๔ นักเขียนนวนิยายยุคบุคเบิกของไทย
โดย  รื่นฤทัย สัจจพันธุ์
นิตยสารสกุลไทย รายสัปดาห์ ฉบับที่ 2670 ปีที่  52 ประจำวัน  อังคาร ที่  20 ธันวาคม  2548



“ศรีบูรพา”
ประวัติชีวิต

ศรีบูรพา เป็นนามปากกาหนึ่งของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๘ ที่กรุงเทพฯ บิดาชื่อสุวรรณ เป็นเสมียนเอกกรมรถไฟ มารดาชื่อ สมบุญ มาจากครอบครัวชาวนา “ศรีบูรพา” ศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ร่วมชั้นกับ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ สด กูรมะโรหิต ฯลฯ และได้ร่วมกันออกหนังสือในชั้นเรียนชื่อ ดรุณสาร และศรีเทพ นวนิยายเรื่องแรกชื่อคมสวาทบาดจิต น่าจะเขียนขึ้นในราว พ.ศ.๒๔๖๗ ระหว่างเป็นนักเรียนอยู่ที่นี่ เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แผนกนิติศาสตร์ พร้อมกับทำงานเลี้ยงชีพโดยทำหนังสือพิมพ์กับเพื่อน และเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนรวมการสอน และสำนักรวมการแปลของ โกศล โกมลจันทร์ ซึ่งใช้นามปากกาว่า “ศรีเงินยวง” และนักเขียนที่ชุมนุมกันในสำนักงานนี้ล้วนใช้นามปากกาขึ้นต้นว่า “ศรี” ทั้งนั้น นามปากกา “ศรีบูรพา” เกิดขึ้นที่นี่ด้วย ผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ได้แก่ ปราบพยศ มารมนุษย์ ลูกผู้ชาย โลกสันนิวาส หัวใจปรารถนา ฯลฯ “ศรีบูรพา” ก็เช่นเดียวกับนักเขียนอีกจำนวนมาก ที่เริ่มงานเขียนบันเทิงคดีของตนด้วยนวนิยายรักเริงรมย์ เพื่อสร้างความบันเทิงแก่คนอ่าน แต่นวนิยายเริงรมย์ของเขาก็แทรกสาระแก่ชีวิต อันได้แก่ แนวคิดเรื่องมนุษยธรรม ความมีคุณธรรม ความยุติธรรมในสังคม และการปลูกฝังความเป็นคนดี ดังปรากฏในเรื่องลูกผู้ชาย ซึ่งมุ่งให้เห็นว่าปัจเจกบุคคลสามารถเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคมของตนได้ด้วยการศึกษาเรียนรู้ และการเป็นคนดีมีคุณธรรม


หลังจากสำนักรวมการแปลล้มเลิกไปแล้ว “ศรีบูรพา” ไปทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ต่อมา พ.ศ.๒๔๗๒ ได้ร่วมกับพรรคพวกอีก ๙ คน ก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายปักษ์ชื่อ สุภาพบุรุษขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากนักอ่านมากมาย ยอดพิมพ์ถึง ๔,๐๐๐ ฉบับต่อปักษ์ แต่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษก็ต้องปิดตัวเองในราว พ.ศ.๒๔๗๔ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ “ศรีบูรพา” ได้สร้างผลงานที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะเป็นจุดเปลี่ยนแนวการเขียนของเขา จากนวนิยายเริงรมย์มาสู่นวนิยายเพื่อชีวิต นั่นคือนวนิยายเรื่องสงครามชีวิต ซึ่งแม้จะมีเค้าโครงเรื่องจากนวนิยายรัสเซียเรื่อง Poor People ของ ดอสโตเยฟสกี้ แต่ศรีบูรพาได้นำเสนอบทวิพากษ์สังคมไทยไว้อย่างเฉียบคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจของเงิน ช่องว่างทางชนชั้น ช่องว่างทางเศรษฐกิจ ความเชื่อในศาสนาแบบผิดๆ ค่านิยมและวิถีชีวิตแบบทุนนิยม นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๗๕ และได้รับการตีพิมพ์ต่อมาอย่างสม่ำเสมออีกหลายครั้ง

“ศรีบูรพา” ทำงานช่วงสั้น ๆ ให้แก่หนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ ได้แก่ บางกอกการเมือง ไทยใหม่ และหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือประชาชาติ ซึ่งก่อตั้งโดยพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในระหว่างนี้ได้เผชิญมรสุมทางการเมืองเป็นระลอก ๆ “ศรีบูรพา” แต่งงานเมื่ออายุได้ ๓๑ ปี ใน พ.ศ.๒๔๗๘ กับ นางชนิด สายประดิษฐ์ โดยกรมหมื่น นราธิปพงศ์ประพันธ์เป็นเจ้าภาพ พร้อมทั้งประทานที่ดินที่ซอยพระนางให้ปลูกเรือนหอ มีลูก ๒ คน คือ พญ.สุรภิณ ธนะโสภณ และ นายสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ ใน พ.ศ.๒๔๗๙ ได้เดินทางไปดูกิจการหนังสือพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา ๖ เดือน หลังจากกลับมาประเทศไทย ได้แต่งนวนิยายรักโรแมนติค เรื่องข้างหลังภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเด่นอีกเรื่องหนึ่งของ “ศรีบูรพา” และเป็นที่รู้จักในหมู่ของคนรุ่นใหม่มากที่สุด เพราะมีการวิจารณ์ซ้ำหลายครั้ง และมีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ๒ ครั้ง และหลังจากนี้ไม่นานได้แต่งเรื่องป่าในชีวิต นวนิยายรักที่แทรกบทวิพากษ์การเมือง

