ดร. มนธิรา ราโท

อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนมุ่งศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดและงานเขียนของ “ศรีบูรพา” (พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๕๑๗) และ “เญิ้ตลิญห์” (พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๕๐๖) นักเขียนผู้มีชื่อเสียงของไทยและเวียดนาม นักเขียนทั้งสองมีชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานเขียนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นอกจากเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของงานเขียนในยุคต้นของวรรณกรรมไทยและเวียดนามแล้ว แนวคิดทางการเมืองและสังคมของพวกเขายังมีอิทธิพลต่อนักเขียนและคนรุ่นหลังอีกด้วย ผู้เขียนหวังว่าการเปรียบเทียบผลงานและแนวคิดของ “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” นี้จะช่วยให้เราเข้าใจพัฒนาการของวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทยและเวียดนาม รวมไปถึงบทบาทของนักเขียนและปัญญาชนรุ่นใหม่ในสังคมที่กำลังเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ทั้งนี้เพราะในการศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมนั้นไม่เพียงศึกษาตัวบทวรรณกรรมสองชิ้นเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการศึกษาและวิเคราะห์บริบทแวดล้อมของงานวรรณกรรมชิ้นนั้นๆ ด้วย ดังเช่นที่นักศึกษาวรรณกรรมชาวตะวันตกผู้หนึ่งได้กล่าวไว้

Literature as a distinct and integral of thought, a common

institutional expression of humanity; differentiated, to be sure,

by the social conditions of the individual, by racial, historical,

cultural and linguistic influences, opportunities, and restrictions,

but, irrespective of age or guise, prompted by the common needs

and aspirations of man, sprung from common faculties, psychological

and physiological, and obeying common laws of material and

mode, of the individual and social humanity.๑

ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เวียดนามได้เกิดกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน (Tu Luc Van Doan)๒ หรือกลุ่มวรรณกรรมอิสระ (Van Doan หมายถึงกลุ่มวรรณกรรม และ Tu Luc หมายถึงไม่จำเป็นต้องพึ่งผู้อื่น) ซึ่งมี “เญิ้ตลิญห์” เป็นผู้ก่อตั้ง กลุ่มวรรณกรรมอิสระเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักเขียนในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ (ค.ศ. ๑๙๓๓) ประกอบไปด้วย พี่น้องตระกูลเหงียนเตื่อง เหงียนเตื่องตาม ใช้นามปากกาว่า “เญิ้ตลิญห์” (Nhat Linh)  เหงียนเตื่องลอง ใช้นามปากกาว่า “ฮวางด่าว” (Hoang Dao) และเหงียนเตื่องเลิน ใช้นามปากกาว่า “แถจลาม” (Thach Lam) และเพื่อนสนิทของพวกเขาคือ เจิ่นแขญซือ ใช้นามปากกาว่า “ขายฮึง” (Khai Hung) นอกจากนี้ยังมีนักเขียน กวี และศิลปินคนอื่นๆ เช่น ตู๋เหมอ (Tu Mo) ซวนเซียว (Xuan Dieu) เหงียนสาจี๊ (Nguyen Gia Tri) และเหงียนกั๊ดเตื่อง (Nguyen Cat Tuong) เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่านักเขียนกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน เป็นนักเขียนที่มีฐานะดีพอสมควร เพราะมีโรงพิมพ์และวารสารเป็นของตนเอง  พวกเขาเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก งานเขียนของพวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของตะวันตกทั้งรูปแบบการเขียนและมุมมองทางสังคม ซึ่งนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของวรรณกรรมเวียดนามยุคใหม่ โดยที่นักเขียนชนชั้นกลางได้ขึ้นมามีบทบาทในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมแทนชนชั้นปัญญาชนขงจื้อหรือขุนนางราชสำนักเดิม  งานเขียนของกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน เน้นการสะท้อนปัญหาและความรู้สึกนึกคิดของชนชั้นกลางและปัญญาชนรุ่นใหม่ ใช้ภาษาที่เรียบง่ายซึ่งใช้กันในชีวิตประจำวัน นักวิชาการ หว่างซวนหาน (Hoang Xuan Han) กล่าวถึงความสำคัญของกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน ไว้ว่า “กลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน ไม่ใช่กลุ่มวรรณกรรมเพียงกลุ่มเดียวของเวียดนาม แต่เป็นกลุ่มวรรณกรรมที่สำคัญที่สุดและเป็นกลุ่มที่ปฏิรูปวรรณกรรมเวียดนามในยุคสมัยใหม่”๓  ประเด็นนี้ทำให้เราเห็นว่ากำเนิดของวรรณกรรมสมัยใหม่ในเวียดนามและไทยนั้นมาจากปัจจัยหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ วรรณกรรมสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับชนชั้นใหม่ในสังคม คือชนชั้นกลางนั่นเอง ดังที่ เอมอร นิรัญราช กล่าวถึงพัฒนาการของนวนิยายไทยในสมัยรัชกาลที่ ๗ ว่า

นวนิยายไทยที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ มิได้แสดงทัศนะทาง

สังคมทุกเรื่อง หากแต่ผู้ประพันธ์ได้นำรูปแบบการประพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้

มาสนองวัตถุประสงค์ในแง่ความเพลิดเพลิน หรือแสดงคติธรรมเกี่ยวกับชีวิต

และความรัก ซึ่งนวนิยายที่ประพันธ์ขึ้นตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้จะสะท้อน

ภาพความเป็นอยู่ของสามัญชนและชนชั้นกลาง…อย่างไรก็ตามนวนิยายไทย

ที่เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ นี้ ก็มีรูปแบบที่ตอบรับต่อการเติบโตของชนชั้น

กลางทั้งในด้านกลวิธีการประพันธ์และในด้านความคิด๔

วรรณกรรมสมัยใหม่จึงเป็นกระบอกเสียงของชนชั้นกลาง เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง สะท้อนสังคมที่เปิดกว้างและมีประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งได้อิทธิพลมาจากแนวคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นปัจเจกของตะวันตกนั่นเอง วรรณกรรมจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงอีกต่อไป บทบาทและความสำคัญของกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน นั้นก็สามารถเทียบได้กับนักเขียนกลุ่มสุภาพบุรุษซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ จากหนังสือของ ประกาศ วัชราภรณ์ ทำให้เราทราบว่าผู้ก่อการของกลุ่มสุภาพบุรุษนั้นมี ๑๐ คน ได้แก่ ๑. กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒. อบ ไชยวสุ ๓. มาลัย ชูพินิจ ๔. ระคน เภกะนันท์ ๕. อุเทน พูลโภคา ๖. โชติ แพร่พันธุ์ ๗. บุญทอง เลขะกุล ๘. สนิท เจริญรัฐ ๙. สุดใจ พฤทธิสาลิกร และ ๑๐. จรัญ วุธาฑิตย์  ต่อมากลุ่มสุภาพบุรุษได้ถ่ายรูปร่วมกันเพื่อเป็นที่ระลึกในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ในชุดผ้าม่วงกระดุมห้าเม็ด ที่หน้าศาลสถิตยุติธรรม ส่วนวารสารสุภาพบุรุษ ฉบับแรกก็ออกเผยแพร่ในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒๕ เสถียร จันทิมาธร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่มสุภาพบุรุษต่อพัฒนาการวรรณกรรมไทยดังนี้

ช่วงที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” กับเพื่อนหนุ่มสาวของ

พวกเขาร่วมกันจัดตั้งกลุ่มสุภาพบุรุษขึ้นมาเมื่อปี ๒๔๗๒ นั้น เป็นช่วงที่เบิกบาน

ที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติวรรณกรรมไทย ในระยะกาลเดียวกันนั้น ม.จ. อากาศ-

ดำเกิงก็เขียน “ละครแห่งชีวิต” ออกมา และดอกไม้สดก็มีผลงานของเธอ

ปรากฏทางไทยเขษม รายเดือนแทบไม่ขาดสาย การปรากฏขึ้นมาของนักเขียน

กลุ่มสุภาพบุรุษที่มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นผู้นำจึงเท่ากับเป็นแรงหนุนให้เกิด

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงวรรณกรรมอันเป็นการเปิดยุคนวนิยายสมัยใหม่

