บทนำ

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้ไม่เห็นด้วย จนถึงขนาดมีการเรียกร้องให้ยกเลิก โดยให้เหตุผลว่าขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ตามความเป็นจริงนั้น สถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นรัฐและเป็นชาติ ไม่ว่าจะชื่อ “สยาม” ในอดีตหรือชื่อ “ไทย” ในปัจจุบัน และไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบในลักษณะเดียวกันกับสถาบันกษัตริย์ในประเทศต่างๆที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันได้ เพราะสถาบันกษัตริย์ไทยนั้นมีลักษณะพิเศษที่ไม่มีในสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่น ในช่วงที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อทำความเข้าใจถึงความจำเป็นของการมีกฎหมายดังกล่าว

บทความนี้แบ่งเป็น ๔ ตอน คือ

(๑) สถาบันกษัตริย์กับประวัติศาสตร์สังคมไทย กล่าวถึงความเป็นมาของสถาบันกษัตริย์กับความเป็นรัฐชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในย่อหน้าข้างต้นว่ามีความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออกซึ่งนำไปสู่

(๒) ลักษณะพิเศษของสถาบันกษัตริย์ไทย มีความแตกต่างจากสถาบันกษัตริย์ในประเทศต่างๆ อันทำให้สถาบันกษัตริย์ไทยได้รับการปกป้องอย่างเคร่งครัด ด้วยกฎหมายที่มีบทลงโทษเด็ดขาด จนถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ดังที่ฝ่ายต้องการให้ยกเลิกได้กล่าวอ้างกันอยู่ขณะนี้

(๓) ปัญหาการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ วิเคราะห์ถึงการใช้เป็นเครื่องทางการเมืองของผู้ครองอำนาจรัฐก็ดี โดยผู้ที่ต้องการกำจัดฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองก็ดี โดยผู้ที่แอบอ้างความจงรักภักดีก็ดี หรือผู้ที่มีความจงรักภักดีแบบสุดโต่งก็ดี ซึ่งกรณีทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดผลในทางลบแก่สถาบันกษัตริย์ และเป็นจุดอ่อนของกฎหมายที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยยกขึ้นมาโจมตี

(๔) ข้อเสนอเพื่อการใช้กฎหมายให้เกิดความยุติธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ให้พ้นจากการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ส่วนตน


ผู้เขียนขอย้ำในที่นี้ว่า บทความนี้เขียนในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เคารพในสถาบันกษัตริย์ โดยใช้สติปัญญา เหตุผล และอย่างเป็นกลางมากที่สุด ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือถูกทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนในสถาบันกษัตริย์ และเพื่อมีส่วนร่วมในการธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันอันสำคัญของชาติให้คงอยู่อย่างมั่นคง ดังรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไปนี้


๑.สถาบันกษัตริย์กับประวัติศาสตร์สังคมไทย

สถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยนั้น มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “รัฐ” หรือ “ชาติ” ไม่ว่าจะเป็น “รัฐ” หรือ “ชาติ” ของชาวสยามในอดีต และ “รัฐ” หรือ “ชาติ” ของชาวไทยในปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น  ผู้เขียนจึงขออภิปรายโดยแบ่งเป็น ๓ ยุคดังนี้

(๑) ยุคชนเผ่า นับตั้งแต่ผู้คนในดินแดนแถบถิ่นสุวรรณภูมิก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อน เป็นชนเผ่า และพัฒนาเป็นอาณาจักรเล็กๆในเขตอิทธิพลของตน การปกครองมีลักษณะนครรัฐ มีอิสรภาพ บูรณภาพเหนือดินแดนของตน ต่อมาปรากฏเป็นอาณาจักรขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยสุโขทัย ผู้ปกครองคือหัวหน้าชนเผ่าที่มีฐานะเป็นกษัตริย์ของประชาชนในปกครองของตน หากยึดถือข้อมูลประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยก็เชื่อกันว่า ในสมัยนี้ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับราษฎรเป็นไปในลักษณะพ่อกับลูก ดังคำที่ใช้เรียกกษัตริย์ว่า “พ่อขุน” เช่น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบางกลางหาว พ่อขุนผาเมือง พ่อขุนเม็งราย พ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น

ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ กษัตริย์ย่อมทำหน้าที่ปกครองดูแลราษฎร บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของ ประชาชน เมื่อมีความขัดแย้งกับอาณาจักรอื่นๆ ถึงขั้นที่มีการทำสงครามกัน กษัตริย์คือผู้นำในการต่อสู้ เพื่อปกป้องดินแดนและผู้คนของตน

(๒) ยุคอาณาจักร ยุคนี้ปรากฏเด่นชัดในสมัยสุโขทัยและพัฒนาเป็นอาณาจักรโดยสมบูรณ์ในสมัยอยุธยา ความสัมพันธ์ของกษัตริย์กับประชาชนนั้น พัฒนาจากความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูกมาเป็นแบบผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง โดยสถานะของกษัตริย์คือ เทวราชา หรือ สมมติเทพ ซึ่งนักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลมาจากจากขอม มีอำนาจเด็ดขาด ใครจะล่วงละเมิดไม่ได้ กษัตริย์มีอำนาจในการปกครองอาณาจักรโดยสมบูรณ์ ลักษณะเช่นนี้สืบเนื่องยาวนานมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์


แต่ถึงแม้สถานะของกษัตริย์ในยุคอาณาจักรจะเปลี่ยนไปเป็นสมมติเทพ ใครจะล่วงละเมิดมิได้ มีอำนาจสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียว มีการตรากฎหมายขึ้นเพื่อปกป้องกษัตริย์มิให้ถูกละเมิดและป้องกันการแย่งชิงอำนาจที่มีบทลงโทษรุนแรง ประเภท “ประหารเจ็ดชั่วโคตร” หรือ “ฟันคอริบเรือน” เป็นต้น แต่กษัตริย์ก็ยังคงบำเพ็ญกรณียกิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร ยังคงเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดน วางนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของอาณาประชาราษฎร์ แม้จะมีเหตุการณ์แย่งชิงอำนาจโดยการรัฐประหารและกบฏในราชสำนักอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่กษัตริย์สามารถกุมอำนาจได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีเหตุคุกคามทั้งจากภายในและจากภายนอกราชอาณาจักร กษัตริย์ก็จะทำหน้าที่ทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎร์อย่างเต็มที่


ในยุคอาณาจักรนี้ แม้ได้รับอิทธิพลเรื่องเทวราชาจากขอม แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ราชสำนัก และพระพุทธศาสนาก็แผ่ขยายไปสู่ประชาชนจนหล่อหลอมเป็นขนบ ธรรมเนียม ประเพณีของผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือประชาชนล้วนแต่รับเอาพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต กษัตริย์ก็ได้รับเอาธรรมะในพระพุทธศาสนามาปรับใช้ในการปกครอง ดังเช่น หลักแห่งทศพิธราชธรรม อันเป็นข้อปฏิบัติในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร ๑๐ ประการของพระราชา ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการใช้ธรรมเป็นอำนาจและการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม ที่มีอิทธิพลต่อกษัตริย์ในยุคอาณาจักรนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ความสัมพันธ์ที่ห่างเหินแบบเทวราชา ได้รับการประสานช่องว่างให้แคบเข้าด้วยคำสอนจากพระพุทธศาสนา


(๓) ยุครัฐชาติ ยุคนี้คือยุคที่มีการปฏิรูปสังคมตามอิทธิพลของประเทศตะวันตก ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ และเข้าสู่ยุคปฏิรูปเต็มที่ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชการที่ ๕ โดยมีการจัดระบบการปกครองแบบตะวันตก พัฒนาประเทศให้ทันสมัย แม้สถานะของกษัตริย์จะยังอยู่ในฐานะเทวราชาและมีกฎหมายปกป้องจากการล่วงละเมิด แต่กษัตริย์ก็มิได้ใช้ฐานะที่อยู่เหนือคนทั้งหลายเพื่อประโยชน์แห่งตน ในทางตรงกันข้าม รัชการที่ ๕ ในฐานะกษัตริย์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยยึดถือเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ทรงยึดหลักแห่งทศพิธราชธรรมนำการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆดังประจักษ์แจ้งในประวัติศาสตร์อยู่แล้ว


