พระไพศาล วิสาโ
เมื่อยังเด็ก ข้าพเจ้าชอบไปร้านหนังสือย่านวังบูรพาและเวิ้งนครเขษม โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลลดราคา ดังนั้นจึงคุ้นเคยกับชื่อ “ศรีบูรพา” ซึ่งในเวลานั้นมีผลงานด้านนวนิยายตีพิมพ์ป็นหนังสือปกแข็งอยู่หลายเล่มด้วยกัน จัดได้ว่าเป็นนักเขียนยอดนิยมที่หนอนหนังสือย่อมรู้จัก แต่ข้าพเจ้าหาได้เคยอ่านงานของศรีบูรพาไม่ เพราะเข้าใจว่าเป็นนวนิยายแบบรักๆ ใคร่ๆ ซึ่งน่าจะเหมาะกับผู้หญิงมากกว่า เวลานั้นข้าพเจ้าไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ทั้งสิ้นจนกระทั่งได้มาอ่านวารสารวรรณกรรมเพื่อชีวิต และสังคมศาสตร์ปริทัศน์ โดยเฉพาะฉบับหลังนั้นก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เพียง ๓ เดือน ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จากความทรงจำของ ยศ วัชรเสถียร รวมทั้งมุมมองของ วิทยากร เชียงกูล ต่อนวนิยายของศรีบูรพา ถึงตอนนั้นข้าพเจ้าจึงได้รู้จัก “ศรีบูรพา”ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือในฐานะนักเขียนหัวก้าวหน้า และได้รู้จัก กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรมในสังคม
เมื่อมีการประท้วงรัฐบาลถนอม-ประภาสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนจะถึง “วันมหาวิปโยค”นั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมชุมนุมด้วย ในระหว่างการชุมนุมที่สนามฟุตบอลซึ่งยืดเยื้อนานเป็นสัปดาห์นั้น หนังสือเล่มหนึ่งที่ข้าพเจ้าซื้อมานั่งอ่านจนจบคือ จนกว่าเราจะพบกันอีก ของ “ศรีบูรพา” หนังสือเล่มนั้นดูเหมือนจะตีพิมพ์โดยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนั้นองค์กรและกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาเป็นผู้บุกเบิกในการนำวรรณกรรมเก่าๆ กลับมาตีพิมพ์ใหม่ รวมทั้งงานของ “ทีปกร”(จิตร ภูมิศักดิ์) เสนีย์ เสาวพงศ์ และ อิศรา อมันตกุล เป็นต้น พวกเราซึ่งเป็นนักเรียนได้มารู้จักนักคิดนักเขียนรุ่นเก่าๆ รุ่นก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็ในช่วงนี้เอง
หลังจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา แล้ว ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกับเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ขวนขวายติดตามอ่านงานของ “ศรีบูรพา”โดยเฉพาะที่เป็นหนังสือต้องห้าม เวลานั้น แลไปข้างหน้า (ภาคปฐมวัย) และ แม่ ที่แปลจากงานของ แม็กซิม กอร์กี้ ยังเป็นหนังสือใต้ดิน ที่ต้องแอบพิมพ์และอ่านกัน ฉบับที่ข้าพเจ้าหาซื้อมาได้จากเพื่อนๆ ในกลุ่มยุวชนสยามราวๆ ปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๖ นั้น เป็นฉบับที่พิมพ์แบบโรเนียว แม้รูปเล่มไม่น่าอ่าน แต่ก็เป็นของมีค่าสำหรับพวกเรามาก ไม่ถึง ๑ ปีถัดมาก็ได้อ่านปรัชญาลัทธิมาร์กซิสม์ ซึ่งคุณกุหลาบเรียบเรียงโดยใช้ชื่อจริง ตอนนี้บรรยากาศทางด้านประชาธิปไตยเปิดกว้างแล้ว หนังสือเหล่านี้ตีพิมพ์ได้อย่างมีมาตรฐานและเผยแพร่อย่างเสรี ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป ไม่เว้นแม้แต่หนังสือของเหมาเจ๋อตุง หนังสือของคุณกุหลาบได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงนี้ มีการนำเล่มเก่าๆ โดยเฉพาะที่เขียนในช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ กลับมาพิมพ์ใหม่และพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง
เมื่อข้าพเจ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มีความแปลกใจที่พบว่าคุณกุหลาบได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาชื่อ อุดมธรรม ไว้ด้วย ที่ว่าแปลกเพราะมีความเข้าใจมาตลอดว่าคุณกุหลาบเป็นนักเขียนฝ่ายซ้าย นิยมลัทธิมาร์กซิสม์ ไม่น่ามาสนใจพระพุทธศาสนา ถึงขั้นปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยตนเอง ตามความเข้าใจของตนเองและจากที่พบเห็นในหมู่ขบวนการนักศึกษาปัญญาชนหลังปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ผู้ที่นิยมลัทธิมาร์กซิสม์นั้น มักปฏิเสธพุทธศาสนา เห็นศาสนาเป็นยาเสพติด แต่คุณกุหลาบไม่ใช่เช่นนั้น ตอนนั้นข้าพเจ้าได้เข้าเป็นสมาชิกชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณีแล้ว จึงยินดีและเห็นด้วยที่ทางชุมนุมฯ ได้จัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นมา เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยคงมีส่วนช่วยให้นักศึกษาปัญญาชนนิยมซ้ายรู้จักคุณกุหลาบในฐานะ???? ต่อมาข้าพเจ้าก็ได้พบว่าหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่คุณกุหลาบเขียนนั้นยังมีอีกนอกเหนือจากอุดมธรรม หนึ่งในจำนวนนั้นคือ สนทนาเรื่องพุทธศาสนา แต่น่าเสียดายที่หลังจากเล่มนี้วางตลาดไม่กี่วันก็เกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ หนังสือเล่มนี้ถูกเก็บและทำลายเช่นเดียวกับหนังสืออีกหลายร้อยเล่ม พร้อมๆ กับความตกต่ำของขบวนการฝ่ายซ้ายในการเมือง ความนิยมในผลงานของคุณกุหลาบก็ลดน้อยถอยลงไปด้วย และไม่สามารถกลับมาเฟื่องฟูดังช่วง ๓ ปี หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาได้เลย แม้กระทั่งปัจจุบัน
แต่ว่าความนิยมในผลงานของคุณกุหลาบจะเป็นเช่นไรในปัจจุบัน สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือคุณูปการอันใหญ่หลวงที่คุณกุหลาบได้สร้างสรรค์ไว้แก่สังคมไทย คุณกุหลาบเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะนักหนังสือพิมพ์คุณกุหลาบได้ชูคบเพลิงแห่งประชาธิปไตยมาก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ ด้วยซ้ำ อีกทั้งยังได้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยยอมแลกกับสิทธิเสรีภาพของตนเอง ย้อนหลังไปเมื่อ ๗๐ ปีก่อนในยุคที่ผู้คนยังไม่เห็นคุณค่าของสิทธิเสรี าพหรือประชาธิปไตยมากเท่าใดนัก การที่คนเล็กๆ คนหนึ่งอุทิศตนเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยท่ามกลางการข่มขู่คุกคามและบีบคั้นของผู้มีอำนาจ ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา บุคคลเช่นนี้ต้องมีความเด็ดเดี่ยว ความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น และความเสียสละเป็นอย่างยิ่ง สำหรับคนปัจจุบันผู้ซึ่งสิทธิเสรีภาพได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้วไม่ต่างจากลมหายใจ อาจนึกไม่ถึงว่าสิทธิเสรีภาพที่ตนเสพเสวยนั้นได้มาอย่างยากเย็นเพียงใด
