล อาทิ ดอนกีโฮเต้ ฉบับอนุบาล, นิทานฮาวาย, นิทานของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซ่น และนิทานของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ เป็นต้น และยังมีนิทานเด็กอีกหลายเล่มที่เธอแปลเอาไว้ แต่ยังไม่ได้จัดพิมพ์ ในวันที่ไปสัมภาษณ์ ศรีดาวเรืองได้นำสมุดที่ใช้ทำงานแปลออกมาให้ชม โดยเธอจะคัดลอกต้นฉบับเรื่องที่จะแปลลงในสมุด จากนั้นจะเปิดพจนานุกรมเพื่อหาความหมายของคำศัพท์ที่ไม่รู้ พร้อมกับเขียนคำแปลและคำอ่านกำกับเอาไว้ ส่วนอีกหน้าที่ว่าง เธอจะเขียนเป็นหน้าที่ใช้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทย
นอกจากงานเขียน ศรีดาวเรืองยังเคยทำหนังสือพิมพ์มือทำ ออกเดือนละเล่ม เพื่อแจกจ่ายให้คนในชุมชนละแวกบ้านได้อ่าน โดยเรื่องที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์มือทำ ก็จะเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ข่าว เหตุการณ์สำคัญที่เธอเอามาย่อย ถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย และที่สำคัญ เธอยังเลือกเรื่องที่ใกล้ตัวคนในชุมชน และมีพื้นที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารของคนในชุมชน เช่น งานแต่งงาน งานบวช เพื่อเผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์มือทำ จากนั้นก็จะนำหนังสือไปแจกให้คนในชุมชน สองเดือนผ่านไปก็ไม่มีใครอ่านสักเล่ม แม้จะมีผู้สนใจน้อย แต่ศรีดาวเรืองก็ยืนหยัดทำหนังสือพิมพ์มือทำอยู่เป็นเวลาถึงสองปี จนในที่สุดก็ตัดสินใจเลิกทำหนังสือพิมพ์มือทำ และเธอได้รวบรวมต้นฉบับทั้งหมดเย็บรวมเล่มเก็บไว้อย่างดี
ด้วยนิสัยที่เป็นคนช่างเรียนรู้ ศรีดาวเรืองจึงมักหาสิ่งใหม่ๆ เติมความรู้ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนพิมพ์ดีด จนนายจ้างของเธออดถามไม่ได้ ว่าจะไปทำงานนั่งโต๊ะที่ไหน เธอชอบทำสวน ปลูกต้นไม้ เรียนภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และเรียนขับรถ เป็นต้น “งานเขียนเป็นงานที่รัก แต่ไม่ใช่อย่างเดียวในชีวิต เพราะก็ยังต้องการมีโลกอย่างอื่นบ้าง” ศรีดาวเรืองกล่าว และเธอให้เหตุผลในการไปเรียนรู้สิ่งใหม่ต่างๆ เหล่านี้ ว่ามันทำให้เกิดและได้ความรู้สึกใหม่ๆ อย่างเช่นการเรียนขับรถ แม้จะไม่มีรถยนต์ขับ แต่การไปเรียนทำให้รู้ และรับรู้ความรู้สึกในการขับรถ ซึ่งความรู้สึกที่ได้ออกไปสัมผัสด้วยตนเอง เป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมในการเขียนเรื่องสั้น เพราะเธอไม่ต้องมานั่งจินตนาการ ว่าเวลาขับรถรู้สึกอย่างไร หรือระบบเครื่องยนต์ อุปกรณ์ในรถยนต์เรียกว่าอะไรบ้าง สำหรับเธอแล้ว การออกไปสัมผัสสิ่งที่ไม่เคยรู้ สามารถเอามาต่อยอดในงานเขียนได้
ปัจจุบัน ศรีดาวเรืองมีผลงานปรากฏในหนังสือ อ่าน เธอมีคอลัมน์ประจำอยู่ที่นั่นเพียงแห่งเดียว และกำลังจะมีการรวมเล่มเพื่อพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือต่อไป นอกจากนี้ เธอยังทำงานช่วยสุชาติ สวัสดิ์ศรี ในการพิมพ์ต้นฉบับหนังสือ ช่อการะเกด, ต้นฉบับเรื่องสั้น สุภาพบุรุษ และสิงห์สนามหลวง
ศรีดาวเรือง จะกลับมาทำงานเขียน งานแปล อย่างช้าภายในปีนี้หรือไม่อาจจะเป็นปีหน้า นักอ่านจะได้อ่านผลงานชิ้นใหม่จากปลายปากกาของเธอ ซึ่งน่าติดตามว่าชุดความคิดงานเขียนชิ้นต่อไปของเธอ จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร
และนามของศรีดาวเรืองก็จะยังคงเป็นศรีวรรณกรรมต่อไป ไม่ได้หยุดเพียงแค่ระยะเวลา 36 ปี ของนามปากกา ศรีดาวเรือง แน่นอน
ข้อมูลจาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/read-write/20100709/341986/news.html
โดย นงลักษณ์ เหล่าวอ