อาจิณ จันทรัมพร
คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งเป็นมิตรที่คุ้นเคยกันมาก ได้ปรารภมาว่าได้ร่วมเป็นกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึก ๑๐๐ ปีศรีบูรพา เนื่องในวโรกาสที่นักเขียนเอกท่านนี้ได้รับคัดเลือกจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งถือเป็นนักเขียนสามัญชนท่านหนึ่งที่ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้ ขอให้ผมซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีความสนใจและยกย่อง ทั้งเป็นผู้เสาะแสวงหาผลงานประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” มาพิมพ์ขึ้นในโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายากให้แก่สำนักพิมพ์ดอกหญ้า โดยเป็นทั้งบรรณาธิการและผู้รวบรวมงาน ได้เขียนอะไรๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง เมื่อผมได้รับการปรารภและเชิญชวนจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เช่นนี้ ถือว่าได้รับเกียรติสูง โดยเหตุสองประการ คือจะได้สนองเจตนาดีของคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี มิตรผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการหนังสือประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งจะได้เขียนแสดงความเทิดทูนต่อนักเขียนเอกท่านนี้ ซึ่งผมมีความสนใจและคลั่งไคล้ผลงานของท่านมาเป็นเวลายาวนานจวบจนถึงกาลปัจจุบัน
ผมมีความปฏิพัทธ์ต่อ “ศรีบูรพา” มาเป็นเวลาช้านานดังที่กล่าวแล้ว จึงจะขอเล่าเท่าที่พอจะจำได้ และถ้าการเล่าจากความจำนี้เกิดผิดพลาดไปบ้าง ก็หวังว่าท่านผู้อ่านคงให้อภัย ด้วยคนวัยสูงซึ่งมีอายุถึง ๘๕ ปีอย่างผมนั้น ความจำคงจะเลอะเลือนไปบ้างอย่างแน่นอน
เมื่อผมเริ่มอ่านหนังสือแตก และยังเรียนอยู่ชั้นประถมปลาย ผมเริ่มติดการอ่านหนังสือทั่วๆ ไปแล้ว และคงจะเป็นผู้รักการอ่านมาแต่นั้น สำหรับหนังสือที่อ่าน หาได้เรื่องอะไรก็อ่านทั้งนั้น จึงไม่แน่ใจว่าในช่วงนี้จะเคยอ่านงานเขียนของ “ศรีบูรพา” แล้วหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ตอนเป็นหนุ่ม พ.ศ. ๒๔๘๔ ผมพบหนังสือเล่มบางๆ เล่มหนึ่งชื่อวันชาติ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของนักเขียนดังสี่ท่าน คือ “แม่อนงค์” “อบ ไชยวสุ” “ส. เทียนศิริ” และท่านนักเขียนเอก “ศรีบูรพา” เป็นผู้เขียนเรื่อง “นอบ” ซึ่งเป็นเรื่องสั้นขนาดสั้น ผู้รวบรวมหนังสือเล่มนี้คือ ประพันธ์ มีชูโชติ และจำหน่ายเล่มละ ๑๕ สตางค์ ซึ่งเป็นราคาไม่ถูกไม่แพงสำหรับสมัยนั้น ผมอ่านเรื่อง “นอบ” นี้ด้วยความพอใจและติดใจ ตอนหลังมาทราบว่า”ศรีบูรพา” เขียนเรื่องนี้ให้แก่หนังสือ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านคงจะบรรจงเขียน จึงถือเป็นเรื่องสั้นที่ดีเรื่องหนึ่ง หลังจากนี้ผมได้อ่านเรื่องอะไรของ “ศรีบูรพา” อีกบ้างความจำก็รางเลือนเต็มที มาจับเอาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ซึ่งยังอยู่ในกาลเวลาของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้มีสำนักพิมพ์ของคนไทย คือคุณอุดม ชาตบุตร ชื่อ สำนักพิมพ์ “อุดม” อยู่ใกล้ ปณ. ป้อมปราบ ถนนเจริญกรุง