ในราว พ.ศ.๒๔๘๒ “ศรีบูรพา” หาทุนออกหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษใหม่อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาได้รวมกับหนังสือพิมพ์ประชามิตร ของ นายสนิท เจริญรัฐ เป็นประชามิตร-สุภาพบุรุษ “ศรีบูรพา” เขียนบทความขับเคี่ยวกับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยตลอดเวลา เช่น คัดค้านการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ โจมตีการร่วมมือกับญี่ปุ่นในการทำสงคราม ฯลฯ ในที่สุดได้ถูกจับด้วยข้อหากบฏภายในประเทศ ถูกคุมขังราว ๓ เดือน จึงได้รับอิสรภาพเพราะคดีไม่มีมูล

“ศรีบูรพา” เดินทางไปศึกษาวิชาการเมืองที่ออสเตรเลียในระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๐-๒๔๙๒ ทันทีที่เดินทางกลับมาได้เขียนนวนิยายเรื่อง จนกว่าเราจะพบกันอีก จนจบตอนหนึ่งในเวลาเพียง ๑ เดือน แต่หลังจากนั้นว่างเว้นไปอีก ๑๐ เดือน จึงเขียนนวนิยายเรื่องนี้ต่อจนจบบริบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ และพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษที่จัดตั้งขึ้น จนกว่าเราจะพบกัน อีกเป็นนวนิยายการเมืองที่กล่าวถึงนักเรียนไทยในต่างแดนกับหญิงต่างชาติ แต่ผูกเรื่องแตกต่างจากนวนิยายร่วมสมัย รวมทั้งนวนิยาย ๒ เรื่องเด่นของ “ศรีบูรพา” ที่เขียนก่อนหน้านี้ คือ สงครามชีวิตและข้างหลังภาพ ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมของความรักที่เกิดจากอำนาจทุนนิยม และค่านิยมของศักดินาที่ครอบงำอย่างเหนียวแน่น ในนวนิยายเรื่อง จนกว่าเราจะพบกันอีก ความสัมพันธ์ของตัวละครเป็นไปในเชิงอุดมคติมากกว่าเป็นความสัมพันธ์ฉันชู้สาว โกเมศหนุ่มเสเพลลูกคนรวยที่ไม่มีอุดมการณ์ใด ๆ ในชีวิตได้พบกับหญิงสาวออสเตรเลียที่มีอุดมคติ ซึ่งสามารถเปลี่ยนทัศนคติและวิถีดำเนินชีวิตของชายหนุ่มให้มีความต้องการกลับมาเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น “ศรีบูรพา” ดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวละครตลอดทั้งเรื่อง เพื่อกล่าวถึงปัญหาในสังคมไทยโดยละเอียด จนวิทยากร เชียงกูล เคยวิจารณ์ว่า “แทบจะกลายเป็นบทความมากกว่านิยาย”

ใน พ.ศ.๒๔๙๕ “ศรีบูรพา” ถูกจับพร้อมด้วยมิตรสหายในวงการหนังสือพิมพ์ด้วยข้อหากบฏภายใน และภายนอกราชอาณาจักร เพราะมีกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ และคัดค้านการทำสงครามเกาหลี ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา ๑๓ ปี ๔ เดือน แต่ได้รับการนิรโทษกรรมใน พ.ศ.๒๕๐๐ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ รวมเวลาที่ติดคุกสี่ปีเศษ ในระหว่างติดคุกนี่เอง “ศรีบูรพา” ได้เขียนนวนิยายเรื่องแลไปข้างหน้า ซึ่ง วิทยากร เชียงกูล ยกย่องว่า เป็นผลงานที่ดีที่สุด และคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือดี ๑๐๐ เรื่องที่คนไทยควรอ่าน “ศรีบูรพา” เขียนแลไปข้างหน้า จบภาคปฐมวัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ ส่วนภาคมัชฌิมวัย เขียนในปี ๒๕๐๐ ลงในปิยมิตรเป็นตอน ๆ ตอนที่ ๑ ยาว ๑๖ บท ส่วนตอนที่ ๒ เขียนค้างไว้เพียง ๓ บท นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยอย่างชัดเจนผ่านชีวิตของ จันทา โนนดินแดง เด็กบ้านนอกที่เข้ามาอาศัยเป็นเด็กรับใช้ในบ้านเจ้านายผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ผู้แต่งตีแผ่ให้เห็นระบบโครงสร้างของสังคมไทยที่ก่อให้เกิดปัญหาซับซ้อนหลายระดับ ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ช่องว่างทางชนชั้น จารีตประเพณีที่ล้าหลัง การครอบงำของค่านิยมเก่า เป็นเหตุทำให้ปัญหาสังคมไทยทบซ้อนหลายชั้น ฯลฯ ในนวนิยายเรื่องนี้ “ศรีบูรพา” นำเสนอความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม และความมีมนุษยธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนชั้นล่างของสังคม อันเป็นจุดยืนทางความคิดที่นำเสนอในนวนิยายแทบทุกเรื่อง


หลังออกจากคุก “ศรีบูรพา” ได้รับเชิญไปฉลอง ๔๐ ปี การปฏิวัติโซเวียตรัสเซีย และได้รับเชิญไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนชาวจีน ระหว่างเดินทางอยู่ในประเทศจีน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร มีการจับกุมคุมขังนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายจำนวนมาก “ศรีบูรพา” จึงขอลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนจนสิ้นชีวิตที่นั่นเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๗ ด้วยโรคปอดบวมและเส้นโลหิตหัวใจตีบตัน สิริอายุ ๖๙ ป

ผลงานประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” ประกอบด้วยนวนิยาย ๑๖ เรื่อง คือ คมสวาทบาดจิต (๒๔๖๗) ปราบพยศ (๒๔๗๑) มารมนุษย์ (๒๔๗๑) ลูกผู้ชาย (๒๔๗๑) โลกสันนิวาส (๒๔๗๑) หัวใจปรารถนา (๒๔๗๑) อำนาจใจ (๒๔๗๓) แสนรักแสนแค้น (๒๔๗๓) สงครามชีวิต (๒๔๗๕) ผจญบาป (๒๔๗๗) ข้างหลังภาพ (๒๔๘๐) ป่าในชีวิต (พิมพ์เป็นตอน ๆ ระหว่าง ๒๔๘๐-๒๔๘๑ รวมเล่มครั้งแรก ๒๕๓๑) สิ่งที่ชีวิตต้องการ (พิมพ์เป็นตอนๆปี ๒๔๗๘ รวมเล่มครั้งแรก ๒๔๘๒) จนกว่าเราจะพบกันอีก (๒๔๙๓) แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย (๒๔๙๘) แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย (พิมพ์เป็นตอนๆ ปี ๒๕๐๐ รวมเล่มครั้งแรก ๒๕๑๘) เรื่องสั้นประมาณ ๓๓ เรื่อง ที่นำมารวมพิมพ์เป็นเล่ม เช่น เรื่องสั้นของ “ศรีบูรพา” ขอแรงหน่อยเถอะ รวมเรื่องสั้นรับใช้ชีวิตของ “ศรีบูรพา” เป็นต้น ผลงานแปล ๙ เรื่อง นอกจากนี้มีสารคดี บทความการเมือง ปาฐกถา บทกวี อีกจำนวนหนึ่ง

กล่าวได้ว่า ผลงานสร้างสรรค์ของศรีบูรพาแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ นวนิยายเริงรมย์ และวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งรวมทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และข้อเขียนอื่นๆ ด้วย ในช่วงหลัง “ศรีบูรพา” มีปณิธานในการพัฒนางานเขียนของตนเพื่อ “รับใช้ชีวิต” “รับใช้สังคม” อย่างมุ่งมั่น ดังจะเห็นได้จากคำแถลงในการพิมพ์ “จนกว่าเราจะพบกันอีก” เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ ว่า “นักเขียนเช่นเรา ๆ ไม่ต้องการอะไรยิ่งไปกว่าโอกาสที่จะได้เสนองาน และความคิดตามที่เขาเชื่อว่าจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประชาคม ที่เขาประสงค์จะร่วมสร้างสรรค์ให้เป็นประชาคมที่ดีงาม และจะเป็นไม่ได้ ถ้าปราศจากเสียซึ่งความเป็นธรรมในประชาคมนั้น” ผลงานของ “ศรีบูรพา” สะท้อนเจตนารมย์อันแน่วแน่ จึงเป็นผลงานที่จำหลักอยู่ในความทรงจำของคนร่วมสมัย และเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกทางสังคมแก่คนรุ่นหลังตลอดมา ดังเช่น คุณรัญจวน อินทรกำแหง กล่าวยกย่องไว้ในบทความชื่อ “รู้จักศรีบูรพา” ตอนหนึ่งว่า “จะกล่าวว่าเป็นการแสดงวิวัฒนาการการเขียนของศรีบูรพาอย่างน่าชื่นชมก็ได้ เพราะถ้าศรีบูรพาเป็นนักไต่เขา เขาก็มีแต่ปีนได้สูงขึ้น สูงขึ้นทุกทีจนสามารถขึ้นถึงยอดเขา และเป็นจุดแม่เหล็กให้นักเขียนรุ่นเยาว์ใคร่ป่ายปีนได้เช่นบ้าง”

นวนิยายเรื่องเอกของ “ศรีบูรพา” ที่มีผู้กล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ คือ สงครามชีวิต ข้างหลังภาพ จนกว่าเราจะพบกันอีก และแลไปข้างหน้า ในจำนวนนี้ ข้างหลังภาพ เป็นนวนิยายที่มหาชนรู้จักกันมากที่สุด ได้รับการตีพิมพ์จำนวน ๓๙ ครั้ง (๒๕๔๘) แปลเป็นภาษาจีน ๒ สำนวน ภาษาญี่ปุ่น ๑ สำนวน ภาษาอังกฤษ ๑ สำนวน ได้รับการวิจารณ์ตั้งแต่ยังเป็นต้นฉบับก่อนพิมพ์เป็นเล่ม (วิจารณ์โดย สมจิตต์ ศิกษมัต ลงในหนังสือ มหาวิทยาลัย ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๔๘๑) และมีการวิจารณ์ซ้ำต่อมาอีกหลายครั้ง ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงนวนิยายเรื่องนี้ เพื่อย้ำคุณค่าของผลงานวรรณศิลป์เรื่องเด่นของ “ศรีบูรพา”

ข้างหลังภาพ : นวนิยายโรแมนติคของสตรีผู้แสวงหาความรัก


หลังจากเรื่องสงครามชีวิต ซึ่งแสดงโศกนาฏกรรมแห่งความรักอันเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว “ศรีบูรพา” ได้สร้างสรรค์นวนิยายที่ถือว่าเป็นจุดสุดยอดของงานวรรณศิลป์ คือเรื่องข้างหลังภาพ เหตุที่กล่าวว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นจุดสุดยอดของงานวรรณศิลป์ เพราะเป็นนวนิยายที่งดงามถึงพร้อมด้วยเนื้อหา และกลวิธีการประพันธ์ “ศรีบูรพา” เขียนนวนิยาย และเรื่องสั้นเป็นเรื่องรัก-ร้างไว้หลายเรื่อง ทั้งที่จบดีและจบร้าย แต่ไม่มีเรื่องใดประทับใจเท่ากับเรื่องของความรักต้องห้าม ต่างวัย ต่างศักดิ์ ระหว่าง ม.ร.ว.กีรติ กับ นพพร ใน ข้างหลังภาพ เพราะอุปสรรคของความรักในเรื่องนี้ทับซ้อนหลายชั้น ตั้งแต่ฝ่ายหญิงแต่งงานแล้ว มีอายุมากกว่าฝ่ายชาย ตลอดจนสูงศักดิ์ด้วยฐานันดรและสถานะทางสังคม เรื่องราวของความรักรันทดอันจบลงด้วยความตายของ ม.ร.ว.กีรติ นี้ มีผู้วิจารณ์ไว้มากมาย ดังจะขอยกมากล่าวในเชิงสรุปในที่นี้

