พรชัย จันทโสก : รายงาน [email protected]

จุดประกาย วรรณกรรม
ปีที่ 20 ฉบับที่ 6905
วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550


วันนี้-19 สิงหาคม 2550 วันลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีการออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องยุติบทบาทลงอันเนื่องมาจากเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549

หากย้อนกลับไปนับเป็นเวลา 75 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะชะงักงันของประชาธิปไตยโดยเกิดการปฏิวัติรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญและใช้อำนาจเผด็จการเข้าปกครองบ้านเมืองหลายครั้งหลายหนด้วยกัน และแต่ละครั้งกว่าประชาธิปไตยจะลุกขึ้นมาเริ่มต้นสานต่ออีกครั้งก็ล้วนต้องใช้เวลาเยียวยา

การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะนี้จึงต้องศึกษาบทเรียนความเจ็บปวดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และกวีนิพนธ์เป็นกระบอกเสียงอย่างหนึ่งที่สะท้อนเหตุการณ์บ้านเมืองได้เป็นจริงที่สุด

นักเขียน นักกวี ในแต่ละยุคสมัยในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมก็ได้ทำหน้าที่จารึก ถ่ายทอด และสะท้อนภาพประชาธิปไตยไว้ตามยุคตามสมัย โดยขึ้นอยู่กับภูมิหลังและทัศนะของนักเขียนหรือกวีแต่ละคนไป การได้อ่านหนังสือที่นักเขียนหรือกวีแต่ละคนบันทึกไว้เป็นการเดินเข้าไปในประวัติศาสตร์แต่ละยุคโดยผ่านตัวอักษร ซึ่งบางชิ้นก็ได้คิด บางชิ้นก็ได้รู้สึก หรือทั้งได้คิด ได้รู้สึกต่างๆ กันไป

กวีนิพนธ์บนถนนประชาธิปไตย หนังสือในโครงการประชุมบทกวีร่วมสมัยส่งเสริมประชาธิปไตย จัดพิมพ์โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กองทุนศรีบูรพา และสโมสรสยามวรรณศิลป์ โดยมี ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย หรืออีกชื่อหนึ่งในฐานะนักวิจารณ์คือ ไพลิน รุ้งรัตน์ เป็นบรรณาธิการและคัดสรรบทกวี

ล่าสุดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยสถาบันพระปกเกล้า ได้จัดเสวนาเรื่อง กวีนิพนธ์บนถนนประชาธิปไตย เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผานมา ณ ห้องศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าศึกษาฯ สำหรับเหตุผลที่ผู้รวบรวมได้เลือกเฉพาะงานเขียนประเภทบทกวีนิพนธ์นั้น ไพลิน รุ้งรัตน์ กล่าวเกริ่นนำว่า

“ข้าพเจ้าเลือกแต่เฉพาะงานประเภทกวีนิพนธ์เพราะเป็นงานประเภทที่รับได้เร็ว คิดได้ชัด และและรู้สึกได้แรง โดยคัดเลือกมาจากผลงานจากทุกยุคทุกสมัยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ทั้งนี้คัดสรรจากที่มีการรวมเล่มไว้เป็นส่วนใหญ่เท่าที่จะสามารถค้าหาได้ โดยไม่เลือกรุ่นกวี กับอีกส่วนหนึ่งได้มาจากผลงานที่มีผู้เขียนขึ้นใหม่ หรือจากที่มีการตีพิมพ์ในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน

ผลงานที่คัดสรรมาในรอบแรกนั้น ข้าพเจ้าจะมุ่งเน้นที่เนื้อหาสาระเรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทย อันครอบคลุมตั้งแต่ความหมายของประชาธิปไตย การเมือง การปกครอง สิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ เสมอภาค รวมไปตลอดทั้งค่าและความหมายของประชาชน และค่าความหมายของความเป็นคน และเมื่อได้ผลงานมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงคัดสรรแต่ชิ้นที่กินใจ หรือสะดุดใจ หรือสำคัญ ทั้งนี้ได้กำหนดจำนวนผลงานที่คัดสรรไว้ 75 ชิ้น”

พร้อมทั้งได้จัดแบ่งเนื้อหาออกเป็นภาคตามสภาพการเมืองและยุคสมัย โดยผู้รวบรวบยืนยันว่า “การแบ่งภาคนี้เป็นการแบ่งตามทัศนะของข้าพเจ้า มิได้อ้างขึ้นจากนักวิชาการทางประวัติศาสตร์หรือนักรัฐศาสตร์คนใด” แบ่งออกเป็น 8 ภาค ดังนี้…

