สมปอง ดวงไสว

ปราชญ์และนักคิดที่มีชีวิตเกิดมาร่วมสมัยในเวลาใกล้เคียงกัน ได้ร่วมสร้างผลงานอันทรงคุณค่าฝากไว้ให้แก่แผ่นดินแก่โลกเหมือนๆ กัน  ต่างกันแต่เพียงเส้นทางที่สร้างสรรค์  แต่ท้ายที่สุดแล้วย่อมเป็นสายธารเพื่อความสุขสงบ สันติ มนุษยธรรมของมวลมนุษยชาติเหมือนกัน

เป็นที่ทราบกันดีในหัวใจของพุทธศาสนิกชนไทย ท่านพุทธทาสเป็นปราชญ์แห่งพุทธศาสนา ส่วน กุหลาบ สายประดิษฐ์หรือศรีบูรพาคือปราชญ์แห่งการประพันธ์  ทั้งสองท่านได้มีโอกาสสื่อสารสัมพันธ์ในทางธรรมะต่อกันจนกระทั่งในที่สุดได้พบปะกัน  เรื่องราวของการที่ปราชญ์ต่อปราชญ์พบกัน ล้วนสร้างสรรค์และเป็นประวัติศาสตร์จารึกอันทรงคุณค่า ควรแก่การศึกษา

คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และท่านพุทธทาสภิกขุ มีโอกาสเขียนจดหมายติดต่อถึงกันเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะหรือเสวนาธรรมต่อกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จดหมายของทั้งสองท่านนั้นเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และบทบาทชีวิตวัตรปฏิบัติธรรมของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หลังจากพบท่านพุทธทาสแล้ว นับว่ามีคุณค่าควรค่าแก่การศึกษายิ่ง

ในดวงจิตของท่านที่ต่างศึกษางานของกันและกัน คงมีความรู้สึกความคิดที่นอกจากจะคิดถึงกัน อยากติดต่อสื่อสารปฏิสัมพันธ์ถึงกัน และคงปรารถนาที่จะได้พบกันในที่สุด จากหลักฐานทางจดหมายที่ติดต่อถึงกันพบว่า จดหมายฉบับแรกเริ่มต้นที่ท่านพุทธทาส จากสวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฎร์ธานีติดต่อมายังคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่ง ณ เวลานั้นคือบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ  จดหมายลงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยขึ้นต้นจดหมายว่า ธรรม พร และเมตตาจงเจริญ แด่คุณŽ  จดหมายฉบับแรกนี้ เป็นความปรารถนาของท่านพุทธทาส ต้องการสื่อสารทางธรรมะเพื่อส่งต่อให้ถึงพุทธศาสนิกชนโดยผ่านทางประชาชาติ และแลกเปลี่ยนความรู้ทางธรรมกับท่านบรรณาธิการ เพราะว่าประชาชาติ ในสมัยนั้นดูจะมีบทความในทางธรรมอยู่บ่อยๆ อีกทั้งยังได้ส่งบทความเรื่อง “ชีวิตกับนิพพาน” มาลงพิมพ์ด้วย

อาตมามองเห็นในหน้ากระดาษของคุณ ว่ามีเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาอยู่บ่อยๆ จึงใคร่ร่วมสนุกด้วย  ถ้าหากคุณจะกรุณาแจ้งให้ทราบบ้างว่า คณะบรรณาธิการของคุณมีหลักอย่างไรในการปล่อยเรื่องทางพุทธศาสนาผ่านลงไป แล้วอาตมาจะเขียนมาร่วมสนุกได้ตรงเข็มที่ประสงค์ของคุณยิ่งขึ้น  ความจริงหลักธรรมในพุทธศาสนามีข้อควรคิดและน่าเพลิดเพลินอยู่มาก แต่มันต้องอาศัยการลูบคลำกันนานๆ หรือผ่านไปผ่านมาอยู่เสมอ จึงจะเข้าใจได้ทันทีและสนุก  หนังสือพิมพ์มีหน้าศาสนาน้อย มีการเมืองเป็นส่วนใหญ่ หรือบางฉบับแทบหาไม่ได้เลย  แต่สำหรับประชาชาตินั้น มีอุดมคติว่า วิทยาคม อยู่คำหนึ่ง จึงทำให้มีลักษณะคล้ายตำราอยู่บ้าง  ทั้งหวังว่า คงมีส่วนที่อาจสละให้พุทธศาสนาเป็นประจำ ตามมากตามน้อย

และช่วงสุดท้ายของจดหมายท่านบรรยายให้เห็นสภาพที่ท่านอยู่ในสมัยนั้นชัดเจนยิ่งว่า

พวกเราอยู่ในป่ากันว่างๆ ก็อยากจะพูดกับโลกส่วนใหญ่บ้าง ถ้าคุณให้โอกาส ก็จะได้พูดในวันหน้าสืบไป  พวกเราได้อ่านหนังสือพิมพ์ของคุณอยู่เสมอๆ แต่ว่าไม่ครบทุกฉบับและช้าเกินไป ที่จะตอบโต้หรือถกความคิดเห็นประจำวัน ถึงกระนั้นก็ได้รับประโยชน์มากในการได้ความรู้รอบตัว

ส่วนความในตอนท้ายในจดหมายฉบับนั้นได้อวยพรให้คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ด้วยเมตตารักใคร่นับถือกันยิ่งนักว่า “ขออวยพรให้คุณเป็นดวงประทีปที่ส่งเสียงของชาติยิ่งๆ ขึ้นไป ธรรม พรและเมตตาแด่คุณ” พร้อมทั้งได้ลงนามท้ายจดหมายอันงดงามนั้นว่าพุทธทาส อินทปัญโญ

จดหมายของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ มีไปถึงท่านพุทธทาสนั้นดูออกจะนานไปสักนิด ลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๙๔ ที่อยู่บ้านเลขที่ ๑๕๘ ซอยภูมิจิตร พระโขนง จังหวัดพระนคร ซึ่งไม่ใช่บ้านที่ซอยพระนางในปัจจุบัน เนื้อความได้ปรารภถึงงานปรารภถึงธรรม ซึ่งบอกว่าได้เคยฟังปาฐกถาธรรม และได้อ่านหนังสือเทศนาธรรมของท่านเรื่องวิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรมแล้วสะดุดใจติดใจใคร่อยากเรียนรู้และปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาส ความช่วงหนึ่งมีว่า

การปฏิบัติธรรมเป็นกิจอันสำคัญยิ่งยวดของพุทธศาสนิกชน และทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจว่า เพียงแต่การเรียนรู้ข้อธรรมต่างๆ ในพระพุทธศาสนานั้น หาเป็นการเพียงพอที่จะทำให้ใครๆ เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริงได้ไม่

