อดีต “ซ้าย-อหิงสา” ยุคมืด พระไพศาล วิสาโล ยืนยัน “สันติ-ธรรม…คือสุข”
สถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้ มีหลายฝ่ายออกมามีบทบาท รวมถึง “พระสงฆ์” ในพระพุทธศาสนา ซึ่งในส่วนของฝ่ายสงฆ์นั้น ก็มีพระหลายรูปออกมาให้สติ เพื่อมิให้สถานการณ์ดำเนินไปสู่ความรุนแรง ในจำนวนนี้ก็มีพระสงฆ์ซึ่งได้รับ “รางวัลศรีบูรพา” ประจำปี 2553 ในฐานะพระนักวิชาการ นักคิดนักเขียนทางพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ ซึ่งท่านเป็นนักปฏิบัติธรรม เป็นนักบรรยายธรรมที่ผลิตผลงานออกมาในรูปสื่อโทรทัศน์ และหนังสืออย่างสม่ำเสมอในยุคปัจจุบัน พระสงฆ์รูปนี้คือ “พระไพศาล วิสาโล”
พระไพศาล วิสาโล เดิมชื่อ ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ พื้นเพเป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2500 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนกศิลปะ จากโรงเรียนอัสสัมชัญ และสำเร็จการศึกษาขั้นอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์
ระหว่างเรียนที่ธรรมศาสตร์ เคยเป็นสาราณียกรของปาจารยสาร (2518-2519) และเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ช่วงปี 2519-2526 โดยมีบทบาทร่วมในแนวทาง “อหิงสา” ต่อ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ถูกล้อมปราบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 3 วัน
“เมื่อเป็นเด็กชอบทำกิจกรรม แรก ๆ ก็เป็นกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์มาตลอด ซึ่งสนุก และเมื่อได้รับรางวัลก็เป็นกำลังใจที่จะเอาดีทางนี้ พออายุ 15 ปี ได้อ่านหนังสือของสุลักษณ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ซึ่งพบว่าบ้านเรามีปัญหาสังคมมาก ซึ่งก็เป็นการเปิดหูเปิดตาด้านปัญหาสังคม แต่ตอนนั้นไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง
ต่อมาจึงเข้าร่วมกิจกรรมอาสาพัฒนาชนบท ซึ่งตอนนั้นโรงเรียนอัสสัมชัญเป็นโรงเรียนเดียวที่มีค่ายอาสาออกชนบท จึงทำงานอาสามาตั้งแต่เรียน ม.ศ.3 ยกตัวอย่างเช่น สอนหนังสือเด็กในสลัม, อาสาเยี่ยมเด็กกำพร้าที่บ้านราชวิถี, เยี่ยมคนชราที่สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค
ภายหลังก็เกิดความสนใจการเมืองในช่วงเวลาถัดมา โดยร่วมการประท้วงในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 หลัง 14 ตุลาฯ 2516 ความคิดก็ออกแนวเป็นซ้าย เมื่ออายุ 17 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.ศ.5 ตอนหลังได้สนใจแนวทางอหิงสา ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดทางซ้ายที่เน้นเรื่องการปฏิวัติรุนแรง
ส่วนความเป็นพุทธนั้นมีมานานแล้ว เพราะได้อ่านงานเขียนของ ท่านพุทธทาสภิกขุ มาตั้งแต่อายุ 15-16 ปี ดังนั้น ความเป็นซ้ายก็ซาลง ส่วนงานหนังสือนั้นก็ทำมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมฯ เคยเขียนบทความ เคยเป็นบรรณาธิการ และช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นสาราณียกรของ ปาจารยสารอยู่ 2 ปี และอยู่ชุมนุมพุทธของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย
ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เคยไปร่วมอดอาหารประท้วง เมื่อออกจากคุกแล้ว ก็ช่วยเหลือคนที่ติดคุก โดยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม เน้นสิทธิมนุษยชน
ไม่ซ้ายไม่ขวา ถ้าเป็นปัจจุบันก็ไม่เหลืองไม่แดง ต้องการให้รัฐเคารพสิทธิประชาชน, นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง และคืนบ้านเมืองให้อยู่ในภาวะปกติ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเมื่อรัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษ 6 ตุลาฯ 2519 ประมาณกว่า 3,000 คน จนเป็นข่าวไป ทั่วโลก”
..เป็นคำบอกเล่าของพระไพศาล
ทั้งนี้ พระไพศาล วิสาโล อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2526 ณ วัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร เรียนกรรมฐานจาก หลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ วัดสนามใน ก่อนไปจำพรรษาแรก ณ วัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ โดยศึกษาธรรมกับ หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ จนถึงปัจจุบัน “ร่วมกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 2 จนกระทั่งเรียนจบ และทำต่อมาอีกเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นระยะเวลา 7 ปี จนเกิดความเครียด จึงมาบวชจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านั้นทำโครงการพัฒนาในชนบทซึ่งเป็นโครงการย่อยของงานที่ทำ เช่น งานเรื่องเด็กขาดสารอาหาร, ทำผ้าป่าข้าวอุดหนุนสหกรณ์บ้านท่ามะไฟหวาน ซึ่งทำให้พบกับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ และเมื่อมาบวชจึงเลือกที่จะปฏิบัติธรรมกับท่าน
