เสถียร จันทิมาธร

ช่วงที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” กับเพื่อนหนุ่มของเขาร่วมกันจัดตั้งกลุ่มสุภาพบุรุษขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒นั้น เป็นช่วงที่งดงามเบิกบานที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติวรรณกรรมไทย ในระยะกาลเดียวกันนั้น ม.จ. อากาศดำเกิง ก็เขียนละครแห่งชีวิต  ออกมาและ “ดอกไม้สด” ก็มีผลงานของเธอปรากฏทางไทยเขษม รายเดือนแทบไม่ขาดสาย  การปรากฏขึ้นมาของนักเขียนกลุ่มสุภาพบุรุษที่มีกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นผู้นำ จึงเท่ากับเป็นแรงหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงวรรณกรรม อันเป็นการเปิดยุคนวนิยายสมัยใหม่ที่เหออกจากแนวการเล่าเรื่องแบบนิทานด้วยการพยายามสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนเป็นๆ ออกมา

จากลูกผู้ชาย-สงครามชีวิต

งานของ “ศรีบูรพา” ช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๗๔ ส่วนใหญ่เป็นงานแบบจินตนิยมอันเป็นลักษณะร่วมสมัยอย่างหนึ่งกับงานของนักเขียนรุ่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกผู้ชาย, แสนรัก-แสนแค้น, ผจญบาป, โลกสันนิวาส, ปราบพยศ ตลอดจนสงครามชีวิต ล้วนเป็นเรื่องของความรักความใคร่ เป็นโลกแคบๆ ของอะ แมน แอนด์ อะ วูแมน ที่บางครั้งก็ค่อนข้างจะรุนแรงอย่างเช่น แสนรัก-แสนแค้น หรือแม้แต่ลูกผู้ชาย ก็เป็นลักษณะการแก้แค้นทางอารมณ์อย่างหนึ่ง เพื่อชดเชยบางสิ่งบางอย่างจากการผิดพลาดในเรื่องรักบ้าง ประเพณีที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกบ้าง  งานในช่วงนี้ของ “ศรีบูรพา” ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องปราบพยศ กับสงครามชีวิต

ปราบพยศ กล่าวสำหรับเนื้อหาแล้วไม่มีอะไรมากนอกจากการแสดงถึงความพยายามของผู้ชายที่จะเอาชนะผู้หญิงที่ค่อนข้างปราดเปรียวในยุคสมัยนั้น ข้อน่าสนใจนอกจากการเดินเรื่องที่ฉับไวแล้ว ยังแสดงให้เห็นกระบวนการความคิดเสรีนิยมของชนชั้นกลางที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและต้องการมีเสรีที่จะเลือกรักระหว่างหนุ่มสาวอีกด้วย  ยิ่งล่วงมาถึงสงครามชีวิต ยิ่งแสดงให้เห็นความเป็นนักมนุษยธรรมของ “ศรีบูรพา” อย่างแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น โดยรูปโฉมของเค้าโครงนวนิยายเรื่องนี้คล้ายกับเป็นเพียงเรื่องรักที่ผิดหวังของหนุ่มที่ชื่อระพินทร์ต่อนางสาวเพลิน อันเป็นอิทธิพลทางรูปแบบที่ “ศรีบูรพา” ได้มาจากนวนิยายเรื่องPoor People ของดอสโตเยฟสกี้นักเขียนรัสเซียยุคก่อนปฏิวัติใหญ่เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ (พ.ศ. ๒๔๖๐) แต่เนื้อหาที่ตอบโต้กันทางจดหมายนั้นแสดงถึงความคิดที่ต้องการเสรีภาพ สมภาพ และภราดรภาพของชนชั้นกลาง ซึ่งกำลังเติบใหญ่ในสังคมเก่าได้เป็นอย่างดี สงครามชีวิต เขียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ในระยะใกล้เคียงกันกับที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์เขียนบทความชื่อ “มนุษยภาพ” ลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง จนหนังสือถูกปิดและแท่นถูกล่ามโซ่ เพราะบทความนี้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย

งานช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ ของ “ศรีบูรพา” เท่ากับเป็นสัญญาณฉายให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามมา  ผลิตผลที่เขาและเพื่อนในกลุ่มสุภาพบุรุษร่วมกันทำไม่ว่าจะเป็นงานหนังสือพิมพ์หรืองานประพันธ์เท่ากับเป็นภาพสะท้อนให้เห็นการเติบใหญ่ของชนชั้นกลางที่มีความคิดเสรีนิยม  ข้อน่าสนใจก็คืองานในช่วง พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นลำดับมา คนหนุ่มคนสาวเริ่มคัดค้านประเพณีความเชื่อเก่าที่ล้าหลังบางอย่าง แม้แต่ “ดอกไม้สด” ยังเข้าร่วมคัดค้านประเพณีคลุมถุงชนในนวนิยายหลายเรื่องของเธอ นอกจากนั้นลักษณะการนิยมตั้งฮาเร็มในครอบครัวของเจ้าขุนมูลนายก็ถูกประณามอย่างรุนแรง ดังที่ ม.จ. อากาศดำเกิง ให้ วิสูตร ศุภลักษณ์ ฯ พูดในละครแห่งชีวิต นี่คือการเคลื่อนไหวที่เป็นมิติใหม่ของสังคมไทยซึ่งเริ่มขยายตัวมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่ประเทศของเราเริ่มเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ กล่าวอย่างเป็นกระบวนการ การเคลื่อนไหวแสดงออกของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และเพื่อนหนุ่มร่วมสมัยของเขาเป็นการพัฒนาบทบาทของชนชั้นกลางที่มีความคิดเสรีนิยมต่อเนื่องจาก “เทียนวรรณ” “ก.ศ.ร. กุหลาบ” และกลุ่มกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ นั่นเอง

จากประชาชาติ-ข้างหลังภาพ

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ อันเป็นหนังสือที่ยืนอยู่แถวหน้าสุดในขณะนั้น งานในช่วงนี้จึงเน้นหนักทางด้านบทความ ส่วนที่เป็นนวนิยายก็พัฒนาขึ้นมาบ้างในระดับหนึ่ง แต่เป็นเพียงด้านรูปแบบเท่านั้น เนื้อหายังคงเดิม

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่อย่างมากมาย ชนชั้นสูงที่สูญเสียอำนาจเริ่มรู้สึกว่าถูกคุกคามจากชนชั้นใหม่ที่เติบใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว  นักเขียนซึ่งอยู่ในชนชั้นที่ต้องสูญเสียอย่าง “ดอกไม้สด” และ “ดวงดาว” ต่างแสดงความรู้สึกในเชิงไม่พอใจออกมา สำหรับดอกไม้สดเราเห็นได้อย่างซ่อนเร้นในชัยชนะของหลวงนฤบาล และเด่นชัดมากขึ้นในนี่แหละโลก กับผู้ดี ท่วงทำนองที่ปรากฏเป็นไปในทางเยาะเย้ยผู้ดีใหม่ซึ่งไร้สกุลรุนชาติแต่มากด้วยทรัพย์  นวนิยายที่นิยมเขียนอย่างมากหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ อีกส่วนหนึ่งเป็นงานเปิดโปงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ดีทั้งที่ตกยากและยังรุ่งเรืองอยู่  “อรวรรณ” กับ “ป. อินทรปาลิต” เขียนถึงเรื่องเหล่านี้มากกว่าใคร แต่เป็นไปอย่างไม่วิเคราะห์สิ่งดังกล่าว เป็นภาพสะท้อนอย่างหนึ่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ “ศรีบูรพา” เดินทางไปดูงานหนังสือพิมพ์ที่ญี่ปุ่น และกลับมาเขียนนวนิยายต่างแดนเรื่องข้างหลังภาพ  นวนิยายเรื่องนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นเรื่องรักที่เศร้าซึ้งสะเทือนใจ ประโยคของ ม.ร.ว. กีรติ ที่ว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก” ได้รับการอ้างถึงอยู่เนืองๆ ในหมู่คนอกหักว่าเป็นถ้อยคารมที่คมคาย  สิ่งที่เด่นนอกจากความสามารถในการบรรยายของ “ศรีบูรพา” แล้ว เห็นจะเป็นการสะท้อนปรากฏการณ์ของสังคมออกมาอย่างที่เป็นอยู่ จะด้วยความสำนึกหรือด้วยความบังเอิญก็ตาม ภาพของ ม.ร.ว. กีรติ คือตัวแทนของชนชั้นสูงในสังคมเก่าที่ได้รับผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมือง ส่วนนพพรก็เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางที่เริ่มจะเติบใหญ่ ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งยึดมั่นถือมั่น แต่อีกฝ่ายหนึ่งพร้อมที่จะลืมและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง

