เชิด ทรงศรี

ดูรูปก่อนนะครับ,

ปกสงครามชีวิต กับข้างหลังภาพ ที่สำแดงความเก่าเก็บอยู่นี้ เป็นหนังสือสุดบูชาที่เด็กชายคนจนซื้อด้วยเงินงานเขียนสามชิ้นแรก, ดังความขยายได้บรรยายไว้ในนั่งคุยกับความรักโดย เชิด ทรงศรี-คนเดียวกับเด็กชายคนจนบนถนนขรุขระสายอดีต

จากนั่งคุยกับความรัก เห็นได้อย่างจะจะว่า ระพินทร์ ยุทธศิลป ในสงครามชีวิต เป็นพระเอกที่ เชิด ทรงศรี เจริญรอยตาม ก็เมื่อ “ศรีบูรพา” เป็นดั่งพรหมผู้ลิขิตชีวิตระพินทร์ให้ผมคลั่งไคล้ใหลหลง ท่านจึงเป็นเช่นเทพเจ้าที่ผมเฝ้าบูชาตลอดวัยเวลาที่อยากเป็นนักประพันธ์

เคยเห็น–แต่ไม่เคยได้พูดกับครู (กุหลาบ สายประดิษฐ์-“ศรีบูรพา”) เลย เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินไทย ผมยังเด็กเพิ่งจะเริ่มเดินเตาะแตะเลียบโลกวรรณกรรม

ต่อเมื่อ “ศรีบูรพา” หาชีวิตไม่แล้ว ระพินทร์ ยุทธศิลป ในนาม เชิด ทรงศรี จึงได้เป็นนักเขียน แล้วล้ำเลยมาเป็นนักทำหนัง

วิสัยการทำหนังของผม ถ้าทำจากบทประพันธ์ของใครอื่น สมัครใจที่จะยืนอยู่ข้างเจ้าของบทประพันธ์ นั่นหมายถึงว่ายึดเอาเรื่องเดิมเป็นหลัก-ด้วยความเคารพ อีกทั้งพยายามทุกวิถีทางที่จะศึกษาความรู้สึก-นึก-คิดของผู้เขียน จากตัวจริงและผลงานเขียนชิ้นอื่นๆ

ดังเช่นที่เคยปฏิบัติต่อ “ทมยันตี” เมื่อสร้างพ่อปลาไหล, ความรัก (อุบัติเหตุ), ทวิภพ “ไม้เมืองเดิม” เมื่อสร้างแผลเก่า “ยาขอบ” เมื่อสร้างเพื่อน-แพง หรือหลวงวิจิตร-วาทการ เมื่อสร้างเลือดสุพรรณ

พ.ศ. ๒๕๔๓ ผมเตรียมงานสร้างข้างหลังภาพ ของ “ศรีบูรพา”

ข้อเขียนต่อไปนี้ เป็นผลจากปฏิบัติการดังกล่าว–

สถานีรถไฟมิตาเกะ สมัยศรีบูรพาไปเที่ยว

๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙, หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน เริ่มลงพิมพ์นวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ ของ “ศรีบูรพา” นับถึง ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้างหลังภาพ มีอายุ ๖๓ ปีเต็มแล้ว

๖๓ ปี ต่อจำนวนพิมพ์เท่าที่บ่งบอกเป็นหลักฐาน ๓๔ ครั้ง ส่วนที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่นับ

“หนังสือเล่มนี้ อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่ล้าสมัย อ่านเมื่อไหร่ก็อ่านได้ เพราะให้ทั้งความบันเทิงและปัญญากับผู้อ่านไปในตัว”

รศ. กอบกุล อิงคุทานนท์ นักวิจารณ์วรรณกรรม เขียนถึงข้างหลังภาพ เมื่อเธอหยิบมาอ่านซ้ำใหม่อีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่เคยอ่านหลายหนแล้วในหลายปีก่อน

ผมถามคุณป้าชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของ “ศรีบูรพา” ว่า-อะไรเป็นจุดบันดาลใจให้ครูคิดเขียนนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ

“น่าจะเริ่มมาจากการที่คุณกุหลาบได้ทราบเรื่องของหญิงสูงศักดิ์ ผู้มีความรู้ดี

การบ้านการเรือนเก่ง ไม่ว่าจะเย็บปักถักร้อยหรือปรุงอาหาร เธออายุมากแล้ว แต่ยังไม่ได้แต่งงาน”

“เป็นความจริงหรือเปล่าครับ ที่ว่ากันว่าต้นแบบบุคลิกของ ม.ร.ว. กีรติ คือพระนางเธอลักษมีลาวัณ”

“นั่นคงจะมาจากความเข้าใจของคุณไสว มาลยเวช (วารสารศรีบูรพา ฉบับวันนักเขียน เล่มที่ ๔ หน้า ๘๒) ที่เคยติดคุกบางขวางพร้อมกับคุณกุหลาบ–แต่ไม่ถูกนะคะ”

แล้วคุณป้าชนิดเปรย–

“บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ม.ร.ว. กีรติสวยสง่าเหมือน ม.จ. บรรเจิดวรรณวรางค์”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงมีธิดา ๑๐ องค์ เรียงพระนามตามลำดับ -พรพิมลพรรณ -วัลลภาเทวี (ท่านหญิงขาวหรือเตอะ) -วรรณีศรีสมร (ท่านหญิงต้อย) -อรทิพย์ประพันธ์ (ท่านหญิงตุ้ย) -นันทนามารศรี (ท่านหญิงเต่า) -ลักษมี-ลาวัณ (ท่านหญิงติ๋ว) -บรรเจิดวรรณวรางค์ (ท่านหญิงแต๋ว) -ศรีสอางค์นฤมล (ท่านหญิงตวง) -อุบลพรรณี (ท่านหญิงตัด) -ฤดีวรวรรณ (ท่านหญิงน้อย)

ม.จ. บรรเจิดวรรณวรางค์หรือท่านหญิงแต๋ว ทรงออกแบบ-ตัดเย็บชุดเจ้าสาวให้คุณป้าชนิดเมื่อจะแต่งงานกับ “ศรีบูรพา”

“ก่อนวันแต่ง ท่านหญิงแต๋วทรงพาไปลองเสื้อที่วังท่านหญิงต้อย และให้ท่านหญิงน้อยทรงร่วมติชมด้วย”

คุณป้าชนิดเพิ่มเติมความนี้ให้ผมได้รับรู้ ซึ่งแสดงถึงว่าคุณป้าชนิดกับ “ศรีบูรพา” ได้ใกล้ชิดกับธิดาในกรมพระนราฯ หลายองค์ โดยเฉพาะท่านหญิงแต๋ว

ดังนั้นการที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ท่านหญิงแต๋วคือต้นแบบแห่งความเป็น ม.ร.ว. กีรติของ “ศรีบูรพา” จึงมีเหตุผลน่าเชื่อ ถึงแม้คุณป้าชนิดจะแย้งว่า…

“จะเจาะจงว่าเป็นพระองค์ใดพระองค์หนึ่งคงไม่ถูกค่ะ น่าจะเป็นว่าเอาบุคลิกของเจ้าพี่เจ้าน้องสองสามองค์ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ มารวมกันมากกว่า”

ถ้าสองสามองค์ก็เห็นจะเป็น ท่านหญิงต้อย ท่านหญิงแต๋ว และท่านหญิงน้อย  สององค์แรกมิได้ทรงแต่งงานเลย ส่วนองค์หลังทรงแต่งงานสามหน !