ความรู้สึกลึกๆ ในความที่ควรจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้นั้น กระตุ้นให้ผู้ใฝ่รู้ในการปฏิบัติธรรมอยากลงไปเรียนรู้และปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาสที่สวนโมกข์ เพื่อศึกษาธรรมะและฝึกการปฏิบัติธรรมอันถ่องแท้จากท่านโดยตรง  การติดต่อเดินทางเพื่อลงไปสวนโมกข์นั้นได้มีความเพียรพยายามติดต่อประสานงานกันหลายครั้ง โดยมีคุณวิลาส มณีวัต หรือวิไล วัชรวัตร นามปากกาที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ชื่นชมในความเป็นนักเขียนหนุ่มซึ่งเป็นชาวสุราษฎร์ธานี อีกทั้งเมื่อครั้งสมัยเป็นเด็กยังได้เคยอยู่วัดกับท่านพุทธทาสถึง ๔ ปี ได้เป็นผู้ประสานงานให้ ได้ติดต่อกับนายธรรมทาส พานิช น้องชายของท่านพุทธทาส ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของคณะธรรมทานและผู้สนับสนุนสวนโมกขพลารามที่สำคัญ แต่ก็พลาดโอกาสพบกัน

เนื่องด้วยได้พลาดโอกาสไปครั้งหนึ่งเมื่อปีกลาย (พ.ศ. ๒๔๙๓) ผมจึงระมัดระวังมิให้พลาดโอกาสอีกในปีนี้ ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้มีจดหมายนมัสการมายังท่านเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะเรียนให้ท่านทราบถึงความปรารถนาของผมที่ใคร่จะออกมาสวนโมกข์เพื่อขอรับการศึกษาเรื่องการปฏิบัติธรรมจากท่านเมื่อสิ้นฤดูกาลเข้าพรรษาแล้ว

ซึ่งก็เป็นด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและเกรงใจยิ่งนัก เพราะในพรรษานั้นท่านพุทธทาสจะมีกิจของสงฆ์ในเรื่องของความสงบอยู่มาก ท่านจึงไม่อยากรบกวนในช่วงเวลานั้น

ท่านพุทธทาสตอบจดหมายมาจากสวนโมกข์ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ขึ้นต้นเหมือนเดิมว่า “ธรรม พร และเมตตาจงเจริญ แด่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์”

การที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ จะลงไปปฏิบัติธรรมนั้น ท่านพุทธทาสมีความยินดีเป็นอย่างมากและยินดีช่วยเหลือทุกประการที่จะช่วยให้ปฏิบัติธรรมได้ตามที่ต้องการ  ท่านเขียนไว้ดีมากว่า

การที่คุณมีความประสงค์จะเขยิบการศึกษาทางพุทธศาสนาของคุณขึ้นไปสู่ขั้นที่จะทำให้ได้รับสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้ทุกคนได้รับ กล่าวคือขั้นปฏิบัติธรรม  อาตมารู้สึกมีความยินดีอย่างยิ่ง และจะมีความยินดีถึงที่สุด ถ้าหากว่า คุณจะอุทิศความพยายามของคุณจนทำให้เกิดความสนใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้ทุกคนได้รับนี้ขึ้นในวงการของนักประพันธ์แห่งประเทศไทยอย่างทั่วถึง  ถ้าหากว่าทุกคนในโลกได้รับสิ่งที่กล่าวแล้ว โลกนี้ก็กลายเป็นโลกของพระอริยเจ้าไป  แม้หากว่าคนทั้งหลายจะได้รับแต่เพียงในขั้นต้นเล็กๆ น้อยๆ กันทุกคนเท่านั้น  อย่างน้อยที่สุด โลกนี้จะได้รับสันติภาพอันถาวร เพราะฉะนั้นการที่เราจะพยายามให้เราเองหรือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ได้รับสิ่งที่สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้ได้รับนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่น่าทำยิ่งกว่าสิ่งทั้งหลาย  อาตมาจึงมีความยินดีที่ได้ทราบว่า คุณมีความปรารถนาอันแรงกล้าในการที่จะเข้าถึงตัวสิ่งที่เป็นตัวพุทธศาสนาอันแท้จริง และมีความยินดีที่จะช่วยเหลือคุณทุกประการที่สามารถช่วยได้

จดหมายฉบับนี้ออกจะเขียนยาว แต่เป็นความยาวที่กล่าวถึงเรื่องของการปฏิบัติธรรมเป็นสำคัญ  และเมื่อท่านเขียนถึงคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ที่เป็นนักประพันธ์ ท่านก็ให้ข้อคิดหรือสอนให้ตรงใจของนักประพันธ์  เสน่ห์และความเป็นเอกในการบรรยายธรรมของท่านพุทธทาสอยู่ตรงนี้ เมื่อบรรยายหรือสอนให้แก่หมอก็ต้องพูดให้ลึกตรงใจหมอเรื่องเกี่ยวกับหมอดังแก่นพุทธศาสน์ และเมื่อสอนแก่ตุลาการผู้พิพากษาก็พูดถึงความยุติธรรมที่ตรงกับผู้พิพากษาดังตุลาการิกธรรม และเมื่อพูดถึงนักประพันธ์ท่านก็นำพุทธศาสนากับการประพันธ์มายกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน  นี่คือท่าน

ทีนี้เราจะได้พูดกันถึงการปฏิบัติธรรมต่อไป เพื่อให้เข้าใจกันได้ง่ายๆและโดยเร็ว อาตมาขอบอกแก่คุณว่า การปฏิบัติธรรมนั้น ที่แท้ก็คือการประพันธ์นั่นเอง แต่เป็นการประพันธ์ชนิดที่ไม่ต้องเขียนลงเป็นตัวอักษร  การปฏิบัติธรรมนั้น คือการมีชีวิตอยู่ด้วยการพิจารณาจนเข้าใจในชีวิตและสิ่งทั้งหลายทุกสิ่งอันเนื่องกันอยู่กับชีวิตอย่างถูกต้อง นี่แหละคือตัวการปฏิบัติธรรมแท้ นอกนั้นเป็นเพียงขั้นการตระเตรียมหรืออุปกรณ์ เช่นศีล เป็นการเตรียมความพร้อมในส่วนกาย วาจา และอย่าให้มีอะไรเป็นการกีดขวางเกิดขึ้นแก่ชีวิตแห่งการพิจารณาสิ่งทั้งปวงเป็นประจำวัน สมาธินั้นคือการเตรียมใจให้พร้อม คือให้คล่องแคล่วเหมาะสมสำหรับการพิจารณา ทีนี้ก็ถึงขั้นปัญญาอันเป็นตัวการของการปฏิบัติธรรม ได้แก่การพิจารณาชีวิตและสิ่งทั้งปวงอันเนื่องกันอยู่กับชีวิต จนเกิดความเข้าใจอันถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้นจริงๆ ที่เรียกว่าความเข้าใจอันถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้นจริงๆ นั้น หมายถึงความเข้าใจชนิดที่เราสามารถควบคุมชีวิตและสิ่งทั้งหลายอันเนื่องกันอยู่กับชีวิตไว้ได้ ในสถานะที่จะไม่มีความทุกข์ร้อนเกิดขึ้นมาได้เลยแม้แต่น้อย  ถ้าเรายังไม่สามารถได้รับผลอันนี้ ก็แปลว่าเรายังไม่เข้าใจสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องจริงๆ นั่นเอง

