โดย สุพจน์ ด่านตระกูล
นาม กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” เห็นจะไม่จำเป็นต้องแนะนำกัน ณ ที่นี้ เพราะคิดว่าคงมีหลายท่านที่จะเขียนแนะนำนามนี้อยู่แล้ว และถึงมาตรว่าจะไม่มีท่านผู้หนึ่งผู้ใดเขียนแนะนำ แต่ก็เชื่อว่านาม กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” ก็เป็นที่รู้จักของบรรดานักอ่านนักศึกษาการเมือง และท่านผู้แสวงหาสัจจะทั้งหลายเป็นอย่างดี ในฐานะที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” เป็นนักคิดนักเขียนและนักพูดที่ยืนหยัดอยู่ข้างฝ่ายประชาชนตลอดมา จุดยืนของเขาไม่เคยเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ก้าวแรกที่เขาก้าวเข้ามาสู่บรรณโลก งานเขียนของเขาไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเมืองโดยตรงหรือด้านนวนิยาย ล้วนเป็นงานที่รับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นสามัญชนโดยแท้ ถึงแม้ว่าในเบื้องต้นงานเขียนของเขาจะเป็นไปในลักษณะ “นามธรรม” หรือจิตนิยม นั่นก็เป็นเพราะว่าเขายังไม่รู้ซึ้งถึงสัจธรรมที่แท้จริง แต่โดยที่เขามีจิตใจรักความยุติธรรม จิตใจของเขาจึงรับใช้มวลชน เขาศึกษาและเขาก็รู้ว่า อะไรคือการรับใช้มวลชน และดังนั้นในเบื้องปลาย งานเขียนของเขาจึงเป็นไปในลักษณะปรัชญา “รูปธรรม” หรือวัตถุนิยมโดยสมบูรณ์ เป็นงานเขียนที่เพื่อแก่การรังสรรค์สังคมโดยแท้จริง
ณ ที่นี้ ข้าพเจ้าขอเล่าเรื่องราวบางตอนของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะที่เคยร่วมชะตากรรมกันมาทั้งในคุกเรือนจำลหุโทษและคุกบางขวาง ในคดีขบวนการ ๑๐ พ.ย. เป็นเวลากว่า ๔ ปี นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๐
คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และข้าพเจ้าถูกจับในข้อหาเดียวกันคือขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร แต่คุณกุหลาบและข้าพเจ้าก็ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันเป็นการส่วนตัว ทั้งไม่ได้เคยเกี่ยวข้องในด้านการงานของส่วนรวมร่วมกัน คุณกุหลาบถูกจับในฐานะที่รวมอยู่ใน ขบวนการสันติภาพ และเป็นรองประธานของขบวนการนั้น ส่วนข้าพเจ้าถูกจับในฐานะที่เคลื่อนไหวอยู่ในขบวนการกู้ชาติ อันเป็นขบวนการอภิวัฒน์ ของประชาชน ซึ่งประกอบด้วยกรรมกร ชาวนา นักศึกษาและปัญญาชน นายทุนน้อย และทหารฝ่ายอ ิวัฒน์
แต่ด้วยความสามารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ พล.ต.ท. พระพินิจชนคดี จึงจับเอาขบวนการทั้งสองซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกันแม้แต่น้อยมา “ชนคดี” เป็นคดีเดียวกันในข้อหาเดียวกันและถูกฟ้องร้องร่วมกัน ในคดีดำที่ ๑๖๘/๒๔๙๖ ข้าพเจ้าตกเป็นจำเลยที่ ๓ (คุณสุภัทร สุคนธาภิรมย์ เป็นจำเลยที่ ๑) และคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นจำเลยที่ ๒๘ ในจำนวนจำเลยทั้งหมด ๕๔ คน
ภายหลังถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำชั่วคราว ( บริเวณกองบังคับการตำรวจสันติบาล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย) ครบกำหนดการฝากขังตามอำนาจเจ้าพนักงานสอบสวนแล้ว พวกเราก็ถูกส่งตัวขึ้นฟ้องร้องต่อศาลและย้ายสถานที่ควบคุมจากเรือนจำชั่วคราวไปสู่เรือนจำถาวร…” ในเรือนจำกลางจังหวัดพระนครและธนบุรี” (เรือนจำลหุโทษ)