รัชกาลต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชการที่ ๖ ก็ทรงวางรากฐานด้านต่างๆและพัฒนาประเทศต่อจากพระราชบิดาให้ก้าวหน้าและมั่นคงขึ้น แม้ในเรื่องการเมืองการปกครอง พระองค์ก็ทรงเปิดกว้างให้มีการเสนอแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย ทั้งยังทรงจัดการให้มีการทดสอบทดลองระบบการเมืองการปกครองสมัยใหม่ผ่านการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อเตรียมการให้ประชาชนได้เรียนรู้ระบอบการเมืองการปกครองสมัยใหม่ที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย อาจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนนั่นเอง


ในสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเปล้าฯ รัชกาลที่ ๗ เป็นยุคที่เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายทางเศรษฐกิจโลก และความวุ่นวายนั้นได้ส่งผลถึงไทยด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพยายามแก้ไขปัญหาอย่างถึงที่สุด เมื่อคณะราษฎร์ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เรียกกันว่า “ปฏิวัติ” ก็ดี หรือ “อภิวัฒน์” ก็ดี พระองค์ก็ทรงยินยอมสละอำนาจให้แก่คณะราษฎร์ ซึ่งปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์ว่า พระองค์มิได้ทรงสละอำนาจให้แก่คณะใดคณะหนึ่ง แต่ทรงสละอำนาจให้ประชาชน ดังพระราชหัตถเลขาที่มีใจความตอนหนึ่งว่า “…ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และ โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…” นั่นย่อมหมายความว่าพระองค์ทรงยึดถือผลประโยชน์ของราษฎรเป็นใหญ่ มิใช่เรื่องอื่นใดเลย


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ พระองค์ยังมิได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเต็มที่ก็ทรงสวรรคตเสียก่อน เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชการปัจจุบัน ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ พระองค์ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อันเป็นพระราชปณิธานที่ทรงยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์กว่า ๖๐ ปีจนถึงปัจจุบัน ประชาชนไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้งที่มีชื่อว่า “ชาวสยาม” ในกาลก่อน และ “ชาวไทย” ในกาลปัจจุบัน ก็ล้วนแต่ได้รับประโยชน์จากพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติตามพระราชปณิธานนั้นโดยทั่วกัน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่ได้บัญญัติให้พระองค์มีอำนาจในทางการเมือง แม้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล การทำงานของรัฐสภา และการตัดสินคดีความของตุลาการ อันเป็นอำนาจสูงสุดทั้งสามจะกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยก็ตาม แต่พระองค์ก็ไม่มีพระราชอำนาจใดที่จะทำให้ทรงสามารถแทรกแซงอำนาจขององค์กรทั้งสามได้ กล่าวตามหลักการแล้ว กษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงเลย นับแต่หลังการปฏิวัติของคณะราษฎร์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา


แม้พระองค์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจที่จะทรงแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินได้ แต่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชน โดยเสด็จเยี่ยมเยือนราษฏรทุกหมู่เหล่า ทรงพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผ่านโครงการส่วนพระองค์หลายพันโครงการกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค นำไปสู่การพัฒนาตนเองของประชาชนจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทรงแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในส่วนที่ภาครัฐคือรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำได้ เพราะติดขัดด้วยกระบวนการทางการเมือง ด้วยเหตุว่าการที่จะกระทำสิ่งใดย่อมคิดถึงผลในทางการเมืองเป็นที่ตั้ง จึงเกิดความล่าช้าและไม่เท่าเทียมกันขึ้นในสังคมภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลที่มาจากภาคการเมือง ต่างจากกษัตริย์ที่ทรงถือว่าประชาชนทุกคนล้วนเป็นประชาชนของพระองค์ ทรงกระทำทุกอย่างโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนพระองค์แอบแฝง