ในฐานะนักเขียน คุณกุหลาบได้นำคุณค่าอย่างใหม่มาเพิ่มชีวิตชีวาให้แก่วัฒนธรรมไทย อาทิ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ชนิดที่พ้นชนชั้นวรรณะหรือข้อจำกัดทางเพศ จะรวยหรือจน จะเป็นเจ้านายหรือไพร่ จะเป็นหญิงหรือชาย ล้วนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และพึงได้รับการปฏิบัติยกย่องเท่าเทียมกัน นอกจากความเสมอภาคในสังคมแล้ว คุณกุหลาบยังใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องมือเรียกร้องความยุติธรรมในสังคมภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่เกื้อกูลต่อมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ในบรรดา “อิฐก้อนแรกๆ”ที่ปูทางไปสู่ความเป็นธรรมในสังคมนั้น ต้องนับรวมคุณกุหลาบไว้ด้วย
ในฐานะผู้ใฝ่สันติภาพ คุณกุหลาบได้เป็นแกนนำในการคัดค้านสงครามที่แม้จะอยู่ไกลจากผืนแผ่นดินไทยแต่ก็เป็นภัยต่อโลกและมนุษยชาติ ในยุคสงครามเย็น การเรียกร้องสันติภาพเท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับรัฐบาลและมหาอำนาจ ผลคือคุณกุหลาบกลายเป็น “กบฏ”ไป และต้องถูกจองจำถึง ๕ ปี คนยุคนี้ยากจะเข้าใจว่าการเรียกร้องสันติภาพในยุคนั้นเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายเพียงใด เพราะทุกวันนี้แม้แต่ดาราและนางสาวไทยก็พูดถึงสันติภาพกันทั้งนั้น
เมื่อมองลึกลงไป จะพบว่าเบื้องหลังหรือที่มาของคุณูปการอันใหญ่หลวงดังกล่าวของ คุณกุหลาบ ก็คือความมั่นคงในอุดมคติ คุณกุหลาบเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในคุณงามความดี ปรารถนาที่จะเห็นสังคมที่ผู้คนอยู่ด้วยความโอบอ้อมอารีไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน ทุกคนดำเนินชีวิตด้วยความผาสุก คุณกุหลาบไม่เพียงแต่เชื่อ หากยังลงมือทำเพื่อให้อุดมคตินั้นเป็นจริง โดยใช้สติปัญญาอย่างดีที่สุด การใช้สติปัญญาอย่างดีที่สุดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุดมคติของคุณกุหลาบมีพลัง
ความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาเป็นคุณลักษณะประการหนึ่งที่โดดเด่นของคุณกุหลาบ คุณกุหลาบเป็นผู้ขวนขวายศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา แม้อายุ ๓๘ ปีแล้ว ก็ยังเข้าสอบเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และต่อมายังได้ไปศึกษาวิชาการเมืองต่อที่ประเทศออสเตรเลีย แต่คุณกุหลาบไม่ได้เรียนรู้จากสถานบันการศึกษาเท่านั้น หากยังเรียนรู้จาก “มหาวิทยาลัยชีวิต”ด้วย การเป็นผู้ใฝ่ศึกษาทำให้คุณกุหลาบมีพัฒนาการที่ต่อเนื่อง จากนักเขียน นวนิยายประเภทรักหวานซึ้งหรือจินตนิยม กลายมาเป็นนักเขียนนวนิยายเพื่อชีวิต หรือแนวอัตถนิยม จากนักหนังสือพิมพ์ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มาเป็นนักคิดนักเขียนแนวสังคมนิยม และนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพผู้กล้าท้าทายจักรวรรดินิยม