ทีนี้สิ่งที่ท่านเจาะลึกเปรียบเทียบถึงการประพันธ์กับการปฏิบัติธรรมนั้นท่านเขียนบอกว่า

นักประพันธ์ที่ไม่ปลอม ย่อมบรรยายสิ่งที่ตนเองเห็นจากชีวิตและสิ่งทุกสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับชีวิตในแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ  แต่ส่วนมากที่สุดนั้น มันไปเสียในแง่ที่ทำคนให้ตกเป็นทาสของอารมณ์ยิ่งขึ้น แทนที่จะเป็นไปในทางเป็นอิสระเหนืออารมณ์ หรือสิ่งทั้งปวงที่มาเกี่ยวข้องกับชีวิตยิ่งขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามนักประพันธ์ที่แท้ย่อมทำงานของตนด้วย การพิจารณาชีวิตและสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต โดยแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ  ฉะนั้นอาตมาจึงเห็นว่า นักปฏิบัติธรรมก็คือนักประพันธ์นั่นเอง เป็นแต่ว่าไม่บรรยายลงเป็นตัวอักษร และมองสิ่งทั้งปวงในแง่ที่เป็นอิสระเหนืออารมณ์เท่านั้นเอง

นอกจากนั้นท่านพุทธทาสได้อธิบายถึงความสำคัญหรือใจความสำคัญของเรื่องการปฏิบัติธรรม ให้เป็นการบ้านไปคิดปฏิบัติเมื่อพบกันก็จะได้ซักถามถึงข้อสงสัยได้

ขอให้คุณพยายามทำไปอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จนเดินมาตามทางแห่งความสะอาด สว่าง สงบ จนมีความสะอาด สว่าง สงบ ขึ้นในใจคุณเองแล้ว เมื่อนั้นแหละคุณจะสามารถรู้จักตัวพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่ถูกต้อง  เพราะว่าตัวความสะอาด สว่าง สงบอันแท้จริงนั่นเอง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง ที่เป็นเนื้อแท้ มิใช่เปลือก ที่สามารถเข้าไปเป็นที่พึ่งในหัวใจคนได้

และความในช่วงสุดท้ายของจดหมายท่านบอกถึงช่วงเวลาอันเหมาะสมที่จะสะดวกในการไปเยือนสวนโมกข์

ที่คุณอยากจะไปที่สวนโมกข์นั้น จะไปเมื่อไรก็ได้ อาตมาไม่มีความขัดข้อง  แต่ในระหว่างเดือนพฤศจิกา ธันวานี้ น้ำยังท่วม ไม่สะดวกแก่การไป จะต้องเปียกเพราะลุยน้ำตามธรรมดาของทุ่งนา  เดือนกุมภาไปแล้วก็สะดวกไปจนกระทั่งเข้าพรรษา อากาศในสวนโมกข์สบายมากในเดือนกุมภาระยะหนึ่งแล้วข้ามไปมิถุนา กรกฎามีผลไม้หาได้ง่าย  ตามปรกติอาตมาอยู่สวนโมกข์เสมอ แต่อาจได้รับคำสั่งให้ไปช่วยสอนประชาชนต่างจังหวัดเมื่อใดก็ได้ และมักจะเป็นในเดือนเมษา พฤษภา  คุณจะเลือกไปเดือนไหน เมื่อใกล้จะไปค่อยนัดกันใหม่ก็ได้

กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ตอบจดหมายฉบับลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ของท่านพุทธทาสด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางธรรม แล้วได้แสดงความขอบคุณและซาบซึ้งใจที่ท่านพุทธทาสได้ให้ความเมตตาในการไปสวนโมกข์  หลายคนอาจจะไปสวนโมกข์ในลักษณะการท่องเที่ยว ยิ่งในปัจจุบันดูสวนโมกข์จะเป็นส่วนหนึ่งของการไปท่องเที่ยวยังสุราษฎร์ธานีทีเดียว  แต่ก็มีผู้ใฝ่ใจในธรรมมุ่งไปปฏิบัติธรรมมากกว่าที่จะผ่านเลย

ผมแสวงหาการออกไปเสียจากสิ่งแวดล้อมในพระนครอันล้วนเป็นข้าศึกต่อความสงบทางจิตใจ เพื่อการพิจารณาธรรม ผมจึงดีใจมากที่ท่านได้กรุณาให้โอกาสผมออกไปพำนักที่สวนโมกข์อย่างเต็มใจ  การออกไปพำนักที่สวนโมกข์ จะเป็นการทดลองอันใหม่ของผม เพื่อที่จะได้ทราบว่าการพิจารณาธรรมและการฝึกฝนตน เพื่อน้อมชีวิตไปสู่วิถีพุทธธรรมในบรรยากาศอันสงบสงัดเช่นนั้น จะได้ผลต่างกันเพียงใดกับการปฏิบัติภายใต้สิ่งแวดล้อมชีวิตในพระนคร

เมื่อจัดการสางงานที่คิดว่าไม่ควรจะค้างได้เรียบร้อย คือทำงานที่จำเป็นให้เสร็จ จึงกำหนดวันเวลาที่จะเดินทางลงสู่สวนโมกข์ พร้อมทั้งส่งข่าวทางจดหมายถึงท่านพุทธทาส  จดหมายฉบับนี้ไม่ยาวนัก ลงวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ดังนี้

ตามที่ผมได้ปรารภมาในจดหมาย ลงวันที่ ๓ ธันวาคมว่า ผมจะเตรียมตัวลงมาสวนโมกข์เพื่อหาความรู้ในการปฏิบัติธรรม และเพื่อนมัสการท่านในเดือนกุมภาพันธ์นั้น บัดนี้ผมกำหนดวันเดินทางไว้แล้ว ว่าผมคงจะออกเดินทางได้ในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์  ผมจึงได้เขียนจดหมายเรียนมายังท่านอีกครั้งหนึ่ง  ผมได้ชวนคุณวิลาศ มณีวัตให้ไปด้วยกัน  และเมื่อคุณวิลาศทราบว่าท่านมีความยินดีเต็มใจจะให้เราลงไปที่สวนโมกข์ตามที่เราปรารถนา ก็มีความยินดีมาก และตกลงว่าจะเดินทางไปพร้อมกันกับผม  ผมขอบพระคุณในธรรมเมตตาของท่านเป็นที่ยิ่ง

คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้บันทึกการเดินทางไปสวนโมกข์นับแต่เริ่มต้นออกจากบ้านที่ซอยภูมิจิตร พระโขนง พระนคร ด้วยลายมือที่แสดงความตั้งใจจริง  โดยได้บันทึกไว้ตั้งแต่การเดินทางแต่เช้าไปสถานีรถไฟที่บางกอกน้อย  จนกระทั่งถึงวันกลับ และหลังจากกลับมาจากสวนโมกข์แล้ว ชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายทีเดียว  ทุกวันท่านได้แบ่งเวลาเพื่อการศึกษาธรรมะและการปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ  จากหลักฐานสมุดบันทึกเล่มนี้ได้เขียนบันทึกตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ อันเป็นวันออกเดินทาง ถึงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ นั้น หัวเรื่องของการบันทึก ท่านเขียนไว้ว่า

ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมและการบังคับตน

วันจันทร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๙๕

เดินทางไปแสวงความรู้ในการปฏิบัติธรรมที่สวนโมกขพลาราม ไชยา เพื่อเสวนาและแสดงความเคารพท่านพุทธทาส และศึกษาธรรมชาติของการใช้ชีวิตในถิ่นที่อันสงบสงัด

นี่คือปณิธานหรือจุดประสงค์ของการเดินทางในคราวนี้ ไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวแบบทั่วๆ ไป แต่ได้บอกเจตนารมณ์ชัดเจน ว่าจะเดินทางไปเพื่อศึกษาหาความรู้และปฏิบัติธรรม และได้เกิดเหตุการณ์ทดสอบจิตใจของคนไปปฏิบัติธรรมตั้งแต่นาทีแรกของการเดินทางทีเดียว

ก่อนเดินทางออกจากบ้าน เวลาสองโมงเช้า ได้เผชิญกับความผิดหวังอย่างแรง  โดยคนขับรถของคุณลิ่วซึ่งได้เอื้อเฟื้อส่งรถยนตร์มารับไปส่งที่สถานีบางกอกน้อย ได้ถอยรถตกจากถนนด้วยความสะเพร่า  และภายหลังที่เขาได้พยายามอยู่ราว ๑๐ นาที ก็แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถนำรถขึ้นมาบนถนนได้  แม้ว่าจะมีความรู้สึกไม่พอใจในความสะเพร่าของคนขับแวบขึ้นมาในชั้นต้น เราก็สามารถดับความกระวนกระวายใจและความขัดเคืองคนขับเสียได้  ตัดสินใจไปขึ้นรถประจำทางด้วยความมีขันติ

เรียกได้ว่าทดสอบขันติกันแต่เช้า ปรากฏว่ารอรถนานถึง ๑๔ นาที รถประจำทางก็ยังไม่มา  แถมเมื่อรถมาแล้วสองคันก็ไม่สามารถขึ้นรถได้ เพราะรถแล่นผ่านเลยไม่จอดรับคนโดยสาร  ก็ต้องสงบใจฝึกขันติต่อไป ถึงกับบันทึกว่า

ในเช้าวันนี้เราได้ประสบการทดลองความอดกลั้นและก็ผ่านไปได้อย่างเป็นที่น่าพอใจมาก และแล้วสิ่งร้ายก็กลายเป็นดี เมื่อคนขับรถเอารถขึ้นถนนได้และขับผ่านมา  ต่างคนต่างคิดว่าคงไม่ได้เจอกันอีกแล้ว ที่ไหนได้ยังขับมาพบ เลยได้รับไปส่งถึงที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย จึงได้รับความสะดวกสบายเป็นอันดี

บททดสอบบทแรกฝึกขันติเป็นที่เรียบร้อย เมื่อขึ้นไปบนรถไฟรถออกเดินทางก็ได้พบกับคนรู้จักกันเก่าแก่และนิสัยดีน่ารักมาก ชวนให้ดื่มเบียร์และแม่โขง ชวนถึงสองครั้งสองคราแต่ก็บังคับใจไว้อดกลั้นไว้ไม่ดื่ม

เราบังคับใจให้เว้นการดื่มได้ เราได้กำหนดไว้ว่า เราจะไม่ดื่มสุราขณะที่เราเดินทางออกมาสวนโมกข์ และเราทำได้ ตามที่ตั้งปณิธานไว้

เรารู้สึกได้ด้วยตนเองในผลของการไม่ดื่ม สมองของเราเบาสบายไม่ปวดมึนดังที่มักจะเกิดเมื่อได้ดื่ม  เรามีปีติในการบังคับใจได้  หากว่าเราดื่ม ก็จะได้รับความเพลิดเพลินในชั่วเวลาเล็กน้อยขณะที่ดื่มกันอยู่  แต่เมื่อเราเว้นการดื่ม เราได้รับรสความโปร่งเบาของสมองตลอดเวลาที่เดินทางเกือบ ๒๐ ชั่วโมง ทั้งที่มีเวลาหลับนอนในตอนกลางคืนบนรถไฟเพียง ๒-๓ ชั่วโมง

สมัยนั้นไปสวนโมกข์รถไม่ได้ผ่านง่ายๆ เหมือนปัจจุบัน หากแต่ต้องลงรถไฟแล้วเดินไปสวนโมกข์ใช้เวลาเดินประมาณ ๑ ชั่วโมง  บันทึกหลังจากถึงไชยา สุราษฎร์ธานีมีดังนี้

วันอังคารที่ ๕ ได้ใช้เวลาเดินทางผ่านทุ่งนาไปสู่สวนโมกขพลาราม ๑ ชั่วโมง เป็นการออกกำลังกายอย่างดี และอย่างพอเหมาะ  เมื่อตอนกลางคืนวันจันทร์บนรถไฟมีเวลานอนราว ๓ ชั่วโมง ไปถึงกุฏิที่พักตอนบ่าย  พอล้มตัวลงนอนพักสองสามนาทีก็หลับสนิทไปราว ๔๐ นาที  ตอนกลางคืนก็นอนหลับดี ทั้งที่เป็นคืนแรกที่มาถึง และที่นอนก็มีแต่เสื่อและผ้าห่มสำหรับรองนอน และมุ้งก็คับแคบเมื่อต้องนอนสองคน

เมื่อไปถึงสวนโมกข์ตอนเที่ยง ได้พบกับท่านพุทธทาสทันที ได้สนทนากับท่านบนลานอันร่มรื่นด้วยต้นไม้ ๑ ชั่วโมง  ท่านได้ต้อนรับอย่างดี เรามีกุฏิที่พักบนเนินเขาพุทธทองที่เป็นป่าไม้อันสงัดร่มเย็นสองกุฏิ  เราใช้กุฏิหนึ่งเป็นที่สำหรับศึกษาและอยู่อย่างสงบแต่ลำพังในบางเวลา ซึ่งทำให้จิตใจของเราเบาสบาย  มีธารน้ำจืดใสเย็นเป็นที่สบายในเวลาอาบน้ำเวลากลางคืน ไม่เกิดความรู้สึกเหงาและวังเวงเกินไป เพราะมีไฟฟ้าใช้จน ๔-๕ ทุ่ม เราใช้เวลาอ่านหนังสือได้อย่างโปร่งใจในตอนกลางคืนก่อนนอน