อรุณรุ่งแห่งประชาธิปไตย (2475-2500)

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทหารบก ทหารเรือ และข้าราชการพลเรือนจำนวน 102 นายซึ่งขนานนามตนเองว่า “คณะราษฎร” ได้ทำการยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์บ้านเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มต้นเหมือนอรุณรุ่ง แต่แท้จริงแล้วเป็นประชาธิปไตยที่ยังอยู่ในวงจำกัด

กลุ่มนักคิดที่สร้างสรรค์ผลงานในช่วงนี้ โดดเด่นด้วยนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นำโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา, สุภา ศิริมานนท์, อิศรา อมันตกุล, ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์, เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นต้น ส่วนกวีมี จิตร ภูมิศักดิ์ หรือ นายสาง หรือ ทีปกร, อัศนี พลจันทร หรือ นายผี แล้วยังมี เปลื้อง วรรณศรี, อุชเชนี, ทวีปวร เป็นต้น

ประชาธิปไตยอับแสง (2500-2508)

ประชาธิปไตยต้องมืดมนลงเพราะการปฏิวัติรัฐประหารปี 2500 และ 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นปกครองประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ มีการจับกุมคุมขังนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ศิลปิน และปัญญาชนมากมาย งานเขียนงานหนังสือพิมพ์ถูกจำกัดบทบาท และถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ผลงานที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองประเทศกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ดังเช่นบทกวี “วิญญาณสยาม” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สะท้อนไว้ตอนหนึ่งว่า…

…ผองผีปีศาจกล้า กลืนไทย แล้วเฮย

ไทยแกร่งไทยเคยไกร เกริกฟ้า

วิญญาณสยามไย ยอมสยบ พ่อฮือ?

จงตื่นยืนหยัดกล้า กวาดล้างภัยผี

ความหวังยังไป่สิ้น สูญสลาย

ตราบเท่าแสงสูรย์พราย พร่างฟ้า

คนจักยืนหยัดหมาย มือมั่น เสมอฮา

จักเสกความหวังจ้า แจ่มให้เป็นจริง

กวีการเมือง : จิตร ภูมิศักดิ์

แสวงหาประชาธิปไตย (2509-2515)

เมื่อประชาชนถูกกดดันมาจากสภาพบ้านเมืองในสมัยประชาธิปไตยอับแสง ดังนั้นภาวะลูกโป่งพองลมจึงใกล้แตกเต็มที นักคิด นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และปัญญาชนส่วนหนึ่ง จึงมีผลงานทั้งที่เป็นงานเขียน งานกิจกรรมต่างๆ ในลักษณะแสวงหาคำตอบให้แก่สังคมที่กำลังเคลื่อนไปภายใต้การใช้อำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่สืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจการปกครอง ในขณะที่กวีส่วนใหญ่กำลัง สนุก กับการเขียนกลอนในยุคสายลมแสงแดด กวีเริ่มตั้งคำถามอย่างมีความหวังถึงคนหนุ่มสาวในวันพรุ่งนี้ กวีที่สะท้อนแนวคิดในยุคนี้คือ ราช รังรอง, วิทยากร เชียงกูล, จินตนา ปิ่นเฉลียว, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, นภาลัย ฤกษ์ชนะ และสมหมาย พิมสมาน

ประชาธิปไตยดอกไม้บาน (2516-2518)

นิสิตนักศึกษาปัญญาชนลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของประชาชนโดยเริ่มจากเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ เพื่อคนส่วนใหญ่ได้ใช้สิทธิเสียงของตนในการปกครองประเทศ มิใช่ปล่อยให้อำนาจตกอยู่กับคนกลุ่มเดียว นำไปสู่การปราบปรามด้วยความหวงอำนาจ เกิดความรุนแรงและการนองเลือด มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หรือเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” ของประวัติศาสตร์ชาติไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้ผู้นำประเทศเข้าเฝ้า ทรงระงับเหตุและมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ สถานการณ์จึงสงบลงได้ ผู้นำประเทศ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพลเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 15 ตุลาคม 2516 กลายเป็นชัยชนะของนิสิตนักศึกษาปัญญาชน มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทานคือ พลเอกสัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดบรรยากาศประชาธิปไตยกลับมาเบ่งบานอีกครั้ง หลังจากหยุดเงียบไปยาวนานเกือบสิบปี

