กรุณา กุศลาสั

คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา”หรือ “อิสสรชน” ได้จากพวกเราไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

พวกเราได้ทราบข่าวการมรณกรรมของคุณกุหลาบจากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ภายหลังจากที่คุณกุหลาบได้จากพวกเราไปแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์

ถ้าหากคุณชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาคู่ชีวิตของคุณกุหลาบ ไม่ส่งโทรเลขมายังคุณเสริมศรี เอกชัย นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ พวกเราในประเทศไทยก็คงยังจะไม่ทราบเรื่องมรณกรรมของคุณกุหลาบกันไปอีกนาน

อันที่จริงตั้งแต่สภาพเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ พวกเราก็หวังกันอยู่เสมอว่า คุณกุหลาบและคนไทยอีกหลายๆ คนที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน คงจะได้เดินทางกลับมาสู่ธรณีไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนในไม่ช้า

พวกเราเคยปรารภถึงความเป็นห่วงคุณกุหลาบอยู่เสมอๆ เป็นพิเศษ เพราะทราบดีว่า คุณกุหลาบอยู่ในวัยสูงอายุและสุขภาพทั่วไปไม่สู้จะดีนัก

แต่อนิจจา ! กงล้อชีวิตของคุณกุหลาบได้หยุดหมุนเอาในดินแดนต่างด้าวดินแดนที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่ชีวิตของคุณกุหลาบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๖ ปี

ข้าพเจ้ารู้จักกับคุณกุหลาบในสภาพและสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะไม่เหมือนกับผู้อื่นอยู่สักหน่อย

ก่อนพุทธศักราช ๒๕๐๐ ประมาณ ๒-๓ ปี ข้าพเจ้าถูกมนตร์ “กลิ่นน้ำหมึกและกระดาษพิมพ์” ดึงดูดให้มามีชีวิตเป็นนักหนังสือพิมพ์กับเขาด้วยคนหนึ่ง

ข้าพเจ้าประจำอยู่กับหนังสือพิมพ์เสถียรภาพ รายวัน ซึ่งมีคุณสังข์ พัธโนทัย เป็นบรรณาธิการ  ระยะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ “พวกกบฏสันติภาพ” ซึ่งมีคุณกุหลาบรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง ถูกคุมขังตัวอยู่ ณ เรือนจำมหันตโทษบางขวาง จังหวัดนนทบุรี

ในโอกาสฉลองปีที่ ๒๕๐๐ แห่งพุทธศักราช รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม คืนอิสรภาพให้แก่ผู้ต้องคำพิพากษาคดีการเมืองซึ่งถูกคุมขังตัวอยู่ในเรือนจำบางขวาง

ก่อนหน้านั้น กระทรวงมหาดไทยก็ได้อนุญาตให้พระภิกษุในพุทธศาสนาเข้าไปบรรยายธรรมและฝึกวิชาวิปัสสนาให้แก่ผุ้ถูกคุมขัง ทั้งในคดีธรรมดาและคดีการเมือง

สมัยนั้น ข้าพเจ้าทำหน้าที่ถวายความรู้แด่พระภิกษุสามเณรในมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ณ วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์  มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้มีพระอาสภเถระ (อาจ, อดีตพระพิมลธรรม) เป็นสภานายก  ท่านอาสภเถระเป็นผู้ริเริ่มสำนักวิปัสสนาขึ้นตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย แม้ในเรือนจำมหันตโทษบางขวาง ท่านก็ได้ไปเปิดสำนักวิปัสสนาและไปบรรยายธรรมให้ผู้ต้องขังในคดีการเมืองฟังอยู่เป็นนิจ ข้าพเจ้าในฐานะผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของท่านอาสภเถระจึงถวายตัวเป็นลูกศิษย์ ถือย่ามติดตามท่านเข้าไปในแดนการเมือง ณ เรือนจำบางขวางเสมอๆ

และ ณ ที่นั้นเอง ข้าพเจ้าได้พบปะคุ้นเคยกับคุณกุหลาบ สายประประดิษฐ์ และผู้ต้องหาทางการเมืองอื่นๆ เช่นนายแพทย์เจริญ สืบแสง คุณสุภัทร สุคนธาภิรมย์ คุณอุทธรณ์ พลกุล คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ

สมควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ระยะนั้นเป็นบั้นปลายการครองอำนาจนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม  หนังสือพิมพ์เสถียรภาพ ที่ข้าพเจ้าเป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศอยู่ มีนโยบายเร่งเร้าให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องขังทางคดีการเมือง  บรรณาธิการ คือคุณสังข์ และตัวข้าพเจ้าเองมีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้  คุณสังข์ในฐานะผู้ร่วมงานทางการเมืองกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ และเป็นผู้เข้านอกออกในได้ทั้งใน “บ้านชิดลม” และในทำเนียบรัฐบาลในสมัยนั้น ก็เดินเรื่องเป็นการส่วนตัวอยู่กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม

การเข้าไปยังแดนการเมืองในเรือนจำบางขวางของข้าพเจ้า นอกจากจะเป็นการไปหาประสบการณ์และความรู้ส่วนตัวแล้ว จึงเป็นการไปฟังเสียงและศึกษาความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังทางการเมืองผู้ร่วมชาติด้วย

คุณกุหลาบเป็นผู้ที่สนใจหลักธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนามาก โดยเฉพาะในด้านของวิปัสสนากัมมัฏฐาน  คุณกุหลาบเคยขอให้ข้าพเจ้าหาตำราภาษาอังกฤษเกี่ยวกับวิชาด้านนี้จากประเทศอินเดีย พม่า และลังกา มาให้เสมอๆ  ท่านอาสภเถระยังได้เคยปรารภกับข้าพเจ้าว่า แม้ในด้านการฝึกอบรมจิตใจตามแนวคำสอนของพุทธศาสนาที่เรียกว่า วิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น คุณกุหลาบก็ทำได้ผลดีและรวดเร็วมาก

หลังจากที่ได้รับอิสภาพครั้งนั้นแล้ว คุณกุหลาบก็พบปะกับข้าพเจ้าอยู่บ่อยๆ  ส่วนใหญ่มักจะเป็นสำนักวัดมหาธาตุฯ เพราะหลังจากได้รับนิรโทษกรรมแล้ว คุณกุหลาบไปฝึกวิปัสสนาที่สำนักนั้นเป็นประจำ และข้าพเจ้าต้องไปสอนหนังสือที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยแทบจะทุกวัน  แม้ที่บ้านในซอยพระนาง และที่บ้านหลังน้อยของคุณกุหลาบในซอยเชิงสะพานพระโขนงก็เช่นเดียวกัน หากมีงานบุญงานกุศลหรืออะไรอื่นแล้วคุณกุหลาบเป็นต้องให้ข้าพเจ้าไปร่วมด้วยเสมอ

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ คุณกุหลาบและคนไทยอื่นๆ อีกหลายคนได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมสาธารณรับประชาชนจีน  แต่แล้วในคืนวันที่ ๒๐ ตุลาคม ปีเดียวกันนั้นเอง แผ่นดินไทยก็ถูกพลิกอีกวาระหนึ่งโดยหิรันตยักษ์ จอมพล “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว” สฤษดิ์ ธนะรัชต์  ตั้งแต่นั้นมา ข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนหนังสือพิมพ์และคนไทยนานาอาชีพอีกหลายร้อยคนก็เดินทางเข้าไปมีนิวาสถานอยู่ในเรือนจำการเมืองที่ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร

คุณกุหลาบไม่ต้องการมาทนทุกข์ทรมานในเรือนจำการเมืองเช่นพวกเรา จึงขออยู่ในประเทศจีนจนถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ อันเป็นวันสุดท้ายแห่ง “สงครามชีวิต” ของคุณกุหลาบ

ข้าพเจ้ารักและเคารพในปฏิปทาและแนวความคิดของคุณกุหลาบมาก  คุณกุหลาบเป็นนัก “มนุษยธรรม” อย่างแท้จริง  เริ่มต้นตั้งแต่มนุษยธรรมในทางความคิด แล้วความคิดนั้นก็งอกออกมาเป็นการกระทำ  เป็นต้นว่า รวบรวมเอาเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนเครื่องป้องกันความหนาวไปแจกจ่ายแก่คนจนทางแถบอีสานในสมัยกระโน้น…ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นการกระทำผิด-เป็น “กบฏสันติภาพ” อนิจจา ! กบฏสันติภาพ ! กบฏมนุษยธรรม !  ความมี “มนุษยธรรม” อย่างเต็มเปี่ยมเช่นนี้เอง ที่ทำให้คุณกุหลาบต้องระหกระเหินไปทิ้งร่างลงในต่างประเทศ

ร่างของคุณกุหลาบได้สลายไปแล้วตามกฎของธรรมชาติ แต่อุดมการณ์และแนวความคิดของคุณกุหลาบจะไม่มีวันสลายตัว ตราบเท่าที่หนังสือไทยยังมีอยู่

กรุณา กุศลาสัย

๕๙๙ พรานนก

กรุงเทพฯ ๗

๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๗