พูดถึงที่มาของ ม.ร.ว. กีรติ ตัวละครสำคัญของเรื่องข้างหลังภาพ แล้ว ขอพูดถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ครูไปญี่ปุ่น จนได้สถานที่มาเป็นฉากในเรื่อง

ครูใช้ปากกาต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นอุดมการณ์ที่จะสร้างความเป็นประชาธิปไตยในสยามประเทศ เป็นผู้กล้าที่เขียนบทความ, เรื่องสั้น และนวนิยายโจมตี “เจ้า” ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หนังสือพิมพ์ที่ครูทำ ถูกอำนาจข่มเหง จนต้องปิดแล้วปิดอีกหลายฉบับ ครูตกยากและถูกคุกคาม แต่จะหนักหนาสาหัสอย่างไร ครูก็ยังเป็นชายชาติเสือที่ไม่ยอมลบลายตัวเอง

กระทั่ง ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ “เจ้า” เป็นใหญ่ มาเป็น “ราษฎร” เป็นใหญ่ แต่ครูต้องผิดหวัง เมื่อความเป็นใหญ่ไม่ได้เป็นของราษฎร หากแต่ตกอยู่ในกำมือของนายทหารบางคน ครูจึงใช้ปากกาเป็นอาวุธต่อสู้อีก

ตั้งแต่สมัยที่ครูต่อสู้กับ “เจ้า” อาจมี “เจ้า” หลายองค์โกรธ-พยาบาท แต่ “เจ้า” อย่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว-รัชกาลที่ ๗ และ ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ กลับชื่นชม

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน ฉบับแรก วางตลาดวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ นี่เป็นหนังสือที่ท่านวรรณ (ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ ซึ่งต่อมาดำรงอิสริยยศเป็นพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) เป็นเจ้าของ และครู-กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้จัดทำ

ท่านวรรณเปิดเวทีให้ครูใช้ปากกาสอนประชาธิปไตยแก่ประชาชน ครูได้ทำงานตามอุดมการณ์อย่างเที่ยงตรง ติ-ชมรัฐบาลโดยไม่มีอคติ จนกระทั่งถึงสมัยพันตรี แปลก พิบูลสงคราม หรือหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี

ครูเห็นว่ารัฐบาลนี้ใช้อำนาจเผด็จการ ทำหลายสิ่งที่ไม่ชอบด้วยความเป็นประชาธิปไตย ครูจึงใช้ปากกาต่อต้าน หลวงพิบูลฯ พยายามทำดีกับครู แต่ครูแยกเรื่องส่วนตัวกับงานในหน้าที่ออกจากกัน

“จอมพล ป. เป็นคนฉลาด…”

คุณป้าชนิดเล่าถึงเหตุการณ์ตอนจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก

ที่ว่าฉลาด คือ…

“…แต่งตั้งท่านวรรณเป็นที่ปรึกษา”

ท่านวรรณเป็นเจ้าภาพแต่งงานครูกับคุณป้าชนิด (พ.ศ. ๒๔๗๗) โดยจัดงานแต่งที่วังของท่าน แล้วประทานที่ดิน ๒๘๐ ตารางวาในซอยพระนางเป็นของขวัญวันแต่งงานให้ด้วย ครูกับคุณป้าปลูกเรือนหอบนที่ดินแปลงนี้-แปลงเดียวและบ้านหลังเดียวกับที่อยู่ในปัจจุบัน

“จอมพล ป. ทราบดีว่าหนังสือประชาชาติ เป็นของท่านวรรณ และคุณกุหลาบซึ่งเป็นคนทำ เคารพนับถือท่านวรรณมาก จอมพล ป. จึงหวังจะยืมปากท่านวรรณห้ามคุณกุหลาบไม่ให้เขียนโจมตีรัฐบาล”

“แล้วท่านวรรณห้ามหรือเปล่าครับ”

“เปล่าค่ะ ท่านเพียงแต่เปรยให้เพลาๆ ลงบ้าง แต่ไม่เคยห้ามอย่างจริงๆ จังๆ”

ถึงกระนั้นหลวงพิบูลฯ ก็ได้ต้อนครูเข้ามุมอับ ครูอึดอัดใจ พอดีในช่วงเวลานั้น หนังสือพิมพ์อาซาฮี ของญี่ปุ่นมีหนังสือเชิญครูไปดูงาน ครูจึงฉวยโอกาสพักงานที่ประชาชาติ แล้วเดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙

ครูคุ้นเคยกับราชนิกุลในราชสกุล “วรวรรณ” หลายองค์ โดยเฉพาะกับ ม.จ.หัตถ์ชากร น้องชายของท่านวรรณ ครูคุ้นเคยมากเป็นพิเศษ ช่วงเวลานั้น ม.จ. ฉันทนากร น้องชายอีกองค์หนึ่งของท่านวรรณพำนักอยู่ที่ญี่ปุ่น มีบ้านพักอยู่ที่ตำบลอาโอยามาชิ ท่านวรรณทรงแนะนำให้ครูไปพักอยู่กับท่านฉันทนากรที่บ้านหลังนี้ บ้านหลังนี้จึงน่าจะเป็นต้นแบบของบ้านเช่าที่ตำบลอาโอยามาชิฮัง ที่นพพรเช่าให้เจ้าคุณกับคุณหญิงกีรติพักระหว่างไป “ฮันนีมูน” ที่ญี่ปุ่น ส่วน “มิตาเกะ” ฉากสำคัญที่สุดของข้างหลังภาพ ที่ “ศรีบูรพา” เขียนถึงในบทที่ ๘-๙-๑๐ ได้มาจาก…

“วันหนึ่ง มิสเตอร์ฮานาโซโนแห่ง น.ส.พ. นิจินิจิ ซึ่งเป็นผู้บรรยายวิชาการหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวาเสดะและมหาวิทยาลัยเมจิ ได้พาข้าพเจ้าเดินทางไกลไปเที่ยวพักผ่อน ณ ภูเขามิตาเกะ…”

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในข้อเขียนเรื่อง “วัฒนธรรม-การกินอยู่” ที่ครูเขียนในนาม “ก.ส.” และไม่ต้องสงสัยเลยว่าครูต้องประทับใจกับการไปเที่ยวมิตาเกะอย่างมาก จึงได้นำมาเขียนไว้ในข้างหลังภาพ ถึงสามบท และให้เหตุการณ์สำคัญที่เป็นหัวใจของเรื่องเกิดขึ้นที่นั่น ภาพ “ริมลำธาร” ที่ซ่อนเร้นความหมายไว้ข้างหลังภาพ ก็คือลำธารที่ภูเขามิตาเกะ

คุณป้าชนิดบอกว่า ครูเป็นคนทำงานเป็นระเบียบ ไปไหนเห็นอะไรน่าสนใจ จะจดบันทึกไว้ คราวที่ครูไปดูงานหนังสือพิมพ์ที่ญี่ปุ่น สิ่งที่ครูจด จึงปรากฏอยู่ในข้างหลังภาพ ที่ครูเขียนลงหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน เมื่อกลับมาตอนปลายปี