ได้พิมพ์งานของ “ศรีบูรพา” ซึ่งถือเป็นงานอันยิ่งใหญ่ คือเรื่องข้างหลังภาพ และเป็นการพิมพ์เป็นเล่มครั้งที่ ๒ ผมก็ซื้อมาไปอ่าน ราคาปกแข็งดูเหมือนเล่มละ ๖ บาท นวนิยายเรื่องนี้เดิมที “ศรีบูรพา” ได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รวมเล่มครั้งแรกโดยสำนักงานนายเทพปรีชา ซึ่งคือ “ศรีบูรพา” เองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ผมอ่านเรื่องนี้ด้วยความหลงใหล จำได้ว่าอ่านซ้ำอยู่หลายครั้ง สำนักพิมพ์ “อุดม” นี้ ยังพิมพ์งานอื่นๆ ของ “ศรีบูรพา” อีกเช่นเรื่อง “สุนทรี” พิมพ์รวมกับเรื่อง “หวังเพื่ออยู่” ของ “บุหรง” (สด กูรมะโรหิต) กับอีกเล่มหนึ่งเป็นการรวมหลายๆ เรื่องชื่อว่า ผาสุก มีเรื่องของ “ศรีบูรพา” ชื่อ “นพพร-กีรติ” ซึ่งเป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างตัวละครในเรื่อง ข้างหลังภาพ ผมก็ซื้อมาอ่าน และยังคงเก็บไว้ทั้งสองเล่มจนบัดนี้
ผมเฝ้าติดตามงานของ “ศรีบูรพา” มาอย่างต่อเนื่องในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เศษๆ มีนิตยสารชั้นดี อันมี เอกชน สวนอักษร และ ศิลปิน ของค่ายอักษรนิติ ซึ่งมีงานเขียนของ “ศรีบูรพา” อยู่ประปราย ข้อเขียนที่ผมติดใจมากๆ คือข้อเขียนชุด “เรื่องของเขา” ซึ่งถือเป็นความเรียง ผมเฝ้าติดตามมาโดยตลอด จนในที่สุดเก็บรวบรวมมาได้ถึง ๑๕ เรื่อง และมีความภูมิใจมากๆ เมื่อตนเองได้มาทำหน้าที่บรรณาธิการให้แก่สำนักพิมพ์ดอกหญ้า และนำข้อเขียนชุดนี้มาพิมพ์รวมเล่มที่สมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ นี่เอง ยังมีเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมพอใจมากเช่นกัน เรื่องสั้นนี้ “ศรีบูรพา” เขียนให้แก่คุณหลวงสารานุประพันธ์ เพื่อนำลงพิมพ์ในหนังสือแม่จ๋า อันเป็นหนังสือแจกในงานศพมารดาของคุณหลวงท่านนี้ “ศรีบูรพา” ให้ชื่อเรื่องว่า แม่ทำอะไรบ้างหนอ? ผมอ่านแล้วจับใจมาก ตอนหลังผมได้นำมารวมไว้ในหนังสือชื่อ นิพนธสารของศรีบูรพา ซึ่งผมพิมพ์ในนามสำนักพิมพ์ดอกหญ้าเมื่อหลายปีก่อน
หนังสือนวนิยายของ “ศรีบูรพา” มีอีกเล่มหนึ่งที่ผมติดใจอ่านอย่างคลั่งไคล้ และท่านเขียนไล่ๆ กับเรื่อง ข้างหลังภาพ แต่จะก่อนหรือหลังไม่แน่ใจก็คือเรื่อง สงครามชีวิต เรื่องนี้ได้รับการพิมพ์ซ้ำจากสำนักพิมพ์เก่าๆ หลายครั้ง เฉพาะที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้าที่ผมรับผิดชอบก็นำมาพิมพ์ซ้ำหลายครั้งเช่นกัน
ผมมีโอกาสพิมพ์งานประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” เป็นครั้งแรก เมื่อมารับเป็นบรรณาธิการให้แก่สำนักพิมพ์ดอกหญ้า บริษัท สามัคคีสาส์น จำกัด เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยประเดิมงานย่อยๆ สี่ชิ้น นั่นคือเรื่อง “สุนทรี”, “นอบ”, “นพพร-กีรติ” และ “แม่ทำอะไรบ้างหนอ?” โดยตั้งชื่อศรีบูรพากับบทประพันธ์ ๔ เรื่อง ปรากฏว่าขายดี เพราะเท่ากับเป็นการเปิดตัว “ศรีบูรพา” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในตอนหลังเรื่องนี้ได้มีการพิมพ์ซ้ำ ก็ปรากฏว่ายังขายดีอยู่ ต่อมาได้พิมพ์อีกเล่มหนึ่งชื่อ เรื่องของเขาและศรีบูรพากับบทประพันธ์ในบรรณพิภพ เริ่มเปิดตัวบทความชุด