“ศรีบูรพา” ในช่วงนี้ยังอยู่ในกลุ่มความคิดแบบนักมนุษยธรรม ยังมิได้พัฒนาสูงยิ่งไปกว่านี้ ตัวเขาเองก็เคยยอมรับว่า การเขียนในยุคต้นๆ เป็นการเขียนเพราะอยากเขียน และแต่ละเรื่องที่เขียนก็เท่ากับเป็นการแสวงหาแนวทางอย่างหนึ่ง  และนอกจากเป็นคนรักความเป็นธรรมแล้ว เขายังมองเห็นอาชีพที่เขาทำอยู่ค่อนข้างเป็นงานของคนพิเศษเหนือกว่าใคร อย่างเช่นเมื่อเขียนคำกล่าวนำในรวมนิยายรักของอิงอร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ “ศรีบูรพา” เขียนถึงนักประพันธ์ว่า

นักประพันธ์ย่อมจะแลเห็นความงาม และความจับใจอันลึกซึ้งของแสงจันทร์ยิ่งกว่าที่เธอได้แลเห็น อาจจะบอกถึงความเที่ยงธรรมอันจับใจของธรรมชาติและดวงจันทร์ที่สาดแสงสีนวลอร่ามนี้ไปทั่วหล้า ไม่เลือกว่าปราสาทราชวังหรือกระท่อม นักประพันธ์ย่อมจะได้ยินเสียงคลื่นที่ซัดหาดนั้นแตกต่างไปจากที่คนธรรมดาได้ยิน

ถึงแม้กระบวนทางความคิดจะยังอยู่เพียงระดับนักเสรีนิยมที่รักความเป็นธรรม แต่กล่าวทางด้านจิตใจที่รักเอกราชรักประชาธิปไตยแล้ว “ศรีบูรพา” มีอย่างเต็มเปี่ยมถึงกับเข้าร่วมคัดค้านการรุกรานของญี่ปุ่นจนถูกจับกุม และคัดค้านความพยายามที่จะเป็นเผด็จการฟาสซิสต์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังที่ปรากฏในเบื้องหลังการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕  จิตใจที่รักเอกราชรักประชาธิปไตยดังกล่าวได้รับการพัฒนากล้าแข็งมากยิ่งขึ้น ตามเงื่อนไขทางการเมืองที่ยิ่งปกครองยิ่งเป็นเผด็จการ และประชาชนยิ่งได้รับความทุกข์ยากขมขื่น

แลไปข้างหน้า-จนกว่าเราจะพบกันอีก

หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา กุหลาบ สายประดิษฐ์ เดินทางไปศึกษาและดูงานทางด้านการเมืองที่ออสเตรเลีย เมื่อกลับมาเมืองไทยในช่วงที่ความตื่นตัวทางการเมืองกำลังสูงและความคิดใหม่ทางด้านศิลปวรรณคดีกำลังชูช่ออย่างงดงาม “ศรีบูรพา” ได้ร่วมไปกับการเคลื่อนไหวเหล่านี้โดยยืนอยู่แถวหน้าสุด  เขาแปลเรื่องของ เน็ด เคลลี่ เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร เสนอความรู้ใหม่ทางด้านการเมือง โดยเฉพาะความคิดสังคมนิยม และได้ประมวลข้อดีจากออสเตรเลียไว้ในข้าพเจ้าได้เห็นมา และในแง่ของนวนิยายจนกว่าเราจะพบกันอีก ซึ่งตีพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้แสดงพัฒนาการความคิดของ “ศรีบูรพา” ไปอีกระดับหนึ่ง  แม้รูปแบบการเขียนจะเต็มไปด้วยบทสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะ แต่เนื้อหาก็ประกาศอย่างแจ่มชัดว่า แนวทางสังคมนิยมจะช่วยแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ นี่เป็นการเสนอนวนิยายอย่างมีเป้าหมายมากยิ่งขึ้น มิได้ต้องการเพียงความบันเทิงอย่างที่แล้วๆ มา  ไม่เพียงแต่จะเขียนหนังสือเพื่อยกย่องวีรกรรมของสามัญชนเท่านั้น “ศรีบูรพา” ยังเข้าร่วมในขบวนการศิลปะเพื่อชีวิต ชีวิตของประชาชนผู้เสียเปรียบด้วยความแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นที่ชมรมนักประพันธ์ค่ายสีลม หรือบนกระดาษหนังสือพิมพ์ที่เอาจริงเอาจังอย่างอักษรสาส์น  งานของเขามีอยู่ไม่ขาดสาย นอกจากจนกว่าเราจะพบกันอีก แล้วเรายังได้อ่านเรื่องสั้นที่แสดงความคิดใหม่อันเป็นปฏิปักษ์ต่อความคิดเก่าอย่างไม่กลัวความขัดแย้ง