“บัวหลวง” ซึ่งคาดเดาว่าเป็นนามแฝงของ น.ประภาสถิต นักประพันธ์สตรีคนหนึ่งในยุคนั้น เขียนวิจารณ์ลงในสยามนิกร พ.ศ.๒๔๘๑ ว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องความรักที่งดงาม ม.ร.ว.กีรติ เป็นตัวละครที่ควรได้รับความสงสารเห็นใจในความอาภัพรัก เพราะความเป็นสุภาพสตรีที่ไม่ปล่อยให้ความปรารถนาในใจเป็นใหญ่ ดังที่ได้รับการอบรมศีลธรรมตามแบบจารีตสังคมไทยเดิม ผู้วิจารณ์กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นแบบหนึ่งของสุภาพสตรีไทยสมัยสังคมของเรา ยังอยู่ในหัวเลี้ยวระหว่าง ‘เก่า’ กับ ‘ใหม่’ คือ การอบรมแบบไทย แต่การศึกษาเป็นแบบตะวันตก การศึกษาได้ปลุกใจ หม่อมราชวงศ์กีรติให้ตื่นจากความสงบแห่งความปรารถนาของมนุษย์ตามประเพณีเก่าของเรา แต่อาศัยด้วยได้รับความอบรมศีลธรรมแบบเก่าของเราเป็นรากฐานในจิตใจ หม่อมราชวงศ์กีรติจึงเป็นสุภาพสตรีที่จริยาไม่ปล่อยให้ความปรารถนาเป็นใหญ่ในใจในเมื่อมีโอกาสจะทำได้”

ในขณะที่ บรรจง บรรเจิดศิลป์ วิจารณ์นวนิยายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “ดูสังคมจากวรรณกรรม ดูวรรณกรรมจากสังคม” ด้วยแนวคิดทางการเมือง จึงตีความอุปสรรคความรักระหว่างตัวละครทั้งสองว่าเป็นมูลเหตุจากความแตกต่างทางชนชั้น โดยชี้ว่าการที่ ม.ร.ว.กีรติถูกสลัดรักจากนพพร หนุ่มน้อยนักศึกษาวิชาการธนาคาร แห่งมหาวิทยาลัยริคเคียวในเวลาไม่นานนัก เป็นเพราะว่า “ชนชั้นนายทุนนายหน้าผู้ซึ่งขึ้นครองตำแหน่งแทนชนชั้นผู้ดีในสังคมนั้น ก็ย่อมไม่สามารถจะรับเอาระบบอันเก่าคร่ำครึมาเป็นระบบคู่ครองของตนได้ฉันนั้น”

ส่วน ม.ล.บุญหลือ เทพยสุวรรณ เน้นการวิจารณ์ในเชิงจิตวิทยา ในหนังสือวิเคราะห์รสวรรณคดีไทย ม.ล.บุญเหลือชี้ให้เห็นว่า ตัวละครทั้งสองมีพัฒนาการทางอารมณ์ ความรู้สึกจากความนิยมไปสู่ความรักอย่างละเมียดละไมเป็นขั้นเป็นตอน ต่อมานพพรกลับหลุดจากห้วงรักนั้นไปตามธรรมชาติของคนหนุ่ม ในขณะที่คุณหญิงกีรติยังมีความฝัน และความหวังจะได้ร่วมชีวิตกับนพพรอยู่ สิ่งที่หล่อเลี้ยงความฝันนั้นคือ เหตุการณ์ที่มิตาเกะ ซึ่งนพพรแสดงความรักอย่างรุกเร้า ม.ล.บุญเหลือยังตีความอีกว่า สิ่งที่หล่อเลี้ยงความฝันอีกอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นความภาคภูมิใจของหม่อมราชวงศ์กีรติว่า แม้ตนจะอายุมากกว่านพพร แต่ก็มิได้เป็นอุปสรรคของความรัก ดังที่ผู้วิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า “หม่อมราชวงศ์กีรตินั้นเป็นคนที่มีอุปาทานยึดอยู่กับวัย มีความรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างวัยของตนกับของสามีมากเป็นพิเศษกว่าคนอื่น ๆ แล้วก็เกิดภาคภูมิใจว่า วัยระหว่างตนกับนพพรนั้น หาได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้นพพรรักตนไม่ และตนเองก็มีความรักอย่างดูดดื่มตอบสนอง ได้หล่อเลี้ยง ‘รสทิพย์’ ของความรักนั้นไว้เป็นเวลานานถึง ๕ ปี” ดังนั้น เมื่อความฝัน และความหวังสลาย คุณหญิงกีรติจึงถึงแก่ความตาย