บรรยากาศของประชาธิปไตยในช่วงนี้ นอกจากการประกาศเกียรติยกย่องวีรกรรมประชาชนผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตยแล้ว ยังมีการตอกย้ำให้ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า “ประชาชน” นั้นสำคัญกว่า “ผู้ปกครอง” และประชาชนต้องรู้จักค่าของความเป็นคนของตนเอง มีบทกวีให้ความรู้สึกฮึกเหิม ที่กล่าวถึงอิสระ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก กวียุคนี้ ได้แก่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, สุจิตต์ วงษ์เทศ, คมทวน คันธนู, รวี โดมพระจันทร์, ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์, ร.อ.จันทรคีรี เป็นต้น และเกิดวรรคทองของ วิสา คัญทัพ จากบทกวีชื่อ “สิบสี่ตุลา”

…ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า

ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ

ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน

ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป

เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่

ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่

เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ

ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

วิสา คัญทัพ : 2517

นอกจากนี้ยังมีการนำเอาบทกวียุคก่อนปี 2500 กลับมาตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง ผลงานของ นายผี, นายสาง หรือ อัศนี พลจันทร และจิตร ภูมิศักดิ์ จึงได้รับการรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ความหอมหวานของประชาธิปไตยขจรขจายอยู่ได้ไม่นาน

ประชาธิปไตยดับ (2519-2523)

สถานการณ์ทางการเมืองรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากเหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง เหตุการณ์สำคัญคือจอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับมาประเทศไทยทำให้เกิดการต่อต้าน จนท้ายที่สุดก็เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมมหาโหด ณ ใจกลางประเทศ คือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่นิสิตนักศึกษาชุมนุมต้านกรณีจอมพลถนอม กิตติขจร อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุคคลในเครื่องแบบและลูกเสือชาวบ้านได้ล้อมฆ่านิสิตนักศึกษาด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อน เป็นการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อในลักษณะถูกทารุณกรรมน่าสยดสยอง เป็นเหตุให้นิสิตนักศึกษาปัญญาชนหลบหนีเข้าป่าไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

นับเป็นบาดแผลที่บาดลึกอยู่ในใจผู้ร่วมสมัยทุกคน และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องประชาธิปไตยชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดกวีนิพนธ์หลายบทที่ก่อให้เกิดความสะท้านสะเทือนใจล้นเหลืออันเนื่องมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ภาวะบ้านเมืองอึมครึม ผู้คนอยู่ด้วยความหวาดกลัว และหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ประชาชนแตกแยกออกเป็นฝ่ายซ้ายและขวา ฝ่ายขวาเปิดเผยตัวเองชัดเจน ในขณะที่ฝ่ายซ้ายต้องหลบซ่อนแอบตัว เพราะอาจถูกรัฐบาลและคนในเครื่องแบบตามจับหรือสังหาร นับว่าเป็นยุคมืดของประชาธิปไตย ดังบทกวี “บวงสรวงวีรชน”

เดือนต่ำดาวตก นกร้องไห้

ไม้ดอกไม้ใบร่วงหล่น

โพยมพยับดับแสงสุริยน

หมอกเมฆมืดมน มัฆวาฬ

ทะมึนมัวม่านฟ้าฝ้าหมอง

ขุ่นน้ำลำคลองห้วยละหาน

หุบห้วยตรวยโตรกชะโงกธาร

เพิงผาปิ้มปานจะขาดใจ…

ไพบูลย์ วงษ์เทศ : 2521

ประชาธิปไตยคืนสู่เหย้า (2524-2534)

เมื่อต้นปี 2523 รัฐสภาได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ฝ่าฟันเพื่อประชาธิปไตยอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใช้นโยบาย “การเมืองนำทหาร” ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ดังนั้นจึงออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่เข้าไปป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเข้ามอบตัวโดยไม่มีความผิด ประกอบกับนิสิตนักศึกษาและประชาชนเกือบทั้งหมดกำลังมีปัญหากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงกลับเข้าเมืองหรือที่เรียกกันว่า “คืนสู่เหย้า” นับเป็นการจบบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปโดยปริยาย

นักคิดและนักเขียนตลอดจนกวีได้ประจักษ์ถึงสภาพที่แท้จริงของสังคมการเมืองไทยชัดเจนขึ้น ความหวังความฝันทางสังคมและการเมืองอันสวยสุดและเกินความเป็นจริงซึ่งถูกผลักดันมาจากความเจ็บแค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ล่มสลายไป สภาพตามที่เป็นความจริงแท้ปรากฏขึ้น เกิดการเรียนรู้และการปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่ ทั้งในแง่การเมืองและในแง่ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมเพื่อชีวิตปรับตัวใหม่กลายเป็น “วรรณกรรมชีวิต” การแสวงหาคำตอบเน้นหนักไปทางศาสนา วรรณกรรมการเมืองอ่อนโยนขึ้น