ที่เหออกจากแนวการเล่าเรื่องแบบนิทานด้วยการพยายามสะท้อนชีวิตความ

เป็นอยู่ของคนเป็นๆ ออกมา๖

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับภาพถ่ายหมู่ของคณะสุภาพบุรุษว่าภาพถ่ายดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของนักเขียน ภาพถ่ายนั้นสะท้อนให้เห็นว่า “ในฐานะนักเขียนอาชีพอิสระ ตามคติความเชื่อของกระฎุมพีซึ่งย้อนแย้งกับทัศนคติต่อการประพันธ์และวรรณกรรมของชนชั้นศักดินา”๗ และคำว่า”สุภาพบุรุษ” นั้นก็มีความหมายต่างไปจากคำว่า “ผู้ดี” ดังเช่นที่ “ศรีบูรพา” ได้อธิบายไว้

ถ้าจะว่า “สุภาพบุรุษ” มีรูปร่างหน้าตาใกล้เข้าไปกับ “ผู้ดี” ดูจะไม่ค่อย

มีข้อคัดค้าน แต่ต้องให้เป็น “ผู้ดี” ซึ่งคนในสมัยนี้เข้าใจกัน ถ้าเป็น “ผู้ดี

เดิรตรอก” อย่างสมัย ๑๐ ปีก่อนลงไป สุภาพบุรุษของเราก็คงไม่มีโอกาสใกล้

เข้าไปได้อีกตามเคย…หัวใจของ “ความเป็นสุภาพบุรุษ” อยู่ที่การเสียสละ

เพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดของคุณงามความดีร้อยแปดอย่าง…”ผู้ใดเกิดมา

เป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น”๘

ในขณะเดียวกันที่ประเทศเวียดนาม หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่จบจากระบบการศึกษาใหม่ที่ฝรั่งเศสได้วางรากฐานไว้ก็เริ่มมีบทบาทแทนที่ปัญญาชนรุ่นเก่า นักเขียนกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน มีเป้าหมายหลักที่จะผลักดันให้ประเทศพัฒนาไปสู่ความเป็นอารยะตามแบบตะวันตก ดังจะเห็นได้จากปณิธานของกลุ่มซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร Phong Hoa (วารสารหลักที่เผยแพร่ผลงานของนักเขียนและสมาชิกของกลุ่ม) ฉบับที่ ๘๗ ประจำวันที่ ๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ (พ.ศ. ๒๔๗๖)

กลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน เป็นการรวมตัวกันของเหล่าสหายทางวรรณ-

กรรม ทุกคนมีความผูกพันกันทางใจเพราะต่างก็มีอุดมการณ์ร่วมกัน ทุกคน

พยายามอย่างเต็มที่ที่จะได้มาซึ่งความก้าวหน้าทางวรรณกรรม

และแนวปฏิบัติของสมาชิกในกลุ่ม ๑๐ ประการ ดังนี้

๑. ผลิตผลงานทางวรรณกรรมที่มีคุณค่า ไม่ใช่แปลงานจากต่างประเทศ (เว้นแต่เป็นงานที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์)

๒. เขียนหนังสือหรือแปลหนังสือที่มีเนื้อหาทางด้านสังคม ตั้งใจทำให้ประชาชนและสังคมดีขึ้น

๓. ผลิตหนังสือที่เน้นความคิดประชาชนนิยมและสนับสนุนให้คนอื่นๆ ชื่นชอบในแนวคิดประชาชนนิยม (chu nghia binh dan)

๔. ใช้ภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจ พยายามไม่ใช้ภาษาฮั่น๙ สร้างวรรณกรรมที่มีลักษณะความเป็นอันนาม๑๐ แท้ๆ

๕. ต้องเน้นความทันสมัย และสนุกสนานกับชีวิต รวมทั้งต้องพยายามและเชื่อในการพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้า

๖. สรรเสริญเอกลักษณ์และความงามของประเทศ ให้ความสำคัญกับประชาชน พยายามส่งเสริมความรักชาติและประชาชน แต่ไม่ลำพองใจ

๗. เคารพในสิทธิส่วนบุคคล

๘. ชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าลัทธิขงจื้อไม่เหมาะกับสภาวการณ์ของประเทศอีกต่อไป

๙. นำความรู้และวิทยาการต่างๆ ของตะวันตกมาประยุกต์กับวรรณกรรมเวียดนาม

๑๐. ในบรรดาหลักการทั้งเก้าข้อนี้ สามารถละเว้นได้ถ้าขัดกับข้ออื่นๆ๑๑

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือความคิดเรื่องการเป็นนักเขียนอาชีพของนักเขียนทั้งสองกลุ่มซึ่ง ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เสนอว่าเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมจากระบบศักดินามาสู่ระบบทุนนิยม๑๒ ระบบทุนนิยมได้เริ่มเข้าสู่ประเทศเวียดนามโดยผ่านนโยบายทางด้านเศรษฐกิจในประเทศอาณานิคมของรัฐบาลฝรั่งเศส สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับระบบทุนนิยมนั้นคือชนชั้นกลางขึ้นมามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจและสังคมแทนชนชั้นปกครองเดิมคือกษัตริย์และขุนนาง การสร้างสรรค์งานวรรณกรรมซึ่งเดิมเคยเป็นกิจกรรมที่ผูกขาดโดยปัญญาชนในราชสำนักได้เปลี่ยนมือมายังชนชั้นกลาง และมิได้รับใช้ราชสำนักอีกต่อไป แต่เป็นสินค้าบริโภคสำหรับชนชั้นใหม่ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกและทำงานกับหน่วยงานของรัฐบาลอาณานิคมหรือบริษัทต่างๆ  นอกจากนี้อาชีพนักเขียนจัดว่าเป็นทางออกที่ดีสำหรับปัญญาชนรุ่นใหม่ของเวียดนามที่ไม่อยากทำงานรับใช้รัฐบาลอาณานิคม๑๓

แนวคิดทางการเมืองและสังคมในงานเขียนของ “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์”

นอกจากเกิดในยุคสมัยเดียวกันแล้ว นักเขียนทั้งสองมีภูมิหลังในวัยเยาว์ที่คล้ายคลึงกันหลายประการ เช่น ต่างก็กำพร้าพ่อและมีวัยเด็กที่ลำบาก สำหรับ “ศรีบูรพา” นั้นสูญเสียบิดาเมื่ออายุเพียง ๖ ขวบ มารดาเปิดร้านเย็บผ้า และพี่สาวเล่นละครรำและละครพูด ส่วน “เญิ้ตลิญห์” นั้นเกิดในครอบครัวข้าราชการ บิดาเป็นนายอำเภอ แต่บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ “เญิ้ตลิญห์” ยังเด็ก มารดาหาเลี้ยงครอบครัวแต่ลำพัง และมีพี่น้องหลายคน  อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ที่ทำให้ทั้ง “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” มีความเห็นอกเห็นใจผู้คนที่ยากไร้ดังปรากฏในงานเขียนของพวกเขาเสมอ ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งสองคนยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมที่ช่วยเหลือคนยากจนด้วย เช่น ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๕ “ศรีบูรพา” ร่วมกับเพื่อนนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักศึกษา นำผ้าห่มกันหนาวและยารักษาโรคไปแจกจ่ายแก่ชาวนาในภาคอีสาน๑๔ “เญิ้ตลิญห์” และนักเขียนกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน ได้ร่วมมือกันก่อตั้งมูลนิธิ “แสงสว่าง” (Hoi Anh Sang) เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคมพ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านแถบชนบทที่ทุรกันดารโดยการช่วยสร้างที่อยู่อาศัยและให้ความรู้ด้านสุขอนามัย