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เป็นนักวิจารณ์รุ่นใหม่ที่พลิกคำวิจารณ์ที่มีมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด ในบทวิจารณ์ชื่อ “ปริศนา ข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพา” ชูศักดิ์มีความเห็นว่า บทวิจารณ์ทั้งหลายตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดว่า ศิลปะนั้นจำลองมาจากชีวิต แต่เขากลับเห็นว่า นวนิยายเรื่องข้างหลังภาพชี้ว่า ชีวิตต่างหากจำลองมาจากศิลปะ ดังนั้น เขาจึงสรุปว่า “โศกนาฏกรรมของ ม.ร.ว.กีรติคือ โศกนาฏกรรมของผู้ใช้ชีวิตเลียนแบบวรรณกรรมความรักต้องห้าม และความตายของเธอคือ ความตายของวรรณกรรม ที่ตกไปอยู่ในมือของคนอ่านหนังสือไม่แตก” ทั้งนี้ผู้วิจารณ์แสดงรายละเอียดให้เห็นว่านพพรมุ่งแต่จะได้คำตอบว่า “รัก” เต็มปากเต็มคำจากคุณหญิงกีรติ โดยไม่ได้สำเหนียกเลยว่า คุณหญิงกล่าวคำพูดแฝงนัยถึงความรักนพพรอยู่ตลอดเวลา ไม่ช้าความรักของนพพรจึงคลายไปเพราะไม่เข้าใจ “สาร” ที่คุณหญิงกีรติเสนอ ส่วนคุณหญิงกีรติชุ่มชื่นใจกับการรับนพพรเป็น “ชู้ทางใจ” เช่นเดียวกับสตรีสูงศักดิ์ในวรรณกรรมอัศวินยุคกลางของยุโรป ที่ต้องทั้ง “ยั่วยุและยับยั้ง” แต่จะไม่ยอมเผยความในใจเป็นเด็ดขาด มิฉะนั้น ความรักซ่อนเร้นเช่นนี้จำต้องเปลี่ยนสถานะไป ดังนั้น การเผยคำพูดแสดงความรักอย่างชัดแจ้งตรงไปตรงมาอันเป็น “อมตะวาจา” ที่กินใจคนอ่านมาทุกยุคทุกสมัย จึงเป็น “เพชฌฆาตวาจา” ที่พรากลมหายใจของเธอไปด้วย

บทวิจารณ์ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น คงทำให้ผู้อ่านมองเห็นความงามของนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพในแง่มุมต่าง ๆ กันซึ่งยิ่งเพิ่มคุณค่าของอมตะนิยายเรื่องนี้ สำหรับผู้เขียนบทความนี้ เลือกที่จะมองนวนิยายเรื่องนี้ว่าเป็นนวนิยายรักโศกของสตรีผู้แสวงหาความรัก ผู้แต่งไม่ได้เน้นปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือช่องว่างระหว่างชนชั้นของตัวละครเลย หากแต่ประเด็นที่นำเสนอให้ผู้อ่านขบคิดผ่านเรื่องราวชีวิตของตัวละครคือ เรื่องความรักและการแต่งงาน โดยชี้ว่า การแต่งงานโดยปราศจากความรักสามารถมีความสุขได้ แต่ความรักโดยปราศจากการแต่งงานคือความทุกข์มหันต์ บทสนทนาระหว่าง ม.ร.ว.กีรติกับนพพรขณะพาท่านเจ้าคุณไปเที่ยวพักผ่อนชายทะเลที่ตำบลกามากูระ ระบุชัดเจนว่าท่านเจ้าคุณ และคุณหญิงแต่งงานกันเพราะต้องการความผาสุก ไม่ใช่ความรัก ดังที่ ม.ร.ว.กีรติกล่าวว่า “ฉันไม่เชื่อในความรักระหว่างชายแก่กับหญิงสาว” และ “เพราะว่าน้ำรักของท่านได้เหือดแห้งไปพร้อมกับวัยชราของท่านเสียแล้ว วัยแห่งรสรักได้ผ่านพ้นท่านไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้ท่านไม่รู้ว่าท่านจะรักได้อย่างไร ท่านรักฉันไม่ได้ เพราะว่าท่านไม่มีสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นความรัก-ความรักตามอุดมทัศนีย์ของฉัน” และที่ตำบลมิตาเกะ ม.ร.ว.กีรติเล่าให้นพพรรับรู้เหตุผลที่เธอแต่งงานโดยปราศจากความรักว่า ข้อแรกเนื่องจากเธออายุ ๓๕ ปี อันเป็นวัยที่แก่เกินกว่าจะพบคนรัก และแต่งงานด้วยความรัก ดังที่เธอกล่าวว่า

“ครั้นฉันระลึกได้ว่า ฉันมีอายุได้เท่าไรแล้ว ฉันก็ใจหายอีกครั้งหนึ่ง หยาดน้ำตาไหลระริน เมื่อฉันรู้สึกด้วยความแน่ใจว่า คำขอของท่านเจ้าคุณ เป็นสัญญาณบอกความพินาศแห่งความหวังของฉัน เป็นสัญญาณว่าโอกาสที่ฉันจะได้พบความรัก และได้แต่งงานกับชายที่ฉันรักได้สิ้นสุดลงแล้ว เวลาของฉันหมดแล้ว”

ข้อสองเพื่อที่เธอจะได้มีชีวิตใหม่ในโลกกว้าง หลังจากเจ้าคุณพ่อเก็บกักลูกสาวแสนสวยคนนี้ไว้ในโลกของท่าน เพราะเมื่อเริ่มเป็นสาว เธอก็ได้รับการศึกษาจากแหม่มแก่ และได้รับการอบรมจากในรั้วในวังโดยไม่มีโอกาสคบหาสมาคมกับคนอื่น ๆ เธอกล่าวว่า

“ฉันต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกอันแคบมาเป็นเวลาถึง ๓๔ ปีเต็ม ฉันทั้งเบื่อหน่าย และเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวเต็มที แต่นกน้อยเมื่อปีกแข็งยังสละรัง เที่ยวโบยบินไปชมโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล ก็ฉันเป็นคน และเติบโตเต็มที่จนจะคล้อยไปในทางร่วงโรยอยู่แล้ว เหตุใดจะมาจับเจ่าเฝ้าอยู่แต่แห่งเดียว ฉันต้องการติดต่อคุ้นเคยกับโลกภายนอก ต้องการความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ต้องการประกอบกิจวัตรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ฉันได้ทำมาแล้วตลอดเวลา ๓๔ ปีบ้าง ไม่มีอะไรจะช่วยให้ฉันบรรลุความต้องการเหล่านี้ได้ นอกจากการแต่งงาน”