ในเรือนจำลหุโทษ พวกเราถูกจัดให้อยู่ในเรือนขัง ๔ อันเป็นตึกสองชั้น ชั้นบนสำหรับขังพวกเราโดยเฉพาะแยกจากผู้ต้องขังอื่นๆ ส่วนชั้นล่างเป็นที่คุมขังพวกที่รอการเนรเทศ หรือที่เรียกกันในคุกว่าพวก “แป๊ะป้าย” ซึ่งเป็นคนจีน
ทางเรือนจำได้จัดนักโทษผู้ช่วยเหลือ มาเป็นผู้รับใช้พวกเราแต่ละห้อง ห้องละคน พวกเราขังอยู่รวมกันอยุ่ห้องละสี่คนบ้าง หกคนบ้าง แปดคนบ้าง ตามห้องใหญ่ห้องเล็ก พวกนักโทษรับใช้เหล่านี้มีหน้าที่ช่วยทำความสะอาดเช็ดถูพื้นและนำอาหารจากโรงครัวมาแจกจ่ายให้พวกเรา แต่ภายหลังพวกเราปฏิเสธการรับใช้ของพวกนักโทษที่เรือนจำจัดส่งไปให้ โดยพวกเราช่วยกันรับใช้ตัวเอง และเมื่อพวกเราถูกย้ายไปบางขวาง เราก็ช่วยกันรับใช้ตัวเองเช่นกันจนกระทั่งออกจากคุก
คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกจัดให้อยู่ห้องใหญ่ จึงต้องอยู่รวมด้วยหลายคน มีขุนเจริญสืบแสง หรือนายแพทย์เจริญ สืบแสง ประธานกรรมการองค์การสันติภาพแห่งประเทศไทย สมัคร บุราวาศ สมาชิกแห่งราชบัณฑิตสภา เปลื้อง วรรณศรี พ.ท. สาลี่ ธนวิบูลย์ นาวาอากาศตรี พร่างเพชร บุญรัตพันธ์ อุทธรณ์ พลกุล ครอง จินดาวงศ์ มงคล ณ นคร ไสว มาลยเวช เป็นต้น
เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพื่อยกระดับการศึกษาในทางการเมืองของพวกเราให้สูงขึ้น ตลอดจนการศึกษาความรู้ทั่วไป จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นสองชุด คือคณะกรรมการฝ่ายการศึกษา มีคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นประธาน และคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสุขมีนายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธาน
คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายการศึกษา ได้เอาจริงเอาจังในการให้การศึกษาแก่เพื่อนผู้ร่วมคดีเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการให้ความรู้ทางการเมือง ซึ่งเรามีผู้บรรยาย ๓ ท่านด้วยกันคือ คุณสมัคร บุราวาศ บรรยายเรื่องธรณีวิทยานับแต่การก่อกำเนิดของโลก จนถึงการบังเกิดขึ้นของชีวิต ตั้งแต่ชีวิตของพืชและสัตว์เซลล์เดียวจนกระทั่งถึงมนุษย์ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับช่วงบรรยายต่อ เริ่มแต่กำเนิดครอบครัวแห่งยุคปฐมสหการ ยุคทาส ยุคศักดินา และยุคทุนนิยม ต่อจากนี้ก็เป็น าระของคุณสุภัทร สุคนธาภิรมย์ ทำหน้าที่บรรยายสืบต่อจากยุคทุนนิยม คือยุคสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ตามลำดับ
ในด้านการต่อสู้คดีนั้น คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นทนายร่วมกับคณะทนายของเรา ซึ่งมีด้วยกันห้าหกคน และต่อมาทางกรมราชทัณฑ์ได้ย้ายพวกเราจากเรือนจำลหุโทษไปอยู่เรือนจำกลางบางขวาง ณ เรือนจำแห่งนี้ครั้งนี้แรกพวกเราถูกจัดให้อยู่ที่แดนนนท์ ( รจ.จังหวัดนนทบุรี ) ต่อมาจึงย้ายไปคุมขังที่แดน ๖ อันเป็นแดนสำหรับคุมขังพวกผู้ต้องขังทางการเมืองโดยเฉพาะ