เราได้สัมผัสกับชีวิตที่มีการกินอยู่อย่างง่ายเป็นรสจืดเย็นไม่แสบเผ็ด  เรารับประทานอาหารกลางวันบ่ายมากด้วยความหิว  เรากับวิลาศ รับข้าวผัดที่ซื้อมาคนละห่อด้วยความรู้สึกออกรสมาก ทั้งที่ข้าวผัดจะเย็นชืดและจืด เพราะไม่มีน้ำปลาจะเติม  ตอนเย็นเวลา ๖ โมง เรารับอาหารที่พวกชาวนาชาวบ้านเขาจัดทำมาให้ มีไข่ต้มปลาปิ้งและผักที่ชืดๆ เรารับทานได้เรียบร้อย

เราพอใจที่จะเข้าสู่การทดลองกับการกินอาหารง่ายๆ และการนอนอย่างง่ายๆ ไปตลอดเวลาที่พักอยู่ที่สวนโมกข์  ได้ใช้เวลาอ่านพุทธประวัติตอนบ่ายและตอนกลางคืน ๒ ชั่วโมง

นั่นเป็นบันทึกวันแรกทั้งวันที่ไปถึงสวนโมกข์ ของกุหลาบ สายประดิษฐ์

ส่วนหลักฐานบันทึกของท่านพุทธทาส ก็มีปรากฏตรงกันในห้วงวันเวลาของการพบกัน จากหนังสือพุทธทาสลิขิตข้อธรรม บันทึกนึกได้เอง อันเป็นการเขียนอนุทินประจำวันของท่านในวันอังคารที่ ๕ กุมภาพันธ์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านพุทธทาสได้บันทึกไว้ว่า

๑๑ น. เศษ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับนายวิลาส มณีวัต มาถึงจากกรุงเทพ โดยรถด่วน ว่าจะขอหาความสงบเพื่อศึกษาธรรมะ (ในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาโดยเฉพาะ) สักอาทิตย์

คุยกันด้วยเรื่องการเป็นหยู่ตามธรรมเนียม แล้วคุยกันถึงเรื่องพุทธสาสนาในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยฉะเพาะมหายาน ในแง่ที่ตรงกัน สาสนา (แทบทุกสาสนา) กำลังเปลี่ยนรูป ไปยุ่งหยู่กับเรื่องที่มิใช่ตัวสาสนา เช่นเรื่องนิกายและการจัดผลประโยชน์  พุทธสาสนาในประเทศไทยยังหนักไปในทางศรัทธาหย่างเดิม ยังไม่ทำความพอใจให้แก่นักศึกษาสมัยปัจจุบันนี้ นายแพทย์ตั้ง ม้อ เฉี้ยง เปนผู้ที่รู้พุทธสาสนามหายานดีที่สุดในเมืองไทย

วันพุธที่ ๖ เป็นวันที่สองเป็นการทดลองเรื่องการอดทนต่อความหิว  เนื่องด้วยชาวบ้านทำอาหารมาให้สองมื้อ จึงรับประทานสองมื้อคือเช้ากับเย็นเว้นมื้อกลางวัน ทั้งที่ตอนแรกมีความคิดว่าแบ่งอาหารมื้อเช้าไว้กินตอนเพล แต่ก็ปฏิเสธความคิดนั้นไปเสีย  แต่บ่ายๆ ก็ทุเลาความหิวด้วยขนมปังหน้าแว่นสองชิ้นและโอวัลตินหนึ่งถ้วย  ท่านเขียนว่าพอเกลื่อนความหิวมากให้เป็นน้อย

ท่านพุทธทาสและพระที่นี่ ท่านรับอาหารมื้อเช้ามื้อเดียวเท่านั้น เวลานอนแม้ว่ายุงจะชุมท่านก็ไม่ใช้มุ้ง  เวลาหนาวท่านก็ไม่ใช้ผ้าห่มพิเศษ นอกจากจีวรที่มีอยู่  ทุกท่านกล่าวว่า ท่านไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร ท่านมีแต่ภาวะเบาสบายในจิตต์ใจ ท่านนอนก็น้อย และนอนหลับสนิททุกคืน  เราได้ทดลองการเว้นอาหารกลางวันครั้งแรกด้วยความพอใจ

ได้สนทนาธรรมกับท่านพุทธทาส ๑ ชั่วโมงครึ่ง ได้สนทนาเรื่องการฝึกสมาธิ ตามวิธีอาณาปานสติ  ตอนบ่ายอ่านพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ นั่งบนแท่นหินใต้ร่มไม้อันสบายด้วยลมเย็น

วันพฤหัสที่ ๗ ไปอาบน้ำที่ลำธารตอนเช้า รู้สึกร่างกายสบายดี  สนทนากับท่านพุทธทาสหลังอาหารเช้าสองชั่วโมง  สนทนาเรื่องพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาไทย เรื่องสูตรของมหายานและของเซ็น  เรื่องชีวิตของท่านพุทธทาสตอนเริ่มบวชและตอนศึกษาก่อนตั้งสวนโมกข์  เรื่องการเชิดชูหลักธรรมของพระพุทธเจ้าโดยความร่วมมือของนักเขียน  อ่านพุทธสาสนาและทำบันทึกย่อสองชั่วโมง อ่านเรื่องอานาปานสติชั่วโมงครึ่ง

ส่วนความหิวก็ต้องต่อสู้บ้างแต่เป็นเพียงความรำคาญ และในที่สุดก็พอใจที่เว้นมื้อกลางวันได้  ส่วนพุทธสาสนา ที่อ่านนั้นเป็นวารสารของสวนโมกข์โดยคณะธรรมทานเป็นผู้จัดพิมพ์ แต่เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่เป็นของของท่านพุทธทาส  ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ก็ยังดำรงอยู่ ท่านใช้ ส เสือ ไม่ใช้ ศ ศาลา ดังนั้นวารสารเล่มนี้จึงเป็น พุทธสาสนา

วันศุกร์ที่ ๘ อ่านเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในหนังสือพุทธสาสนา ๓ ชั่วโมงครึ่ง เพื่อนำความรู้มาใช้ในการปฏิบัติ  อ่านเรื่องการเจริญสมาธิ ๒ ชั่วโมงครึ่ง  ในวันนี้ความหิวคงมีเพียงเล็กน้อย ส่วนความรำคาญไม่มีแล้ว  ตอนบ่ายขึ้นไปเดินเล่นบนเนินเขา

วันเสาร์ที่ ๙ อ่านกฎของสวนโมกข์ บทความเรื่อง เซ็น ของท่านพุทธทาส ๒ บท บทความของท่านธรรมปาละ และเรื่องการเจริญสมาธิ เรื่องความสงบของท่านพุทธทาส  ตอนเข้านอน มีความคิดที่น่ากลัวมารบกวนอย่างไม่เข้าเรื่องประเดี๋ยวหนึ่ง ทำให้ประสาทที่อยู่ในการบำรุงรักษา และยังอ่อนเพลียอยู่หวั่นไหวไปชั่วครู่ ต้องลุกออกมากินยาหอม และพิจารณาดูแสงเดือนหงายแจ่มฟ้า ทำใจให้คืนสู่ความสงบได้โดยเร็ว  เข้านอนใหม่หลับได้ช้า แต่จิตต์ใจสงบเรียบร้อยดี

