กุหลาบแกร่งคู่ชีวิต ‘ศรีบูรพา’ เจ้าของนามปากกา ‘จูเลียต’ ยังคงยืนหยัดอยู่อย่างมั่นคงและเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของคนวรรณกรรม

แม้ว่า ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ หรือ ‘ศรีบูรพา’ จะจากไปนานถึง 36 ปี หรือเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2517 แต่ภรรยาคู่ชีวิต ‘ชนิด สายประดิษฐ์’ เจ้าของนามปากกา ‘จูเลียต’ ยังคงยืนหยัดอยู่อย่างมั่นคงและเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของคนวรรณกรรม ก่อนจะจากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 สิริรวมอายุ 97 ปี โดยพิธีฌาปนกิจจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ วัดเทพศิรินทร์

ตลอดชีวิตของ ‘ชนิด สายประดิษฐ์’ นอกจากจะเป็นภรรยาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับ ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ นักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกแล้ว นักอ่านจำนวนมากยังรู้จักในฐานะเจ้าของนามปากกา ‘จูเลียต’ นักแปลวรรณกรรมคลาสสิก

ชนิด สายประดิษฐ์ เดิมชื่อว่า ชนิด ปริญชาญกล เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2456 ที่ย่านรองเมือง เป็นบุตรคนโตในจำนวน 6 คนของขุนชาญรถกล กับ นางเขียว ปริญชาญกล เป็นลูกคนโตสุด และมีพี่น้อง 6 คน บิดาเสียชีวิตเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยม แต่เนื่องจากมารดาเป็นผู้หญิงเก่ง แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือแต่เปิดร้านขายของสารพัดอย่างเลี้ยงดูลูก และส่งเสียให้เรียนหนังสือจนจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยนั้นคณะอักษรศาสตร์ยังไม่เปิดหลักสูตรปริญญา

หลังจบการศึกษาแล้วได้ไปเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ต่อมาย้ายไปสอนที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ขณะเดียวกันก็ศึกษาต่อกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย กระทั่งเมื่อปี 2475 ได้พบรักกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และแต่งงานกันเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2478 โดยมีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นเจ้าภาพ และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ แพทย์หญิงสุรภิน และ สุรพันธ์ สายประดิษฐ์

ด้านผลงานแปลและการประพันธ์นั้น ชนิด สายประดิษฐ์ เริ่มงานแปลหนังสือตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ ตีพิมพ์ใน ‘ประชาชาติ รายสัปดาห์’ เรื่องแรกคือ ‘ความรักของ เจน แอร์’ โดยใช้นามปากกาว่า ‘จูเลียต’ ซึ่งตั้งให้โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ และผลงานแปลชิ้นสำคัญคือ ‘เหยื่ออธรรม’ ประพันธ์ของ ‘วิคเตอร์ ฮูโก’ และยังได้รับการเชิดชูเกียรติให้ได้รับ ‘รางวัลนราธิป’ ประจำปี 2544

ต่อไปนี้เป็นการรำลึกและอาลัย ชนิด สายประดิษฐ์ โดยเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ชื่อ กุหลาบแกร่งในชีวิต “ศรีบูรพา” สัมภาษณ์โดย ไพลิน รุ้งรัตน์ หรือ ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบ 100 ปี ชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ และได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี 2548 ขณะนั้นชนิดมีอายุ 91 ปีซึ่งทุกคนต่างยอมรับว่ามีความจำดีเยี่ยม นอกจากจะเป็นผู้ปะติดปะต่อเรื่องราวและฉายภาพให้เห็นถึงอุดมการณ์และการต่อสู้ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้อย่างสมบูรณ์และชัดเจนมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังได้เห็นภาพผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่วีรบุรุษนักเขียนจนวินาทีสุดท้าย

