“ศรีบูรพา” สามัญชนและสุภาพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ในสายตาข้าพเจ้าผู้เป็นนักเรียนเทพศิรินทร์เช่นกัน
จิรกิตติ์ สุนทรลาภยศ …ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก… ประโยคอมตะจากนวนิยายชื่อดัง ข้างหลังภาพ ที่เคยได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ยังคงปรากฏให้ผมนึกถึงยามที่กล่าวถึงนามกวีผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ “ศรีบูรพา” “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หาได้เป็นเจ้าขุนมูลนายใดๆ ไม่ ท่านเป็น เพียงสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น แต่ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติทั้งจากประชาชนคนไทยและได้รับการประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งของโลกจาก UNESCO (องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) แสดงให้ประจักษ์ว่า ในความธรรมดานี้กลับมีความยิ่งใหญ่และทรงพลังทางความคิดและความสามารถอย่างน่าอัศจรรย์ มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล หมายถึงสิ่งใดที่แสดงออกมาย่อมแสดงถึงตัวตนของบุคคลนั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตของ “ศรีบูรพา” ก็เห็นจะจริงอยู่ไม่น้อย เพราะงานเขียนอันมากมายนั้น นอกจากจะแสดงถึงจุดยืนทางความคิดที่อิสระและเป็นตัวของตัวเองแล้ว ยังแสดงถึงคุณธรรมหรือความดีงามของท่านอีกด้วย เอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่าน “ศรีบูรพา” ที่ผมรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก อาจจะด้วยความที่เราต่างเป็นนักเรียนเทพศิรินทร์ด้วยกัน ซึ่งมีคติธรรมประจำใจคือ “ไม่ควรเป็นคนรกโลก” ที่ได้สอนให้นักเรียนเทพศิรินทร์ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์นั้น เมื่อผมหวนนึกถึงท่าน ผมจะประทับใจและภาคภูมิใจว่าท่านเป็น “รุ่นพี่” ที่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะท่านมีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ทำทุกสิ่งที่เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ผู้ถูกเอาเปรียบ โดยไม่คำนึงถึงผลที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองเลย เปรียบดังนักต่อสู้ของประชาชนที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้มีแทรกอยู่ในแทบทุกงานเขียนของท่าน เช่นในนวนิยาย จนกว่าเราจะพบกันอีก ที่ว่า …ฉันจะอยู่ไปทำไมถ้าฉันไม่เป็นประโยชน์แก่ใครเลย…