ช่วงที่เดินทางไปปฏิบัติธรรมยังสวนโมกข์นั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือวันมาฆบูชา ได้ปฏิบัติธรรมและศึกษาตามปกติ  น่าเสียดายที่ไม่ได้บันทึกถึงบรรยากาศวันมาฆบูชาที่สวนโมกข์ไว้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ วันมาฆบูชา ออกไปสนทนากับท่านพุทธทาสแต่โมงเช้า  ปรารภเรื่องความไม่สบายให้ท่านฟัง  ท่านแสดงธรรมเรื่องความสงบ ขอให้คิดแต่ความสงบ (ตามทรรศนะของธรรมะ) ไว้เนืองนิจ จิตต์ใจจะปลอดโปร่งแจ่มใส และประสาทจะมั่นคงแข็งแรงในไม่ช้า  ใช้เวลาสนทนา ๑ ชั่วโมงครึ่งทบทวนบทความเรื่องอาณาปานสติ และทำบันทึกเพื่อการปฏิบัติ ๓ ชั่วโมง

วันจันทร์ที่ ๑๑ ตอนเช้าสนทนากับท่านพุทธทาส ๔-๕ นาที ได้ขอให้ท่านแสดงวิธีที่พึงใช้ในชีวิตและธรรมชาติเป็นประจำวัน อันจะนำไปสู่การเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นอยู่จริง เป็นความเห็นอันแจ่มแจ้งเด็ดขาด หลักในการพิจารณาสรุปได้ดังนี้

๑. ดำเนินการพิจารณาจนกระทั่งเห็นสิ่งต่างๆ อยู่ในร่องรอยอันถูกต้อง

๒. ทำการพิจารณาสิ่งต่างๆ ตามที่ได้เห็นอย่างถูกต้องแล้วนั้นอยู่เป็นนิจ จนกระทั่งเป็นความเห็นแจ้งเด็ดขาด ฝังแน่นอยู่ในจิตต์ใจ ไม่มีการกวัดไกวอีกต่อไป

๓. ตนเองจะต้องได้เสพย์รสอันสงบเย็นซึ้งใจ จากผลแห่งการเห็นแจ้งนั้นด้วย

มอบเงินทำบุญบำรุงกิจการปฏิบัติธรรมของสวนโมกขพลาราม ๒๐๐ บาท  กราบลาท่านพุทธทาสออกจากสวนโมกข์ เดินทางสู่ไชยา เวลา ๙ . ๔๕ นาที ด้วยจิตต์ผ่องใสเบิกบาน  ท่านพุทธทาสได้ต้อนรับและส่งด้วยความโอบอ้อมอารีอันดียิ่ง

วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่อยู่ปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ ต่อจากนั้นได้กราบลาท่านพุทธทาสแล้วเดินทางสู่ไชยา แล้วเข้าสุราษฎร์ธานี อยู่ที่สุราษฎร์ธานีจนถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ จึงออกจากบ้านดอนขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ รวมความว่าได้อยู่ที่สุราษฎร์ธานีเป็นเวลา ๑๑ วัน  โดยได้อยู่ปฏิบัติธรรมที่ในสวนโมกข์เป็นเวลา ๖ วัน อยู่ที่บ้านคุณวิลาศ มณีวัต สุราษฎร์ธานี ๓ วัน

ชีวิตที่ได้ลงไปศึกษายังสวนโมกข์ของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นช่วงเวลาของชีวิตที่ได้พัฒนาฝึกฝนตนเองในการศึกษาพระพุทธศาสนา ได้อ่านหนังสือธรรมะ ได้สนทนาธรรมกับท่านพุทธทาส และมีโอกาสฝึกปฏิบัติธรรม  การเจริญภาวนาตามหลักอาณาปานสติเป็นสำคัญ ได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามวิธีการของสวนโมกข์ โดยฝึกตนให้อยู่อย่างมีสติและรู้เท่าทัน

การไปสวนโมกข์ครั้งนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการดำเนินชีวิต ดังจะเห็นได้จากบันทึกสรุปการเดินทางไปสวนโมกข์ว่า

ตลอดเวลา ๑๑ วันได้ประกอบความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตดังต่อไปนี้

๑. ได้ใช้ชีวิตด้วยความสำรวมโดยทั่วไป

๒. เว้นการดื่ม

๓. สำรวมในการรับประทาน  ขณะอยู่สวนโมกข์รับประทานสองเวลา ไม่บริโภคเพื่อมุ่งความอร่อย  เมื่อมาพักที่สุราษฎร์ ๓ วัน ก็รับประทานอาหารง่ายๆ ตามที่ทางบ้านจะจัดให้  ไม่ได้บริโภคเพื่อมุ่งความอร่อยเช่นกัน  การเว้นการดื่มและการสำรวมในการรับประทาน ไม่บริโภคเพื่อมุ่งความอร่อย เป็นคุณในการฝึกบังคับตน เป็นคุณในการฝึกการครองชีพอย่างง่ายๆ เป็นคุณแก่สุขภาพ เป็นคุณในการส่งเสริมการดำเนินชีวิต ไปในแนวทางแห่งสันติและบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

๔. ได้รื่นรมย์รสการใช้ชีวิตอันสงบ ห่างไกลจากเหตุการณ์โสมม

๕. ได้รับความซาบซึ้งในรสธรรมะจากการศึกษาในบรรยากาศที่สงบเย็น

๖. ได้มีโอกาสพิจารณาเจริญสมาธิตามวิธีอาณาปานสติอย่างจริงจัง

หลังจากกลับมาถึงกรุงเทพแล้วคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนจดหมายถึงท่านพุทธทาสกราบขอบพระคุณท่าน ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม หลังวันวิสาขบูชา ได้เล่าถึงว่าได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการพิจารณาทบทวนข้อธรรมะและทำความรู้สึกที่จะประกอบกิจอันสมควร

ผมใคร่จะเรียนแก่ท่านว่า การที่ได้ออกไปพำนักอยู่ที่สวนโมกข์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์นั้น แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ แต่ผมก็รู้สึกว่า เป็นเวลาอันมีค่าอย่างยิ่งแก่การฝึกฝนอบรมทางจิต  ผมรู้สึกว่าได้ความก้าวหน้าขั้นใหม่ในการน้อมชีวิตไปสู่การปฏิบัติธรรม  ตั้งแต่กลับจากสวนโมกข์ ผมได้แบ่งเวลาไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการทบทวนพิจารณาข้อธรรมะเป็นประจำวัน  ผมได้กำหนดไว้ว่า แต่นี้ไปจะเป็นเวลาที่เราจะนำข้อธรรมของพระบรมศาสดาเข้าสู่ห้องทดลองซึ่งตั้งอยู่ ายในร่างกายของเรานี้  จะทดลองได้ผลเพียงไรนั้น เป็นเรื่องที่ยังพูดไม่ได้  แต่ข้อที่พูดได้ข้อหนึ่งคือ จะดำเนินการก้าวหน้าเรื่อยไป แม้จะเป็นส่วนเล็กน้อยอย่างไรก็จะต้องไม่มีการถอยหลังเป็นอันขาด  หนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ นั้น ผมได้ถือเอาเป็นมหาคัมภีร์ของผมในการฝึกฝนอบรมจิต ผมได้ทำบันทึกและอ่านทบทวนอยู่เสมอ เวลาศึกษาข้อธรรมะจากหนังสือพุทธประวัตินั้น ผมรู้สึกว่าเวลานั้นเป็นทั้งเวลาศึกษาและเป็นการพักผ่อนทางใจอย่างดีเลิศ