เรื่องของเขา ซึ่งมีเพียงห้าเรื่อง (เท่าที่ค้นได้ในตอนนั้น) กับรวมบทความเบ็ดเตล็ดที่ “ศรีบูรพา” เขียนไว้ในหนังสือต่างๆ เช่นเรื่อง “ไปสู่ความระยิบระยับแห่งจักรวาลนั้น” ซึ่ง “ศรีบูรพา” เขียนให้แก่น้องใหม่ที่กำลังลุ่มหลงในงานประพันธ์ และริเริ่มทำหนังสือพิมพ์ชื่อเวียงสันต์ โดยมี เรืองยศ ทองโรจน์ เป็นบรรณาธิการ และ สุวัฒน์ วรดิลก เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ มี บุญหยด พันธุ์เพ็ง ร่วมกองบรรณาธิการ ในเรื่อง “ไปสู่ความระยิบระยับแห่งจักรวาลนั้น” มีภาพสเกตช์ของ “ศรีบูรพา” ลงประกอบด้วย เป็นภาพลายเส้น ฝีมือ “พนม” (พนม สุวรรณบุณย์) จิตรกรฝีมือดี ผู้เขียนภาพประกอบและภาพปกของหนังสือนวนิยายเป็นส่วนใหญ่ในยุคนั้น ภาพสเก็ตช์ของ “ศรีบูรพา” ภาพนี้ ผมชอบมาก นำมาประกอบปกหนังสือ เรื่องของเขาและศรีบูรพากับบทประพันธ์ในบรรณพิภพ เป็นประเดิม แล้วภาพนี้ก็เป็นที่สนใจของใครต่อใครในภายหลัง ทั้งขณะนี้น่าจะเป็นภาพต้นแบบที่นำมาเป็นโลโก้หนังสือของ “ศรีบูรพา” ที่จะจัดพิมพ์ในช่วงที่ “ศรีบูรพา” ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลกด้วย
“ศรีบูรพา” ถือว่าเป็นนักประพันธ์ที่มีผลงานทั้งเรื่องแปลและเรื่องที่เขียนขึ้นเองมากท่านหนึ่ง ท่านเริ่มเขียนหนังสือไล่เลี่ยกับ “แม่อนงค์” “ฮิวเมอริสต์” “พ. เนตรรังษี” และ “เวทางค์” สมัยที่ท่านและชาวคณะเปิดห้องเกษมศรีร่วมกัน “ฮิวเมอริสต์” จัดทำนิตยสารสุภาพบุรุษ ก็เขียนเรื่องสั้นไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องยาวคือเรื่องปราบพยศ ก็เริ่มกันที่นี่ ผมเคยค้นพบว่า ท่านได้ร่วมงานกับ “เฉลิมวุฒิ” ที่นิตยสารสมานมิตรบรรเทิง ท่านเริ่มใช้นามปากกา “ศรีบูรพา” เป็นครั้งแรก โดยเป็นบทความเชิงวิจารณ์หรือบทบรรณาธิการอะไรทำนองนั้น นอกจากนี้ยังเขียนบทลำตัด ใช้นามปากกา “หมอต๋อง” ผมก็เคยอ่านงานของท่านมา
พูดถึงงานเขียนของ “ศรีบูรพา” ในสมัยที่ท่านเข้ารับหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ หนังสือพิมพ์ของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ โดยทำงานร่วมกับคุณหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการ “ศรีบูรพา” ก็เขียนเรื่องสั้นไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่อง “ความผิดของพ่อบ้าน” ใช้นามจริงว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ ลงพิมพ์ในนิตยสารเสนาศึกษาฯ เล่ม ๑๒ ตอนที่ ๖ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ผมก็เคยอ่านและยังพบเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งเขียนในนาม กุหลาบ สายประดิษฐ์ เช่นกัน ชื่อเรื่องว่า “วาสนามนุสส์” ลงพิมพ์ในเล่มที่ ๑๐ ตอนที่ ๗ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ (คือเขียนเมื่อมีอายุได้ ๒๑ ปี “ศรีบูรพา” เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘)