นับเป็นความจริงที่หญิงสาวชาติตระกูลสูงในยุคสมัยที่ “ศรีบูรพา” แต่งนวนิยายเรื่องนี้ยังไม่อาจเลือกใช้ชีวิตได้ตามใจชอบ พวกเธออาจมีความมั่นคั่ง มีชีวิตที่มั่นคง แต่ไร้อิสระ ราวนกน้อยในกรงทอง ประตูที่เปิดไปสู่หนทางแห่งอิสรภาพของหญิงสาวเหล่านั้นมี ๒ ประตู นั่นคือ การศึกษาและการแต่งงาน แต่สำหรับสตรีที่เป็นชนชั้นสูง แม้จะมีโอกาสดีในด้านการศึกษา แต่เธอก็ไม่มีโอกาสใช้ความรู้นั้นในการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ความรู้ที่เธอจึงมีประโยชน์เพียงเสริมสร้างคุณภาพชีวิต อย่างเช่น ทำให้คุณหญิงกีรติรักศิลปะ และรู้จักกรรมวิธีบำรุงรักษาความงามให้คงทน ดังนั้น สำหรับหญิงผู้ดี การแต่งงานเป็นประตูเดียวที่เปิดไปสู่โลกกว้าง คุณหญิงกีรติผู้เฉลียวฉลาดจึงรู้ดีว่าเธอตัดสินใจแต่งงานด้วยเหตุผลใด หรืออีกนัยหนึ่งเธอไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว เพราะสิ่งที่เธอปรารถนาก็คือชีวิตคู่

ผู้หญิงในยุคปัจจุบันคงไม่เห็นด้วยกับ ม.ร.ว.กีรติ และเสนอทางเลือกใหม่คือ การครองตนเป็นโสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่พึ่งพาตนเองได้ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และวิชาความรู้ แต่การครองตนเป็นโสด คงจะเป็นเรื่องที่ยากจะเป็นไปได้สำหรับผู้หญิงในยุค พ.ศ.๒๔๘๐ เพราะแม้แต่ “ศรีบูรพา” ซึ่งเขียนเรื่องนี้จากชีวิตจริงของสุภาพสตรีผู้เพียบพร้อมท่านหนึ่ง ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ยังใช้คำว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจ” แสดงให้เห็นว่าในสายตาของสังคมสมัยนั้น ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานนับว่าเป็นคนที่น่าสงสาร จนอาจถึงขั้นน่าสมเพช เพราะไม่มีชายใดเลือกเธอเป็นคู่ครอง สังคมวิพากษ์ผู้หญิงที่มีชะตากรรมเช่นนี้ โดยมิได้สนใจเลยว่าเธอบางคนอาจจะเป็นผู้เลือกกำหนดชีวิตเช่นนั้นด้วยตนเอง “ศรีบูรพา” กล่าวไว้ในที่ประชุม ชมรมนักประพันธ์ ครั้งที่ ๔ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๓ ถึงแรงบันดาลใจของการแต่งนวนิยายเรื่องนี้ว่า

“ตามธรรมดาการที่เราสร้างบทประพันธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมานั้น พวกเราทุกคนย่อมทราบว่า ก่อนอื่นจะต้องมี material คือมนุษย์ และชีวิตที่ได้พบเห็นนี่แหละ เป็นเครื่องมือในการสร้างเรื่องนิยาย การสร้างเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ก็ได้ดำเนินไปตามหลักดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าเกิดความคิดจากการพิเคราะห์ดูชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ ได้วิเคราะห์ชีวิตสุภาพสตรีท่านหนึ่งที่ได้รู้จักกัน เป็นคนสวย แต่งตัวเก่ง น่าทึ่ง มีความประณีตในการเลือกเสื้อผ้าอาภรณ์ แต่สุภาพสตรีผู้นี้ยังไม่ได้แต่งงาน ทั้ง ๆ ที่มีฐานะดีควรจะได้แต่ง ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจ จึงนำชีวิตของเธอมาใคร่ครวญดู และนึกว่าผู้อ่านของเราก็คงอยากรู้ถึงชีวิตของสตรี ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะได้แต่งงานแล้วไม่ได้แต่ง ว่าความรู้สึกจะเป็นอย่างไร จึงได้ประพันธ์ออกมาเป็นเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ในเรื่องนั้นได้มุ่งหมายให้สุภาพสตรีผู้นั้นแสดงทรรศนะอันจะเป็นประโยชน์ดีงามต่อชีวิตด้วย ส่วนคุณค่าทางศิลปะจะเป็นอย่างไร ย่อมแล้วแต่ประชาชนจะวินิจฉัย”

อันที่จริง ผู้อ่านรู้จักคุณหญิงกีรติผ่านคำบอกเล่าของนพพรเป็นส่วนใหญ่ นพพรลงความเห็นว่าเธอเป็นผู้หญิงที่เฉลียวฉลาด พูดเก่ง ทั้งเรื่องจริงจังและเรื่องเล่น ๆ และที่สำคัญเธอเป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์รัดรึงใจทุกคนที่พบเห็น เสน่ห์ของเธอปรากฏในรูปโฉมที่งดงามสะดุด อ่อนกว่าวัย และความใส่ใจในผู้อื่น แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างเอื้ออารี ผู้อ่านก็คงไม่ปฏิเสธความเห็นของนพพร แต่ที่น่าสนใจกว่านี้อีกคือ คุณหญิงกีรติมองตนเองอย่างไร ในส่วนนี้ผู้อ่านเรียนรู้ได้จากคำพูดของเธอ ที่เล่าเรื่องของตนเองให้นพพรฟังอย่างไม่ปิดบัง จะเห็นได้ว่าคุณหญิงกีรติเป็นภาพสะท้อนของผู้หญิงในสังคมเก่าที่ยอมรับข้อกำหนดของสังคมโดยดุษณีภาพ เธอมิได้มีความคิดต่อต้านเลยแม้แต่น้อย หากแต่รู้สึกว่าเป็น “หน้าที่” ที่จะต้องทำตัวคล้อยตามกระแสสังคมให้มากที่สุด ดีที่สุด ดังที่เธอกล่าวว่า