“เขียนมาจากญี่ปุ่นหรือเปล่าครับ”

“เขียนที่บ้านหลังนี้แหละค่ะ”

คุณป้าชนิดหมายถึงบ้านในซอยพระนางที่อยู่มาทุกสมัยกลับจากญี่ปุ่น ครูไม่ได้กลับเข้าไปทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ อีก ครูเพียงแต่เขียนข้างหลังภาพ ส่งไปลงพิมพ์วันต่อวัน เริ่มฉบับแรก ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ต่อเนื่องกันไปจนถึง ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ จบบทที่ ๑๒ เป็นเหตุการณ์ตอน ม.ร.ว. กีรติกับนพพรลาจากกันที่ท่าเรือโกเบ

ความจริง “ศรีบูรพา” ตั้งใจจะจบข้างหลังภาพ เพียงเท่าที่เขียนในประชาชาติ คือจบแค่ ๑๒ บท แต่โดยที่ผู้อ่านชอบเรื่องนี้มาก ประกอบกับ “สำนักงานนายเทพปรีชา” ที่ครูกับเพื่อนร่วมกันตั้งขึ้น เห็นว่าน่าจะเอาข้างหลังภาพ มาพิมพ์รวมเล่ม และเพื่อจะให้มีจุดขายดียิ่งขึ้น ครูจึงเขียนต่ออีก ๗ บท โดยถือว่าที่เขียนจบในหนังสือพิมพ์ประชาชาติเป็นภาคแรกหรือภาคต่างประเทศ ส่วนที่เขียนใหม่เป็นภาคจบสมบูรณ์หรือภาคในประเทศ

ข้างหลังภาพ ที่อ่านกันอยู่ทุกวันนี้จึงมี ๑๙ บท

แต่ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๖ สำนักพิมพ์ “อุดม” จัดพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นของนักเขียนดังยุคนั้น ๑๒ เรื่อง ตั้งชื่อหนังสือว่าผาสุก เป็นหนังสือเล่มเล็กขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ก

จากหน้า ๒๕๕ ถึง ๒๗๓ เป็นเรื่องเอกของ “สรีบูรพา” ชื่อ “นพพร-กีรติ” มีข้อความนำเรื่องอยู่ในวงเล็บที่พิมพ์ด้วยอักขรวิธีสมัยจอมพล ป. ว่า

จดหมาย ๒ ฉบับ ที่ “สรีบูรพา” ประพันธ์ขึ้นไหม่นี้ เป็นบทพิเสส

ของเรื่อง “ข้างหลังภาพ” อันขึ้นชื่อลือนาม จดหมายของนพพรและกีรติ ๒

ฉบับนี้ เพิ่งจัดพิมพ์ขึ้นเปนครั้งแรกไนหนังสือเล่มนี้

ท้ายเรื่อง มีล้อมกรอบโฆษณาว่า…

คอยอ่าน “ข้างหลังภาพ” เรื่องเอกของ “สรีบูรพา” กำลังจัดพิมพ์

เปนครั้งที่ ๓ กำหนดออกเร็วๆ นี้

ผมเคยอ่านเด็กบ้านสวน อัตชีวประวัติของ “พ. เนตรรังษี” ได้ทราบว่าครูเคยไปเขียนจดหมายรักในเรื่องสงครามชีวิต บทหนึ่งที่มุมสงบท้ายสวน จึงถามคุณป้าชนิดว่า เวลาครูเขียนเรื่องรัก ครูต้องการบรรยากาศอย่างไร เช่น มีเสียงเพลงจากวิทยุประกอบ

“เงียบนะคะ เขียนอยู่ในห้องคนเดียวเงียบๆ”

“ครูเขียนเรื่องรักเก่ง ในชีวิตจริง ครูเคยนอกใจคุณป้าบ้างหรือเปล่า”

คุณป้าชนิดหัวเราะก่อนจะตอบเสียงหนักแน่นว่า-

“ไม่เคยค่ะ คุณกุหลาบซื่อสัตย์ต่อตัวหนังสือที่เขียนอย่างไร ชีวิตจริงก็ซื่อสัตย์อย่างนั้น เป็นคนอยู่ในศีลในธรรมสม่ำเสมอ”

“ขอประทานโทษครับ ตอนหลบภัยการเมืองไปอยู่จีน ๑๖ ปี ครูเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หรือเปล่า”

คำถามนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่น่าถาม แต่อยากรู้มานานแล้ว ต้องถาม ขณะนั้นอยู่กันามลำพังสามคน-คุณป้าชนิด พี่คำสิงห์ ศรีนอก (“ลาว คำหอม”) และผม

คุณป้าชนิดมองหน้าผม จริงจังต่อคำตอบ–

“เปล่าค่ะ”

“ปกติครูเป็นคนเครียดมั้ยครับ”

“เป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่เสมอนะคะ”

ผมตั้งใจทำข้างหลังภาพ เป็นหนังต่อจากแผลเก่า ซื้อเรื่องจากมูลนิธิ “ศรีบูรพา” ไว้แล้วด้วย ที่อยากทำเพราะอยากเห็นภาพ-ภาษาหัวใจแห่งความรักที่มิตาเกะ อยากเห็นบรรยากาศโรแมนติกยามค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวงที่สระน้ำในสวนสาธารณะอาโอยามาชิฮัง  อยากเห็นการลาจากอย่างอาลัยอาวรณ์ยิ่งระหว่างคุณหญิงกีรติกับนพพรที่ท่าเรือโกเบ และ–อยากเห็นอีกหลายๆ ความดื่มด่ำประทับใจจากตัวหนังสือถ่ายทอดมาเป็นภาพในหนัง  แต่เพราะยังหาผู้แสดงเป็น ม.ร.ว. กีรติไม่ได้ดังใจ หาเท่าไรๆ ก็ไม่ได้ ลงท้ายสละสิทธิ์ให้พี่เปี๊ยก โปสเตอร์ ทำก่อน

ณ วันที่ข้างหลังภาพ อายุครบ ๖๓ ปี ผมขอโอกาสถ่ายทอดความดื่มด่ำประทับใจจากตัวหนังสือมาเป็นภาพในหนัง–ย้อนเวลาเฟรมแรกของหนังสู่เวลาแห่งการเริ่มบทแรกของนวนิยาย–นพพรพบ ม.ร.ว. กีรติ ครั้งแรกที่สถานีรถไฟโตเกียวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ -ปีแรกที่นวนิยายลงพิมพ์

เมื่อผมส่งข่าวไปให้คุณซาโตะ (Tadao Sato) ทราบว่า ผมมีความคิดจะสร้างหนังเรื่องข้างหลังภาพ คุณซาโตะห้ามทันทีว่าอย่าทำเลย ไม่มีทางทำได้ มันเป็นไปไม่ได้ที่ผู้สร้างหนังไทย จะสร้าง “ความเป็นญี่ปุ่น” ให้คนญี่ปุ่นยอมรับ

คุณซาโตะเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ระดับที่นักเขียนอเมริกันผู้สันทัดญี่ปุ่นอย่างโดนาลด์ ริชี่ (Donald Richie) ยกย่องว่าเป็นหนึ่งเดียวของญี่ปุ่นที่เลอเลิศสุดๆ ท่านยังเป็นประธานสมาคมนักเขียน (ที่รวมนักวิจารณ์ภาพยนตร์และโทรทัศน์, ผู้อำนวยการสร้างงานโทรทัศน์, บรรณาธิการนิตยสารภาพยนตร์และโทรทัศน์) แล้วยังเป็นกรรมการบริหาร Tokyo National Museum of Modern Art Film Center เป็นผู้อำนวยการ Japan Film Library Council เป็นกรรมการ The Japan Foundationžs film committee เป็นผู้อำนวยการบริหารมหกรรมภาพยนตร์ Focus on Asia Fukuoka IFF และเป็นอะไรๆ อีกมากมายก่ายกอง รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษวิชาภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง แถมยังเป็นกรรมการสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ NHK ด้วย

คำห้ามของคุณซาโตะ ผมตอบด้วยการส่ง “เอโนะอุระ” (E NO URA) ข้างหลังภาพ ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดย ศ. มาซากิ โอโนซาวะ และ ดร. นิตยา (ภรรยาของท่าน) ไปให้อ่าน พร้อมกับเขียนโน้ตสั้นๆ ว่า “โปรดอ่าน แล้วจะรู้ว่าทำไมผมจึงอยากสร้างหนังเรื่องนี้”

ไม่ถึงสัปดาห์ คุณซาโตะตอบมาว่าอ่านจบแล้ว เป็นหนังสือที่ประทับใจมาก อีกทั้งแสดงความเอื้อเฟื้อ-ถ้าผมจะทำหนังจากนวนิยายเรื่องนี้ ท่านจะเชิญคุณคิมูระ (Takeo Kimura) ผู้กำกับศิลป์ที่ท่านเชื่อมือมาให้คำแนะนำในส่วนที่เกี่ยวกับญี่ปุ่น ด้วยความเป็นมาทำนองนี้แหละ คุณจันนิภา เจตสมมา กับผมจึงไปโตเกียวเพื่อศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ถ่ายทำและพบกับคุณทาดาโอะ ซาโตะ คุณฮิซาโกะ ซาโตะ (ภรรยาคุณซาโตะ) และคุณทาเคโอะ คิมูระ

เราได้พบกับทั้งสามท่านเมื่อเที่ยงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒

คุณคิมูระคือชายวัย ๘๑ ปี…น่าทึ่งกับความกระฉับกระเฉงของท่านจริงๆ…ทั้งๆ ที่อายุสูงปานนี้แล้ว ท่านก็ยังทำงานในหน้าที่ผู้กำกับศิลป์อยู่ เป็นหนึ่งในอัจฉริยะผู้กำกับศิลป์ของญี่ปุ่น ทั้งด้านภาพยนตร์ โทรทัศน์ และละครเวที เกียรติประวัติงานของท่าน NHK เคยนำเสนอทางทีวีเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๓ คุณคิมูระได้อ่าน “เอโนะอุระ” แล้วชื่นชอบมาก ท่านบอกเราว่าตอนท่านอายุ ๒๑-๒๒ ปี วัยเดียวกับนพพร ท่านอยู่ที่มิตาเกะ อะไรที่เราต้องการรู้เกี่ยวกับมิตาเกะในช่วงเวลานั้น ท่านถ่ายทอดให้เราได้

ก่อนออกเดินทางจากเมืองไทย ผมจดชื่อสถานที่ต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นตามที่ปรากฏในนวนิยายข้างหลังภาพ ไว้ครบถ้วน เป็นต้นว่าสถานีรถไฟโตเกียว มหาวิทยาลัยริคเคียว บ้านเช่าที่ตำบลอาโอยามาชิฮัง มิตาเกะ นิคโก้ โฮเต็ลไกฮิน ไดบัตสุ (ไดบุตสุ)และอื่นๆ อีกแบบไม่ยอมให้ขาดตกบกพร่อง

การแกะรอย “ศรีบูรพา” ตามหาข้างหลังภาพ ๓ สัปดาห์ในญี่ปุ่นได้พบเห็นบางสิ่งที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้ ดังนี้ครับ

สถานีรถไฟโตเกียว ที่นพพรไปรับเจ้าคุณอธิการบดีกับ ม.ร.ว. กีรติ ปัจจุบันนี้สภาพภายในไม่มีร่องรอยของเก่าให้เห็นแล้ว ส่วนสภาพภายนอกยังพอหลงเหลือตัวอาคาร

ที่ก่อสร้างด้วยอิฐอยู่บ้างด้านหน้าสถานี แต่ยอดโดมที่เห็นนั้นทำขึ้นใหม่ แบบใหม่ คุณจันนิภากับผมตระเวนไปตามร้านหนังสือ หารูปเก่า ได้บ้างแต่ไม่ชัดเจน ต่อเมื่อไปพิพิธภัณฑ์

รถไฟเพื่อดูลักษณะรถไฟสายโอซาก้า-โตเกียวที่ใช้กันใน พ.ศ. นั้น จึงได้หนังสือแบบจำลองสถานีรถไฟโตเกียวสมัยแรกสร้าง ก็ตั้งใจว่าจะนำมาเป็นแม่แบบสร้างให้เห็นจริงในภาพยนตร์

บ้านเช่าที่ตำบลอาโอยามาชิฮัง เป็นบ้านที่

“…เมื่อดูตามรูปทรงภายนอก ประกอบด้วยศิลปะของชาวตะวันตก

แต่การก่อสร้างภายในมีการสร้างห้องหับและการจัดและตบแต่งบ้านด้วย

เครื่องเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็นไปตามแบบอย่างชาวญี่ปุ่น…”

นพพรเช่าบ้านลักษณะนี้ให้เจ้าคุณอธิการบดีกับคุณหญิงกีรติพักระหว่างเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น ถ้าถามว่า-ทำไมต้องเช่าบ้านลักษณะนี้ด้วย ก็คงจะคาดคะเนได้ว่า ระหว่างดูงานหนังสือพิมพ์ที่ญี่ปุ่น “ศรีบูรพา” พักอยู่ที่บ้าน ม.จ. ฉันทนากร วรวรรณ ซึ่งอยู่ที่ตำบลอาโอยามา และบ้านหลายหลังในย่านนั้นปลูกในแบบ Combination of Japanese and Western Style คือรูปโฉมภายนอกดูเป็นแบบฝรั่ง แต่ภายในบ้านกลายเป็นแบบญี่ปุ่นบ้าง ฝรั่งบ้าง ผสมผสานกัน จึงน่าจะคาดคะเนได้ว่าบ้านของ ม.จ. ฉันทนากรหรือบ้านหลังใดหลังหนึ่งที่อาโอยามา เป็นบ้านที่ “ศรีบูรพา” กำหนดให้นพพรเช่าให้เจ้าคุณอธิการบดีกับคุณหญิงกีรติอยู่

ชื่อ “อาโอยามาชิฮัง” มีข้อสังเกตเรื่องคำลงท้ายครับ คุณซาโตะบอกว่าคำ “ชิฮัง” ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึงป้ายที่จอดรถรับส่งนักเรียน “อาโอยามาชิฮัง” จึงหมายถึงป้ายจอดรถรับส่งนักเรียนที่ตำบลอาโอยามา บ้าน ม.จ. ฉันทนากร หรือบ้านที่นพพรเช่าให้เจ้าคุณอธิการบดีกับกีรติอยู่ จึงน่าจะอยู่ไม่ไกลจากย่านที่รถรับส่งนักเรียนจอด