ที่เรือนจำกลางบางขวาง เจ้าหน้าที่เรือนจำได้จัดให้คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ อยู่ขังเดี่ยว คือไม่ขังร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งอยู่รวมกันห้องละสี่ห้าคน การขังเดี่ยวของคุณกุหลาบเป็นการให้เกียรติในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ตามแบบฉบับเกียรติแห่งศักดินาที่ยังนิยมนับถือกันอยู่ แต่ปรากฎว่าคุณกุหลาบไม่ชอบใจต่อเกียรติที่ได้รับนี้ เพราะโดยปรกติคุณกุหลาบเป็นคนกลัวผี ตลอดเวลาที่ผ่านมาคุณกุหลาบไม่เคยนอนคนเดียวเลย เมื่อเล็กๆ ก็นอนกับแม่ และเมื่อแต่งงานก็นอนกับเมีย แต่เมื่อเป็นคำสั่งของทางเรือนจำก็จำใจทน คุณกุหลาบบอกว่าคืนแรกๆ กว่าจะหลับได้ก็ต้องข่มใจกันนาน แต่นานๆ เข้าก็เคยชินไปเอง
ผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดคุณกุหลาบภายในคุกคือคุณไสว มาลยเวช เพราะนอกจากจะช่วยจัดหาอาหารและชง “โอยัวะ” ให้วันละสี่เวลาแล้ว คุณไสว มาลยเวช ยังทำหน้าที่เป็นอาลักษณ์คัดลอกต้นฉบับข้อเขียนต่างๆ ของคุณกุหลาบสำหรับส่งไปให้หนังสือพิมพ์ด้วย จันทา โนนดินแดง ตัวเอกของเรื่องแลไปข้างหน้า ก็เกิดขึ้นในคุกบางขวางนั้นเอง
กิจวัตรประจำวันภายในคุกของคุณกุหลาบก็คือการเขียนหนังสือ และแม้ว้าท่านจะเขียนหนังสือช้า แต่ท่านก็ขยันนั่งอยู่กับโต๊ะเขียนหนังสือของท่านครั้งละหลายๆ ชั่วโมง ตอนบ่ายๆ จึงจะลุกออกไปเดินออกกำลังเป็นการบริหารร่างกายการเดินอย่างเอาจริงเอาจังเดินกลับไปกลับมาจนเหงื่อโชกจึงจะหยุด ลักษณะการเดินของคุณกุหลาบเป็นการเดินที่เรียกกันว่าเดินแบบนักเรียนนอก คือเอาหัวไปก่อน ข้าพเจ้าเคยทราบว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชเคยกล่าววาจาถากถางคุณกุหลาบว่า ออกไปอยู่เมืองนอกไม่เท่าไร (ไปอยู่ออสเตรเลีย) กลับมาเดินหัวทิ่มเป็นนักเรียนนอก ซึ่งความจริงคุณกุหลาบเดินลักษณะเช่นนั้นมานานแล้ว ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับคุณกุหลาบ ข้าพเจ้าจึงได้รู้ว่าที่คุณกุหลาบเดินเอาหัวไปก่อนนั้น เป็นเพราะที่ส้นเท้าของท่านเป็น “ตาปลา” เวลาเดินจะต้องทิ้งน้ำหนักที่ปลายเท้าโดยอัตโนมัติ จึงทำให้หัวไปก่อน เพราะถ้าเผลอทิ้งน้ำหนักที่ส้นเท้าเป็นต้องสะดุ้งเพราะเจ็บที่เป็นตาปลาทุกทีไป ลักษณะการเดินของคุณกุหลาบจึงเป็นลักษณะการเดินของคนที่เป็น “ตาปลา” ที่ส้นเท้าโดยแท้ หาใช่เดินแบบหัวนอกดังที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์กล่าวถากถางไม่
เกี่ยวกับโครงการให้การศึกษาหาความรู้ทางการเมืองเแก่เพื่อนผู้ร่วมคดีที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่อยู่ลหุโทษนั้น เมื่อถูกย้ายไปอยู่เรือนจำกลางบางขวางโครงการนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยแทนที่จะให้การศึกษาแบบรวมหมู่กลายเป็นให้การศึกษาแบบตัวต่อตัวตามความสมัครใจของแต่ละคนที่ใคร่จะศึกษาหาความรู้ นอกจากจะให้ความรู้ทางด้านการเมืองแล้ว คุณกุหลาบยังได้ให้ความรู้ด้านการประพันธ์และหนังสือพิมพ์แก่ผู้ที่สนใจใคร่จะรู้อีกด้วย
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าคดีที่พวกเรา ๕๔ คนถูกฟ้องร้องร่วมกันนี้เป็นฝีมือจับคดีมาชนกันของพระพินิจชนคดี ผู้เป็นพี่เขยของ ม.ร.ว. เสนีย์ และม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เป็นประธานกรรมการสอบสวน จำเลยส่วนใหญ่ในคดีนี้เป็นสมาชิกของ “ขบวนการกู้ชาติ” และข้าพเจ้าเองก็อยู่ในขบวนการนี้ ส่วนคุณกุหลาบอยู่ในขบวนการสันติภาพ