“คำขานรับ” เขาเสนอให้นักศึกษาตระหนักถึงฐานะที่ได้เปรียบของตน เมื่อเทียบกับชนส่วนใหญ่ของประเทศ ปัญญาชนจึงควรต้องเสียสละและมีจิตใจรับใช้สังคม  “คนพวกนั้น” แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ม.ล. โฉมไฉไลที่มีต่อคนพวกนั้น อันเป็นคนชั้นต่ำในสายตาเจ้าคุณพ่อของเธอ  “นักบุญจากชานตัน” ชี้ให้เห็นจิตใจสากลนิยมที่เสียสละเพื่อคนที่เสียเปรียบ และถูกกดขี่ในสังคมโดยไม่จำกัดว่าเป็นชาติใดประเทศใด

ช่วง พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๕ นอกจากทำงานศิลปะเพื่อชีวิตของคนที่เสียเปรียบในสังคมแล้ว “ศรีบูรพา” ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสันติภาพ และประชาธิปไตยสองคราวติดต่อกันคือ ร่วมกับสันติชนผู้รักสันติภาพ ลงชื่อคัดค้านการทำสงครามเกาหลีที่อเมริกาดึงไทยเข้าไปร่วม  นอกจากนั้นเมื่อรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามเอา พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาแก้ไขเพื่อกดขี่ปราบปรามวงการหนังสือพิมพ์ “ศรีบูรพา” และเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ผู้รักประชาธิปไตย ได้ร่วมกันต่อสู้คัดค้านอย่างแข็งขันในนามสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  บำเหน็จของการต่อสู้เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตย คือการถูกจับกุมในกลุ่มขบถสันติภาพเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ถูกคุมขังในคุกบางขวาง จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นักศึกษาประชาชนได้เรียกร้องให้ปลดปล่อยนักโทษการเมือง “ศรีบูรพา” จึงได้ออกมาและทำการต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตยต่อไป

ระหว่างถูกคุมขังในบางขวางเขาได้เขียนแลไปข้างหน้า และแปล แม่  จากบทประพันธ์ของแม็กซิมกอร์กี้ นักเขียนผู้มีบทบาทมากในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ (๒๔๖๐)

ของรัสเซีย แลไปข้างหน้า ได้รับการยกย่องว่าเป็นนวนิยายที่ดีที่สุดของ “ศรีบูรพา” สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ จันทา โนนดินแดง ลูกชาวนาผู้มาอยู่ในบ้านของขุนนางใหญ่ มีโอกาสเข้าโรงเรียนอันเป็นที่รวมของลูกท่านหลานเธอ ลูกขุนนางใหญ่ ลูกชนชั้นกลาง  จันทาได้พบปรากฏการณ์ใหม่มากมาย ก่อให้เกิดความคิด เปรียบเทียบชนบทกับในเมือง ได้นึกถึงการมอมเมาทางความคิด การแบ่งชั้นวรรณะ ฯลฯ “ศรีบูรพา” พยายามให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นของลูกชาวนา แต่กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วก็คือกระบวนการทางความคิดของ “ศรีบูรพา” ที่พัฒนามาเป็นลำดับนั่นเอง

“ศรีบูรพา” เขียนหนังสือจนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจ พลเอก ถนอม กิตติขจร ขึ้นมา ระหว่างนั้นเขากับเพื่อนนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองได้รับเชิญให้เดินทางไปดูงาน ณ สหภาพโซเวียต ต่อมาจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยึดอำนาจอีกครั้ง และเผยโฉมหน้าเผด็จการอย่างไม่อำพราง  “ศรีบูรพา” พิจารณาเห็นว่า ขืนกลับคงถูกจับติดคุกขังลืมแน่ จึงขอลี้ภัยอยู่ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ ในที่สุด