ทั้ง “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” เป็นผู้รักการศึกษาหาความรู้ แม้ว่า “ศรีบูรพา” จะไม่ได้เติบโตในครอบครัวที่เพียบพร้อม แต่ก็ขวนขวายหาความรู้ “เญิ้ตลิญห์” มีพื้นฐานครอบครัวขุนนางและปัญญาชนซึ่งให้ความสำคัญกับการศึกษาเล่าเรียนเป็นพิเศษอยู่แล้ว  นอกจากนี้นักเขียนทั้งสองมีโอกาสดีกว่าเพื่อนร่วมชาติของตนโดยมีโอกาสไปศึกษาต่อในต่างประเทศและได้เห็นโลกกว้างขึ้น กล่าวคือ “ศรีบูรพา” ได้ศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลียและดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วน “เญิ้ตลิญห์” ก็ได้ทุนไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส พื้นฐานความรู้และประสบการณ์เหล่านี้ต่อมาได้สะท้อนอยู่ในงานเขียนของพวกเขาด้วย จากการศึกษางานเขียนของ “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” นั้นทำให้พบว่านักเขียนทั้งสองมีแนวคิดต่อชีวิตและสังคมที่คล้ายคลึงกันหลายประการด้วยกัน ดังนี้

๑. ความคิดเรื่องเก่า-ใหม่ และเสรีภาพส่วนบุคคล

งานเขียนของ “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” ในยุคแรกกล่าวถึงปัญหาที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศที่อยู่ในช่วงต่อระหว่างยุคเก่าที่กำลังก้าวสู่ยุคใหม่ นักเขียนทั้งสองได้ท้าทายขนบธรรมเนียมและวิธีปฏิบัติที่ล้าสมัย เช่น การคลุมถุงชน การที่ลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่อย่างไม่มีเหตุผล และเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวมีสิทธิ์ตัดสินใจในชีวิตของตนเอง เช่น การเลือกคู่ครอง ความพยายามดังกล่าวสะท้อนถึงอิทธิพลของตะวันตกต่อปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในเอเชีย นั่นคือการเข้ามาของแนวคิดเรื่องความเสมอภาค ความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพส่วนบุคคล ดังเช่นในเรื่องผจญบาป “ศรีบูรพา” วิพากษ์วิจารณ์ประเพณีการคลุมถุงชนและการแต่งงานโดยปราศจากความรักอย่างเปิดเผย

“…แต่โดยที่จริงการแต่งงานของเราสำเร็จขึ้นโดยความจัดแจงของผู้ใหญ่

เราจะพอใจหรือไม่ก็ตาม แต่ในที่สุดเราก็ได้แต่งงานกันซึ่งเป็นข้อที่ทำให้เรา

ต้องรับว่ามีความพอใจอยู่ และเพราะฉะนั้น บางทีจะไม่ควรจัดว่าเป็นกิจของ

ทารก”

“ดิฉันสงสัย–” วันเพ็ญพูดนัยน์ตาลอย “คนที่ไม่เคยรักกันเลย จะอยู่

ด้วยกันเป็นสุขหรือไม่?”

“ความสุขคือความสมหมาย ข้อสำคัญของผัวเมียในเรื่องความสมหมาย

คือความรัก ก่อนจะไปถึงความสุขเราต้องผ่านรักมาเสียก่อน ถ้าเราสามารถ

รักกันได้ บางทีเราก็จะมีความสุข ฉันแน่ใจเพียงบางทีเท่านั้นนะจ๊ะ ไม่ใช่

ทั้งหมด”๑๕

จากบทสนทนาของมนัสและวันเพ็ญซึ่งต้องแต่งงานกันเพราะความเห็นชอบของผู้ใหญ่ทั้งที่ทั้งสองไม่ได้รักกันนั้น แสดงให้เห็น ว่าการแต่งงานที่ปราศจากความรักยากที่จะนำมาซึ่งความสุข นอกจากนี้แล้ว “ศรีบูรพา” ได้แสดงความเห็นต่อไปว่าในสังคมไทยนั้นการแต่งงานเป็นภาระหน้าที่อย่างหนึ่ง เนื่องจากมีพันธะทางด้านครอบครัวและสังคม

“การแต่งงานอำนวยสิ่งที่ดีงามให้แก่เราก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน แต่อย่างไร

ก็ตาม มีเหตุแวดล้อมหลายอย่างที่บังคับให้ทุกคนจำเป็นต้องแต่งงาน นอกจาก

ความรัก คนเราต้องแต่งงานเพื่อหน้าที่ บางทีหน้าที่นั้นๆ ก็เกี่ยวกับการส่วนตัว

บางทีก็เกี่ยวกับการบ้านเมือง สำหรับคนไทยการแต่งงานเป็นหน้าที่สำคัญ

เพราะพลเมืองสยามมีน้อย และแผ่นดินยังว่างเปล่าอยู่มาก…”๑๖

จากข้อความดังกล่าว “ศรีบูรพา” ชี้ให้เห็นว่าการแต่งงานไม่ใช่เรื่องของคนสองคนเท่านั้น แต่ยังโยงไปถึงเรื่องหน้าที่ของปัจเจกชนที่มีต่อครอบครัว และรวมไปถึงประเทศชาติด้วย ในกรณีของเวียดนามนั้น เดวิด มาร์ ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในด้านเวียดนามศึกษา ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอิทธิพลทางความคิดของตะวันตกต่อหนุ่มสาวเวียดนาม ไว้ดังนี้

ความคิดทางการเมืองและของตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อวิธีคิด

และความเชื่อของปัญญาชนและหนุ่มสาวชาวเวียดนามโดยผ่านงานแปลและ

การได้พบปะแลกเปลี่ยนกับชาวฝรั่งเศส จะสังเกตได้ว่าตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๘๖๐

เป็นต้นมามีศัพท์ใหม่ๆ เข้ามาในเวียดนาม เช่น individuel, personalite,

societe, le peuple, nation, liberte หรือ progress๑๗

ความคิดดังกล่าวสะท้อนอยู่ในงานเขียนของ “เญิ้ตลิญห์” เช่นกัน ในนวนิยายเรื่องด่านเตอียด (Doan Tuyet) หรือ “ปลดโซ่”๑๘ “เญิ้ตลิญห์” ประกาศอย่างชัดเจนว่าการแต่งงานตามความเห็นของครอบครัวนั้นเป็นเรื่องล้าสมัย และหนุ่มสาวรุ่นใหม่จะต้องตัดสินใจเลือกคู่ครองด้วยตนเอง ไม่ใช่แต่งงานตามความต้องการของครอบครัวโดยปราศจากความรัก เช่นเดียวกันกับ “ศรีบูรพา” “เญิ้ตลิญห์” ชี้ให้เห็นว่าการแต่งงานที่ปราศจากความรักเป็นพื้นฐานนั้นไม่สามารถนำความสุขมาสู่คู่แต่งงานได้ ตัวละครเอกในเรื่อง-ลวานได้แต่งงานกับผู้ชายที่มารดาของเธอเลือกให้ ทั้งที่เธอเองก็มีคู่รักอยู่แล้ว ชีวิตแต่งงานของเธอไม่มีความสุขเพราะไม่มีความรักระหว่างสามีภรรยา และเธอเองก็เข้ากับมารดาของสามีไม่ได้  เมื่อสามีได้ทำร้ายร่างกายและข่มเหงเธอ ลวานได้ใช้มีดแทงสามีเพื่อป้องกันตัวเอง เมื่อลวานต้องขึ้นศาลเพื่อพิจารณาโทษฆ่าคนตาย ทนายความได้แก้ต่างให้ลวานและกล่าวถึงระบบครอบครัวของเวียดนามในตอนหนึ่งว่า

สังคมเวียดนามในตอนนี้ได้ต่างไปจากสังคมเวียดนามในคริสต์ศตวรรษที่

๑๙ ระบบครอบครัวของเวียดนามก็ไม่สามารถเหมือนกับระบบครอบครัวใน

สมัยก่อนได้ ทุกประเทศในตะวันออกไกล ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน ไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนซึ่งเป็นบ่อเกิดของอารยธรรมเอเชียนั้นก็ไม่สามารถรักษา

ระบบครอบครัวให้เหมือนเดิม ครอบครัวนั้นเป็นสิ่งที่เราควรรักษาไว้ แต่ได้

โปรดอย่ารักษามันไว้ให้เหมือนกับการรักษาระบบทาส ระบบทาสนั้นได้ถูก

ยกเลิกไปนานแล้ว และเมื่อคิดถึงเมื่อไรเราก็เกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมาเมื่อนั้น

งานประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” ในยุคแรกเป็นแนวพาฝันโดยเน้นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาว ผลงานของ “เญิ้ตลิญห์” ได้รับการเรียกว่า Tieu Thuyet Luan De ได้รับอิทธิพลจากงานประเภท Roman a These ของวรรณกรรมฝรั่งเศส ซึ่งนำเสนอประเด็นชัดเจนและหยิบยกปัญหาขึ้นมาอภิปราย ปัญหาที่ “เญิ้ตลิญห์” มักเน้นในงานเขียนยุคแรกคือ เสรีภาพของปัจเจกชนในการเลือกคู่ ซึ่งเป็นการต่อต้านขนบความคิดตามแบบขงจื้อ ตัวละครลวานนั้นจึงเป็นตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่ที่ต่างไปจากผู้หญิงในขนบของขงจื้ออย่างสิ้นเชิง เพราะเธอมีความคิดอ่านเป็นของตัวเองซึ่งต่างไปจากผู้หญิงยุคเก่าที่เชื่อตามคำสอนของขงจื้อที่เรียกว่า “ตามต่อง” (Tam Tong) คือเมื่อเป็นเด็กให้เชื่อฟังบิดา เมื่อแต่งงานแล้วก็ให้เชื่อฟังสามี และเมื่อสามีตายก็ต้องเชื่อฟังลูกชายคนโต

อย่างไรก็ตามในยุคต่อมาทั้ง “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” ก็ได้พัฒนางานเขียนของตนไปสู่งานเขียนเชิงสังคมและการเมือง และพูดถึงปัญหาในสังคมที่กว้างกว่าประเด็นเรื่องเสรีภาพในความรักและเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง

๒. กระแสสำนึกทางสังคมและการเมือง

อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวการเขียนของ “ศรีบูรพา” เพราะเมื่อเทียบผลงานของ “ศรีบูรพา” ในช่วงก่อนและหลังการปกครองแล้วจะพบว่ามีแนวการเขียนที่ต่างกัน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่เป็นแบบก้าวกระโดด ข้อเขียนของ “ศรีบูรพา” สะท้อนให้เห็นว่าเขาสนใจในเรื่องราวของคนชนชั้นล่างอยู่ก่อนแล้ว แม้ว่าจะเขียนเรื่องแนวโรแมนติกก็ตาม ตัวละครเอกของ “ศรีบูรพา” มักพัฒนามาจากคนชนชั้นล่างแต่มีโอกาสในการศึกษา จากนั้นก็ยกระดับฐานะทางสังคมให้สูงขึ้นไป ประเด็นที่น่าสนใจคือ “ศรีบูรพา” มักพูดถึงประเด็นเรื่องชนชั้นเสมอ เช่น ในงานเขียนชิ้นหนึ่งที่ “ศรีบูรพา” แสดงความคิดต่อ ม.จ. อากาศดำเกิง

หนังสือละครแห่งชีวิต ของท่านดีจริงๆ คำยกย่องเหล่านั้นอาจจะ

เที่ยงตรง แต่ท่านต้องไม่ลืมว่าท่านเป็นเจ้า ถ้าท่านทำดีเพียงหนึ่ง เขามักจะให้

ท่านถึงสาม แต่ถ้าท่านเปลี่ยนมาเป็นพวกเราๆ แม้ท่านทำดีสาม เขามักจะให้

ท่านเพียงหนึ่งเท่านั้น ท่านควรระวังในเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้๑๙

หรืออีกตอนหนึ่งว่า

ท่านเคยได้ยินมาก่อนหรือว่า ความยุติธรรมนั้น มีแต่ท่านผู้นั้น ท่านผู้นี้

เท่านั้น ที่ต้องการ เมื่อถึงเวลาที่ท่านเหล่านั้นจะเรียกร้องมัน ส่วนคนอื่นๆ

ไม่ต้องการเลย ท่านเคยได้ยินมาก่อนหรือว่า ความยุติธรรมนั้นควรจะให้แต่

เฉพาะคนกลุ่มนั้น ส่วนคนกลุ่มโน้นไม่จำเป็นจะต้องให้เลย ความจริงนั้น

ทุกคนก็ต้องการความยุติธรรม และความยุติธรรมนั้นก็จะต้องอำนวยให้แก่

ทุกคน๒๐

งานวรรณกรรมของ “ศรีบูรพา” ในยุคหลังๆ พูดถึงปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นอย่างเข้มขึ้นโดยเฉพาะในงานเขียนประเภทเรื่องสั้น เช่น “ขอแรงหน่อยเถอะ” “คนพวกนั้น” “ลุงพรหมแห่งเกาะลอย” เป็นต้น ซึ่ง “ศรีบูรพา” วิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเปิดเผยไม่ว่าจะเป็นค่านิยมที่ฉาบฉวยของการวัดคนจากภายนอก หรือการที่คนรวยดูถูกคนจน เช่นตัวละครเอกในเรื่อง “ลุงพรหมแห่งเกาะลอย” กล่าวว่า

“แกไม่ได้เป็นลูกจ้างเฝ้าใบเซียมซีของใครเขาหรอกหรือ?” ชายหนุ่ม

หน้าเรี่ยนิดหน่อย

“คุณเอาที่ไหนมาพูด ว่าแกเป็นลูกจ้างเฝ้าใบเซียมซี”

“ผมเพียงแต่เดาเอา”

“นั่นแหละ คือส่วนหนึ่งแห่งแบบแผนการครองชีวิตของพวกเราชาว

สังคมในกรุงเทพฯ” หญิงสาวเน้นเสียง “เรานิยมการใช้ชีวิตสำรวยอย่างผิวเผิน

และหลวมๆ เช่นนั้น เราชอบพูดจาว่าร้ายเหยียดหยามผู้อื่น โดยไม่แยแส

ต่อความเป็นจริง เราไม่เคยมีความปรานีต่อผู้ใดเลย”๒๑

ช่วงเวลาที่ “ศรีบูรพา” ผลิตผลงานเขียนนั้น สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ สิ่งหนึ่งที่เข้ามาพร้อมสมัยใหม่คือการเติบโตของระบบทุนนิยม ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน รวมทั้งความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบทเริ่มปรากฏชัดขึ้น “ศรีบูรพา” แสดงให้เห็นในงานเขียนว่า สังคมในอุดมคติของเขาคือสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน เช่นในนวนิยายเรื่องสงครามชีวิต ซึ่งเขียนขึ้นก่อนการเปลี่ยงแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เล็กน้อย ได้พูดถึงปัญหาของคนยากไร้ในสังคมและช่องว่างทางเศรษฐกิจ ตรีศิลป์ บุญขจร ยกย่องนวนิยายเรื่องนี้ว่า “จุดเริ่มต้นของความสำนึกทางมนุษยธรรมในนวนิยาย”๒๒ นอกจากนี้ในงานเขียนประเภทอื่น “ศรีบูรพา”ก็มักกล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความด้อยโอกาสของคนในชนชั้นล่างและคนในชนบท เช่นในบทความเรื่อง “มาจากแผ่นดินและกลับสู่แผ่นดิน” ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ “ศรีบูรพา” กล่าวว่า

มันควรหรือที่ชาวกรุงเทพฯ จะบอกว่า “ฉันต้องการถนนดีๆ” ส่วน

ชาวชนบทนั้นไม่ต้องการสิ่งที่เรียกว่า “ถนน” เลย ไม่ว่าจะเป็นอย่างดีหรือ

อย่างเลว ชาวชนบทไม่ต้องการถนนจริงๆ หรือ? ชาวชนบททนความเจ็บไข้

ได้ป่วยโดยปราศจากการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องได้ และเขาก็พอใจที่จะทนมัน

ส่วนชาวกรุงเทพฯ ผู้มั่งคั่งย่อมทนไม่ได้ แม้เพียงการนอนป่วยบนเตียงของ

โรงพยาบาลที่ไม่สะอาดหมดจดถึงมาตรฐานแห่งการครองชีวิตของเขา ชาว

ชนบทพอใจที่จะทนมันจริงๆ หรือ? มันควรหรือที่คนหนึ่งจะยืนยันว่า “ลูก

ของฉันจำเป็นจะต้องได้รับโอกาสศึกษาให้เป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง” ส่วน

