เด่น นาคร รายงาน
คมชัดลึก : หากการกำเนิดขึ้นของรางวัลศรีบูรพา คือเพื่อรำลึกและเผยแพร่เกียรติประวัติของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักประชาธิปไตยคนสำคัญของไทยและของโลกแล้ว
การมอบรางวัลศรีบูรพาให้ใครสักคนหนึ่ง จึงแน่นอนว่าผลงานความคิด คมปากกา หรือวัตรปฏิบัติของคนคนนั้น ก็ย่อมเป็นวิถีอันควรค่าต่อการยึดถือเป็นแบบอย่างต่อการครุ่นคิด เตือนสติ สร้างเสริมปัญญา ตลอดจนสรรค์สร้างสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมต่อไป เฉกเช่นเดียวกับที่ศรีบูรพาเคยทำประดับโลกใบนี้มาแล้ว
กว่า 20 ปีของการประกาศเกียรติมอบรางวัลอันทรงคุณค่านี้ หากทอดตาที่รายชื่อของผู้ได้รับรางวัลก็ล้วนแต่ควรค่าต่อการยอมรับนับถือในผลงานกันทั้งสิ้น เช่นกัน ในปี 2553 นี้ บุคคลที่ได้รับการประกาศเกียรติยกย่องให้ได้รับรางวัลนี้ก็หาได้มิสมฐานะแต่อย่างใดไม่ ตรงข้าม ผลงานเขียนของท่านที่ตีพิมพ์ออกมาเกือบ 100 เล่ม ตลอดการทำงานเขียนมาเป็นเวลาหลายสิบปี บวกกับการจาริกเทศนาธรรมยังที่ต่างๆ นั้น ล้วนแต่คือคมคิดที่ทุกคนต้องเรียนรู้และตระหนัก ด้วยมันคือแนวทางในการสร้างสังคมสันติสุขให้เกิดมีร่วมกันนั่นเอง
บ้านเมืองที่ผู้คนแบ่งฝักฝ่ายชัดเจน จนนำไปสู่ความแตกแยกทางความคิด กระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ขาดสติ เผาบ้านเผาเมือง หรือแม้แต่การกรีดเลือดทาแผ่นดิน…ทั้งหลายทั้งปวงที่สารพัดจะวุ่นวาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายทุกคนต้องมีสติ และหยุดรับฟังความคิดความเห็นของบุคคลที่ควรค่าต่อการนับถือยอมรับร่วมกัน
เช่นนี้ แม้ไม่อาจจะเรียกได้ว่า การประกาศให้ พระไพศาล วิสาโล ได้รับรางวัลศรีบูรพาในปีนี้เป็นความบังเอิญทางการเมือง แต่ก็นับว่ามีความเหมาะสมและเหมาะเจาะ สอดรับกับสภาพบ้านเมืองไทยยามนี้ยิ่งนัก
คมชัดลึก : จากการที่กองทุนศรีบูรพา ได้ประกาศเกียรติให้ท่านได้รับรางวัลศรีบูรพาในปีนี้ ซึ่งนับเป็นพระภิกษุรูปแรกที่ได้รับรางวัล ในทัศนะของท่านมีความยินดีกับการได้รับประกาศเกียรติครั้งนี้อย่างไร
พระไพศาล : อาตมาสารภาพว่าไม่คาดฝันเลย เพราะที่รู้มา คนที่ได้รับรางวัลนี้มาก่อนล้วนแต่เป็นนักเขียนชั้นครูทั้งนั้น อย่าง ส.ศิวรักษ์, สุภัทร สวัสดิรักษา, เสถียร จันทิมาธร, วิทยากร เชียงกูล, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หรือแม้แต่คนอื่นๆ ก็ล้วนแต่ผ่านการทำงานเขียนมาอย่างยาวนาน
ยอมรับว่าแปลกใจอยู่เหมือนกัน แต่ก็ยินดี และนับเป็นเกียรติของอาตมาในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง การได้รับเกียรติจากกองทุนศรีบูรพาที่มอบรางวัลศรีบูรพาให้นี้ ถือเป็นรางวัลใหญ่ทางการเขียนครั้งแรกของอาตมาด้วย
คมชัดลึก : ท่านเคยกล่าวว่า การได้บวชเป็นพระถือเป็นเกียรติและประเสริฐสุดในชีวิตแล้ว ไม่มีอะไรสูงสุดกว่าการเป็นพระ ที่เหลือเป็นส่วนเกิน
พระไพศาล : การเป็นพระก็แปลว่าประเสริฐอยู่แล้ว การได้เป็นศิษย์ตถาคต ดำเนินรูปตามพระพุทธองค์ และมีผู้คนให้ความเคารพนับถือ ก็นับว่าเป็นเกียรติสูงสุดแล้วเช่นกัน แต่การบวชเป็นพระเพียงรูปก็หาใช่สิ่งสูงสุด หากแต่อยู่ที่ความสำเร็จที่ประเสริฐ นั่นคือการเอาชนะกิเลสตัวเอง กิเลสภายในของเรา ไม่เช่นนั้นความเป็นพระก็จะอยู่ไม่นาน
คมชัดลึก : สมัยท่านยังเป็นฆราวาสท่านก็เป็นนักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทคล้ายๆ กับศรีบูรพา กับสังคมไทยปัจจุบัน เราจะหยิบอะไรจากความเป็นศรีบูรพามาแก้ปัญหาได้บ้าง