เราพยายามถามหาสระน้ำในสวนสาธารณะที่นพพรกับกีรติลงไปเล่นเรือกลางแสงเดือน ไม่ได้ผลครับ ไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย แต่เรายังเชื่อว่าตำบลอาโอยามาเคยมีสวนสาธารณะ และ “ศรีบูรพา” ต้องเคยไปเห็นมาแล้ว ที่เราไม่เห็น คงเพราะถูก “ญี่ปุ่นทันสมัย” แย่งชิงที่ดินไปปลูกป่าคอนกรีตหมดแล้ว

ใครไปโตเกียว อยากไปเยี่ยมเยียนตำบลอาโอยามาชิฮัง ดูชื่อสถานี AOYAMA แล้วให้รถไฟสายใต้ดินพาไป เดี๋ยวเดียวก็ถึง แต่อย่าผิดหวังเป็นอันขาด ถ้าไปเห็นแถวนั้นแออัดยัดเยียดไปด้วยตึกสูงทันสมัย

มหาวิทยาลัยริคเคียว (Rikkyo University) นพพรไปเรียนหนังสือที่ญี่ปุ่น เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยชื่อนี้ พ.ศ. ๒๔๘๐ เขาเรียนปี ๓ “ศรีบูรพา” ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่านพพรเรียนคณะอะไร แต่พิจารณาจากข้อเขียนของท่านที่แสดงให้ทราบว่าเมื่อนพพรเรียนจบแล้วจะอยู่ญี่ปุ่นต่ออีก ๒ ปีเพื่อหาความชำนาญด้านธนาคาร ริคเคียวสมัยนั้นมีคณะเศรษฐศาสตร์ (College of Economics) นพพรจึงน่าจะเรียนคณะนี้เพราะมีแนวทางไปสู่การธนาคารได้

คุณสมพล เสตสุวรรณ หนุ่มโสดที่ทำงานอยู่ธนาคารกรุงเทพ สาขาโตเกียว ตั้งข้อสังเกตว่าโตเกียวเป็นเมืองมด ตอนเช้าจะเห็นมด (คน) เดิน-เดิน-เดิน แล้วเบียดเสียดเยียดยัดกันลงรู (ทางลงรถไฟใต้ดิน) จะออกจากรูก็เย็น-ย่ำค่ำ ผมดูๆ ก็ชักจะเชื่อ แต่ก็ต้องทำตัวเป็นมดด้วยเหมือนกัน โดยลงรูที่ถนนกินซ่า แช่อยู่ในรูประมาณ ๒๐ นาทีไปโผล่ที่ Nishi Ikebukuro ขึ้นจากรูเดินเดี๋ยวเดียวถึงมหาวิทยาลัยริคเคียว

โบราณกาล ญี่ปุ่นปิดประเทศนานนับ ๓๐๐ ปี ถูกอเมริกาบีบบังคับจนจำเป็นต้องเปิดประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ ครั้นถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. ๑๘๗๔)

หมอสอนศาสนาอเมริกันชื่อ Channing Moore Williams ซึ่งพำนักอยู่ที่นางาซากิและโอซาก้านานจนพูดภาษาญี่ปุ่นได้ เขาเดินทางมาโตเกียวและตั้ง St. Paulžs College

เริ่มด้วยการสอนนักเรียนชายห้าคน แล้วต่อมา ณ ที่แห่งนี้ กลับกลายเป็นมหาวิทยาลัยริคเคียว

ปี ค.ศ. ๑๙๓๗ (พ.ศ. ๒๔๘๐) ที่นพพรเรียนอยู่ด้วยนั้น มหาวิทยาลัยริคเคียวมีแต่นักศึกษาชายล้วน (ปัจจุบันนี้มีนักศึกษาหญิงด้วย) เราเดินถ่ายรูปอาคารดั้งเดิมแรกตั้งที่ยังยืนยงอยู่มาจนปัจจุบัน เป็นอาคารอิฐศิลปะแบบทิวดอร์ ดูขลังด้วยความเก่าแก่และเถาไอวี่ที่เลื้อยคลุมผนัง เราถามนักศึกษาเรื่องเครื่องแบบ แต่นักศึกษารุ่นใหม่ไม่มีใครแต่งเครื่องแบบกันแล้ว ถึงแม้ยินดีจะตอบคำถาม แต่พวกเขาก็ให้ความชัดเจนแก่เราได้ไม่มาก

สามวันต่อมา คุณทวี พวงเกตุแก้ว นายแบงก์กรุงเทพ สาขาโตเกียว ได้จัดส่งรถพาคุณซาโตะไปที่มหาวิทยาลัยริคเคียวกับเราด้วย คราวนี้ทุกอย่างที่ต้องการทราบ ได้ทราบหมด เราได้เห็นเครื่องแบบนักศึกษาสีน้ำเงินเข้ม หมวกผ้าสีเดียวกัน หน้าหมวกติดเข็มชื่อมหาวิทยาลัยเป็นอักษรญี่ปุ่นสีทอง กระดุมเสื้อดุนลายเป็นชื่อมหาวิทยาลัยเช่นกัน  แล้วยังได้แบบรองเท้า แบบกระเป๋าใส่หนังสือที่นิยมกันใน พ.ศ. นั้นอีกด้วย

คุณคุ้ง-ต่อจรัส พงษ์สาลี นักศึกษามหาวิทยาลัยซึคูบะ (Tsukuba) ยังได้กรุณาส่งภาพถ่ายนักศึกษาแต่งเครื่องแบบของมหาวิทยาลัยริคเคียวมาให้อีกหลายภาพ พร้อมด้วยคำอธิบายเพิ่มเติมว่า “ตราที่ปกคอเสื้อแตกต่างกันไปตามคณะหรือ Club ที่สังกัด หรือบางคนก็ไม่ติดเลย แสดงว่ามันไม่ได้ Fixed เป็นของมหาวิทยาลัยที่แน่นอน เพราะฉะนั้นจะทำตราแบบไหนก็ไม่เพี้ยนจากความจริง”

นักศึกษาตัดผมสั้นใช่ไหม

ผมคาดคิดเอาเองว่า นักศึกษาญี่ปุ่นต้องตัดผมเกรียน แต่เมื่อค้นรูปดูกี่รูปๆ ไม่เห็นนักศึกษาคนไหนตัดผมเกรียนเลย อาจเป็นเพราะริคเคียวเป็นมหาวิทยาลัยฝรั่ง เรื่องผมสั้นหรือยาวจึงไม่มีระเบียบบังคับตายตัว