ลูกคนอื่นๆ อีกตั้งล้านๆ คนนั้นไม่จำเป็นจะต้องฉลาดเลย?”๒๓

เช่นเดียวกับ “ศรีบูรพา” งานเขียนในยุคแรกของ “เญิ้ตลิญห์” มักเป็นเรื่องรักโรแมนติกของหนุ่มสาวเวียดนามที่แฝงไว้ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ขนบธรรมเนียมและประเพณีเก่าที่ล้าสมัยและไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในสังคมยุคใหม่ อย่างไรก็ตามกระแสความนิยมในวรรณกรรมแนวโรแมนติกเริ่มเสื่อมลงในช่วงกลางทศวรรษที่ ๑๙๓๐ และวรรณกรรมแนวสัจนิยมก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ถึงแม้ว่า “เญิ้ตลิญห์” และสมาชิกของกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน จะไม่นิยมวิธีการกู้ชาติโดยใช้ความรุนแรงและสงครามกองโจรตามแนวคิดของกลุ่มคอมมิวนิสต์ แต่งานเขียนของพวกเขาในยุคตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับอิทธิพลแนวคิดของมาร์กซิสต์อย่างเห็นได้ชัดจากการให้ความสำคัญกับปัญหาของชนชั้นกรรมกรและชาวนามากขึ้น ซึ่งต่างไปจากงานในยุคแรกที่เน้นปัญหาของปัญญาชน คนในเมืองและชนชั้นกลาง แม้กระนั้นก็ตามงานเขียนของ “เญิ้ตลิญห์” ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากนักเขียนกลุ่มมาร์กซิสต์ว่าไม่มีความเข้าใจในชนชั้นล่างอย่างถ่องแท้  นอกจากนี้แม้ว่าจะเขียนเกี่ยวกับชนชั้นล่างแต่ตัวละครเอกก็ยังคงเป็นตัวแทนจากชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง หรือถ้ามาจากชนชั้นล่างก็ต้องเป็นผู้ได้รับการขัดเกลาแล้ว โดยมีการศึกษาสูงและมีความรู้ดีกว่าคนทั่วไปในชนชั้นเดียวกับตน อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์วรรณกรรม เจิ่นดิญเฮียว (Tran Dinh Huou) ให้ความเห็นว่างานของ “เญิ้ตลิญห์” และกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน ที่เกี่ยวกับชนชั้นล่างนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีคุณค่าเสียทีเดียว

การบรรยายภาพความทุกข์ยากของชาวนานั้นพวกเขาก็ไม่ได้หยุดอยู่

แต่การบรรยายเฉพาะแต่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ เท่านั้น แต่ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เป็น

รูปธรรม จริงอยู่พวกเขาไม่สามารถเข้าใจวิถีชีวิตของชาวชนบทได้ดีเท่ากับ

นักเขียนอย่างโงตึ๊ดโต๋ หรือเหงียนกงฮวาน๒๔ แต่ปัญหาที่พวกเขาหยิบยกมา

เขียนถึงก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความเกี่ยวข้อง ไม่มีประโยชน์ หรือเป็นปัญหาที่ไม่มี

อยู่จริง๒๕

แม้ว่า “เญิ้ตลิญห์” มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ผู้ยากไร้ แต่จากงานเขียนส่วนใหญ่ของเขาแล้ว ประเด็นที่ “เญิ้ตลิญห์” สนใจเป็นพิเศษจนอาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายใต้จิตสำนึกของเขาก็คือ ความน้อยเนื้อต่ำใจในการเป็นพลเมืองในประเทศอาณานิคม สิ่งนี้เองได้สร้างความขัดแย้งภายในใจให้แก่นักเขียนเวียดนามในยุคอาณานิคมเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ “เญิ้ตลิญห์” เท่านั้น นั่นก็คือ พวกเขาเป็นผลิตผลของการศึกษาระบบใหม่ที่ฝรั่งเศสได้วางรากฐานไว้ พวกเขาชื่นชมศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการของตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันในสังคม ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีความรู้มากกว่าเพื่อนร่วมชาติจำนวนมาก แต่พวกเขาก็เป็นเพียงพลเมืองชั้นสองในรัฐอาณานิคมของฝรั่งเศสอยู่ดี เราอาจสรุปได้ว่าการที่ “เญิ้ตลิญห์” เรียกร้องให้มีการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมและส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนนั้นก็เพื่อว่าวันหนึ่งชาวเวียดนามจะได้ทัดเทียมกับชาวฝรั่งเศสนั่นเอง

อุดมการณ์ที่แตกต่างกันของ “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์”

เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ถึงบทบาทของ “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” ในฐานะนักเขียนคนสำคัญในยุคแรกของวรรณกรรมสมัยใหม่ในไทยและเวียดนาม รวมไปถึงความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ที่แสดงออกในงานเขียนของพวกเขา นอกจากนี้แล้วนักเขียนทั้งสองยังสมควรได้รับการยกย่องในฐานะของปัจเจกบุคคลผู้ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอุดมการณ์และความเชื่อของตน “ศรีบูรพา” ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมในฐานะนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์จนต้องประสบกับมรสุมทางการเมืองอยู่หลายครั้ง ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ “ศรีบูรพา” ถูกจับในกรณีกบฏสันติภาพ ซึ่งทางกรมตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาว่า

…รวมกันยุยงก่อให้เกิดความแตกแยกไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองเพื่อนำ

ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาดำเนินการปกครองในประเทศไทย โดยล้มล้างการ

ปกครองระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ และรัฐบาลปัจจุบันเสีย อัน

เป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญากบฏภายในอาณาจักร๒๖

“ศรีบูรพา” ออกจากคุกในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และเข้าร่วมงานฉลองครบรอบ ๔๐ ปีของการปฏิวัติโซเวียต ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ไปเยือนจีน ซึ่งในปลายปีเดียวกันนั้นเอง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ ได้ก่อรัฐประหารขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ “ศรีบูรพา” ไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นจึงขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศจีน และต่อมาเสียชีวิตที่ประเทศจีนเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ ด้วยโรคปอดบวมและเส้นโลหิตตีบที่หัวใจ ชะตากรรมในชีวิตของ “ศรีบูรพา” เกิดจากการไม่ยอมจำนนกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของตนเพียงเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น เดวิด สไมท์ อาจารย์สอนภาษาไทย ณ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ประการหนึ่งว่า

ข้อสังเกตข้อหนึ่งในชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ คิดว่าคนในที่นี้คง

สนใจวรรณกรรม แล้วทุกคนก็ยอมรับว่าคุณกุหลาบมีบทบาทสำคัญมากใน

การพัฒนานวนิยายไทย แต่สิ่งที่อาจจะยิ่งสำคัญกว่าคือ บทบาทความเป็น

มนุษย์ เท่าที่ผมศึกษามา เข้าใจว่าคุณกุหลาบมีโอกาสที่จะ…พูดง่ายๆ ไม่เคย

ขายอุดมการณ์ มีโอกาสที่จะมีชีวิตสบายๆ จะได้ปรับตัวปรับความคิด แต่เขา

เลือกทางยาก ผมว่านี่เป็นสิ่งที่น่านับถือ๒๗

แม้จะไม่มีหลักฐานบ่งบอกถึงจุดยืนทางการเมืองของ “ศรีบูรพา” ที่ชัดเจนไปกว่าการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ แต่ “ศรีบูรพา” น่าจะนิยมในแนวคิดแบบสังคมนิยม/มาร์กซิสม์ เพราะในงานเขียนของเขามักกล่าวถึงประเด็นความแตกต่างทางชนชั้นและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมและวรรณกรรมในประเทศสังคมนิยม เช่น การร่วมงานครบรอบการปฏิวัติโซเวียต การเข้าร่วมประชุมระหว่างชาติเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนเวียดนามที่กรุงฮานอย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้น อย่างไรก็ตามประเด็นความขัดแย้งระหว่าง “ศรีบูรพา” และอำนาจรัฐในขณะนั้นคงไม่ได้เกิดจากอุดมการณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่น่าจะเกิดจากการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและความพยายามลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วย ดังเช่นที่ “ศรีบูรพา” กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า