เมื่อเร็วๆ นี้มีมิตรรุ่นน้องนำเรื่องสั้นเก่าแก่มาให้ผม ด้วยเห็นว่าผมนั้นเล่น “ศรีบูรพา” อยู่ เรื่องสั้นนั้นชื่อเรื่องว่า “ความรักของปุถุชน” ลงพิมพ์ในหนังสือ ช่วยกาชาด ปีที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๗๓ เรื่องสั้นเรื่องนี้ทราบว่ายังไม่ได้นำมารวมพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มใดๆ ที่มีการรวบรวมในระยะหลังนี้เลย กับอีกเรื่องหนึ่งซึ่งถือเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวก็พอได้ ชื่อเรื่องว่า พิษนางกำนัล ประพันธ์โดย “ศรีบูรพา” เป็นเล่มหนังบางๆ เขียนปกโดย “เฉลิมวุฒิ” ขายเล่มละ ๓๕ สตางค์ เข้าใจว่า “ศรีบูรพา” อาจจะพิมพ์ขายเอง พิมพ์ที่โรงพิมพ์เฮงหลีเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙
หนังสือเล่มของ “ศรีบูรพา” ยังมีอยู่อีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจ และผมหาซื้อและค้นหามาได้บางเล่ม คือชุดที่ “ศรีบูรพา” นำมาพิมพ์เองในนามสำนักพิมพ์”นายเทพปรีชา” ซึ่งก็คือสำนักพิมพ์ของ “ศรีบูรพา” ได้แก่เรื่องลูกผู้ชาย พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ ขายเล่มละ ๑.๒๕ บาท และข้างหลังภาพ ซึ่งพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ในระยะหลัง “ศรีบูรพา” และคุณชนิด สายประดิษฐ์ ศรีภริยาได้ร่วมกันตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นอีกชื่อ สำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้พิมพ์เรื่องสงครามชีวิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งถือเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๔ และพิมพ์เรื่องข้างหลังภาพ ด้วย หนังสือเล่มนี้ที่พิมพ์ซ้ำ ผมเพิ่งมาเห็นโฉมหน้าในชั้นหลัง โดยคุณชนิด สายประดิษฐ์ มอบให้ผมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ และเขียนว่า “ให้คุณอาจิณ จันทรัมพร ด้วยความนับถือ และขอบคุณที่สนใจอย่างจริงจังในงานของ ศรีบูรพา และลงชื่อ ชนิด สายประดิษฐ์ ๒๕ พ.ย. ๓๒” ที่สำนักพิมพ์นี้ยังได้พิมพ์งานเขียนของ “ศรีบูรพา” ซึ่งเขียนในนาม กุหลาบ สายประดิษฐ์ จำนวนสองเล่มคือ ข้าพเจ้าได้เห็นมา เป็นการรวมบทความทางการศึกษาเรื่องการเมืองเมื่อครั้งไปศึกษาและดูงานที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และยังมีที่เขียนเป็นนวนิยายอีกเล่มหนึ่ง คือ จนกว่าเราจะพบกันอีก ฉบับพิมพ์ครั้งแรกมีเรื่องสั้นพิมพ์ต่อท้ายอีกหลายเรื่อง หนังสือในกลุ่มนี้ยังมีอีกหลายเล่มที่น่าอ่านและน่าสนใจ เช่น ชีวิตสอนอะไรแก่สตรีโซชลิสต์อังกฤษ ซึ่งผมเคยอ่านและสัมผัสมาแล้วทุกเล่ม
ผมได้เขียนถึงหนังสือของ “ศรีบูรพา” หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่พิมพ์มาแต่อดีต และได้เคยติดตามอ่านมาพอหอมปากหอมคอแล้ว จากนี้ใคร่ขอวกเข้าในช่วงที่ผมมาทำหน้าที่บรรณาธิการให้แก่สำนักพิมพ์ดอกหญ้า จัดตั้งโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายากเสียที คือเริ่มพิมพ์งานประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” เป็นเล่มแรก โดยการจัดต้นฉบับขึ้นเองว่า ศรีบูรพากับบทประพันธ์ ๔ เรื่อง ตามที่กล่าวข้างต้น ต่อมาได้พิมพ์เล่มที่ ๒ โดยการจัดต้นฉบับเองอีกเช่นกัน ชื่อ เรื่องของเขาและศรีบูรพากับบทประพันธ์ในบรรณพิ พ จากการพิมพ์งานสองเล่มนี้ มีการเผยแพร่ไปถึงอเมริกา และคุณชนิด สายประดิษฐ์ ซึ่งพำนักอยู่ที่นั่นได้พบเข้า