ชีวิตที่ต่อสู้และยืนหยัด

ช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๐ เรียกว่าเป็นยุคมืดทางปัญญาของเมืองไทย เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นได้จับกุมคุมขังนักเขียน นักหนังสือพิมพ์จำนวนเป็นร้อย ได้มัดตราสังวิชาชีพหนังสือพิมพ์ โดยไม่ยอมอนุญาตให้ออกใหม่  แนวโน้มทางการเขียนจึงเหจากความเอาจริงเอาจังมาเป็นการเน้นอารมณ์ส่วนตัว  นวนิยายที่เขียนอย่างมีความมุ่งหมายเพื่อประเทืองปัญญาซบเซา นวนิยายที่มุ่งความบันเทิงและเล่นสนุกด้านภาษาสำนวนคึกคัก  นักเขียนน้ำเน่าได้รับการโฆษณากึกก้อง นักเขียนที่เอาจริงเอาจังบ้างก็หยุดเขียน บ้างก็เปลี่ยนแนวให้สอดคล้องกับยุคสมัยเพื่อความอยู่รอด สำนักพิมพ์กล้าตีพิมพ์งานของ “ศรีบูรพา” เฉพาะที่เขียนก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒  เพื่อนหนุ่มร่วมสมัยบางคนของเขาเมื่อเขียนถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มสุภาพบุรุษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ก็บิดเบือนไม่กล้ายกย่อง ถึงกระนั้นก็ยังมีนักเขียนที่ตรงไปตรงมาอย่าง ยศ วัชรเสถียร เขียนถึง “ศรีบูรพา” อย่างที่เขาเป็นจริง  งานของ “ศรีบูรพา” มีอ่านกันอยู่ในหมู่หนอนหนังสือ  คนรุ่นใหม่ที่ค้นคว้าลึกเข้าไปในหนังสือช่วง พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๐๐ ยิ่งอ่านยิ่งทึ่ง และอยากรู้จัก “ศรีบูรพา” มากยิ่งขึ้น

เมื่อมีการประกาศรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ยุคฟื้นฟูงานของนักเขียนเก่าจึงหวนกลับมาอีกครั้ง โดยผ่านทางหนังสือที่ออกในมหาวิทยาลัย  เราได้อ่านงานของ “ศรีบูรพา” , “อินทรายุทธ” , “บรรจง บรรเจิดศิลป์” , “เปลื้อง วรรณศรี” , กวีการเมือง “ทีปกร” ฯลฯ คนรุ่นใหม่ที่ถูกปิดบังทางปัญญามาเป็นเวลาหลายปี จึงเริ่มมองเห็นคุณค่า  ชุมนุมวิชาการ สจม. พิมพ์ จนกว่าเราจะพบกันอีก ออกมาและหมด  ชมรมหนังสือดาวเรืองพิมพ์ แม่  และหมด โรเนียวเรื่อง แลไปข้างหน้า  ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง และเมื่อพิมพ์เป็นเล่มปกอ่อนก็ขายดิบขายดี  รวมเรื่องสั้นรับใช้ชีวิต ของศรีบูรพาก็เป็นที่กล่าวขวัญ เช่นเดียวกับบทแปล วิวัฒนาการมาร์กซิสม์ ก็เป็นหนังสือวิชาการที่ขายดีอีกเล่ม  หนังสือเหล่านี้ล้วนจัดพิมพ์โดยกลุ่มของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งสิ้น

ที่งานของ “ศรีบูรพา” ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่อย่างสูง มีองค์ประกอบทางรูปธรรมที่น่าสนใจหลายประการคือ หนึ่ง ชีวิตที่ผ่านมาของเขาเป็นชีวิตแห่งการสร้างสรรค์แนวทางใหม่ทางการประพันธ์ และวงการหนังสือพิมพ์  สอง ชีวิตทางการเขียนของเขาเป็นชีวิตแห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและมีชีวิตที่ดีกว่า และสาม ชีวิตทั้งชีวิตของเขายืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชอันสมบูรณ์ของประเทศ  สิ่งเหล่านี้พัฒนาจากด้านแคบไปสู่กว้าง ส่วนตัวไปสู่ส่วนรวม ปริมาณไปสู่คุณ าพ จากพลังใหม่ที่เล็กกลายเป็นพลังที่ถูกต้องและยิ่งใหญ่  หกสิบเก้าปีของ “ศรีบูรพา” เป็นชีวิตที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงจากกรอบแคบๆในครอบครัวไปสู่การทำงานเพื่อคนส่วนใหญ่ที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ยิ่งกาลเวลาเปลี่ยนยิ่งเป็นการพิสูจน์สิ่งที่ศรีบูรพายืนหยัดต่อสู้ว่าถูกต้องและชอบธรรม ความคิดที่ไม่ตายของเขาจึงมีคนรุ่นหลังสืบทอดต่อไปไม่ขาดสาย ด้วยความมั่นใจว่าจะแปรความคิดให้เป็นการกระทำที่เป็นจริงในที่สุด.