แต่โดยที่ขบวนการกู้ชาติ มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยวิธีการทางทหาร ตามเงื่อนไขอำนาจการปกครองในขณะนั้นคืออำนาจเผด็จการ ถึงแม้ว่าขบวนการกู้ชาติจะมีเจตจำนงช่วงชิงอำนาจรัฐโดยวิธีการทางทหารก็ตาม แต่ขบวนการกู้ชาติก็ยึดมั่นอยู่กับพลังมหาชนเป็นพลังพื้นฐาน และยึดมั่นอยู่กับทัศนะอภิวัฒน์ของมหาชน ดังปรากฎชัดแจ้งในระเบียบการและแนวนโยบายของขบวนการนั้น การช่วงชิงอำนาจรัฐโดยวิธีการทางทหารเป็นแต่เพียง วิธีการ ที่จะได้มาซึ่งอำนาจรัฐเท่านั้น ไม่ใช่เป็นหลักการทางการเมืองของขบวนการกู้ชาติซึ่งต้องการอ ิวัฒน์สังคมเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยของมวลชนที่แท้จริง
ถึงแม้ว่าขบวนการกู้ชาติจะได้มีจิตธาตุและหลักการทางการเมืองอย่างชัดแจ้งดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มีคนบางจำพวกพยายามทำลายขบวนการกู้ชาติและทำลายเกียรติคุณของสมาชิกแห่งขบวนการนั้นว่าเป็นพวกนิยมรัฐประหาร ทั้งๆ ที่คนบางจำพวกเหล่านี้ได้ศึกษาเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับขบวนการกุ้ชาติที่เป็นโจทก์ส่งอ้างเป็นพยานและตระหนักดีว่าขบวนการกู้ชาติเป็นขบวนการอภิวัฒน์ของมหาชน แต่ก็เสแสร้งแกล้งทำเป็นไม่รู้ แล้วก็ประณามขบวนการกู้ชาติว่าเป็นขบวนการรัฐประหาร
ปฏิกิริยาของพวกโรคจิตใจแคบและผูกขาดการอภิวัฒน์ดังกล่าวนี้ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ตระหนักดีและท่านก็ไม่เห็นด้วยกับจิตใจอันเป็นปฏิกิริยาและคับแคบของบุคคลเหล่านั้น เพราะจิตใจคับแคบผูกขาดการอภิวัฒน์เช่นนี้ นอกจากจะเป็นการทำลายแนวร่วมแล้ว ยังเป็นการหน่วงเหนี่ยวการอภิวัฒน์ของประชาชนให้ห่างไกลต่อชัยชนะ ซึ่งก็เท่ากับสนับสนุนการกดขี่ขูดรีดให้ยืนยงคงอยู่ต่อไปโดยปริยายนั้นเอง คุณกุหลาบเป็นคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่ได้พยายามให้พวกผูกขาดการอภิวัฒน์เพลาการประณามขบวนการกู้ชาติ และเลิกใส่ร้ายป้ายสีบุคคลแห่งขบวนการนั้น คุณกุหลาบบอกว่า “เราจงทำงานด้วยความแข็งขัน แต่ไม่ต้องการแข่งขัน” ซึ่งตรงกับระเบียบการของขบวนการกู้ชาติอยู่แล้วที่ว่า “สมาชิกทุกคนจะต้องทำงานด้วยความแข็งขันแต่ไม่แข่งขัน”
ในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๙ คณะกรรมการอบรมจิตใจและศีลธรรมของประชาชน ซึ่งมีจอมพล ผิน ชุณหวัน เป็นประธาน และโดยความร่วมมือของท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมแห่งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ได้นำวิปัสสนากัมมัฏฐานเข้าไปเผยแพร่ในเรือนจำกลางบางขวาง ปรากฏว่ามีผู้ต้องขังในคดีอาญาธรรมดาจำนวนมากได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติวิปัสสนา เมื่อข่าวนี้แพร่ไปถึงแดนการเมือง พวกเราผู้ต้องขังการเมืองบางคนจึงพากันวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางเสียๆ หายๆ เป็นทำนองว่าวิปัสสนาจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้ จะไม่สามารถแก้ไขให้คนเลิกประพฤติชั่วได้ในเมื่อท้องยังหิว ในเมื่อสภาพแวดล้อมยังชั่วร้าย และพวกเราบางคนก็พากันหัวเราะเยาะวิปัสสนา