ความตั้งใจแรกคือจะบวชแค่ 3 เดือน แต่เมื่อมาหัดเจริญสติแล้วผลการปฏิบัติธรรมก้าวหน้าขึ้น และคิดว่าถ้าสึกไปคงไม่มีโอกาส ติดใจ จึงบวชต่อไปเรื่อย ๆ แรกก็บวชแบบปีต่อปีจนครบ 5 ปี และบวชอีก 5 ปี และก็บวชเรื่อย ๆ มาจนกระทั่งปัจจุบัน”
ปัจจุบัน พระไพศาล วิสาโล เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต แต่ส่วนใหญ่พำนักอยู่ที่วัดป่ามหาวัน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยจำพรรษาสลับระหว่างวัดป่าสุคะโตกับวัดป่ามหาวัน
นอกจากการจัดอบรมปฏิบัติธรรมและการพัฒนาจริยธรรมแล้ว พระไพศาลยังเป็นประธานเครือข่ายพุทธิกา กรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย กรรมการมูลนิธิสันติวิถี กรรมการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกรรมการสภาสถาบันอาศรมศิลป์
ทุกวันนี้ พระไพศาลเขียนหนังสือและบทความอยู่เป็นประจำ ผลงานที่ผ่านมา ได้แก่ งานเขียนและงานบรรยายจำนวน 100 เล่ม งานเขียนร่วม 20 เล่ม งานแปลเดี่ยวและงานแปลร่วม 9 เล่ม งานบรรณาธิกรเดี่ยวและบรรณาธิกรร่วม 7 เล่ม ผลงานล่าสุดคือ “ลงหลักปักธรรม” ซึ่งรวบรวมบทความที่เขียนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
และเพิ่งได้รับ “รางวัลศรีบูรพา” ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท ในวันที่ 5 พ.ค. 2553 นี้
รางวัลนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกและเผยแพร่เกียรติประวัติของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักประชาธิปไตยคนสำคัญของไทยและของโลก ซึ่งพระไพศาลได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่คาดฝันเลย” เพราะที่รู้มา คนที่ได้รับรางวัลนี้มาก่อนล้วนแต่เป็นนักเขียนชั้นครูทั้งนั้น อย่าง ส.ศิวรักษ์, สุภัทร สวัสดิรักษา, เสถียร จันทิมาธร, วิทยากร เชียงกูล, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หรือแม้แต่คนอื่น ๆ ก็ล้วนแต่ผ่านการทำงานเขียนมาอย่างยาวนาน
“ยอมรับว่าแปลกใจอยู่เหมือนกัน แต่ก็ยินดี และนับเป็นเกียรติในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง การได้ รับเกียรติจากกองทุนศรีบูรพาที่มอบรางวัลศรีบูรพาให้นี้ ถือเป็นรางวัลใหญ่ทางการเขียนครั้งแรก ด้วย” …เป็นประโยคทิ้งท้ายจาก “พระไพศาล วิสาโล” อีกหนึ่งนายกองธรรม อีกหนึ่งกำลังหลักแห่งพระพุทธศาสนาในไทยในยุคนี้
และอีกหนึ่ง “พระสงฆ์” ที่มีบทบาทในการ “ให้สติสังคมไทย” ให้ยึด “สันติ” ในยุคที่มีม็อบเต็มกรุง ในยุคที่ “เอ็ม 79-อาร์พีจี- ระเบิด” เดี๋ยวก็บึ้ม…เดี๋ยวก็บึ้ม…!!.
วิสัชนา ‘พระสงฆ์กับการเมือง’
ในห้วงเหตุการณ์ทางการเมือง ณ ขณะนี้ พระสงฆ์บางส่วนถูกตั้งคำถามจากสังคมมากมาย เกี่ยวกับบทบาทและการร่วมแสดงออกในการเรียกร้องทางการเมือง ซึ่ง พระไพศาล วิสาโล ได้สะท้อนในเรื่องนี้ว่า…
การออกมามีบทบาทของพระสงฆ์ ถ้าเป็นเรื่องการเตือนสติ ก็ใช่ เพราะหลัก ศาสนาพุทธคือ สันติสุขในใจ ความมีสันติ ความสงบ เป็นเรื่องเดียวกัน เตือนให้มีสติ ไม่ใช่มีอคติ เตือนสติอย่าให้เกลียดกัน เพราะถ้ามีอคติคือ โกรธ, เกลียด, โลภ, หลง จะทำให้เห็นความจริงไม่รอบด้าน และการปะทะกันก็จะพินาศกันทั้งสองฝ่าย
“หลักของพระคือ ธรรมะ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยามบ้านเมืองร้อนก็ต้องเตือนสติ ไม่โอนเอียง” พระมีสิทธิที่ชอบได้หรือไม่ชอบได้ แต่ต้องยึดหลักความถูกต้อง และต้องชี้ผิดชี้ถูกได้ เหมือนกับกรรมการในสนามฟุตบอลที่มีสิทธิที่จะชอบทีมใดหรือไม่ชอบทีมใดก็ได้ แต่ต้องตัดสินเกมบนความถูกต้อง
“ปัจจุบันการเมืองดึงพระเข้าไปเกี่ยวข้อง หากพระจับหลักไม่แม่น ก็เกิดภาพดังที่เห็นตามข่าว ซึ่งหลักของพระพุทธเจ้า หลักของพุทธศาสนา คือธรรมะ ไม่ใช่การอิงตัวบุคคลหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการเอาชนะไม่ใช่วิสัย พระมีหน้าที่เตือนสติ”…พระไพศาลกล่าว พร้อมบอกด้วยว่า…
ตัวท่านเองก็ถูกตั้งคำถามจากการออกสื่อเหมือนกัน ว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ? ซึ่งขอย้ำว่ามีจุดยืนเรื่องสันติวิธีมาตลอด จะหาทางออกให้กับบ้านเมืองอย่างไรก็ได้ แบบไหนก็ได้
“แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ใช้ความรุนแรง”.
สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : รายงาน
เดลินิวส์
วันอาทิตย์ ที่ 28 มีนาคม 2553