“ฉันไม่ใคร่จะได้คิดอะไรในเวลานั้น เพราะว่าเราไม่ได้ถูกอบรมให้เป็นคนช่างคิด เรามีทางที่เขากำหนดไว้ให้เดิน เราต้องเดินอยู่ในทางแคบ ๆ ตามจารีตประเพณีขนบธรรมเนียม”

และ

“ฉันหวังว่าเธอคงไม่ด่วนลงความเห็นติเตียนว่า ฉันใช้เวลาวันละหลาย ๆ ชั่วโมงในทางที่ไร้ประโยชน์ เธอจงเห็นใจสตรีเพศ เราเกิดมาโดยเขากำหนดให้เป็นเครื่องประดับโลก ประโลมโลก และเพื่อที่จะทำหน้าที่นี้อย่างดีที่สุด เราจำต้องบำรุงรักษารูปโฉมของเราให้ทรงคุณค่าไว้ จริงอยู่ นี่มิใช่หน้าที่อันเดียวหรือทั้งหมดของสตรีเพศ แต่เธอคงไม่ปฏิเสธว่ามันเป็นหน้าที่อันหนึ่งของเรา” การบำรุงรูปโฉมให้ต้องตาต้องใจชาย ก็คือการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการมีชีวิตคู่นั่นเอง ดังนั้น จึงไม่แปลกอันใดที่คุณหญิงกีรติ ย่อมมีความคิดว่าชีวิตที่สมบูรณ์ของลูกผู้หญิงคือ การแต่งงานมีครอบครัวอบอุ่นและมีความรัก ดังที่เธอกล่าวว่า

“ความรักเป็นพรอันประเสริฐ เป็นยอดปรารถนาของชีวิต ฉันก็เหมือนกับคนทั้งหลาย ย่อมปรารถนาใฝ่ฝันถึงความรักและการแต่งงาน ฉันปรารถนาที่จะพูดถึง และรู้สึกด้วยตนเองในเรื่องราวของชีวิตในโลกใหม่ ดังที่น้องสาวสองคนได้มีโอกาสเช่นนั้น ฉันปรารถนาที่จะมีบ้านของฉันเอง ที่จะติดต่อสมาคมกับโลกภายนอก ปรารถนาที่จะมีบุตรน้อย ๆ เพื่อที่ฉันจะได้หลั่งความเมตตาปรานีจากดวงใจของฉันให้แก่เขา ฉันปรารถนาที่จะให้ตัก ให้แขนของฉันเป็นประโยชน์แก่คนอื่น ยังมีความปรารถนาที่งดงามอีกหลายอย่างที่ฉันย่อมจะบรรลุได้ ถ้าเพียงแต่ฉันจะได้พบความรัก”

โชคร้ายที่เธอเกิดมาไร้ความรักจนอายุเข้า ๓๔ ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอเปล่าเปลี่ยวและปวดร้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อน้องสาวสองคนแต่งงานออกเรือนไป ยิ่งเธอตระหนักดีว่าเธอเป็นผู้หญิงที่สวยเหลือเกิน แต่ไร้คนรัก ความเจ็บช้ำจึงยิ่งทวีคูณ คุณหญิงกีรติใช้คำว่า “อาภัพ” หลายครั้งเมื่อกล่าวว่าเธอไม่มีโอกาสแต่งงานในวัยอันสมควร ดังนั้น ข้อเสนอขอแต่งงานของเจ้าคุณอธิการบดีจึงเสมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่หากปล่อยให้เลยผ่านไป ชีวิตของคุณหญิงกีรติย่อมฝังจมอยู่ในโลกแคบ ๆ ที่เธอแสนเบื่อหน่าย การแต่งงานที่ปราศจากความรักจึงเป็นความผาสุก และน่าจะผาสุกตลอดไปหากโลกไม่เล่นตลกกับเธอ เพราะโลกกว้างที่เธอปรารถนา นำเธอไปพบชายหนุ่มที่แสดงความรักต่อเธออย่างลุ่มหลง แต่เธอกลับมีพันธะเสียแล้ว และเมื่อเธอหมดพันธะหลังเจ้าคุณอธิการบดีสิ้นชีวิต ความรักของนพพรก็กลับหลุดลอยไป