…ถ้ารัฐบาลไม่ทำการกดขี่ปองร้ายหนังสือพิมพ์อย่างสิ้นสติและยอมฟัง

คำตักเตือน วิพากษ์วิจารณ์ของหนังสือพิมพ์แล้ว บุคคลในคณะรัฐบาลจะ

ไม่เมาถึงขนาดที่เมามาแล้ว และจะไม่หลงตัวและเสียตัวไปถึงขนาดที่ได้เสีย

ไปแล้ว…จงพอใจในการกินยาขมเถิด เพราะมันจะตอบแทนด้วยการป้องกันมิให้

ท่านตกไปในความเมาได้…อย่าชังเสรีภาพของหนังสือพิมพ์เลย เพราะถึงท่าน

จะชังมันเท่าใดมันก็จะต้องกลับมาวันยังค่ำ ถ้าท่านไม่เปิดประตูต้อนรับเมื่อ

ได้ยินเสียงเคาะ มันก็จะต้องเข้ามาทางหน้าต่างหรือพังประตูเข้ามาจนได้  เพราะ

มันจะต้องการที่อยู่อันสมควร อย่างน้อยก็เช่นเดียวกับที่ท่านต้องการเหมือน

กัน…๒๘

“เญิ้ตลิญห์” เองก็มีชะตากรรมไม่ต่างไปจาก “ศรีบูรพา” ทั้งนี้เพราะในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศสนั้น หนังสือพิมพ์ของเขาถูกปิดลงและยังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลอาณานิคม ต่อมาในสมัยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ “เญิ้ตลิญห์” มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ และในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ “เญิ้ตลิญห์” ก่อตั้งพรรคการเมืองที่มีชื่อว่า Dai Viet Dan Chinh (พรรคประชาชนเวียดนาม) ซึ่งต่อมายุบรวมกับพรรค Viet Nam Quoc Dan Dang (พรรคแห่งชาติเวียดนาม) พรรคการเมืองดังกล่าวเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มปัญญาชนคนรุ่นใหม่ของเวียดนามในยุคนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ “เญิ้ตลิญห์” ตกลงใจร่วมรัฐบาลของประธานาธิบดีโฮจิมินห์ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แต่ก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียง ๒ เดือนก็เกิดความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล “เญิ้ตลิญห์” ลาออกและไปอยู่ประเทศจีน ต่อมาไปลี้ภัยที่ฮ่องกงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๔ หลังจากนั้นเดินทางกลับประเทศเวียดนามพร้อมทั้งประกาศยุติบทบาททางการเมืองของตนเองโดยสิ้นเชิง เมื่อประเทศเวียดนามถูกแบ่งเป็นสองประเทศ คือ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ตามข้อตกลงกรุงเจนีวา ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ “เญิ้ตลิญห์” ก็เลือกใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไซ่ง่อนซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ

ด้วยความขัดแย้งทางความเชื่อในอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างไปจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ทำให้การประเมินค่างานเขียนของ “เญิ้ตลิญห์” ที่เขียนขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๘๘ ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเป็นกลางนักจากนักวิชาการและนักวิจารณ์สกุลมาร์กซิสต์ เช่น ในตอนหนึ่งของบทความของศาสตราจารย์ฟานกือเดะ (Phan Cu De) ได้กล่าวว่า “วรรณกรรมแนวโรแมนติกของกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน เป็นผลงานของนักเขียนชนชั้นกลางที่ไม่กล้าใช้วิถีทางการเมืองต่อสู้กับรัฐอาณานิคม พวกเขากลับมุ่งใช้ประเด็นทางวัฒนธรรมต่อสู้กับชนชั้นศักดินา”๒๙ นอกจากนี้นักวิจารณ์เจื่องจิงก็ประเมินคุณค่าผลงานของนักเขียนกลุ่มนี้ว่าเป็นแค่ “เสียงถอนหายใจประท้วงรัฐบาลอาณานิคม”๓๐  อย่างไรก็ตามหลังจากที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ประกาศเปิดประเทศและใช้นโยบายโด๋ยเม้ย (Doi moi) หรือการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่ยอมรับแนวคิดแบบทุนนิยมและตลาดเสรีในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ แล้ว รัฐบาลก็ผ่อนปรนความเข้มงวดในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นต่างๆ และการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมก็มีอิสระมากขึ้น ผลพลอยได้ประการหนึ่งจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ คือเปิดโอกาสให้นักเขียนและนักคิดในเวียดนามเริ่มทบทวนบทบาทของวรรณกรรมและประเมินค่างานวรรณกรรมใหม่ ซึ่งก็รวมถึงการประเมินค่างานของนักเขียนในกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน ใหม่ด้วย

เมื่อพิจารณาถึงสถานภาพของ “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” แล้ว นักเขียนทั้งสองเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันดีในหมู่นักวิชาการชาวต่างประเทศผู้ศึกษาวรรณกรรมไทยและเวียดนาม แต่สำหรับการศึกษาวรรณกรรมภายในประเทศนั้น “ศรีบูรพา” เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ศึกษาวรรณกรรมชาวไทยอย่างกว้างขวาง โดยสังเกตได้จากการศึกษาผลงานและทัศนะทางสังคมและการเมืองของ “ศรีบูรพา” อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งงานเขียนของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์และยังคงเป็นผลงานที่นักอ่านชื่นชอบเสมอมา ส่วน “เญิ้ตลิญห์” ผลงานของเขาไม่ได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ในประเทศเวียดนามเท่าที่ควร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวคิดทางการเมืองที่ขัดกับนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้แล้วนักวิชาการส่วนหนึ่งในเวียดนามเห็นว่างานของ “เญิ้ตลิญห์” เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชนชั้นกลางซึ่งไม่เหมาะสมกับนโยบายสนับสนุนบทบาทของชนชั้นกรรมาชีพและชาวนา กระทั่งไม่นานมานี้เอง คือในช่วงหลังปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ผลงานของ “เญิ้ตลิญห์” ก็ได้รับการตีพิมพ์และมีผู้ศึกษาผลงานและแนวคิดของเขามากขึ้น

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ชีวิตของ “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” ต้องประสบกับความยากลำบากอยู่เนืองๆ ทั้งที่พวกเขาเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งก็เนื่องมาจากการเป็นผู้ไม่ยอมละทิ้งอุดมการณ์และยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีของเวียดนามนั้น หลังจากที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจหลังปี พ.ศ. ๒๔๘๘ มีนักเขียน กวี และปัญญาชนจำนวนมาก จำต้องหันไปให้ความร่วมมือกับพรรคและยอมรับใช้งานทางการเมืองด้วยงานเขียนของตน การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ดังกล่าวมีความสำคัญกับความอยู่รอดของประเทศเท่ากับความอยู่รอดของนักเขียนเอง เพราะเป็นที่ทราบกันว่ารัฐบาลมีมาตรการลงโทษนักเขียนที่แตกแถวหรือไม่ทำตามนโยบายของพรรค๓๑ หาก “เญิ้ตลิญห์” เลือกวิถีทางเช่นเดียวกับนักเขียนหลายคน เขาก็คงทำได้เช่นกัน แต่เขาเลือกทางเดินที่ยากกว่า เช่นเดียวกันกับ “ศรีบูรพา”

หลังจากย้ายไปอยู่ที่ไซ่ง่อนแล้ว “เญิ้ตลิญห์” ออกหนังสือพิมพ์ชื่อว่า Van Hoa Ngay Nay (วัฒนธรรมร่วมสมัย) ได้เพียงแปดฉบับก็ต้องปิดตัวลง  เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง แม้จะย้ายจากฮานอยมาอยู่ไซ่ง่อนแล้วแต่มรสุมชีวิตของ “เญิ้ตลิญห์” ก็ยังไม่หมดไป เพราะด้วยความที่เคยเป็นผู้นำพรรคการเมืองและเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงทำให้รัฐบาลโงดิญเซียม (Ngo Dinh Diem) เกิดความระแวงและจับตามองอย่างใกล้ชิด รัฐบาลของโงดิญเซียมกล่าวโทษว่า “เญิ้ตลิญห์” มีส่วนรู้เห็นในการก่อกบฏต่อต้านรัฐบาล จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายของ “เญิ้ตลิญห์” โดยการดื่มยาพิษที่ผสมในวิสกี้ “เญิ้ตลิญห์” เขียนข้อความไว้ก่อนเสียชีวิต (โดยทายาทนำไปให้หนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศตีพิมพ์เผยแพร่) ว่า