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาได้ยกระดับสำนึกในทางอุดมคติของคุณกุหลาบให้มีคุณภาพใหม่เป็นลำดับ จาก “สำนึกทางมนุษยธรรม”ที่เห็นอกเห็นใจคนทุกข์เมตตาผู้ยากไร้ ปรารถนาให้ผู้คนปฏิบัติด้วยความโอบอ้อมอารี ไม่รังเกียจเดียดฉันท์กันเพียงเพราะความแตกต่างทางชนชั้น เพศ หรือเศรษฐฐานะ ได้พัฒนามาสู่ “สำนึกทางสังคม”ที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ มีความเป็นธรรม มีหลักประกันทางด้านสิทธิเสรีภาพ และไม่มีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน และสุดท้ายได้พัฒนามาเป็น “สำนึกทางการเมือง”อันเป็นแรงพลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อความเสมอภาค สันติภาพ และความผาสุกของสังคมอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามแม้จะมีสำนึกทางการเมืองอย่างแรงกล้า แต่ความเป็นผู้ใฝ่ศึกษากอรปกับความมั่นคงในคุณงามความดี ทำให้คุณกุหลาบไม่ได้มุ่งหน้าต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเดียว หากยังเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงภายในด้วย คุณกุหลาบไม่ได้อ่านหนังสือว่าด้วยสังคม เศรษฐกิจ การเมืองเท่านั้น หากยังอ่านหนังสือด้านพระพุทธศาสนา ทั้งพระไตรปิฎกและงานเขียนของคนร่วมสมัย อาทิ ท่านพุทธทาสภิกขุด้วย ด้วยเหตุนี้คุณกุหลาบจึงสนใจใฝ่ปฏิบัติทางด้านสมาธิภาวนา โดยที่ก่อนหน้านั้นคุณกุหลาบก็ได้มีจิตใจใฝ่ในทางคุณธรรมอยู่แล้ว อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเมตตา ความเสียสละ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความใฝ่ในชีวิตที่เรียบง่ายหรือสันโดษ อันเป็นคุณลักษณะที่สร้างความประทับใจและแรงบันดาลใจแก่มิตรสหายและผู้ร่วมงานมาโดยตลอด
คุณธรรมที่บำเพ็ญมาแต่แรกเข้าสู่วงการวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ ทำให้คุณกุหลาบไม่ไหวหวั่นต่อโลกธรรม อันได้แก่ ชื่อเสียง เกียรติยศ และโภคทรัพย์ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถต้านทานการข่มขู่คุกคามของผู้กุมอำนาจรัฐและไม่ยอมศิโรราบให้แก่นายทุนหรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่ต้องการให้คุณกุหลาบละทิ้งหลักการอันดีงาม จะว่าไปแล้วเพราะคุณธรรมดังกล่าวเป็นประการสำคัญคุณกุหลาบจึงสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างก้าวกระโดด ไม่จมอยู่กับความเป็นนักเขียนแนวรักหวานซึ้งซึ่งนำชื่อเสียงและเงินตรามาให้ท่านมากมาย (มิพักต้องกล่าวว่างานประเภทนี้แหละที่สามารถวางขายอยู่ได้ในยุคเผด็จการ และเป็นเหตุให้ข้าพเจ้ารู้จักชื่อ “ศรีบูรพา”มาตั้งแต่เล็ก) หากคุณกุหลาบหลงใหลชื่อเสียงและเงินทองซึ่งหลั่งไหลเข้ามาสู่ตนเองแต่ยังหนุ่ม คุณกุหลาบคงเป็นนักเขียนธรรมดาคนหนึ่งซึ่งแม้จะโด่งดังในยุคของตนแต่ก็ถูกลืมไปในที่สุดดังนักเขียนเป็นอันมากที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกับท่าน