“ศรีบูรพา” ให้นพพรเป็นผู้เล่าเหตุการณ์ในเรื่องนี้ ผู้อ่านจึงไม่สงสัยเลยว่าความรักค่อย ๆ ก่อเกิดในใจของนพพรได้อย่างไร ในเมื่อผู้หญิงสูงวัยที่เขาได้พบ และแสนสวยและเยาว์กว่าวัยจริง อ่อนหวาน มีน้ำใจ และมีความเฉลียวฉลาดในการสนทนา เขาและเธอมีโอกาสพบปะกันตามลำพังบ่อยครั้ง และบรรยากาศธรรมชาติสวยงามก็เป็นใจ นพพรจึงเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการ มีเลือดเนื้ออารมณ์ราวบุคคลจริง รวมทั้งเมื่ออารมณ์เร่าร้อนผ่อนคลายเพราะกาลเวลา ความห่างไกล และการที่คุณหญิงกีรติไม่ได้สนองตอบ ก็เป็นไปตามธรรมชาติมนุษย์อย่างที่เป็นจริงได้ ส่วนคุณหญิงกีรติแม้จะดูเหมือนไร้อารมณ์ เพราะผู้อ่านจะรู้สึกได้ชัดเจนว่าจิตใจของเธอแน่วแน่มั่นคง เธอแทบจะไม่หวั่นไหววาบหวามไปกับการรุกเร้าของนพพร ไม่ว่าด้วยวาจาหรือด้วยการกระทำก็ตาม เธอจะมีคำพูดเชิงสั่งสอนที่ยับยั้งอารมณ์ของนพพร เหมือนน้ำเย็นที่ราดบนกองไฟ หรือพูดตัดบทเปลี่ยนเรื่องเสีย รวมทั้งแสดงกิริยาวาจาเป็นปกติราวกับไม่มีสิ่ง “ผิดปกติ” เกิดขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ตัวละครผู้นี้สง่างาม เป็นแบบอย่างของสตรี ผู้มีสติควบคุมตนเองได้ตลอดเวลา สมกับเธอที่เธอมีวัยสูงกว่า และได้รับการอบรมศีลธรรมจรรยามาอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านรับรู้แต่ปฏิกิริยาภายนอกของตัวละครนี้ แต่แทบจะไม่ทราบเลยว่าเธอคิดอะไรอยู่ในใจ เธอเสียดายหรือไม่ที่พบนพพรช้าเกินไป เธอจะคิดไหมว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ เพราะเธอประกาศชัดเจนแล้วว่า เธอไม่เชื่อเรื่องความรักต่างวัย เธอรักนพพรหรือไม่ หากเธอไม่มีพันธะ สังคมจะยอมรับการครองคู่ของสาวแก่กับหนุ่มอ่อนหรือ ฯลฯ เหล่านี้อาจเป็นข้อสงสัยในใจผู้อ่านที่ผู้แต่งไม่ได้ตอบไว้ เพราะผู้อ่านรู้จักคุณหญิงกีรติจากมุมมองของนพพร นพพรจึงไม่อาจล่วงรู้ความในใจลึกซึ้งของคุณหญิงกีรติเช่นกัน ถึงกระนั้นคุณหญิงกีรติมิได้ตัดรอนนพพรเสียทีเดียว เธอเหมือนคนบังคับว่าว ที่ผ่อนสายป่านบ้างบางครั้ง ดึงรั้งไว้บ้างบางคราว ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเธอมี “ใจ” ให้นพพรอยู่ไม่น้อย จนกระทั่งกระจ่างชัดด้วยประโยคที่เป็นอมตวาจาของนวนิยายเรื่องนี้

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันอิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

การที่คุณหญิงกีรติเป็นตัวละครที่ “อ่านไม่ออก” จึงสร้างความสนใจใคร่รู้แก่ผู้อ่านไม่น้อยไปกว่านพพร นอกจากนี้ “ศรีบูรพา” ยังสร้างความรู้สึกระทึกใจ (Suspension) แก่คนอ่านตลอดทั้งเรื่อง โดยให้คุณหญิงกีรติ และนพพรมีบทสนทนาที่ผลัดกันรุกผลัดกันถอย รวมทั้งความรักระหว่างคุณหญิงกีรติ และนพพรที่ขนานกันไปอย่างไม่ลงตัว ดังที่เธอบอกแก่นพพรก่อนสิ้นใจว่า “ความรักของเธอเกิดที่นั่น และก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่งยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ” นวนิยายเรื่องนี้จึงลงเอยอย่างแสนเศร้า สะเทือนอารมณ์แต่ประทับใจคนอ่านยาวนาน นับเป็นผลสำเร็จของการสร้างสรรค์นวนิยายรักเรื่องนี้ ความสำเร็จของนวนิยายรักรันทดใจเรื่องนี้ยังทำให้ “ศรีบูรพา” เขียนเรื่อง “นพพร-กีรติ” เป็นบทพิเศษในรูปของจดหมาย ๒ ฉบับ ระหว่างนพพรและกีรติ พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ผาสุก วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๖ นพพรยังคงบุคลิกของหนุ่มน้อยที่แสดงอารมณ์รักโดยอิสระและเปิดเผย ในขณะที่คุณหญิงกีรติติดอยู่ในกรอบแห่งหน้าที่และศีลธรรมจรรยา แต่กระนั้นเธอก็ยังมีความหวังว่าในอนาคตเธอจะมีชีวิตรักสมปรารถนา ดังกล่าวว่า

“ขอเธอจงปฏิบัติหน้าที่ของเธอเพื่ออนาคตอันรุ่งเรืองของเธอเอง และขออย่าเรียกร้องให้ฉันต้องละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของฉันเสียเลย หน้าที่ของแต่ละคน อาจมิได้ตรึงตราอยู่แต่อย่างหนึ่งอย่างใดจนชั่วชีวิต ประตูแห่งกาลอนาคตย่อมเปิดอ้าไว้เสมอ สำหรับต้อนรับการเปลี่ยนแปลง และโอกาสอาจจะมีสักครั้งคราวหนึ่ง ที่ทุกคนจะกระทำตามความคิดความปรารถนาของเขาได้ เธอจงยับยั้งตรึกตรองและบังคับใจไว้ให้ดี”

จึงกล่าวได้ว่า ข้างหลังภาพ เป็นนวนิยายที่ยอดนิยมที่ประกาศความสำเร็จของ “ศรีบูรพา” ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสร้างนวนิยายในแนวเพื่อชีวิตอย่างเรื่องจนกว่าเราจะพบกันอีก และแลไปข้างหน้าและจะเป็นอมตะนิยายที่ตรึงใจผู้อ่านไปทุกยุคทุกสมัย