สำหรับหนังสือที่ชาวพุทธควรศึกษาเพื่อการปฏิบัติธรรม จากจดหมายนี้ท่านเรียนท่านพุทธทาสว่า

หนังสือธรรมะที่ผมอ่านอยู่ในเวลานี้ ส่วนมากผมเลือกอ่านหนังสือที่มุ่งแนะนำส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ทั้งนี้เพื่อผูกใจไว้กับการปฏิบัติ  ผมเห็นว่าพุทธศาสนิกชนที่มุ่งหมายจะดำเนินชีวิต ตามแนวคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาโดยแท้จริงนั้น ไม่จำต้องอ่านหนังสือธรรมะมากมายอะไรเลย  ถ้าเขามีหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ สักหนึ่งเล่ม และมีธรรมเทศนาของท่านสัก ๓ เรื่อง คือ วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม ภูเขาแห่งพุทธธรรม และเรื่องความสงบ เพียงหนังสือสี่เล่มเท่านี้ก็เป็นการเพียงพอที่พุทธศาสนิกชนจะลงมือปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มศรัทธาแล้ว หากว่าเขาเป็นพุทธศาสนิกชนที่มุ่งหมายปฏิบัติธรรม มิใช่พูดหรือแสดงธรรมโดยไม่ไยดีกับการปฏิบัติ  แต่ถ้าท่านจะเรียบเรียงหนังสือว่าด้วยการฝึกสมาธิอย่างละเอียดขึ้นสักเล่มหนึ่ง โดยอาศัยแนวทางปฏิบัติที่ท่านได้ใช้มา ก็คงจะช่วยผู้เริ่มการฝึกฝนอบรมทางจิตตามแนวธรรมะได้มากทีเดียว และก็คงจะ เป็นที่ปรารถนาของผู้สนใจในทางนี้ทั่วกัน

ซึ่งภายหลังท่านพุทธทาสได้บรรยาย อาณาปานสติอย่างสมบูรณ์ในระหว่างพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๒ และได้กลายมาเป็นหนังสือที่สมบูรณ์ที่สุด ดีและตรงที่สุดในเรื่อง การฝึกสมาธิของพุทธศาสนิกชน  สำหรับกรณีท่านพุทธทาสได้ชักชวนให้คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนหนังสือแนวธรรมะเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนนั้น คิดว่ายังไม่ถึงเวลาขอปฏิบัติให้ดีก่อนจึงค่อยทำ

ตามที่ท่านได้ชักชวนให้เขียนเรื่องในทางแนะนำเผยแพร่ธรรมะแก่ประชาชนนั้น อันที่จริงก็พ้องกับความปรารถนาของผมอยู่แล้ว เป็นแต่ชั้นนี้ผมยังจะใช้เวลาเพ่งเล็งในการปฏิบัติ และข้อธรรมะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติก่อน  ต่อเมื่อได้รับความก้าวหน้าในการปฏิบัติและเห็นว่าจิตใจได้หยั่งลงสู่ธรรมะมั่นคงพอสมควรแล้ว จึงจะให้เวลาศึกษาพุทธธรรมโดยกว้างขวางต่อไป  และเมื่อได้ศึกษาเป็นที่พอใจแล้ว จึงจะถึงเวลาที่จะเขียนสู่การพิจารณาของประชาชน

ซึ่งเป็นเรื่องจริงแท้ เพราะกว่าจะเขียนหนังสือชุดอุดมธรรมก็เพียรใช้เวลาปฏิบัติคิดใคร่ครวญในทางธรรมแล้วจึงทำออกมาเผยแพร่หลังจากนั้นหลายปี  อุดมธรรม ได้เขียนเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ เรื่องนี้พิมพ์ในหนังสือวิปัสสนาสาร วัดมหาธาตุ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๙  การบูชาอันสูงสุด เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๐ พิมพ์ในกระดึงทอง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สนทนาเรื่องพุทธศาสนา มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ จบตอนที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๐๐ พิมพ์ในกระดึงทอง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ทั้งสามเรื่องรวมเล่มชื่อ อุดมธรรมกับความเรียงเรื่องพุทธศาสนา ๑๓ บท โดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ “อุบาสก” โดยสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ เมื่อปี ๒๕๐๐

เรียกได้ว่าไม่รู้จริงไม่ยอมเขียน จนกว่าจะรู้เข้าใจเห็นจริงแล้ว จึงเขียนถ่ายทอดเผยแพร่สู่ประชาชน เป็นความจริงแท้ดังคำของท่านพุทธทาสที่ว่า

การประพันธ์คือการปฏิบัติธรรมและการปฏิบัติธรรมคือการประพันธ์นั่นเอง

หากมีใครถามว่าไปสวนโมกข์สนุกไหม ท่านตอบคนที่ถามว่า

สวนโมกข์ เป็นป่าไม้น่ารื่นรมย์ อันเป็นกำลังให้ถึงธรรมเครื่องหลุดพ้นจากทุกข์Ž

นี้คือความหมายอันสำคัญยิ่งของสวนโมกขพลารามที่ท่านพุทธทาสบรรจงตั้งชื่อนี้ฝากไว้ให้เป็นอนุสติแก่ผู้ที่ได้มาเรียนรู้และเยี่ยมเยือนได้เข้าใจ  และนั่นคือจดหมายที่เขียนคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ กราบนมัสการท่านพุทธทาส อันบ่งบอกถึงชีวิตที่ได้เรียนรู้ และที่ท่านได้รับความสุขจากการไปสวนโมกขพลาราม

เป็นการสรุปบทเรียนชีวิตของท่าน ปัญหามีอยู่ว่าการกระทำนั้นเป็นบทฝึกเฉพาะในช่วงเวลาที่ลงไปปฏิบัติธรรมเท่านั้นหรือไม่ หรือได้น้อมนำมาใช้จนกลายเป็นวิถีชีวิต  คำตอบจากหลักฐานบันทึก คือ เป็นการนำบทเรียนที่ได้ฝึกฝนตนเองมาใช้ในการทำงานโดยตลอดชีวิต เป็นวิถีชีวิต

จากบันทึกการไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์และบันทึกประจำวัน มีเนื้อหาที่สะท้อนภาพให้เห็น ๕ ประการดังนี้ คือ