ควรกล่าวด้วยว่า ในยามที่คุณกุหลาบเดือดร้อนเรื่องเงิน เคยมีเจ้าของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งมาขอพิมพ์นวนิยายเล่มหนึ่งของท่านซ้ำ โดยจะให้ค่าลิขสิทธิ์จำนวนหนึ่ง แต่เนื่องจากนวนิยายเล่มนั้น คือเรื่อง ปราบพยศ (เขียนเมื่ออายุ ๒๔ ปี) เป็นหนังสือที่ท่านเห็นว่าไม่มีสาระประโยชน์อะไร ถ้าให้ไปก็เท่ากับให้เขาเอาชื่อของท่านไปหากิน จะเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีสำหรับนักเขียนคนอื่น คุณกุหลาบจึงปฏิเสธเจ้าของสำนักพิมพ์ผู้นั้นไป
อย่างไรก็ตามคุณธรรมอย่างเดียวอาจไม่พอที่จะช่วยให้คุณกุหลาบเผชิญกับทุกข์ภัยนานาประการที่มาจากผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อต้องถูกจับกุมคุมขัง พลัดพรากจากภรรยาและลูกๆ ตรงนี้เองที่สมาธิภาวนาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อคุณกุหลาบ เพราะสมาธิภาวนาย่อมช่วยให้เราตระหนักว่าอิสรภาพที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจเราเองไม่มีผู้ใดจะมาแย่งชิงไปได้ เมื่อครั้งถูกจับกุมคุมขังครั้งแรกขณะอายุ ๓๗ ปี คุณกุหลาบได้บันทึกไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เวลาบ่ายสองโมง เจ้าหน้าที่ได้เปิดประตูห้องขังให้เรา เมื่อเราเข้าไปอยู่ภายใน และได้ยินเสียงเขาลั่นกุญแจดังแกร๊ก เรารู้สึกว่า อิสรภาพของได้ถูกเขาริบไปเสียแล้ว แต่เราโต้แย้งอยู่ในใจว่า ไม่เป็นไรดอก อิสรภาพทางใจของเรายังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ ถ้าเราบังคับใจเราให้ปลอดโปร่งอยู่ด้วยความอิสระ ปราศจากความกังวลต่างๆ แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ดูไม่เป็นการร้ายกาจเท่าใด”
เมื่อถูกจับกุมครั้งที่ ๒ ในกรณี “กบฏสันติภาพ”คุณกุหลาบมีกิจวัตรประจำวันคือ ตื่นตี ๕ สวดมนต์และทำสมาธิภาวนา นับว่าแตกต่างจากนักเขียนนักหนังสือพิมพ์คนอื่นๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ด้วยกัน ช่วงที่อยู่ในคุกนี่เองที่คุณกุหลาบนอกจากจะมีเวลาทำสมาธิภาวนา (โดยเรียนจากพระวิปัสสนาจารย์ที่เข้าไปสอนในเรือนจำ) ยังมีงานเขียนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหลายเล่ม อุดมธรรม และสนทนาเรื่องพุทธศาสนา ออกสู่บรรณพิภพในช่วงนี้เอง ส่วนจดหมายโต้ตอบระหว่างพุทธทาสภิกขุกับ “ศรีบูรพา”แม้จะพิมพ์เผยแพร่เมื่อราว ๑๐ ปีมานี้ แต่ต้นฉบับก็เกิดขึ้นระหว่าง ๕ ปีที่ถูกจับกุมคุมขังครั้งที่ ๒
คุณกุหลาบเป็นผู้หมั่นสำรวจตรวจสอบสังคมของตนควบคู่ไปกับจิตใจของตนอยู่เสมอ อุดมคติของคุณกุหลาบจึงมิใช่สังคมที่ดีงามเท่านั้นหากยังรวมถึงชีวิตและจิตใจที่ดีงามด้วย สติปัญญาและความเพียรของคุณกุหลาบจึงมุ่งที่การเปลี่ยนแปลงสังคมภายนอกควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงชีวิตด้านใน จะว่าไปแล้วทั้งสองประการมิอาจแยกจากกันได้ การอุทิศตนเพื่อสังคมจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและบริสุทธิ์ใจ ไม่สะดุดกลางทางหรือมีผลประโยชน์แอบแฝง (หรือทับซ้อน) ก็ต่อเมื่อมีการบำเพ็ญกิจด้านในอยู่เสมอ มิใช่แค่ตรวจสอบและขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้มีความสุขหล่อเลี้ยงจิตใจจนไม่ต้องพึ่งพิงความสุขจากภายนอก ปราศจากความสุขภายในแล้ว บุคคลย่อมยากที่จะต้านทานแรงยั่วยุจากชื่อเสียง เกียรติยศ อำนาจ และเงินตราได้