มหาวิทยาลัยริคเคียวยังได้เอื้อเฟื้อให้เอกสารเรามาศึกษาอีกสามเล่ม

คามาคูระ (Kamakura) คุณซาโตะพาเรานั่งรถไฟสายด่วน Yokosuka Line  ยังไม่ทันหายเพลินก็ไปถึงคามาคูระแล้ว จากนั้นท่านก็เช่าเหมาแท็กซี่พาเราตระเวนดูสิ่งที่หนังสือข้างหลังภาพ กล่าวถึง เช่น พระพุทธรูปไดบัตสุ หรือไดบุตสุ (Daibutsu) ซึ่งได้รู้ว่าแรกเริ่มเดิมที พ.ศ. ๑๗๘๑ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นไม้แกะสลัก ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง กระทั่งปี พ.ศ. ๑๗๙๕ จึงหล่อด้วยทองเหลืองแล้วประดิษฐานอยู่ในวิหาร ต่อมาเจอภัยสงครามบ้าง พายุไต้ฝุ่น-แผ่นดินไหว-คลื่นยักษ์ถล่มบ้าง จึงเหลือองค์อยู่กลางแจ้งอย่างที่เห็นอยู่ขณะนี้

เขียนมาถึงตรงนี้ ขอหมายเหตุแทรกไว้สักหน่อยว่า เมืองเก่าของญี่ปุ่นทุกเมือง มักจะมีวัดและศาลเจ้า ทั้งวัด (Temple) และศาลเจ้า (Shrine) ใหญ่โตมโหฬารพอๆ กัน แต่มีความแตกต่างให้สังเกต ถ้าเป็น Shrine จะมีคำ -gu, -Jinja หรือ -Jingu อยู่ด้วย เช่น

Tsurugaoka Hachiman-gu Shrine, Mitama-jinja Shrine เป็นต้น ปากทางเข้าสู่อาณาบริเวณ Shrine มักมีซุ้มประตูที่เรียกว่า Tori (ซึ่งมักทาสีแดง) Shrine เป็นศาลเจ้าของชินโต ส่วน Temple เป็นวัดในพุทธศาสนา มักจะมีคำ Ji, -tera หรือ -dera อยู่ด้วย เช่น Kencho-ji Temple

โฮเต็ลไกฮิน (Kaihin-so) ตื่นเต้นครับที่ได้มาเห็นโรงแรมไกฮินของเดิมที่คามาคูระ และค่อนข้างแปลกใจที่โรงแรมนี้ Two in One คือด้านหนึ่งเป็นแบบยุโรป อีกด้านหนึ่งเป็นแบบญี่ปุ่น (อย่างที่เรียกว่า Ryokan) ผมก็เลยเดินถ่ายรูปเสียทุกมุม  ป้ายโลหะที่ติดโชว์เป็นเครดิตอยู่หน้าโรงแรมเพิ่งทำขึ้นใหม่ ท่านผู้รู้ภาษาญี่ปุ่นแปลให้ทราบในภายหลังว่า

โรงแรมไกฮินสร้างในสมัยโทโร ปีที่ ๑๓ (ค.ศ. ๑๙๒๔) เดิมทีเป็นคฤหาสน์ของ มูราตะ อิจิโร่ ประธานบริษัทฟูจิเซจิ (ทำกระดาษ) ปัจจุบันเป็นเรียวกัง (โรงแรม) ชื่อไกฮิน-โสะ คามาคูระ ความโดดเด่นของอาคารนี้คือเป็นแบบ Western Style มีจุดเตะตาที่หน้าต่างชมวิวยื่นออกมาจากตัวอาคารและจั่วโครงสร้างเป็นแบบชัน ไม่เป็นสโลปอย่างที่เห็นกันทั่วๆ ไป

ปัจจุบันนี้โรงแรมไกฮินยังไม่ปิดกิจการ แต่ก็ไม่ได้เปิดรับผู้พักตามปกติเหมือนโรงแรมทั่วๆ ไป คือปิดเมื่อไม่มีแขกเหมาพัก แต่จะเปิดเมื่อทัวร์จองให้แขกมาพักจำนวนมาก

ว่าที่จริงโฮเต็ลไกฮินมีอีกแห่งหนึ่ง อยู่ไม่ไกลจากโฮเต็ลไกฮินที่ผมพูดถึง และน่าจะเป็น “ไกฮิน” ที่ “ศรีบูรพา” เขียนถึงมากกว่า แต่ปัจจุบันนี้ถูกทุบทิ้งไปแล้วเพื่อใช้ที่ดินสร้างสนามเทนนิสแทน

ภาษาญี่ปุ่น “ไกฮิน” แปลเป็นไทยว่า “ใกล้ทะเล” โฮเต็ลไกฮินอยู่ใกล้ทะเลตามชื่อ แต่ตอนนี้มองไม่เห็นทะเลเพราะมีสิ่งก่อสร้างอื่นบัง

คุณซาโตะพาเรานั่งรถเลียบทะเลดูหาด Hichiri-ga-hama ไปจนถึงเกาะ Enoshima ผมไม่ชอบตรงไหนเลย หาดทรายสีคล้ำไม่สวย โขดหินก็ไม่งาม แต่อากาศดีแน่นอน ที่ญี่ปุ่นจะอยู่ในเมืองหรือนอกเมือง หายใจได้เต็มปอดเสมอ

กามากูระ (ชื่อตามนวนิยาย) หรือคามาคูระ เป็นเมืองหลวงเก่า (พ.ศ. ๑๗๓๕-๑๘๗๖) สืบต่อจากนาระ (พ.ศ. ๑๒๕๓-๑๓๓๐) และเกียวโต (พ.ศ. ๑๓๓๗-๑๗๓๕) อยู่ห่างจากโตเกียวไม่มาก สามารถไปกลับในวันเดียวได้สบายๆ (แบบไปพัทยา) ใครไปเที่ยวคามาคูระ ถ้าจำเป็นต้องค้างคืน มักสมัครใจค้างที่โยโกฮามา เพราะมีโรงแรมมากกว่า ราคาก็ถูกกว่า และอยู่ไม่ไกลจากคามาคูระด้วย สำหรับโรงแรมไกฮินนั้น ไม่ได้อยู่ในย่านชุมชน จะว่าอยู่ใกล้ทะเล ก็ไม่ใกล้ถึงขนาดติดทะเล จึงต้องปิดและเปิดทำการอย่างที่บอก

มิตาเกะ ฉากสำคัญที่สุดของข้างหลังภาพ และเป็นที่มาของภาพเขียนชื่อ “ริมลำธาร”

ก่อนไปญี่ปุ่น เราพยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับมิตาเกะจากคนไทยบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง แทบทุกคนบอกว่าไม่รู้จัก บางคนว่าอาจไม่มีอยู่จริง แต่บางคนก็ยืนยันว่ามีแน่นอน

ผู้ปรารถนาดีท่านหนึ่งบอกผมว่า มิตาเกะ คือมิตากะ (Mitaka) เพราะสมัยก่อนญี่ปุ่นใช้อักษรจีน คนไทยเห็นภาษาญี่ปุ่นจึงมักเอาไปให้คนจีนช่วยอ่าน เมื่ออ่านตามสำเนียงจีน มิตากะ (Mitaka) ก็กลายเป็นมิตาเกะ (Mitake) เพราะฉะนั้นเราควรจะไปมิตากะ (Mitaka)