ท่านชื่นชมและเขียนจดหมายถึงบรรณาธิการคือผม เมื่อท่านกลับมาพำนักเป็นการถาวรที่บ้านซอยพระนาง ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในกรุงเทพฯ ผมได้ไปเยี่ยมเป็นการคารวะ และสนิทสนมกันมาจวบจนปัจจุบัน จากนั้นคุณชนิด สายประดิษฐ์ ก็มอบความไว้วางใจให้ผมพิมพ์ผลงานของ “ศรีบูรพา” แต่เพียงผู้เดียวมาอย่างต่อเนื่อง จนได้พิมพ์งานประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” ทั้งหมด และจากนี้ผมได้ขอพิมพ์ผลงานของ “ศรีบูรพา” อย่างจริงจัง เริ่มด้วยเรื่องข้างหลังภาพ โดยผมนำฉบับที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์จำหน่าย อุดม ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ มาเป็นต้นฉบับ ปรากฏว่ามีการผิดพลาดที่บอกว่าภาพวาดที่ชื่อ “มิตาเกะ” ซึ่ง ม.ร.ว.กิรติ ตัวนางเอกวาด และมอบให้แก่นพพรก่อนที่เธอจะถึงแก่กรรมเล็กน้อยเป็นภาพที่เขียนด้วยสีน้ำมัน และ/หรือฉบับที่สำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ อันเป็นสำนักพิมพ์ของ “ศรีบูรพา” พิมพ์เองก็เป็นสีน้ำมันเช่นกัน เมื่อผมจัดพิมพ์ ข้างหลังภาพ จากต้นฉบับของสำนักพิมพ์ “อุดม” ภาพ “มิตาเกะ” เป็นสีน้ำมันไปด้วย แต่มีนักอ่านที่เป็นแพทย์ที่ศิริราชมีจดหมายทักท้วงมาที่ผมว่า ภาพนี้เขียนด้วยสีน้ำเพราะเขียนบนกระดาษ ทำให้ผมเกิดวุ่นวายใจจำต้องหาหนังสือ ข้างหลังภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ มาตรวจสอบ ก็พบความจริงว่า ภาพ “มิตาเกะ” เขียนด้วยสีน้ำจริง เรื่องนี้ผมต้องค้นคว้าหาความถูกต้องอยู่นาน จนถึงกับนำข้อเท็จจริงมาเขียนไว้เป็นเรื่องราวในเชิงวิเคราะห์ และนำข้อเขียนนี้พิมพ์เป็นภาคผนวกประกอบเรื่อง ข้างหลังภาพ ที่ผมพิมพ์ให้แก่สำนักพิมพ์ดอกหญ้าตลอดมา ซึ่งขณะนี้พิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ ๓๐ กว่าแล้ว เป็นจำนวนเล่มหนังสือไม่น้อยกว่า ๖๐,๐๐๐ เล่ม
ในช่วงนี้ทางผมได้นำผลงานของ “ศรีบูรพา” มาปัดฝุ่นพิมพ์ไว้เกือบทั้งหมด โดยเริ่มจากนวนิยายรวมไปถึงเรื่องสั้นเก่าๆ อย่าง ปราบพยศ สงครามชีวิต ผจญบาป มารมนุษย์ แสนรักแสนแค้น ลูกผู้ชาย (ฉบับที่เขียนเป็นบทละครก็เอามาพิมพ์ด้วย) โลกสันนิวาส สิ่งที่ชีวิตต้องการ ฯลฯ นวนิยายเหล่านี้ “ศรีบูรพา” ประพันธ์ไว้นานแล้ว เห็นจะตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เศษๆ เป็นต้นมา และแต่ละเล่มเคยพิมพ์มาแล้วครั้งสองครั้ง อีกเล่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ป่าในชีวิต นวนิยายเรื่องนี้ทราบมาว่า “ศรีบูรพา” ประพันธ์ไว้นานแล้ว ครั้งแรกลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สยามนิกร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ไล่ๆ กับนวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ แต่เกิดอาภัพไม่เคยรวมเป็นเล่ม คงจมอยู่ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ในหอสมุดแห่งชาติ ทางกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ซึ่งผมรับผิดชอบ จึงให้คนไปคัดลอกมา เมื่อเห็นเป็นผลงานของ “ศรีบูรพา” ก็รีบพิมพ์เป็นเล่มทันที จนปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีการพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ ๒ นอกจากนี้ยังจัดพิมพ์เรื่องที่ “ศรีบูรพา” เขียนในระยะหลังๆ ซึ่งบางเรื่องเป็นที่ชื่นชมของบรรดานิสิตนักศึกษาและบุคคลผู้ใฝ่รู้ทั่วไป เพราะในช่วงปลายชีวิตของ “ศรีบูรพา” ท่านได้ศึกษาโลกและชีวิตจนเห็นซึ้งถึงแก่นแท้ ทั้งด้านความคิดและจิตใจก็ได้มีการพัฒนาอย่างสูงส่ง เห็นใจและเข้าใจชีวิตคนยากคนจน ผลงานนในช่วงนี้จึงกลายเป็นชิ้นงานที่มีค่าแก่สังคมและโลกเป็นพิเศษ อย่างนวนิยายเรื่อง แลไปข้างหน้า, จนกว่าเราจะพบกันอีก และชุดเรื่องสั้น อันมีเรื่อง ขอแรงหน่อยเถอะ เป็นเรื่องนำ กับเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่ชื่อ อุดมธรรม ทางผมก็นำมาพิมพ์ไว้จนแทบจะหมดสิ้น และยังพิมพ์ซ้ำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่ผมพอใจและภูมิใจที่ได้ศึกษาติดตามอ่านงานของ “ศรีบูรพา” อีกทั้งนำมาจัดพิมพ์ขึ้นไว้เกิดด้วยแรงศรัทธาในนักประพันธ์เอกท่านนี้อย่างแท้จริง และใคร่ขอพูดอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือการเพียรพยายามเก็บข้อเขียนทุกประเภท เป็นต้นว่า บทกวี บทความ เรื่องสั้นเก่าๆ ข้อเขียนเกี่ยวกับงานศพเพื่อนนักเขียน หรือข้อเขียนอื่นใด มารวมเป็นเล่ม ชื่อว่า นิพนธสารศรีบูรพา จำนวนสองเล่มใหญ่ๆ ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจศึกษาและค้นคว้าในส่วนงานปลีกย่อยของ “ศรีบูรพา” เป็นแน่แท้
งานประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” นั้น ถ้าวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งจะเห็นว่า เดิมทีท่านเขียนไปตามความรู้สึกนึกคิดในแนวจินตนิยม เมื่อกาลเวลาผ่านไปวัยสูงขึ้น ก็ใช้ความรู้ ประสบการณ์ พัฒนาจิตใจไปสู่แนวอัตถนิยมใหม่ ท่านจึงสร้างงานประพันธ์ซึ่งเสริมสร้างแนวคิดไปสู่สังคมที่ดีกว่า ย้ำถึงความเสมอภาค และความเป็นธรรมจนเข้าสู่จิตสำนึกการต่อสู้ของสังคมยุคใหม่ เช่น ผลงานทางด้านนวนิยายอันมี จนกว่าเราจะพบกันอีก แลไปข้างหน้า และเรื่องสั้นที่ยกระดับ เพ่งมองไปที่ความยากจน และครรลองของชีวิตที่ไม่เป็นธรรม ในด้านพระพุทธศาสนาก็ได้เขียนเกี่ยวกับแก่นแท้ของหลักธรรมชื่อ อุดมธรรม ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าได้ ทางด้านการเมืองก็ได้ตอกย้ำถึงความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ทั้งรูปแบบและแนวปฏิบัติ เช่น มีข้อเขียนที่พิมพ์ออกมากเป็นเล่ม หนึ่งชุดสองเล่มชื่อว่า ข้าพเจ้าได้เห็นมา และการเมืองสองระชาชน ฯลฯ
โดยที่งานประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ มีคุณค่าต่อวงวรรณกรรมไทยเป็นอย่างสูง ในวาระชาตกาล ๑๐๐ ปีของนักประพันธ์เอกท่านนี้ ทางองค์การยูเนสโกจึงยกย่องและคัดเลือกเป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับนักเขียนสามัญชนคนหนึ่ง
ส่วนที่ผมชื่นชมงานประพันธ์ของ”ศรีบูรพา” หนักหนา เพราะมีการใช้ภาษาดีเยี่ยม ลีลาของแต่ละประโยคคล้องจอง รัดกุม มีเสน่ห์ นี่คือความรู้สึกของผม ไม่ใช่จะวิจารณ์แต่อย่างใด และผมคงมิหาญกล้านำมากล่าวในเชิงวิจารณ์ เพราะมันเกินภูมิปัญญาของผม เพียงแต่จะขอตอกย้ำจากความรู้สึกด้วยหัวใจอย่างแท้จริงเท่านั้น.