ต่อคำวิพากษ์วิจารณ์และหัวเราะเยาะวิปัสสนาดังกล่าวนี้ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และคุณสมัคร บุราวาศ ได้ตั้งคำถามขึ้นว่า พวกเรารู้จักวิปัสสนากัมมัฏฐานดีแล้วหรือ ก็แหละในเมื่อพวกเรายังไม่รู้จักว่าวิปัสสนากัมมัฏฐานคืออะไร เราควรจะได้ศึกษาเรียนรู้วิปัสสนากัมมัฏฐานเสียก่อน แล้วจึงค่อยหัวเราะเยาะ
ครั้นแล้วคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในนามของผู้ต้องขังการเมืองจึงได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง ขออนุญาตปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเช่นเดียวกับที่ทางการให้การอบรมและปฏิบัติต่อผู้ต้องขังคดีอาญาธรรมดา
แต่เนื่องจากพวกเราเป็นผู้ต้องขังทางการเมือง ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวางไม่กล้าใช้อำนาจที่ตนมีอยู่โดยไม่ปรึกษาหารือกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน ซึ่งขณะนั้น พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว วิปัสนากัมมัฏฐานจึงเข้าไปสู่แดนการเมืองโดยการนำของท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม และนับตั้งแต่บัดนั้นพวกเราผู้ต้องขังการเมืองส่วนหนึ่งรวมทั้งคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ด้วย จึงได้เข้ารับการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน และแล้วเราจึงได้รู้ว่าการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานก็คือการศึกษาให้รู้ถึงสภาพความเป็นจริงของขันธ์ห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งประกอบขึ้นเป็นตัวตนหรืออัตตา โดยปรกติเราก็รู้เรื่องของขันธ์ห้าจากการศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ก็เป็นการรู้จากตำรา และก็สักแต่ว่ารู้เพียงเท่านั้น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่การดำเนินชีวิตเลย เพราะการเรียนรู้โดยวิธีนี้ไม่ทำให้เราละอัตตาหรือคลายจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้
แต่การเรียนรู้ขันธ์ห้าโดยวิธีวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ คือรู้โดยตนของตนเอง ไม่ใช่รู้โดยการบอกเล่าหรือรู้จากตำรา แต่ได้รู้จากประสบการณ์ของตนเอง เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะไม่สามารถละอัตตาได้ในทันทีทันใดแต่ก็ทำให้ค่อยๆคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนลงได้มากทีเดียว และก็สามารถละอัตตาได้ในที่สุดถ้าเมื่อได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนถึงที่สุด และก็ความรู้ชนิดนี้เองที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “ปัจจัตตัง” คือรู้ได้เฉพาะตัว (ของผู้ปฏิบัติ)
ต่อจากการศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว พวกเราก็ได้มีโอกาสศึกษาพระอภิธรรมกันต่อไปอีก ทั้งนี้สืบเนื่องจากการสนทนาธรรมของท่านเจ้าคุณพิมลธรรมกับพวกเรา ซึ่งท่านได้กรุณาเข้าไปสนทนาธรรมกับพวกเราเป็นประจำ จึงทำให้เราใคร่ที่จะเรียนรู้ให้กว้างขวางออกไป ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมเสนอแนะให้พวกเราได้ศึกษาพระอภิธรรม ซึ่งทั้งคุณกุหลาบและคุณสมัคร บุราวาศ พร้อมด้วยพวกเราผู้ใคร่ในธรรมได้ตอบสนองรับความเมตตาของท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม แล้วท่านเจ้าคุณก็ได้ส่งพระอาจารย์อภิธรรมเข้าไปให้การศึกษาแก่พวกเรา
