๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ วันถือกำเนิดของ “สุภาพบุรุษ” ที่โลกให้การยอมรับและยกย่องในเวลา ๑๐๐ ปี ต่อมา นั่นคือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์”
กองทุนศรีบูรพา องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสานต่ออุดมการณ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยมีนายสุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) เป็นผู้ก่อตั้ง ได้จัดงานรำลึก ๑๐๒ ปี ศรีบูรพาขึ้น เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๐ ณ ลานต้นนิโครธ วัดเทพศิรินทราวาส ชึ่งเป็นอนุสรณสถาน ที่บรรจุอัฐิของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ท่ามกลางบรรยากาศที่เรียบง่าย สงบงาม สมความเป็นศรีบูรพา มีนักคิด นักเขียน หลายท่านมาร่วมงาน อาทิ อาจารย์สุชาติ สวัสดิ์ศรี คุณศุปรีดา พนมยงค์ อาจารย์รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน คุณอิวากิ ยูจิโร นักเขียนชาวญี่ปุ่น คุณวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนล่าสุด (ประจำปี พ.ศ.2550) รวมทั้งนักเรียนชมรมภาษาไทยของโรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วย
คุณปรีดาข้าวบ่อ, คุณวิทยากร เชียงกูรและคุณวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์
เมื่อได้เวลาอันสมควร นายคณิต พีชวนิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน โดยนายคณิตชึ่งเป็นศิษย์ร่วมสถาบันกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ ทั้งนักเรียนเก่าที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า
“ศรีบูรพาเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงวรรณกรรม แต่จริงๆแล้วบทบาทของท่านมีอิทธิพลสูงต่อคนทุกรุ่นทุกวัย โดยเฉพาะบทบาทด้านการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ที่ท่านแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ควรเคารพยกย่องสูงสุดของคน คือการยกย่องความเป็นมนุษย์ ยกย่องความเป็นมนุษย์ในที่นี้ก็คือ ยกย่องสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนจะพึงมีพึงเป็น ไม่ควรจะมีใครที่มีสิทธิเสรีภาพเหนือกว่าใคร การต่อสู้ของท่านแม้จะไม่ใช่เป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ แต่เป็นการต่อสู้ทางความคิดและท่านก็เผยแพร่ความคิดของท่านให้มีอิทธิพลต่อคนต่างๆด้วยงานเขียนเป็นตัวหนังสือ การเผยแพร่ที่เป็นตัวหนังสือจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มั่นคงถาวรยิ่งกว่าการกระทำใดๆ เพราะจะเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดไป”
คุณวิทยากร เชียงกูร กล่าวปาฐกถา
ต่อจากนั้นเป็นปาฐกถากุหลาบ สายประดิษฐ์ ครั้งที่ ๑ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๐ กองทุนศรีบูรพามีความตั้งใจที่จะจัดให้มีการปาฐกถากุหลาบ สายประดิษฐ์ขึ้นในทุกๆปี โดยปีนี้ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์วิทยากร เชียงกูล นักคิดและนักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนที่ ๑๐ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ “บทบาทของปัญญาชนในยุคบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ครอบครองโลก” อาจารย์วิทยากรมุ่งประเด็นไปที่การรับสื่อของคนรุ่นปัจจุบัน และจิตสำนึกต่อส่วนรวมของสื่อสารมวลชนไทย ในยุคที่ประชาชนถูกทำให้เชื่อว่าตัวเองมีสิทธิเสรีภาพจากการเลือกรับข่าวสารจากเทคโนโลยีใดๆก็ได้ในโลก เมื่อเทียบกับยุคสมัยที่การบ้านการเมืองไทยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เสรีภาพในการแสวงหาความจริงเป็นเรื่องยากลำบากและมีเพียงคนกลุ่มเล็กๆอย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ เท่านั้นที่กล้าพูดถึงความจริง แต่ในปัจจุบันนี้ประชาชนสามารถเลือกรับข่าวสารจากช่องทางใดก็ได้เป็นร้อยๆ ช่องทาง ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และอินเตอร์เน็ต และสื่อมวลชนมีสิทธิและความสามารถที่จะนำเสนอข่าวสารตามความเป็นจริงได้ แต่การตระหนักในหน้าที่สื่อมวลชนที่ดีอย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ นั้นกลับลดน้อยถอยลง อาจารย์วิทยากรได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
คุณอิวากิ ยูจิโร, คุณวัฒน์ วรรลยางกูร ,อ.สุชาติ สวัสดิ์ศรี ,อ.วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์และพันโทหญิงอังศิภา กุศลาสัย
“ในประเทศไทยของเรายังมีปัญหาที่ซับซ้อน ทำอย่างไรจะก้าวข้ามพ้นไปได้ เราต้องการคนที่ศึกษาปัญหาสังคม เศรษฐกิจการเมืองต่างๆ อย่างเข้าใจ อย่างมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม เวลานี้การศึกษาของเราเน้นคนเก่ง เน้นคนที่เป็นนักบริหารธุรกิจต่างๆ เราก็ยกย่องเค้า แต่บางทีคนเก่งอย่างเดียว แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ก็จะเหมือนอย่างที่ไอสไตน์ได้พูดไว้ว่า คนที่ได้รับการศึกษาให้มีความรู้พิเศษ จะต้องพัฒนาความตระหนักว่าอะไรสวยงาม และอะไรดีในแง่ศีลธรรมอย่างกระตือรือร้นควบคู่กันไป เพราะถ้าขาดความตระหนักใน ๒ เรื่องนี้ เขาจะเป็นได้แค่หมาที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี แทนที่จะได้เป็นมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างประสานกลมกลืนไปกับโลก”
นักเรียนปัจจุบันโรงเรียนเทพศิรินทร์กล่าวถึงกุหลาบ สายประดิษฐ์
บดินทร์ งามรุ่งศิริ เป็นตัวแทนนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ปัจจุบันได้กล่าวถึงรุ่นพี่อย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ว่า “ผมภูมิใจที่ได้เป็นนักเรียนเทพศิรินทร์ ที่ได้มีรุ่นพี่ดีๆอย่างนี้ กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าเขียนข่าวความเป็นจริงในสมัยนั้น และเป็นแบบอย่างที่ดีในความยุติธรรม”
วันนี้ ๑๐๒ ปี แห่งนามกุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังคงเป็นที่ยอมรับนับถือ ในแนวคิดและอุดมการณ์ อันดีงามเสมอมา