นักประวัติ ศาสตร์คนดัง “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ รับรางวัลนักเขียน “ศรีบูรพา” ประจำปี 2552 เผยเริ่มรับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 2516 มีผลงานด้านประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปี สมาคมนักเขียนฯ-กองทุนศรีบูรพา มอบรางวัลในงาน “วันนักเขียน” 5 พ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. กองทุนศรีบูรพา โดยนายประยอม ซองทอง ประธานคณะกรรมการ ประกาศว่าคณะกรรมการกองทุนศรีบูรพามีมติเป็นเอกฉันท์มอบรางวัล “ศรีบูรพา” ประจำปี 2552 แก่ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมือง อดีตอธิการบดีและอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติ ศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยพิธีมอบรางวัลกำหนดขึ้นพร้อมจัดงาน “วันนักเขียน” ในวันที่ 5 พ.ค.นี้ จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยในวันดังกล่าวเชิญนายชาญวิทย์กล่าวสุนทรกถาด้วย
สำหรับกองทุนศรีบูรพา ก่อตั้งขึ้นเพื่อรำลึกและเผยแพร่เกียรติประวัตินายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา (พ.ศ.2448-2517) นักประชาธิปไตย นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทยและของโลก โดยมอบรางวัลให้ศิลปิน นักคิด นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่า มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงามและแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคม โดยผู้รับรางวัลต้องมีผลงานติดต่อกันมายาวนานไม่น้อยกว่า 30 ปี ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน และยังมีชีวิตอยู่
ประวัติ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ เกิดเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2484 ที่อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี บุตรนายเชิญ และนางฉวีรัตน์ เกษตรศิริ เรียนจบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเฉลิมวิทยา จ.สมุทรปราการ มัธยมฯ ต้น โรงเรียนนารีวุฒิวิทยาลัย โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และมัธยมฯ ปลาย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปริญญาตรีรัฐศาสตร์ สาขาการทูต (เกียรตินิยมดี-รางวัลภูมิพล) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท สาขา Diplomacy and World Affairs จากวิทยาลัยออกซิเดนทอล วิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กในเมือง ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ปี 2510 และปริญญาเอก ประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล นิวยอร์ก ปี 2515
เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติ ศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2516 รองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐาน สมัยนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี ปี 2518-2519 หัวหน้าสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ปี 2524-2526 รองผอ.และกรรมการสถาบันไทยคดีศึกษา ปี 2525-2528 รองอธิการบดี (ฝ่ายธรรมศาสตร์ 50 ปี) และกรรมการสภามหาวิทยาลัย สมัยคุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี เป็นอธิการบดี ปี 2526-2529 รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ปี 2529-2531 คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2534-2537 และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มิ.ย.2537-2538) นอกจากนี้ ยังเป็นผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์อีกหลายสถาบันและเป็นผู้สถาปนา โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลป ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลงานด้านการเขียนเด่นๆ อาทิ “14 ตุลา บันทึกประวัติศาสตร์” “3 ทศวรรษ 14 ตุลากับประชาธิปไตยไทย” “การค้าสังคโลก” “ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี” “เจ้านโรดม สีหนุกับนโยบายความเป็นกลางของกัมพูชา” “รายงานชวา สมัย ร.5” “สยามพาณิชย์” และบทความในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม”
ข่าว วันที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6672 ข่าวสดรายวัน