๒. ลักษณะพิเศษของสถาบันกษัตริย์ไทย


จากที่ได้อภิปรายมาเมื่อตอนที่แล้วก็จะเห็นได้ว่า สถาบันกษัตริย์ในประวัติศาสตร์สังคมไทยและในปัจจุบันนั้น มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากสถาบันกษัตริย์ในประเทศอื่นๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน กล่าวคือ


(๑) สถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นรัฐหรือชาติในฐานะครอบครัว สถาบันกษัตริย์ของไทยมีความผูกพันโดยตรงกับประชาชนภายในรัฐในลักษณะพ่อกับลูกหรือครอบครัว แม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ยังคงดำรงอยู่ ดังปรากฏในพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ในทุกรัชกาลที่ได้ยกมาข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัชกาลปัจจุบัน ทรงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับประชาชนว่าเป็นเสมือนครอบครัวเดียวกันอย่างชัดแจ้ง


(๒) ความจงรักภักดีของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ ความจงรักภักดีดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นจากการบังคับ หรือการโฆษณาชวนเชื่อใดๆ หากแต่เกิดขึ้นมากจากความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์ ที่เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐหรือชาติ และรัฐหรือชาตินั้นประกอบขึ้นด้วยประชาชนที่อยู่ภายใต้อาณาเขตของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น “สยาม” ในอดีต หรือ “ไทย” ในปัจจุบัน โดยสถาบันกษัตริย์คือ “ผู้ปกครอง” ที่มีลักษณะเป็น “ผู้นำของครอบครัว” ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนที่เป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัว ภายใต้หลักการแห่ง “ทศพิธราชธรรม” ที่ยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ว่าในกรณีพระราชหัตถเลขาเรื่องสละพระราชอำนาจในรัชกาลที่ ๗ หรือ กรณีพระปฐมบรมราชโองการในรัชกาลปัจจุบัน ก็ล้วนแต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสุขแก่ประชาชนทั้งสิ้น


(๓) พระราชอำนาจแห่งราชธรรม แม้ว่ากษัตริย์ทรงไร้พระราชอำนาจในทางการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดให้พระองค์อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ไม่มีพระราชอำนาจที่จะทรงแทรกแซงกระบวนการบริหารราชการแผ่นดินได้ (แม้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินนั้นจะกระทำในพระนามของพระองค์) แต่ด้วยลักษณะความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับรัฐชาติใน (๑) และความจงรักภักดีของประชาชนใน (๒) ทำให้พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจพิเศษซึ่งขอเรียกในที่นี้ว่า “พระราชอำนาจแห่งราชธรรม” อันเกิดจากการที่พระองค์ทรงมี “ทศพิธราชธรรม” หรือธรรมแห่งพระราชา นั่นคือคนทั้งหลายต่างให้ความเคารพ มีความศรัทธา และพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของพระองค์ ดังจะเห็นได้จากโครงการต่างๆที่พระองค์มีพระราชดำริ หรือทรงแนะนำ ทุกภาคส่วนในสังคมทั้งรัฐบาลที่มาจากภาคการเมือง และภาคประชาชนต่างพร้อมใจกันสนองพระราชดำริโดยพร้อมเพรียง นั่นเป็นเพราะทรงมีพระราชอำนาจแห่งธรรม จากการที่ทรงใช้ธรรมเป็นอำนาจและใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยสมบูรณ์นั่นเอง ทุกคนจึงเคารพต่อ “พระราชอำนาจแห่งราชธรรม” นี้