๑. เป็นนักอ่าน คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ อ่านหนังสือธรรมะและอื่นๆ สม่ำเสมอ  การอ่านเป็นงานหลักของชีวิต คู่ไปกับงานเขียน  เป็นคนที่อ่านหนังสือมาก อ่านเป็นชีวิตจิตใจ ทำบันทึกย่อสรุปความความคิดอันเกิดจากการอ่าน และก็เขียนหนังสือเป็นดุจดังลมหายใจเป็นชีวิตจิตใจเช่นเดียวกัน

๒. ทำงานตรงเวลา  ตื่นในเวลาประมาณตีห้าถึงตีห้าครึ่งเสมอ จัดแจงธุระส่วนตัวเสร็จ จะนั่งสมาธิ และเข้าที่นั่งโต๊ะทำงานเขียนหนังสือแต่เช้า  ลงมือทำงานโดยบันทึกว่า ๖.๓๐ น. นั่งโต๊ะทำงาน ซึ่งจะเข้าทำงานตั้งแต่ ๖.๓๐ น. หรืออย่างช้าไม่เกิน ๗.๓๐ น. ของทุกวัน  เป็นการเข้าทำงานและเลิกงานในแต่ละวันอย่างมีวินัย

๓. เจริญภาวนาทุกวัน ในทุกๆ วันจะต้องเจริญภาวนาตามหลักวิธีอาณาปานสติตั้งแต่ ๑๕ นาทีจนถึงเป็นชั่วโมง และใช้ชีวิตแบบพุทธศาสนิกชนโดยแท้  ตัวอย่างในบันทึกวันวิสาขบูชา ๘ พฤษภาคมปีนั้นบันทึกมีว่า

ตื่น ๕.๐๐ น. ๕.๑๕ บำเพ็ญสมาธิ โดยการกำหนดลมหายใจครึ่งชั่วโมง ร่างกายสงบดีมาก แต่การกำหนดสติยังไม่แน่วแน่  เดินสำรวมจิตต์ พิจารณาธรรม สูดอากาศสดชื่น จิตต์แจ่มใส  ๖.๑๕ นั่งโต๊ะทำงาน ตรวจเรื่องพุทธประวัติ ของ อาดัมส์ เบค เพื่อพิจารณาการแปล ๔๕ นาที  ๗.๓๐ น. ไปวัดธาตุทอง ถวายอาหารท่านเจ้าคุณสมภารวัด และให้หนังสือ ข้าพเจ้าได้เห็นมา และสงครามชีวิตแก่โรงเรียนวัดธาตุทอง  ไปเยี่ยมเสด็จพระนางลักษมีกับท่านทองต่อและถวายหนังสือ ๓ เล่ม  ตอนบ่ายอ่านโลกนาถไม่มีข้าพเจ้าไม่มีอาตมัน อ่านพุทธทาส ข้อคิดสำหรับศีล ข้อหนึ่ง อานิสสงส์ของการกินผัก (พุทธสาสนา ปีที่ ๒ เล่มที่ ๔) ๑ ชั่วโมง ๑๕ นาที  เขียนจดหมายซื้อหนังสือธรรมะจากไชยาและเชียงใหม่ ๔๕ นาที  ตอนค่ำกำหนดการงานและบันทึกประจำวัน ๑ ชั่วโมงครึ่ง การรักษาความสงบสำรวมในครึ่งวันแรกเป็นที่พอใจมาก

๔. การเป็นอยู่เรียบง่าย ใช้ชีวิตการกินอยู่อย่างเรียบง่ายและควบคุมตนเองโดยการงดดื่ม

กลับถึงบ้านซอยภูมิจิตร เวลา ๙.๐๐ น. พักผ่อน  บรรยากาศที่บ้านชวนให้เกิดความรู้สึกอยากดื่มในตอนเย็น แต่บังคับใจไม่ดื่มได้  ความรู้สึกอยากดื่มในเย็นวันนี้ออกจะแรงตลอดเวลาที่ไปจากบ้าน ไม่เคยมีความรู้สึกอยากดื่มเช่นนี้เลย  ในระหว่างอยู่ต่อหน้า การดื่มมีความรู้สึกอยากเพียงเล็กน้อย การปฏิเสธจึงไม่ต้องการการบังคับใจเท่าใด เพียงแต่ทำความรู้สึกว่าได้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ดื่ม ความอยากเพียงเล็กน้อยก็ละลายไป

แต่ก็มีบ้างจากบันทึกระบุว่าในคืนวันที่ ๑ มีนาคม ได้ไปในงานสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์แล้วเผลอดื่มไปสองแก้วแล้วก็เรียกสติกลับคืนมาไม่ดื่มเหล้าอีก แต่เปลี่ยนเป็นดื่มน้ำส้มแทน เป็นต้น  เป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ติดตามความรู้สึกของตนเองได้ละเอียดยิ่งมีสติและรู้เท่าทัน ตลอดเวลา

๕. คิดใคร่ครวญมองตนเองเป็นนิจ ท่านได้พิจารณาบทบาทหน้าที่และการกระทำของตนเองอยู่เสมอ ดังตัวอย่างบันทึกวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.  ๒๔๙๕

วันเสาร์ที่ ๗ ๗.๐๐ น. นั่งโต๊ะทำงาน (วันนี้มีงาน) แสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจครั้งที่ยี่สิบสอง ๒๕ นาที เดินทางไปมหาวิทยาลัยด้วยความสำรวมจิตต์ แสดงปาฐกถาจิตต์ตั้งอยู่ในความสงบ

จะมีบรรณาธิการ หรือนักหนังสือพิมพ์สักกี่ท่าน จะมีนักประพันธ์ชาวพุทธสักกี่คนที่ดำรงตนปฏิบัติธรรมตามวิถีพุทธสมกับเป็นพุทธศาสนิกชนดั่งคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์  คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” นับได้ว่าเป็นพุทธศาสนิกชนเป็นนักศึกษาอย่างแท้จริง คือเมื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องใดก็จะพากเพียรเรียนรู้เรื่องนั้นอย่างจริงจัง และยังได้น้อมนำมาฝึกปฏิบัติตนจนเป็นวิถีชีวิต  ท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักประพันธ์ ได้เรียนรู้การปฏิบัติธรรม  งานเขียนงานประพันธ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงมีคุณค่า นอกเหนือจากความบันเทิงแล้ว ยังสะท้อนให้ได้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ รักสันติ มีคุณธรรม และให้ความเป็นธรรมกับผู้คนในสังคมเสมอ

นี่เป็นบันทึกหรือทินกรณ์ในชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และจดหมายถึงท่านพุทธทาส  เป็นบันทึกการฝึกฝนตนเองในฐานะนักศึกษาผู้ใฝ่การเรียนรู้ และสะท้อนภาพของการเป็นนักปฏิบัติ นักพัฒนาตนเอง อย่างเข้มงวด สมกับเป็นพุทธศาสนิกชนโดยแท้.