ด้วยข้อสันนิษฐานนี้ เมื่อไปถึงญี่ปุ่น ก่อนถึงวันนัดพบกับคุณคิมูระ ถึงแม้ว่าเราจะตรวจสอบแล้วว่ามีสถานีรถไฟชื่อมิตาเกะอยู่นอกกรุงโตเกียว แต่เพราะอยากตรวจสอบให้แน่ใจ เราจึงนั่งรถไฟที่สถานีชินจูกุสาย Chuo Line ไปลงที่ Mitaka เราใช้เวลาสอบถามใครต่อใคร แต่ไม่มีใครรู้เห็นเลยว่ามีภูเขามิตาเกะหรือภูเขาอื่นใดในตำบลนี้ และเท่าที่ดูด้วยตาตนเองไปรอบเมือง ก็ไม่เห็นภูเขาเลยแม้แต่ลูกเดียวกลับโตเกียว ค้นดูตามเอกสารโฆษณานำเที่ยวทั้งหลายแหล่ที่มีเผยแพร่ในโรงแรม ไม่พบชื่อมิตาเกะเลย แสดงว่ามิตาเกะคงไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางนัก เราพึ่งคุณซาโตะอีก คุณซาโตะพาเราสองคนเข้าร้านหนังสือคิโนคุนิยะ แป๊บเดียว ได้หนังสือญี่ปุ่นเล่มบางๆ มาเล่มหนึ่ง พาเราข้ามถนนไปนั่งในร้านกาแฟ แล้วเปิดหนังสือเล่มจ้อยนั้นแจกแจงเรื่องราวเกี่ยวกับมิตาเกะ (ซึ่งคุณซาโตะเอง อายุ ๗๑ ปีแล้ว ยังไม่เคยไปเลย) พร้อมกับชี้ตำแหน่งแห่งหนในแผนที่ให้เราเดินทางไปได้ถูก

สถานีรถไฟมิตาเกะ (ปัจจุบัน)

โรงแรมไกอิน

คุณทวี พวงเกตุแก้ว อีกตามเคย ช่วยจัดรถเก๋งและให้คนขับรถชาวญี่ปุ่นพาเราไปมิตาเกะในวันรุ่งขึ้น มีคุณสมพลไปเป็นเพื่อนด้วย คุณชายญี่ปุ่นคนขับรถบอกว่า จากโตเกียวไปมิตาเกะใช้เวลาเดินทาง ๑.๓๐ ชม. เราออกจากโรงแรม Ginza Daiichi เวลา ๘.๐๐ น. กะว่า ๙.๓๐ หรืออย่างช้า ๑๐.๐๐ น. คงไปถึง แต่เอาเข้าจริง รถติดบ้าง หลงทางบ้าง กว่าจะถึงก็เลยเที่ยง เรากินข้าวเที่ยงที่ร้านอาหารญี่ปุ่นหน้าสถานีรถไฟมิตาเกะ  หลังอาหารจึงออกตระเวนโดยเริ่มต้นขึ้นรถบัสที่สถานี Mitake เพื่อไปขึ้นรถกระเช้าไฟฟ้าด้วยความหวังว่าจะได้ขึ้นไปถึงยอดเขามิตาเกะ เราพยายามจะสำรวจร่องรอยการเดินทางของนพพร-กีรติ แต่รถกระเช้าพาเราขึ้นเขาแค่ครึ่งเดียว เราลองเดินเท้าต่ออีกครึ่งชั่วโมงถึงศูนย์นักท่องเที่ยว Mitake Visitor Center และศาลเจ้ามิตาเกะ (Mitake Shrine)  ถามคนผ่านทางว่าจะขึ้นไปถึงยอดเขาได้หรือเปล่า เขาตอบว่าได้ แต่ไม่มีทางให้รถยนต์ขึ้น ต้องเดินเท้าสถานเดียว ใช้เวลาราว ๒ ชั่วโมง ซึ่งพอไปถึงก็จะมองอะไรไม่เห็นแล้ว เพราะช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมเริ่มเข้าหน้าหนาว พระอาทิตย์ตกเร็ว แค่บ่ายสามโมงก็เริ่มมืด เราเลยจำจากมิตาเกะโดยยังมีหลายคำถามค้างคาใจอยู่

อีก ๓ วันต่อมา คุณจันนิภากับผมย้อนกลับไปมิตาเกะอีก คราวนี้ไปทางรถไฟแบบนพพร-กีรติ โดยขึ้นรถไฟสาย Chuo Line ที่สถานีชินจูกุ (มีทั้งรถธรรมดาและรถด่วน) และไปเปลี่ยนรถเป็นสาย Ome Line ที่สถานี Tachikawa (จากชินจูกุถึงทาชิกาวา รถแล่นประมาณ ๓๗ นาที) จากสถานีทาชิกาวา (ไม่นับสถานีเล็กสถานีน้อย) รถไฟจะแล่นผ่านสถานีใหญ่ซึ่งถือเป็นชุมทางสองแห่งคือ Haijima และ Ome จากโอเมไปอีกหกสถานี  สถานีที่ ๖ ชื่อ Sawai ต่อจากสถานี Sawai นี่แหละ จะถึง Mitake รวมเวลาเดินทางจากสถานีทาชิกาวาถึงมิตาเกะ ๔๘ นาที รวมเวลาทั้งสิ้นตั้งแต่รถออกจากชินจูกุก็ ๑ ชั่วโมง ๒๕ นาที หากจะรวมเวลารอต่อรถที่ทาชิกาวาด้วยก็รวมเวลาเดินทางทั้งสิ้นไม่เกินชั่วโมงครึ่ง

สถานีรถไฟมิตาเกะเปิดทำการเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ป้ายสถานีเก่า (ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์) ถูกย้ายไปไว้ที่อื่น ที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นของใหม่ สภาพอาคารสถานี

เปลี่ยนแปลงจากของเดิมบ้างเล็กน้อย สังเกตได้จากภาพถ่ายที่ใส่กรอบแขวนไว้เหนือประตูทางออกหน้าห้องขายตั๋ว เราได้ก๊อบปี้ภาพถ่ายต้นแบบมาเปรียบเทียบโดยตั้งใจจะปรับเปลี่ยนให้สถานีถอยเวลากลับไปอยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๐

สถานีรถไฟมิตาเกะอยู่สูงกว่าระดับถนนประมาณ ๑ เมตร ร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก และร้านอาหาร ฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟตามที่หนังสือข้างหลังภาพ บรรยายยังมีให้เห็นอยู่ ที่จอดรถบัสก็ยังมีอยู่

หลังร้านค้าหน้าสถานีมีสายน้ำกว้างเป็นแม่น้ำสายหลักของที่นี่ เรียกเป็นทางการว่าทามะกาวะ คำว่า “กาวะ” แปลว่า “แม่น้ำ” ใครที่ไปมิตาเกะครั้งแรก คงไม่เว้นที่จะเดินดูแม่น้ำทามะ ผมจึงเชื่อว่า “ศรีบูรพา” ก็คงใช้แม่น้ำทามะเป็นฉากลำธารในข้างหลังภาพ ด้วย

…ออกจากสถานีมาสู่ถนนใหญ่ เราก็อาจที่จะมองเห็นความงามของ

ธรรมชาติ มีลำธารที่กว้างใหญ่ เนินหิน และสีเขียวของพฤกษชาติ ดารดาษ

อยู่ในคลองจักษุของเรา…

แน่นอน ลำธารที่กว้างใหญ่ เนินหิน -ตามคำบรรยายของ “ศรีบูรพา” คือแม่น้ำทามะ

เมื่อได้พักผ่อนเที่ยวเตร่ตามบริเวณชุมนุมชนพอสมควรแล้ว เราได้เดินทางโดยรถยนต์ต่อไปอีก กินเวลาประมาณ ๔๐ นาที รถแล่นขนานไปกับลำธารซึ่งมีน้ำใสสะอาดจนสามารถจะแลเห็นก้อนหินตะปุ่มตะปํ่าอยู่ภายใต้พื้นน้ำ