Let history be my judge, I refuse to accept any other

judgement. The arrest and attention of nationalist opposition

elements is a serious crime, and it will cause the country to be lost

into the hands of the communists. I oppose those acts, and sentence

myself to death…as a warning to those who would trample upon

freedom of every kind.๓๒

ข้อความดังกล่าวสะท้อนถึงความกดดันที่ “เญิ้ตลิญห์” ต้องประสบและแสดงถึงบุคลิกภาพของเขาว่าเป็นคนที่ไม่ยอมสูญเสียความเป็นตัวเองและอุดมการณ์ท่ามกลางความแปรเปลี่ยนของกระแสการเมือง นอกจากนี้บทสนทนาระหว่าง “เญิ้ตลิญห์” กับนักเขียนหวูแห่ง ก่อนการฆ่าตัวตาย ๑ อาทิตย์ก็เป็นเครื่องชี้ถึงความเป็นมนุษย์ในแบบของ “เญิ้ตลิญห์” ได้อย่างชัดเจน

“เญิ้ตลิญห์”    :   คุณเห็นว่าวรรณกรรมสมัยนี้เป็นอย่างไรบ้าง

หวูแห่ง           :   ถ้าจิตใจสบาย คนเราจึงจะคิดถึงการร้องรำทำเพลง

การสนทนาพูดคุย ถ้าไว้ใจกันถึงจะเล่าเรื่องคับข้อง

หมองใจให้กันฟัง ทุกวันนี้วรรณกรรมกำลังอยู่ในยุควิกฤต

“เญิ้ตลิญห์”    :   แล้วพวกเขา (นักเขียน) อยู่กันอย่างไร

หวูแห่ง           :   พวกเขา (นักเขียนในภาคเหนือของประเทศ) อยู่

ด้วยความเชื่อในโฆษณาชวนเชื่อและอยู่อย่างอัตคัตขัดสน และคุณล่ะ ในสมัยนั้นพวกคุณอยู่กันอย่างไร

“เญิ้ตลิญห์”    :   พวกเราอยู่ด้วยอุดมการณ์ของตนและพยายามใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด๓๓

การศึกษาชีวิตและผลงานของ “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของตัวบทและบริบททางสังคมในวรรณกรรมไทยและเวียดนามเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมและสภาวะทางสังคมและการเมือง รวมไปถึงการเจรจาต่อรองระหว่างนักเขียนและอำนาจรัฐในสภาวะที่ประเทศชาติกำลังอยู่ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ ระหว่างสังคมเก่าที่กำลังก้าวไปสู่สังคมสมัยใหม่ ซึ่งจะต้องเลือกว่าอุดมการณ์แบบใดจึงมีความเหมาะสมกับรัฐชาติมากที่สุด นอกจากนี้แล้วงานเขียนของนักเขียนทั้งสองยังสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและทัศนคติของปัจเจกชนต่อสภาวะผันแปรในสังคมของตน เราได้เรียนรู้ผ่านชีวิตและงานเขียนของนักเขียนทั้งสองว่าการยืนหยัดเพื่อคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ของตนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุนี้ทั้ง “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” จึงสมควรได้รับการยกย่องทั้งในฐานะของนักเขียนระดับแนวหน้าของประเทศ ผู้มีคุณูปการต่อพัฒนาการด้านวรรณกรรมในประเทศของตน และพวกเขาก็ควรได้รับการระลึกถึงในฐานะของปัจเจกชนผู้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และความเชื่อของตนเช่นกัน.

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบผลงานและแนวคิดของนักเขียนกลุ่มสุภาพบุรุษและกลุ่มตึ-หลึก-วัน-ดวาน (Tu Luc Van doan) ผ่านบทวิเคราะห์แนวคิดและงานเขียนของ “ศรีบูรพา” และ “เญิ้ตลิญห์” (Nhat Linh)” ซึ่งได้รับทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภชประเภททุนพัฒนาอาจารย์/นักวิจัยใหม่.

เชิงอรรถ

๑ Charles Mills Gaylay, “What is Comparative Literature?”, quoted in Bassnett, Susan. Comparative Literature: A Critical Introduction. Oxford: Blackwell, 1995. P. 3.

๒ ในภาษาอังกฤษมักจะกล่าวถึงในชื่อ The Self-Reliant Literary Group

๓ “Chuyen tro voi Hoang Xuan Han” (สนทนากับฮวางซวนหาน) ในวารสาร Song Huong, Vol. 37, 1989. P. 74.

๔ เอมอร นิรัญราช, ทัศนะทางสังคมในนวนิยายไทยสมัยรัชกาลที่ ๗ (กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ, ๒๕๓๙), หน้า ๔๓.

๕ รายละเอียดในประกาศ วัชราภรณ์. “สุภาพบุรุษ” นักประพันธ์ (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๓๑).

๖ เสถียร จันทิมาธร, ในรำลึกถึงกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยเพื่อนร่วมคุก ๒๔๙๕-๒๕๐๐, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (นนทบุรี : สันติธรรม, ๒๕๒๘), หน้า ๐๗-๑๐๘.

๗ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, “ปริศนาข้างหลังภาพคณะสุภาพบุรุษ,” ใน อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง (กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, ๒๕๒๕), หน้า ๘๐.

๘ อ้างแล้ว หน้า ๘๕-๘๖.

๙ ในอดีต นักเขียนและปัญญาชนเวียดนามใช้อักษรฮั่นหรืออักษรจีนในการงานราชการและการประพันธ์ ซึ่งผู้ที่ใช้อักษรฮั่นได้มักจะมาจากตระกูล ขุนนาง และปัญญาชน

๑๐ ในช่วงอาณานิคมฝรั่งเศส ประเทศเวียดนามถูกแบ่งเป็นสามส่วน เพื่อง่ายแก่การปกครอง ภาคเหนือ เรียกว่า โทนคิน ภาคกลางเรียกว่าอันนาม และภาคใต้คือโคชินไชน่า ส่วนคำว่า อันนาม เป็นคำที่ใช้เรียกประเทศเวียดนามโดยรวม

๑๑ อ้างใน Pham The Ngu, “Tu Luc Van Doan” ใน Mai Huong (ed.). Tu Luc Van Doan trong tien trinh van hoc dan toc (กลุ่มวรรณกรรมอิสระกับพัฒนาการของวรรณกรรมเวียดนาม). Hanoi: NXB Van Hoa thong tin, 2000. P. 17-18.

๑๒ อ้างแล้ว หน้า ๘๑.

๑๓ Nguyen Dang Manh, Con duong di vao the gioi nghe thuat cua nha van (ถนนสู่โลกวรรณศิลป์ของนักเขียน), 2nd edition. Hanoi: NXB Giao Duc, 1996.

๑๔ รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน, ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๓๒), หน้า ๑๐.

๑๕ “ศรีบูรพา”, ผจญบาป (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๒๙), หน้า ๑๔๑.

๑๖ อ้างแล้ว หน้า ๘๗.

๑๗ Marr, David, “Concepts of ‘Individual’ and ‘Self’ in Twentieth-Century Vietnam” in Modern Asian Studies. Vol. 34, part 4 (October 2000) P. 777.

๑๘ นวนิยายเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลจากเรื่องโต๋ตึม ถูกเขียนขึ้นโดยนักเขียนหว่างหงอกแฟ้ก (Hoang Ngoc Phach) พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๒๕ ซึ่งช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมเวียดนาม ระหว่างสังคมแบบเก่า

ที่กำลังพัฒนาไปสู่สังคมแบบใหม่ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ตัวละครโต๋ตึมจึงมีลักษณะครึ่งเก่าครึ่งใหม่ซึ่งแม้ว่าเธอจะเชื่อในเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะเลือกคู่ครองเองแต่ท้ายที่สุดแนวคิดและคำสอนของขงจื้อที่เป็นสิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติตามกันหลายชั่วคนในสังคมเวียดนามก็บังคับให้เธอต้องเลือกความกตัญญูซึ่งเป็นคุณธรรมหลักในคำสอนของขงจื้อมากกว่าความรัก ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงค่านิยมและพัฒนาการของสังคมเวียดนามในยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ที่กำลังอยู่ระหว่างแนวคิดแบบขงจื้อและแนวคิดแบบตะวันตก

๑๙ “ศรีบูรพา”, เรื่องของเขาและศรีบูรพากับบทประพันธ์ในบรรณพิภพ (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๒๙), หน้า ๑๑๔.