พระไพศาล : การต่อสู้ในอดีตที่ทำมายังไง วันนี้อาตมาก็ยังต่อสู้และเคลื่อนไหวอยู่ คือต่อสู้บนหลักการและแนวทางของพุทธศาสนา แต่ปัญหามันก็มีความซับซ้อนมากขึ้น
ส่วนศรีบูรพานั้นเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นนักต่อสู้ เสียสละเพื่อคนอื่นอย่างแท้จริง หากใครได้ศึกษาประวัติชีวิตท่านมาบ้าง ก็จะเห็นว่า ด้วยความคิด ความรู้ ความสามารถของท่านนั้นสามารถทำให้ท่านรวยได้ เป็นมหาเศรษฐีได้ง่ายๆ แต่ท่านไม่ทำตรงนั้น เพราะท่านเห็นแก่คนอื่น คือเสียสละเพื่อคนอื่น เสียสละเพื่อประเทศชาติ
ความคิด อุดมการณ์ของท่านสะท้อนให้คนไทยในรุ่นต่อๆ มาเห็นถึงเรื่องความเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของตน ถ้าสังคมเราทุกวันนี้ยึดหลักคิดนี้ความแตกแยกก็จะไม่เกิด
ศรีบูรพาเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็อย่าลืมว่าท่านเป็นพุทธศาสนิกที่ยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน ทั้งการปฏิบัติตัว และงานเขียนหลายๆ ชิ้นของท่านก็ได้นำแนวคิดของพระพุทธศาสนามาใช้อธิบายสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็สมควรที่คนในสังคมปัจจุบันจะต้องยึดถือเป็นแบบอย่าง และนำมาปฏิบัติ
คมชัดลึก : ศรีบูรพายังเป็นแบบอย่างของนักหนังสือพิมพ์ที่ดีงาม แล้วกับสื่อปัจจุบันท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งแยกรุนแรงนี้ ท่านมองว่าสื่อควรจะเป็นเช่นไร
พระไพศาล : ในยุคของศรีบูรพา สื่อจะสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งมันชัดเจน แต่สื่อทุกวันนี้ถูกครอบงำโดยอำนาจทุน เพราะฉะนั้นการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือสื่อต้องกล้าท้าทายอำนาจทุน แต่ทุกวันนี้สื่อถูกดึงไปใช้ในเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนแต่ละฝ่าย ความเป็นกลางของสื่อจึงน้อยลง ซึ่งสวนทางกับสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารที่มีมากขึ้น
คมชัดลึก : ท่านให้ความเห็นทางการเมืองตามสื่อต่างๆ บ่อย อยากให้ท่านมองสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้หน่อย
พระไพศาล : อาตมาถือเป็นหน้าที่ เมื่อสังคมขัดแย้งแตกแยกกันขนาดนี้ หลักธรรมพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะมาหยุดตรงนี้ได้ เพราะจริงๆ แล้วปัญหามันเริ่มที่ความไม่สงบสุขในใจ คือใจที่วุ่นวาย เป็นทุกข์ ทั้งหลายนั้นเกิดมาแต่เหตุ 3 อย่าง คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ
ตัณหา ก็คือในเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งพอมีมากเข้าทำให้สำนึกต่อส่วนรวมเลือนหายไป มานะ คือความสำคัญตัวว่าดี ว่าเหนือกว่า และ ทิฐิ ที่เป็นความใจแคบ เพราะยึดติดถือมั่นในความคิดของตน นี้แหละ เสื้อเหลืองเสื้อแดงจึงเกิดขึ้นมาจากเหตุนี้ เมื่อมันรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องออกมาเตือนสติกัน ออกมาเรียกสามัญสำนึกให้กลับคืนมา ให้ผู้คนตระหนักว่าความรุนแรงนั้นนำความรุนแรงมาสู่ทุกฝ่าย ไม่มีฝ่ายไหนชนะ และสุดท้ายบ้านเมืองก็ย่อยยับสูญสิ้นไป
คมชัดลึก : สุดท้ายอยากให้ท่านฝากหลักการสร้างสันติให้เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้
พระไพศาล : ต้องเตือนสติตนเอง มีเมตตา และยอมรับความเห็นของกันและกัน
ที่มา
คมชัดลึก วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