จากการที่กษัตริย์ทรงไร้ซึ่งพระราชอำนาจทางการเมือง ย่อมหมายถึงทรงไร้พระราชอำนาจที่จะปกป้องพระองค์เองและสถาบันกษัตริย์ด้วย แต่อาศัยลักษณะพิเศษของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยดังที่ได้อภิปรายมาแล้วข้างต้น จึงทำให้สังคมไทยต้องปกป้องสถาบันกษัตริย์ด้วยการตรากฎหมายเอาไว้ โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับแม้จะบัญญัติให้สถาบันกษัตริย์ไม่มีส่วนในการใช้อำนาจทางการเมืองแต่ก็บัญญัติไว้เสมอว่า สถาบันกษัตริย์อยู่ในสถานะที่ใครจะล่วงละเมิดมิได้ ดัง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้” และประมวลกฎหมายอาญามาตรามาตรา ๑๑๒ ได้บัญญัติฐานความผิดและบทลงโทษการล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”


ทั้งกฎหมายรัฐธรรมและกฎหมายอาญาที่ตราขึ้นเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์นั้น หากพิจารณากันให้ถ่องแท้แล้วย่อมรู้ว่าตราไว้เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ ไม่ต่างจากการตรากฎหมายเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดบุคคลธรรมดาที่ทราบกันในนามกฎหมายหมิ่นประมาท บทลงโทษก็คือจำคุกเช่นกัน ต่างแต่โทษตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ กำหนดโทษสูงสุดไว้มากกว่า ดังนั้น หากจะมีการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ต่อบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด ในลักษณะใด ย่อมหาใช่ความผิดของกฎหมายไม่ หากแต่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของคนทั้งสิ้น ทั้งคนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมาย และคนที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งมิใช่กษัตริย์หรือสมาชิกในพระราชวงศ์แต่อย่างใด หากจะกล่าวอ้างว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพทางวิชาการก็ดี ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพในการพูดและการแสงความคิดเห็นก็ดี รวมถึงขนาดที่มีการกล่าวว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ จนมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายนี้ก็ดี  ย่อมไม่เป็นการยุติธรรมต่อตัวบทกฎหมายและต่อสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง


เพราะฉะนั้น หากจะหาทางยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เพียงเพราะมีการกล่าวอ้างว่าขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ หรือหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น เห็นทีจะต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทและกฎหมายอื่นๆในลักษณะเดียวกันด้วย เพราะการลงโทษด้วยการจับกุมคุมขังตามกฎหมายดังกล่าวก็จะสามารถกล่าวอ้างได้ว่า ละเมิดต่อหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ทั้งสิ้น


๓.ปัญหาการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


กฎหมายอาญามาตรามาตรา ๑๑๒ มีเจตนารมณ์ปกป้องสถาบันกษัตริย์มิให้ถูกละเมิดโดยการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นให้เกิดความเสื่อมเสียจากผู้ไม่หวังดี ซึ่งเป็นการถูกต้องแล้วที่ได้ตรากฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ตามลำดับชั้นที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ที่จะต้องไม่ถูกละเมิดด้วยการหมิ่นหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และสิทธิของความเป็นพลเมือง ที่จะต้องได้รับการปกป้องจากรัฐ


กฎหมายดังกล่าวจึงหาได้บัญญัติขึ้นเพื่อกีดกันหรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าทางวิชาการ หรือทางหนึ่งทางใดไม่ หากการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ อย่างสร้างสรรค์ และไม่ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย” อย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งหมด ดังที่มีนักวิชาการจำนวนมากได้ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย เขียนตำรา หนังสือ บทความ เกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์เป็นจำนวนมาก ก็มิได้มีปัญหาแต่อย่างใด


ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มิได้เกิดจากตัวบทกฎหมายโดยตรง หากแต่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม โดยใช้ไปในการกลั่นแกล้งทำลายกัน ทั้งจากผู้ใช้อำนาจรัฐ อันได้แก่ นักการเมืองผู้ครองอำนาจการบริหาร ข้าราชการและหน่วยงานของรัฐ รวมถึงบุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล ที่ต้องการทำร้ายและทำลายผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างในทางการเมือง


การใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เพื่อทำลายผู้ที่มีความคิดแตกต่างเกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้งเป็นที่รับรู้ของสังคมไทย และเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์การเมืองที่ไม่อาจจะลบเลือนไปได้ก็คือ เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีการปลุกเร้าให้ประชาชนและกลุ่มคนที่ได้รับการจัดตั้งจากฝ่ายผู้กุมอำนาจในหน่วยงานรัฐ อันได้แก่ลูกเสือชาวบ้านเป็นหลัก ให้มีความเข้าใจผิดและเชื่อว่า นักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือคอมมิวนิสต์ ผู้คิดร้ายต่อชาติและราชบัลลังก์ ทั้งๆที่นักศึกษาและประชาชนเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นคนไทยที่รักชาติและรักประชาธิปไตย ไม่ได้คิดร้ายต่อราชบัลลังก์ ซึ่งความจริงนี้ได้ปรากฏชัดแจ้งในประวัติศาสตร์อยู่แล้ว


อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ กรณีของนักวิชาการ นักคิด นักเขียน ปัญญาชนคนสำคัญของไทยในปัจจุบัน ที่มีบทบาทไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็คือ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ที่แสดงตนอย่างเสมอต้นเสมอปลายว่า เป็นผู้นิยมในสถาบันกษัตริย์ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันเป็นอย่างยิ่ง และผู้เขียนเชื่อว่า ส.ศิวรักษ์ คือผู้หนึ่งที่มีส่วนอย่างสำคัญในการเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยให้ชาวโลกได้รับรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่ความจงรักภักดีของปัญญาชนผู้นี้ มีความแตกต่างจากผู้คนในสังคมส่วนมาก นั่นคือ มีการวิเคราะห์ วิจารณ์ บทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในประติศาสตร์สังคมไทย ที่มักจะถูกตีความโดยผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะตำรวจว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จนนำไปสู่การจับกุมคุมขังและดำเนินคดีหลายครั้งหลายหนและเมื่อถึงที่สุดแล้วศาลได้พิพากษาว่า ส.ศิวรักษ์ไม่มีความผิด แต่ดูเหมือนว่าหน่วยงานตำรวจยังไม่ลดละที่จัดการกับ ส.ศิวรักษ์ โดยล่าสุดเมื่อปี ๒๕๕๐ ก็มีการยึดและอายัดหนังสือที่ ส.ศิวรักษ์เขียน โดยตำรวจสันติบาลออกคำสั่งลงวันที่ ๒๘ ก.ย. ๒๕๕๐ ให้ยึดหนังสือชื่อ “ค่อนศตวรรษประชาธิปไตยไทยที่เต็มไปด้วยขวากหนาม” โดยให้เหตุผลว่าหนังสือเล่มนี้ “ลงข้อความอันอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ และเมื่อ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๑ ตำรวจก็ได้จับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพอีกครั้งหนึ่ง


ทั้งสองกรณีดังกล่าวนั้น เป็นตัวอย่างของการใช้กฎหมายที่เป็นไปในทางทำลาย ทำร้าย บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ย่อมเป็นการละเมิดหรือบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น แม้กฎหมายจะบัญญัติไว้รัดกุมเพียงใดก็ตาม แต่หากคนที่มีอำนาจและหน้าที่รักษาและบังคับใช้กฎหมายใช้อำนาจในทางมิชอบ กฎหมายนั้นก็ย่อมตกเป็นแพะรับบาปไปโดยปริยาย ดังเช่น กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ที่กลายเป็นแพะรับบาปอยู่ในตอนนี้


การบังคับใช้กำหมายในลักษณะการกลั่นแกล้ง ทำร้าย และทำลายกันเช่นนี้ แทนที่จะเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์แต่กลับส่งผลเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเป็นมูลเหตุให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้อาศัยเป็นช่องทางในการรณรงค์ให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยอ้างหลักแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ


๔. ข้อเสนอเพื่อการใช้กฎหมายให้เกิดความยุติธรรม


ผู้เขียนเชื่อว่า โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ นั้น มีความสมบูรณ์และเหมาะสมแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะยกเลิกหรือแก้ไขแต่อย่างใด ปัญหาที่จะต้องวิเคราะห์กันในที่นี้ก็คือ กระบวนการวิธีพิจารณาบังคับใช้กฎหมายมีช่องโหว่ใดให้เกิดการบังคับใช้โดยผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายบ้าง


ในเรื่องนี้ ผู้เขียนมองเห็นช่องโหว่อย่างน้อย ๒ ประการคือ


๑.ใครก็สามารถแจ้งความกล่าวโทษคนอื่นว่ากระทำผิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ และการพิจารณาว่าผู้ที่ถูกกล่าวโทษทำผิดหรือไม่นั้นก็เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานสอบสวนคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ว่าอำนาจในการออกหมายจับจะเป็นอำนาจของศาล แต่ศาลก็พิจารณาตามพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานสอบสวนซึ่งได้รวบรวมขึ้นเสนต่อศาล ข้อนี้ทำให้เกิดการกล่าวโทษกันอย่างพร่ำเพรื่อ อาศัยเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งทำร้ายกันได้โดยง่าย


ในข้อนี้ กรณีของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์หรือ ส.ศิวรักษ์ เป็นหลักฐานของการกล่าวทากันอย่างพร่ำเพรื่อโดยใครก็ได้ แม้จะศาลจะเคยพิจารณาว่าไม่มีความผิดในข้อหาเดียวกันมาก่อนแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในข้อหาเดิมตลอดมา


๒.ไม่พิจารณาถึงเจตนาของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ว่ามีเจตนาที่จะ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้จริงหรือไม่ กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอที่ผู้พูดเพียงแต่ยกคำของคนอื่นมาเพื่อบอกเล่าหรืออ้างอิงให้คนอื่นได้รับรู้และเข้าใจว่า มีบุคคลที่คิดร้ายต่อสถาบันได้พูดเช่นนี้ โดยมีเจตนาที่จะให้ช่วยกันปกป้องรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ แต่กลายกลับเป็นว่ามีความผิดตามไปด้วย


ในข้อนี้ กรณีของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เพราะได้ยกคำพูดของนางดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด มาบอกเล่าให้ผู้อื่นได้รับรู้โดยมีเจตนาเพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้ร่วมกันหาหนทางในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปอยู่แล้วว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุลกับกลุ่มคนที่ร่วมฟังคือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น ประกาศตนเป็นฝ่ายที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน และดำเนินกิจกรรมเพื่อปกป้องสถาบันตามวิธีการของกลุ่มตนอย่างชัดแจ้งตลอดมา


ช่องโหว่ของกฎหมายทั้งสองประการดังกล่าว ส่งผลในทางเสียหายแก่สถาบันกษัตริย์มากกว่าผลดี ดังนั้น หากจะแก้ไขก็ควรจะแก้ไขเรื่องวิธีการพิจารณากล่าวโทษผู้กระทำความผิดให้มีความรัดกุมขึ้น ให้มีการพิจารณากลั่นกรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยยึดถือเจตนารมณ์ของกฎหมายและเจตนาของผู้พูดหรือโฆษณาเป็นสำคัญ ซึ่งอาจกระทำได้ หลายวิธี อาทิ


(๑) จัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ โดยเฉพาะ หากใครจะกล่าวโทษใครก็ให้ร้องทุกข์ต่อหน่วยงานนี้ ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรจะกล่าวโทษบุคคลที่ถูกร้องนั้นหรือไม่ หากพิจารณาว่าสมควรหน่วยงานดังกล่าวก็จะเป็นผู้เข้าแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนคือตำรวจเอง


(๒) หากไม่มีหน่วยงานดังกล่าว ควรกำหนดให้เจ้าพนักงานสอบสวนต้องมีที่ปรึกษาในคดีนี้โดยเฉพาะ อาจเป็นสำนักพระราชวัง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากฎหมาย เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้นร่วมพิจารณาและให้คำแนะนำในการดำเนินคดี เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมต่อผู้ถูกกล่าวโทษเป็นเบื้องต้น หากที่ปรึกษาในคดีมีความเห็นเช่นใด เจ้าพนักงานสอบสวนก็ต้องปฏิบัติตาม


(๓) โอนอำนาจหน้าที่ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ หรือ Department Of Special Investigation-DSI) รับผิดชอบเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีที่ปรึกษาเช่นเดียวกับใน (๒) เพราะหากจะพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว คดีที่เกิดขึ้นภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ก็แตกต่างจากคดีอาญาโดยทั่วไปอยู่แล้ว เพราะเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะ ดังนั้น หากให้ดีเอสไอรับผิดชอบตามเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น ก็น่าจะเชื่อได้ในระดับหนึ่งว่าจะรัดกุมยิ่งขึ้น


ทั้งสามแนวทางดังกล่าวนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้สังคมไทยได้พิจารณาร่วมกัน เพื่อหาทางดำเนินการปกป้องสถาบันอันสูงสุดเอาไว้ โดยให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด ทั้งต่อผู้ถูกกล่าวโทษและต่อสถาบันเอง ซึ่งข้อเสนอทั้งสามประการนี้เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการอันหลากหลาย ที่สังคมไทยจะต้องร่วมกันคิดค้นอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่ตราไว้อย่างเหมาะสมแล้วให้เกิดความยุติธรรมอย่างที่สุด มิใช่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำร้าย ทำลาย กลั่นแกล้งกัน จนกฎหมายกลายเป็นแพะรับบาปเช่นในปัจจุบันนี้


บทสรุป


สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อสังคมไทย เป็นสถาบันหลักที่โน้มนำและหล่อหลอมผู้คนไม่ว่าจะเป็น “สยาม” ในอดีต หรือ เป็น “ไทย” ในปัจจุบัน ให้มีความเป็นรัฐและชาติ ไม่ว่าจะในช่วงเวลาที่สถาบันกษัตริย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือในปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์ล้วนแต่มีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการพัฒนาสังคมไทย สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศ สร้างความอยู่เย็นเป็นสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ เป็นที่ประจักษ์โดยชัดแจ้งอยู่แล้ว


ผู้ที่ไม่เห็นความสำคัญของสถาบันกษัตริย์และผู้ที่ถูกทำให้เข้าใจความสำคัญของสถาบันกษัตริย์คลาดเคลื่อนไป จึงโปรดได้พิจารณาโดยใช้ปัญญาอย่างถ่องแท้ถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ดังที่ผู้เขียนได้ยกมาอภิปรายในบทความนี้ เพื่อท่านจะได้เข้าใจว่า สถาบันกษัตริย์ไทยนั้นมีความสำคัญเพียงใด และจะได้เข้าใจว่า เหตุใดผู้ที่มีความจงรักภักดีจึงมีปฏิกิริยาไม่พอใจต่อผู้ที่ตนเห็นว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน


สังคมไทยมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ โดยใช้สติปัญญาและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม และวิธีการที่ถูกต้องสมอย่างหนึ่งและเป็นวิธีการที่สำคัญก็คือ การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างรอบคอบรัดกุม และโดยยุติธรรม จึงขอฝากให้ประชาชนผู้จงรักภักดีทั้งหลาย ได้ใช้สติปัญญาของท่านอย่างเต็มที่ ในการคิดค้นหาวิธีอันเหมาะสมเพื่อปกป้องสถาบันอันเป็นที่รักของท่าน และสำคัญต่อชาติบ้านเมือง คือสถาบันกษัตริย์ ให้คงอยู่อย่างสง่างามสืบไป.

ที่มา http://www.oknation.net/blog/yootoop/2009/02/25/entry-2

http://www.kosoltalk.com/protecting-the-king-law

(ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนบทความแล้ว)