กำสรวลประชาธิปไตย (2535-2539)

เมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางการคัดค้านของประชาชน ทำให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนินขับไล่นายกรัฐมนตรี โดยมีพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำและเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ขึ้นในวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 โดยทหารใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างเหี้ยมโหดและรุนแรง มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก กวีและนักเขียนได้รับความสะเทือนใจจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬและถ่ายทอดผ่านตัวอักษร ดังเช่นบทกวี “ฝนแรก” ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา

ฝนแรกเดือนพฤษภา รินสายมาเป็นสีแดง

ฝนเหล็กอันรุนแรง ทะลวงร่างเลือดพร่างพราว

หลั่งนองท้องถนน เป็นสายชลอันขื่นคาว

แหลกร่วงกี่ดวงดาว และแหลกร้าวกี่ดวงใจ

บาดแผลของแผ่นดิน มิรู้สิ้นเมื่อวันใด

อำนาจทมิฬใคร ทะมึนฆ่าประชาชน

เลือดสู้จะสืบสาย ความตายจะปลุกคน

วิญญาณจะทานทน พิทักษ์เทอดประชาธรรม

ฝนแรกแทรกดินหาย ฝากความหมายความทรงจำ

ฝากดินให้ชุ่มดำ เลี้ยงพืชกล้าประชาธิปไตย

จิระนันท์ พิตรปรีชา : 2535

ธนาประชาธิปไตย (2540-ปัจจุบัน)

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นับเป็นก้าวสำคัญในการเปิดให้ประชาชนมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อปี 2540 และปี 2541 รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากนั้นนายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนโยบายให้เศรษฐกิจนำการปกครอง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจล่มสลายหลังการลอยตัวค่าเงินบาท

แรกๆ ปัญหาเศรษฐกิจอาจไม่อยู่ในความสนใจของนักเขียนหรือกวีเท่าไรนัก เพราะไม่ส่งผลกระทบใจรุนแรงเช่นปัญหาอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมกว่า ปัญหาในรัฐบาลนี้จึงเป็นเรื่องของความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งหลายเหตุการณ์ส่งผลสะเทือนรุนแรง ทำให้กวีต้องร่ายตัวอักษรด้วยความโศกรันทด แต่หลังจากประมวลสถานการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน เริ่มจากคดีซุกหุ้นแล้ว เพราะแรงกดดันจากบทบาทของนายกรัฐมนตรีทักษิณที่สร้างความสับสนและขัดแย้งให้ประชาชนทุกรูปแบบ จึงเกิดรัฐประหารอีกครั้งเมื่อ 19 กันยายน 2549 นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และต่อมามีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจึงอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยจำยอมอีกครั้ง ดังที่ ชมัยภร แสงกระจ่าง ได้ประพันธ์ไว้ในบทกวี “รุ้งต่างสี” ตอนหนึ่งว่า

…รักจะเห็นโค้งสายพาดปลายฟ้า

ต้องเปิดหูเปิดตามองโลกกว้าง

ต้องมีใจต่อใจไม่ไร้ร้าง

ต้องมีรักต้องเป็นกลางต้องเป็นไท

รุ้งจะรวมเจ็ดสายสู่ปลายสี

รุ้งจะมีเอกภาพเป็นหนึ่งได้

ต้องยอมรับความต่างอย่างมีใจ

ต้องเคารพต้องพร้อมให้-ไม่เล่ห์ลวง

จงเอื้อมมือจับมือให้รู้มือ

จงร่วมสื่อใจให้เพราะใจห่วง

จงเทใจหนึ่งใจจากไทยปวง

ชูรุ้งร่วงให้โค้งรอบจรดขอบฟ้า

ชมัยภร แสงกระจ่าง : 2548

เมื่อถามถึงวาระต่อไปน่าจะรวบรวมบทกวีขับไล่ระบอบทักษิณและหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นักวิจารณ์ชั้นครูมองว่าต้องรอให้การเมืองนิ่งก่อน รอให้ตกตะกอนกลายเป็นประวัติศาสตร์เสียก่อน ถ้าการเมืองไม่นิ่งก็ไม่สามารถทำได้

ไม่ว่าสังคมการเมืองจะเป็นอย่างไร กวีล้วนแต่สะท้อนภาพเหล่านั้นอย่างไม่เคยบิดเบือนไปจากความเป็นจริง