ประมาณปี 2475 ขณะกำลังเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ ชนิดได้พบกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยเธอเล่าว่า “ก็ชอบอัธยาศัยกัน ตอนที่คบหากัน ไปเที่ยวไหนด้วยกัน ดิฉันก็เอาน้องไปด้วย…ครั้งหนึ่ง คุณฉุน ประภาวิวัฒน์ เพื่อนนักเขียนของคุณกุหลาบ เคยเอาไปเขียนเล่าไว้บอกว่าเคยไปเที่ยวสวนด้วยกัน และคุณฉุนก็ไปด้วย ผู้หญิงกับผู้ชายสมัยก่อนไปไหนมาไหนก็ต้องมีคนไปด้วย กันคนครหา” และคบกันอยู่ประมาณ 3 ปี

“พอคุ้นเคยกัน บางทีเขาก็ชวนดิฉันไปที่สำนักงานของเขาบ้าง ตอนนั้นเขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ เลยได้มีโอกาสได้เห็นการทำงานของเขา ไปสำนักงานเขา ก็เห็นคนเขาก็เชื่อถือ บางทีฟังเขาสั่งงาน ก็รู้สึกว่าเขาเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ บางเย็นเขาก็ชวนไปกินข้าว ครั้งหนึ่งไปเจอท่านวรรณ ท่านเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ดิฉันก็เก้อๆ เพราะตอนนั้นท่านเป็นอาจารย์สอนที่จุฬาฯ”

ทั้งยังเล่าถึงการพบรักกับกุหลาบว่า “คงจะเกิดจากความสนใจในการทำงานและท่วงทีติดต่อกับเพื่อนร่วมงาน คุณกุหลาบอายุมากกว่าดิฉัน 8 ปี แล้วก็เคยสอนพิเศษด้วย ต่อมาก็มีการสู่ขอกันแล้ว ถือว่าหมั้นกัน ช่วงนั้นรู้สึกว่าดีมาก ท่านวรรณก็พาไปโน่นไปนี่เพื่อให้รู้จักชีวิตในรูปแบบต่างๆ พาไปเลี้ยงข้าวเหลา พาไปสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ไปสวนสราญรมย์ สมัยนั้นมีการจัดงานเต้นรำบ่อยๆ ท่านวรรณโปรดคุณกุหลาบ ตอนนั้นทำอยู่ประชาชาติเขียนหนังสือแล้ว ทำหนังสือมาก่อนแล้ว ท่านให้เงินเดือนสูง คุณกุหลาบเป็นคนประหยัดมาก ใช้สอยอะไรก็ประหยัด ก็เก็บเงินสร้างบ้านนี่ได้”

กระทั่งปี 2478 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้แต่งงานกับ ชนิด ปริญชาญกล ตอนนั้นชนิดเรียนจบแล้วก็ไปสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ต่อมาย้ายไปสอนที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ไปสอนทางคำนวณ เพราะสมัยนั้นหาผู้หญิงสอนคำนวณไม่ค่อยได้…และขณะนั้นได้แปลหนังสือไปด้วย

“ความจริงแปลตั้งแต่ก่อนออกจากมหาวิทยาลัย เริ่มต้นที่ ‘เจนแอร์’ ที่คุณมาลัย ชูพินิจ ตั้งชื่อเรื่องให้ด้วยว่า ‘ความรักของ เจน แอร์’ แล้วแปลสืบเนื่องเรื่อยมา แปลลงในประชาชาติ ส่งทีละตอน เป็นรายสัปดาห์ค่ะ…” และนามปากกา ‘จูเลียต’ นั้นกุหลาบเป็นคนตั้งให้ด้วย

ชีวิตคู่หลังแต่งงานของคนทั้งสองเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ชีวิตการทำงานของกุหลาบกลับทำท่าตรงกันข้าม ชนิดเล่าว่า…

“นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นฉลาด พอขึ้นมามีอำนาจก็เชิญท่านวรรณไปเป็นที่ปรึกษา เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเขียนอะไรตรงไปตรงมา ท่านวรรณก็จะทรงบอกอย่างเกรงใจว่า ขอให้เบาๆ หน่อย ท่านทรงขอร้องถึงครั้งสองครั้ง พอครั้งที่สามบังเอิญหนังสือพิมพ์อาซาฮีของญี่ปุ่นเขาเชิญไปดูงาน 6 เดือน คุณกุหลาบก็มาปรึกษาดิฉันว่าเวลานี้ทำงานด้วยความอึดอัดใจเพราะเป็นปากเสียงให้ประชาชนไม่สะดวก เรียกว่าไม่ได้ทำตามที่เราเป็น ไม่ได้ทำตามอุดมการณ์ ไปญี่ปุ่นนี่คิดว่าจะหลบไปจากการเป็นบรรณาธิการ ก็มอบให้คุณมาลัย ชูพินิจเป็นบรรณาธิการ แล้วก็ไปญี่ปุ่น”

ปี 2481 กุหลาบเลยมาทำสุภาพบุรุษ ประชามิตร ชนิดเล่าไว้ว่า “เป็นสมัยมาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจอีกนั่นแหละ ดิฉันไม่เข้าใจเหมือนกันว่าหมวกมันจะนำไทยไปสู่มหาอำนาจได้อย่างไร แล้วยังให้เลิกนุ่งโจงกระเบน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของเรา คนแก่คนเฒ่า จะยากดีมีจนแค่ไหน จะไปตลาดก็ต้องหาหมวกใส่ ไม่เช่นนั้นเข้าตลาดไม่ได้ ก็เดือดร้อนกันไปหมด ขึ้นรถเมล์ก็ไม่ได้ แล้วบ้านเราลมมันก็แรง พอใส่หมวกมันก็ปลิว ยุ่งกันไปหมด คนทำหนังสือก็เขียนค้านไปเรื่อยๆ รวมทั้งเรื่องผู้นำประเทศคิดรื้อฟื้นเรื่องบรรดาศักดิ์ขึ้นมา ก็เขียนคัดค้านกันจนตกไป

ต่อมาคุณกุหลาบก็ได้เขียนบทความเรื่อง ‘เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475’ รวมทั้งหมด 16 ตอน ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2484 กระทบกระเทือนจนถึงขนาดที่รัฐบาลโต้ตอบทางสถานีวิทยุกระจายเสียงไทยถึง 4 ครั้ง หลังจากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นคนฉลาด นุ่มนวล และเคยรู้จักกับคุณกุหลาบ ก็เขียนจดหมายมาหาอย่างเป็นกันเอง คุณกุหลาบเขียนไว้ในคำนำ เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 เองว่า ตอบไปว่า

แม้จะมีความผูกพันฉันไมตรี นับถือกันอยู่ก็ดี แต่ตราบเท่าที่อยู่ในหน้าที่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์สลักสำคัญที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องกระทำต่อไป ก็มีทางเหลืออยู่แต่ทางหนึ่งคือ ข้าพเจ้าจะสละตำแหน่งและวางมือจากวงการหนังสือพิมพ์เสีย

จอมพล ป. ก็เลยเขียนตอบมาอีกในทำนองว่า ขอให้ทำต่อไปเถิด…ขอให้เป็นประธานก่อตั้งสมาคมนักหนังสือพิมพ์ไปเถอะ จะไม่คิดร้ายเลย”

นี่เป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการของนักหนังสือพิมพ์ยุคนั้นจากบอกเล่าของ ชนิด สายประดิษฐ์ และปี 2485 กุหลาบถูกจับครั้งแรกเพราะตอนนั้นมีการแจกใบปลิวโจมตีนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป.ที่ให้ญี่ปุ่นยึดครองแผ่นดินไทย และกุหลาบก็เขียนบทความคัดค้านรัฐบาลในเรื่องนี้พอดี เลยถูกจับในข้อหากบฏภายในประเทศ…และถูกขังอยู่นานประมาณ 3 เดือน