การเปลี่ยนแปลงสังคมภายนอกกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตด้านในยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคมก็ตาม แต่สังคมจะไม่อาจผาสุกหรือเจริญก้าวหน้าได้หากผู้คนยังเห็นแก่ตัว ไร้คุณธรรม คดโกง ไม่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ความมั่นคงทางศีลธรรม หรือในหลักการเป็นรากฐานของสังคมที่ดีงาม ดังความตอนหนึ่งที่คุณกุหลาบเขียนไว้ในเรื่องของเขา ว่า “ความพากเพียรศึกษาอย่างอดทนที่ขบปัญหาให้ถึงมูลฐาน และความสัตย์ซื่อมั่นคงในหลักการเท่านั้น ที่อาจพาประเทศให้พ้นจากการล้มละลายทางศีลธรรมได้
เมื่อมองภาพรวมแล้ว คุณกุหลาบเป็นผู้ที่เชื่อมทั้งใหม่และเก่าเข้าหากัน ในด้านหนึ่งคุณกุหลาบเป็นตัวแทนแนวคิดใหม่ที่สังคมไทยไม่คุ้นเคย อาทิ แนวคิดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมในสังคม สตรีนิยม มนุษยนิยม และสังคมนิยม แต่ในอีกด้านหนึ่งคุณกุหลาบเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยเฉพาะพุทธศาสนาและสมาธิภาวนา แม้จะหัวก้าวหน้า (หรือ radical) กว่านักคิดนักเขียนส่วนใหญ่ในรุ่นเดียวกัน แต่พร้อมกันนั้นคุณกุหลาบก็มีรากหยั่งลึกในภูมิปัญญาดั้งเดิมอย่างที่คนในแวดวงเดียวกันยากจะเข้าถึงได้
กล่าวกันว่า คุณกุหลาบเป็นทั้งมาร์กซิสต์และเป็นทั้งพุทธในเวลาเดียวกัน ข้อนี้คนทั่วไปอาจเข้าใจได้ยาก แต่ที่จริงการบรรจบพบกันของแนวคิดใหม่และแนวคิดเก่าในคนเดียวกันนั้น จะว่าไปมิใช่ของใหม่ ย้อนหลังไปสมัยรัชกาลที่ ๔ ปัญญาชนชั้นนำสมัยนั้นก็สามารถเชื่อมวิทยาศาสตร์ให้เข้ากับพระพุทธศาสนาได้ คือถือพุทธและนิยมวิทยาศาสตร์ในเวลาเดียวกัน แม้ชนชั้นนำของไทยจะยอมรับว่า จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมินั้นหามีไม่ โลกเป็นเพียงดาวพระเคราะห์กลมๆ ดวงหนึ่งที่อยู่กลางอวกาศ แต่ความรู้เช่นนี้ไม่ได้ทำให้ชนชั้นนำเลื่อมศรัทธาในพุทธศาสนา ทั้งนี้ก็เพราะท่านเหล่านั้นถือว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจ ส่วนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของโลกทางกายภาพ เพราะฉะนั้นจึงไม่ขัดกัน การตีกรอบพุทธศาสนาให้จำกัดวงอยู่แต่ในเรื่องของจิตใจนับว่าเป็นของใหม่ เพราะพระพุทธศาสนาในความเชื่อของคนสมัยก่อนนั้นแยกไม่ออกจากมิติอื่นๆ ของชีวิตและโลก ไม่ว่า จักรวาล การเมืองการปกครอง หรือการแพทย์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง “ธรรม”กับ “โลก”ไม่ได้แยกขาดชัดเจนอย่างนั้น
การตีกรอบพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของจิตใจ มีอิทธิพลมาถึงปัญญาชนรุ่นคุณกุหลาบ คุณกุหลาบจึงสมาทานพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กับลัทธิมาร์กซิสม์ได้ไม่ยาก เพราะถือว่าลัทธิมาร์กซิสม์นั้นเป็นเรื่องของสังคม จึงไม่ขัดแย้งกับพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ อย่างไรก็ตามพุทธศาสนาตามความเข้าใจดังกล่าวเป็นพุทธศาสนาแบบใหม่ที่ผ่านการ “ปฏิรูป” ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มาแล้ว เป็นพุทธศาสนาที่ถูกทำให้สอดคล้องกลมกลืนได้กับวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาแบบนี้แม้จะเป็นที่ยอมรับของชนชั้นนำไทยได้ (ผิดกับชนชั้นนำในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งหากยอมรับวิทยาศาสตร์ก็ต้องปฏิเสธพุทธศาสนา เนื่องจากพุทธศาสนายังไม่ถูกปฏิเสธ) แต่ก็หมายความว่า ต้องลดความสำคัญของนิพพานโลกุตรธรรม ขณะเดียวกันมิติด้านสังคมก็พลอยถูกหลงลืมไปด้วย
พุทธศาสนานั้นมีมิติทางสังคมด้วย มิได้มีแต่เรื่องของจิตใจหรือการประพฤติปฏิบัติระดับบุคคลหรือระหว่างบุคคลเท่านั้น มีหลักธรรมมากมายที่พูดถึงการจัดสรรสภาพแวดล้อมทางสังคมเพื่อให้เอื้อต่อชีวิตที่ดีงาม นอกจากนั้นยังมีหลักธรรมเป็นอันมากที่สามารถนำมาเป็นหลักการหรือประยุกต์สำหรับกิจการทางสังคมได้ ดังที่มีนักคิดหลายท่านได้พัฒนาแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และการศึกษาแนวพุทธขึ้นมา รวมไปถึงโลกทัศน์แบบพุทธซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะการทำความเข้าใจจิตใจเท่านั้น หากรวมไปถึงการทำความเข้าใจโลกและสังคมทัศนะแบบพุทธ
พุทธศาสนากับลัทธิมาร์กซิสม์มีความขัดแย้งกันในทางปรัชญาพื้นฐานอย่างไร เป็นเรื่องที่อภิปรายกันได้มาก แต่ก็น่าคิดว่าหากพุทธศาสนาที่คุณกุหลาบรู้จักนั้นเป็นพุทธศาสนาที่มีมิติทางสังคมและสามารถพัฒนาให้เกิดโลกทัศน์แบบพุทธดังที่มีการรื้อฟื้นหรือริเริ่มในปัจจุบัน คุณกุหลาบอาจไม่จำต้องเข้าหาลัทธิมาร์กซิสม์ เพื่อเป็นคำตอบสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็ได้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญสูงสุดของคุณกุหลาบที่ยิ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ก็คือ ความเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมในทางคุณธรรม บทบาทของคุณกุหลาบในฐานะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักเคลื่อนไหวนั้น มีตำแหน่งแห่งหนที่มั่นคงแล้วในประวัติศาสตร์ของชาติไทย อันจะมองข้ามไปไม่ได้ แต่สิ่งที่ยังจะมีอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนทั้งในปัจจุบันและอนาคตก็คือ การอุทิศตนเพื่อสิ่งที่ดีงาม ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละและการใช้สติปัญญาอย่างดีที่สุดเพื่อส่วนรวม รวมไปถึงการขัดเกลาตนเองควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ชีวิตที่ดีงดงามด้วยคุณธรรมและการสร้างสรรค์นี้แหละที่ทำให้โลกงดงามและน่าอยู่ เป็นชีวิตที่ทรงคุณค่าและเป็นแบบอย่างแก่เราทุกคน
คุณกุหลาบเกิดมาเพื่อเป็นศรีของโลก การได้เกิดมาร่วมสมัยและได้รู้จักกับคุณกุหลาบนับเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ที่ประเสริฐกว่านั้นก็คือการได้นำคุณธรรมของท่านมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เพราะนั้นคือศรีหรือสิริมงคลสำหรับชีวิตทีเดียว