อีกด้านหนึ่งของถนนเป็นเนินเขาลำเนาไม้เขียวชอุ่มด้วยพฤกษาใหญ่น้อยหลากพรรณ…

ทั้งหมดนี้ ตรงกับสภาพของแม่น้ำทามะทุกอย่าง มร. ฮานาโซโน คงพา “ศรีบูรพา” นั่งรถแล่นไปตามถนนเลียบแม่น้ำทามะ ผมเองเมื่อแรกเห็น ก็คิดว่าสายน้ำนั้นเป็นลำธาร และถึงแม้จะได้ทราบทั้งจากเอกสารและคำบอกเล่าของคนญี่ปุ่นว่าเป็นแม่น้ำ ผมก็ยังสมัครใจจะเรียกลำธารอยู่ดี แม่น้ำทามะไหลยาวไปถึงโตเกียว ผ่านที่ไหน ที่นั่นได้ชื่อว่าอยู่ในเขตโตเกียวหรือจังหวัดโตเกียว มิตาเกะจึงเป็นตำบลหนึ่งของจังหวัดโตเกียวโดยอยู่ในอำเภอไซตามะ ชานกรุงโตเกียว

มาพิจารณาความตอนต่อไป เมื่อนพพร-กีรติลงจากรถ-เดินทางที่เราเดินมานั้นได้ลาดต่ำลงมา จนในที่สุดลาดชิดติดไปกับลำธารเราได้มาถึงต้นทางน้ำตกซึ่งเป็นบ่อเกิดของลำธารกว้างใหญ่ที่เราได้ผ่านมา…

ภูเขามิตาเกะนั้นเป็นหนึ่งในเทือกเขาซึ่งประกอบด้วยภูเขาหลายลูก เป็นต้นว่า โอตาเกะ, ตาคาอิวะ, นาเบวะริ, โอคุโนอิน, โอตสุกะ, ฮิโนเดะ, คาราไค, ทากะมิซึซัง,โซกากึซัง ส่วนที่เป็นน้ำตกจิ๊บจ๊อยก็น้ำตกนานาดะ น้ำตกเซโย ที่เป็นน้ำตกใหญ่ก็มีน้ำตกนานาโยกับอะยาฮิโร ถ้านพพร-กีรติ นั่งรถบัสมาจากสถานีรถไฟมิตาเกะ ก็คงจะลงจากรถบัสที่สถานีทาคิโมโตซึ่งอยู่ห่างไกลจากน้ำตกใหญ่ที่ผมเอ่ยชื่อทั้งสองแห่งมาก

จากจุดนี้มีทางเดินเท้าผ่านป่าซีดาร์ (สน) ไป ๑ ชั่วโมงถึงศาลเจ้ามิตาเกะ (Mitake Shrine) จึงน่าจะเป็นไปได้ว่านพพร-กีรติ เดินอยู่ในอาณาบริเวณทาคิโมโตถึงมิตาเกะ-ดาอิระ หรือสูงสุดก็แค่ยอดเนินฟูจิมิเนะซึ่งปัจจุบันรถกระเช้าไฟฟ้าพาไปถึง บริเวณดังกล่าวนี้ ดูตามแผนที่แล้วไม่มีน้ำตกใหญ่เลย ทางขึ้นน้ำตกนานาโยมีอีกทางหนึ่งตรงที่รถบัสจากคามิโย-ซาวะจอด แต่นั่นหมายถึงว่าไม่ได้ลงรถไฟที่สถานีมิตาเกะอย่างนพพร-กีรติ

ธรรมดาคนญี่ปุ่นเมื่อไปเที่ยวภูเขา ชอบที่จะเดินป่า กางเต็นท์นอน เสพอากาศบริสุทธิ์ มากกว่าจะมุ่งไปน้ำตกอย่างเดียว และอีกอย่าง คนญี่ปุ่นชอบออกกำลังกายด้วยการเดินเท้าขึ้นเขาลงห้วย ถนนสำหรับรถผ่านป่าเขาไปถึงน้ำตกจึงไม่มีจนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีแต่ถนนชั้นดีสำหรับเดินเท้าเท่านั้น

และเมื่อกลับมาทบทวนเรื่องราวที่ “ศรีบูรพา” ไปเที่ยวมิตาเกะกับ มร. ฮานาโซโน

มิสเตอร์ฮานาโซโนเป็นผู้มีอายุราว ๔๕ ปี ชอบการเที่ยวพักผ่อนหาความสงบแบบผู้ใหญ่ เมื่อลงจากเขาในตอนบ่ายวันนั้น…

แบบผู้ใหญ่ คือเที่ยวอย่างเรียบๆ ส่วนตอนบ่าย แสดงถึงว่าอยู่บนเขามิตาเกะไม่นานประมาณว่าพอขึ้นไปถึง เดินเล่นตามสถานที่ที่คนอื่นเขาเดินกันสักพักแล้วกลับ

จากข้อมูลนี้จึงน่าจะอนุมานได้ว่า ฉากรักบนเขามิตาเกะระหว่างนพพร-กีรติ ในส่วนที่ไม่ตรงกับสถานที่ที่เป็นอยู่จริง คงจะเป็นจินตนาการของ “ศรีบูรพา” เอง

ในการสร้างข้างหลังภาพ เป็นภาพยนตร์ครั้งนี้ เราตั้งใจจะให้เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นตรงกับยุคสมัยของบทประพันธ์ คือช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๙-๒๔๘๗

งานค้นคว้า ไม่เฉพาะแต่ฉากที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ฉากเมืองไทย อาจารย์ณัฐวี ทศรส ผู้ช่วยของผมก็ค้นคว้าอย่างหนักหนาสาหัสเหมือนกัน อย่างฉากท่าเรือมิตซุยบุย-ซันไกซา เธอก็ซอกซอนด้วยความเพียรจนได้รายละเอียดว่าตั้งอยู่ที่ไหน มีสภาพอย่างไร เรือสินค้าที่นพพรโดยสารกลับจากญี่ปุ่นมีชื่อ-มีลักษณะอย่างไร คุณป้าชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาคู่ชีวิตของ “ศรีบูรพา” ก็ช่วยให้ข้อมูลทุกด้าน ทั้งจากปากคำและภาพถ่าย

เราพยายามกันเต็มที่ที่จะเก็บชีวิต-วิญญาณของตัวหนังสือจากหัวใจของ “ศรีบูรพา” ประทับไว้ในภาพยนตร์ข้างหลังภาพ ให้งดงามทัดเทียมกัน ด้วยความตั้งใจจะให้เป็นผลงานบูชาครู-“ศรีบูรพา”

งานสร้างภาพยนตร์ข้างหลังภาพ ผ่านไปแล้ว ผมเขียนบทสงครามชีวิต ต่อทันที และเสร็จแล้วด้วย แต่จะลงมือสร้างได้เมื่อไหร่…คำตอบไม่ได้อยู่ที่ผมคนเดียวครับ.