“เราต้องเข้มแข็ง ไม่ให้คุณกุหลาบร้อนใจเลยในเรื่องของทางบ้าน มีแต่ว่าต้องการอะไร เราก็ส่งไปให้ทั้งนั้น ดิฉันไม่ร้องไห้เลย แล้วก็ไม่เคยร้องด้วย แล้วก็เข้าใจดีขึ้นด้วย มีแต่สนับสนุน ไม่เคยห้าม ไม่เคยเลยสักคำ เขามักจะพูดให้ฟังว่า เราทำตามหน้าที่ เราก็ต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่…”

ระหว่างกรกฎาคม-ตุลาคม 2495 เกิดภาวะแห้งแล้งในอีสานขนาดหนัก สมาคมนักหนังสือพิมพ์ได้ขอให้คุณกุหลาบเป็นประธานไปแจกสิ่งของที่มีผู้บริจาคให้ประชาชน จึงถูกจับกุมพร้อมมิตรสหาย

“ไม่ค่อยตกใจ เพราะรู้สึกอยู่ว่ามันมีอะไรไม่ชอบมาพากลอยู่ระยะหนึ่งแล้ว คือเราเป็นคนหนังสือพิมพ์ เรารู้ว่ามันล่อแหลมอยู่ รู้สึกตัวว่าผิดสังเกตเรื่อยมา มีคนติดตาม คุณกุหลาบทำงานอยู่กับบ้าน แต่ก็มีคนมาขอให้เขียนโน่นเขียนนี่ ‘ดูนักศึกษา ม.ธ.ก.ด้วยแว่นขาว’ ก็เขียนขึ้นในช่วงนี้ อยู่กับบ้านแต่ว่านักศึกษามาเชิญไปในงานต่างๆ ได้เขียน ได้พบกับคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า พวกหนังสือพิมพ์ก็เชิญไปในงานปราศรัยใหญ่ให้เลิก พ.ร.บ.เซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ อีสานแล้ง เขาก็เชิญไปเป็นหัวหน้าแจกสิ่งของ พอกลับมาถึงบ้าน 10 พฤศจิกายน อ้าว ตำรวจมาล้อมบ้านอีกแล้ว ตอนนั้นอยู่บ้านเช่าที่ซอยภูมิจิตร ข้อหาเป็นกบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร

ยิ่งมีมรสุม ดิฉันก็ยิ่งเข้าใจคุณกุหลาบมากขึ้น แล้วก็ยิ่งเชื่อถือและไว้วางใจมาก ขึ้นว่าเขาเป็นคนดี คือมีมรสุมทีไรคุณกุหลาบก็จะพูดให้ฟังว่ามันมีความสมควรอะไร อย่างไร”

กระทั่งปี 2500 เกิดรัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สำเร็จ และแต่งตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี  คุณกุหลาบเริ่มเห็นแนวโน้มที่ไม่ต่างไปจากเดิม และหลังการเลือกตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร จากพรรคชาติสังคม ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 21 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารอีกครั้ง และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง ขณะนั้นคุณกุหลาบและคณะนักหนังสือพิมพ์กำลังอยู่ระหว่างเยือนจีน ตามคำเชิญของสถาบันวัฒนธรรมของจีนโดยการอนุมัติของจอมพลถนอม คุณกุหลาบจึงตัดสินใจขอลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในจีน ในขณะที่พวกที่กลับมาถูกจับกุมคุมขัง และพวกที่อยู่ในประเทศก็ถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก

“ตอนนั้นลูกยังเรียนไม่จบ ลูกชายไปเรียนที่โซเวียต ส่วนลูกสาวใกล้จะจบแพทย์และก็รอจนเขาแต่งงานก่อนจึงจะไป เป็นห่วงลูกสาว เขาเรียนใกล้จบแล้ว จะแต่งงานไม่มีพ่อไม่มีแม่ คนเขาอาจจะดูถูกเอาได้ ก็เลยอยู่รอให้เขาแต่งงานก่อน เขามีคนชอบกันอยู่แล้ว เป็นหมอด้วยกัน เรียนด้วยกัน ก็ให้เขาแต่งงานก่อน พอแต่งงานเสร็จวันรุ่งขึ้นดิฉันก็ไปเมืองจีนเลย ส่วนเขาแต่งแล้วก็ไปอยู่ที่เชียงใหม่ ไปเป็นอาจารย์สอนที่เชียงใหม่ รู้สึกจะแต่งปี 2505 เรียกว่าคุณกุหลาบไปจีนแล้ว 4-5 ปี ดิฉันถึงตามไป