จากการเรียนรู้และปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานทำให้รู้ว่าเรายังโง่อยู่มาก และยังมีหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ ถึงแม้ว่าวิปัสสนากัมมัฏฐานหรือธรรมมะ (ไม่ใช่ศีลธรรม) จะไม่สามารถแก้ปัญหาคนหิวให้อิ่มได้ แต่ก็เป็นเครื่องมืออันประเสริฐที่จะระเบิดจิตธาตุของเราให้เข้าสู่สภาวะดั้งเดิมคือ ความว่างเปล่าเช่นเดียวกับยูเรเนียม ๒๓๕ (U. 235 ) เป็นตัวธาตุอันสำคัญที่ทำให้ปรมาณูอันเป็นสสารที่เล็กที่สุดระเบิดหรือแยกออกจากกันเข้าสู่สภาวะดั้งเดิมคือ ความว่างเปล่า
ถูกแล้ว การแก้ปัญหาสังคมรวมถึงศีลธรรม จะต้องแก้ด้วยการกวาดสภาพแวดล้อมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ชั่วร้ายทิ้งไปเสียให้หมด แล้วสถาปนาระบบการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ดีงามขึ้นแทนที่ สังคมก็จะร่มเย็นเป็นสุข แต่เท่านี้ยังไม่พอ หากเราต้องการให้ถึงความสุขสมบูรณ์ของชีวิตที่แท้จริงจะต้องเรียนรู้ธรรมะและปฏิบัติธรรมะด้วย
สภาพแวดล้อมที่ดีทำให้คนมีศีลธรรมขึ้นมาเองโดยไม่ต้องอบรมสั่งสอน แต่สภาพแวดล้อมที่ดีก็ไม่สามารถทำให้คนมีธรรมะขึ้นมาได้หรือมีดวงตาเห็นธรรมได้ นอกจากการผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติ
คนเราประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นรูปและนาม ดังนั้นจึงต้องการสิ่งสนองทั้งด้านรูปและนาม
สิ่งสนองทางด้านรูป (รวมทั้งด้านศีลธรรม) เราสามารถแก้ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และสิ่งสนองทางด้านนามก็มีแต่ประการเดียวเท่านั้น
เนื่องจากคุณกุหลาบมีความรู้พื้นฐานทางด้านธรรมะมาบ้างแล้วจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง เมื่อมาได้รับการศึกษาธรรมะอย่างเป็นระบบเริ่มจากการปฏิบัติ (วิปัสสนากัมมัฏฐาน) แล้วมาเรียนปริยัติ (อภิธรรม) จึงทำให้คุณกุหลาบมีความรู้ธรรมะแตกฉานอย่างรวดเร็ว ดังปรากฏหลักฐานที่คุณกุหลาบได้เขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะไปลงในนิตยสารวิปัสสนาสาร ของสำนักวัดมหาธาตุ ตามคำขอร้องของท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม เป็นประจำทุกเดือน
ต่อเมื่อคุณกุหลาบได้รับนิรโทษกรรมออกมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พร้อมด้วยเพื่อนผู้ต้องขังการเมืองคนอื่นๆ คุณกุหลาบจึงได้นำบทความธรรมะที่เคยทำลงในวิปัสสนาสาร จัดพิมพ์เป็นเล่มภายใต้ชื่อว่า อุดมธรรม และภายใต้นามปากกาว่า “อุบาสก” แต่ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมีอำนาจในแผ่นดิน พวกนอกศาสนาทั้งหลายได้สั่งยึดและห้ามจำหน่ายจ่ายแจกหนังสืออุดมธรรม โดยกล่าวหาว่าเป็นหนังสือเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสม์ที่เอาศาสนาขึ้นมาบังหน้า ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่โง่เง่าที่สุดของผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ว่าจะศาสนาหรือคอมมิวนิสม์ และเมืองไทยเราก็ปกครองโดยคนประเภทนี้มาช้านานแล้ว
บัดนี้คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้จากพวกเราไปแล้ว และข้าพเจ้ามั่นใจว่าคุณกุหลาบจากไปอย่างพรั่งพร้อมด้วย “อุดมธรรม” อันเป็นพาหะนำท่านไปสู่สัมปรายภพ ภพแห่ง “อุดมธรรม”