๒๐ อ้างแล้ว หน้า ๑๒๔.

๒๑ “ศรีบูรพา”, “ลุงพรหมแห่งเกาะลอย” พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พิมพ์ใหม่ในรวมเรื่องสั้นชุดขอแรงหน่อยเถอะ (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๓๐) หน้า ๑๖๖.

๒๒ ตรีศิลป์ บุญขจร, นวนิยายกับสังคมไทย (๒๔๗๕-๒๕๐๐). โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒, หน้า ๓๖.

๒๓ “ศรีบูรพา”, นิพนธสารศรีบูรพา เล่ม ๑, หน้า ๓๐.

๒๔ นักเขียนชื่อดังของเวียดนามในช่วง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๔๕ ผลงานที่โด่งดังของพวกเขามักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวชนบท และเน้นปัญหาการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคม

๒๕ Tran Dinh Huou, “Tu Luc Van Doan, nhin tu goc do tinh lien tuc cua lich su, qua buoc ngoat hien dai hoa trong lich su van hoc phuong dong” (กลุ่มวรรณกรรมอิสระ : มองจากความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ที่ก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมของโลกตะวันออก), P.48.

๒๖ อ้างใน วิทยากร เชียงกูล, การเมืองภาคประชาชนมุมมองจากชีวิตและงานของศรีบูรพา (กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร, ๒๕๔๔).

๒๗ เดวิด สไมท์. ปาฐกถาเนื่องในงาน “๙๖ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ ๗๒ ปี คณะสุภาพบุรุษ”

ณ สถาบันปรีดี วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๔ พิมพ์ใน วารสารกองทุนศรีบูรพา เล่ม ๔, ๒๕๔๔, หน้า ๕๓.

๒๘ จาก “ที่นี่และที่นั่น” วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๐๐ อ้างใน สุภา ศิริมานนท์, “ความทรงจำ : ชีวิตและการต่อสู้ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์” ใน วารสารกองทุนศรีบูรพา เล่ม ๓, ๒๕๔๓, หน้า ๒๒.

๒๙ Phan Cu De. Tu Luc Van Doan: Con Nguoi va Van Chuong (กลุ่มวรรณกรรมอิสระ : นักเขียนและผลงาน). Hanoi: NXB Van Hoc, 1990. P. 13.

๓๐ อ้างแล้ว หน้า ๑๑.

๓๑ Boudarel, Georges, Intellectual Dissidence in the 1950s: The “Nhan Van Giai Pham” in The Vietnam Forum 13, 1990. Pp. 154-174.

๓๒ Quoted in Jamieson, Neil L. Understanding Vietnam. Berkeley: University of California Press, 1995. P. 242.

๓๓ Vu Hanh, “Nha Van Nhat Linh va mot ke den sau” (“เญิ้ตลิญห์” กับผู้มาทีหลัง) ใน Mai Huong (ed.). Tu Luc Van Doan trong tien trinh van hoc dan toc (กลุ่มวรรณกรรมอิสระกับพัฒนาการของวรรณกรรมเวียดนาม). Hanoi: NXB Van Hoa thong tin, 2000. P. 289.

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

กองบรรณาธิการ, “๑๐๐ ปี ศรีบูรพา.” สกุลไทย (ธันวาคม ๒๕๔๖) : ๒๔-๒๕.

กุหลาบ สายประดิษฐ์ และคณะ. ประวัติศาสตร์สตรีไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : แสงดาว), ๒๕๒๒.

ชูศักดิ์ ภัทรากุลวณิชย์. อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง. (กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ), ๒๕๔๕.

ตรีศิลป์ บุญขจร. นวนิยายกับสังคมไทย (๒๔๗๕-๒๕๐๐). (กรุงเทพฯ : โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์

ลำดับที่ ๓๗), ๒๕๔๒.

ธีรยุทธ บุญมี. “มุมมองใหม่ประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยกับกึ่งศตวรรษที่หายไทย.”

มติชน ๒๓ (พฤษภาคม ๒๕๔๖) : ๑๒-๑๓.

พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. นักเขียนไทย. กรุงเทพฯ : พิมพ์สาส์น, ๒๕๓๘.

รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน. ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : แสงดาว),  ๒๕๓๒.

วารสารกองทุนศรีบูรพา (พฤษภาคม ๒๕๔๑).

วารสารกองทุนศรีบูรพา (พฤษภาคม ๒๕๔๒).

วารสารกองทุนศรีบูรพา (พฤษภาคม ๒๕๔๓).

วารสารกองทุนศรีบูรพา (พฤษภาคม ๒๕๔๔).

วารสารกองทุนศรีบูรพา (พฤษภาคม ๒๕๔๕).

วิภา กงกะนันทน์. กำเนิดนวนิยายในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๔๐.

สุพรรณี วราทร. ประวัติการประพันธ์นวนิยายไทย. กรุงเทพฯ : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,

๒๕๑๙.

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. “วิถีแห่งศรีบูรพา.” มติชน ๒๓ (พฤษภาคม ๒๕๔๖) : ๑๔.

อิงอร นิรัญราช. ทัศนะทางสังคมในนวนิยายไทยสมัยรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ-แกรมมี่ จำกัด, ๒๕๓๙.

ภาษาเวียดนาม

Do Duc Hieu. “Doc Buom  Trang cua Nhat Linh.” (อ่าน “ผีเสื้อขาว” ของ “เญิ้ตลิญห์”) Tap

Chi Van Hoc, so 10, thang 10/1996.

Le Duc Tu. “Quan niem con nguoi ca nhan trong tieu thuyet Tu Luc Van Doan”

(มุมมองเรื่องปัจเจกบุคคลในนวนิยายของกลุ่มวรรณกรรมอิสระ) Tap Chi Van Hoc, so 4,thang 4/1994.

Mai Huong (ed.). Nhat Linh : Cay But Tru Cot (“เญิ้ตลิญห์”: นักเขียนคนสำคัญ). Hanoi: NXB

Van Hoa Thong tin, 2000.

. Tu Luc Van Doan trong Tien Trinh Van Hoc Dan Toc (กลุ่มวรรณกรรมอิสระ

กับพัฒนาการของวรรณกรรมเวียดนาม). Hanoi: NXB Van Hoa Thong Tin, 2000.

Nhat Linh. Truyen Ngan (เรื่องสั้น). Hanoi: NXB Van Hoc, 2000.

Phan Cu De (ed.). Tu Luc Van Doan: Con Nguoi va Van Chuong (กลุ่มวรรณกรรมอิสระ

: สมาชิกและงานเขียน). Hanoi: NXB Van Hoc, 1990.

(ed.). Van Hoc Vietnam 1900-1945 (วรรณกรรมเวียดนามช่วง ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๔๕).

Hanoi: NXB Giao Duc, 1998.

Vu Thi Khanh Dan, “Nhin Nhan ve tieu thuyet cua Nhat Linh hon nua the ky qua.”

(ทัศนคติเกี่ยวกับนวนิยายของ “เญิ้ตลิญห์” ในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา) Tap Chi Van Hoc,

so 3, thang 3/1997.

ภาษาอังกฤษ

Jamieson, Neil L. Understanding Vietnam. Berkeley: University of California Press, 1995.

Marr, David G. “Concepts of ‘Individual’ and ‘Self’ in Twentieth-Century Vietnam.”

Modern Asian Studies 34 (October 2000).

. Vietnamese Tradition on Trial 1920-1945. Berkeley: University of California

Press, 1984.

Watt, Ian. The Rise of the Novel. London: Penguin, 1963.

Nhat Linh. “Going to France.” Translated by Greg Lockhart. East Asian History no.

8, December 1994. Institute of Advanced Studies, Australian National University.

Pp. 73-134.