ไม่รู้สึกอะไรมาก เมื่อคุณกุหลาบอยู่ที่จีน ดิฉันก็ยังแปลเรื่อง ‘เหยื่ออธรรม’ ลงในชาวกรุงรายเดือนอยู่ แล้วสอนหนังสือครึ่งวันก็ได้เป็นกอบเป็นกำพอสมควรสำหรับความรู้สึกของดิฉัน อีกครึ่งวันไปสอนฝรั่งมิชชันนารี…ที่สำคัญยังติดต่อกับคุณกุหลาบได้ ส่งข่าวถึงกันได้ สมัยนั้นติดต่อกับประเทศคอมมิวนิสต์ไม่ได้เลย จะมีการตรวจสอบตรวจดูเสมอ ก็เลยต้องติดต่อผ่านทางพวกพ้อง คือคนที่เขาสนใจคุณกุหลาบ เขาก็หาทางติดต่อให้”

ชนิด เดินทางจากประเทศไทยไปใช้ชีวิตแบบคนเนรเทศอยู่กับคุณกุหลาบที่เมืองจีน เมื่อปี 2505 จนถึงวันที่กุหลาบเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมและเส้นโลหิตหัวใจตีบตันในวันที่ 16 มิถุนายน 2517 ขณะมีอายุได้ 67 ปี 3 เดือน 3 วัน โดยทางการจีนได้จัดพิธีไว้อาลัย ณ สุสานปฏิวัติเป่าซาน นครปักกิ่ง ให้อย่างเกริกเกียรติ มีหรีดจากนายกรัฐมนตรีโจเอินไหล รวมเวลาที่ใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายด้วยกันคือ 12 ปี และเป็น 12 ปีแห่ง ‘คู่ทุกข์-คู่ยาก-คู่สงบ-คู่งาม’ โดยชนิดพูดถึงหลักในการใช้ชีวิตคู่ว่า…

“ดิฉันว่าเราต้องเชื่อในความดีของกันและกัน เวลาลำบากก็อย่าให้ฝ่ายที่ต้องลำบากเพราะการทำดีต้องร้อนใจ ต้องให้เขาสุขสบายทุกอย่างเพื่อเขาจะได้ไม่ต้องมากังวลในเรื่องที่เราควรจะรับผิดชอบได้ ต้องมีความเข้าใจกัน ต้องมีความศรัทธา เชื่อถือกันว่าเป็นคนไม่ขี้เกียจ เป็นคนจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความเข้าใจกันดี ความศรัทธาเชื่อถือกันมันผูกพันกันมากกว่า…”

ปัจจุบัน ชนิด สายประดิษฐ์ หรือ ‘จูเลียต’ ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เป็นศูนย์รวมแห่งดวงใจรัก ‘ศรีบูรพา’ ที่มีอยู่นับล้านดวงบนถนนวรรณกรรมสายนี้ และเป็นผู้หญิงแกร่งที่ทำให้เรื่องเล่าตำนานชีวิตของวีรบุรุษนักประพันธ์คนนั้นมีอยู่จริงและสัมผัสได้ การเดินทางอันแสนยาวไกลถึง 97 ปีของ ชนิด สายประดิษฐ์ ได้สิ้นสุดลงท่ามกลางความรักและอาลัยเป็นอย่างยิ่งของผู้ศรัทธาในอุดมการณ์

หากแต่เส้นทางแห่งอุดมการณ์ยังคงทอดยาวให้คนรุ่นหลังได้ก้าวตามไปนิรันดร์กาล 0

……………………………

(ที่มา(ข้อมูล) : www.sriburapha.net)

ที่มา

กรุงเทพธุจกิจออนไลน์
Life Style : Read & Write
วันที่ 21 มิถุนายน 2553 01:00