ศรีบูรพา นามปากกาของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักมนุษยธรรม และนักต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงผู้หนึ่ง เขียนหนังสือทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง โดยใช้ชื่อจริงและนามปากกาว่า “ศรีบูรพา” “อิสสรชน” “อุบาสก” ฯลฯ เป็นบุคคลผู้ยืนอยู่แถวหน้าสุดของวงการวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์ ในการรณรงค์เพื่อเอกราช ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค สันติภาพ และความถูกต้องเป็นธรรมในสังคม

มีผลงานมากทั้งในด้านการเมือง ศาสนา ปรัชญา สังคม วิชาการ นวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล และบทกวี หลายเรื่องได้รับการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง จากอดีตเมื่อ ๗๐ กว่าปีก่อนจนปัจจุบันนี้ และมีผู้แปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา

นักคิด-นักเขียน

ศรีบูรพา เป็นผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมสะท้อนสังคม ปลุกเร้ามโนสำนึกและมนุษยธรรม นวนิยาย เช่น ลูกผู้ชาย ข้างหลังภาพ สงครามชีวิต จนกว่าเราจะพบกันอีก แลไปข้างหน้า เรื่องสั้น เช่น คำขานรับ ขอแรงหน่อยเถอะ กวีนิพนธ์ เช่น อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ พลังประชาชน เขียนบทความทางสังคมและการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย เช่น มนุษยภาพ เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว แปลและเรียบเรียงวรรณกรรมเพื่อชีวิตและสังคม เช่น เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร แม่ (ของแมกซิม กอร์กี้) เขียนความเรียงทางพุทธศาสนา เช่น อุดมธรรม ฯลฯ

นักหนังสือพิมพ์

เป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ซึ่งรวบรวมนักเขียนเข้าเป็นคณะใหญ่มีชื่อว่า “คณะสุภาพบุรุษ” รวมตัวกันเป็นคณะร่วม ๒๐ ปี เป็นประวัติศาสตร์การรวมตัวกันครั้งสำคัญของนักเขียนไทยในยุค “รุ่งอรุณของวรรณกรรมไทย” และยังได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ ได้รับความนิยมเชื่อถือทุกฉบับ

เป็นประธานคณะกรรมการก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ และได้เป็นเลขาธิการคนแรกของสมาคม ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๘–๒๔๘๙ เป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ปราศรัยในที่ประชุมใหญ่สมาคมหนังสือพิมพ์และเขียนบทความเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ และยกเลิกพระราชบัญญัติที่ลิดรอนเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕

นักมนุษยธรรม-ศาสนา

บทความ มนุษยภาพ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบทความที่มีส่วนหนึ่งของเนื้อหาเกี่ยวกับความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์

อุปสมบทที่วัดเบญจมบพิตร ๑ พรรษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้ศึกษาพระธรรมอย่างเคร่งครัดและลึกซึ้ง เขียนบทความทางธรรมะลงในวารสาร วิปัสนาสาร ของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ และเขียนเรื่อง อุดมธรรม ผลงานชุดพุทธศาสนา ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง

ได้เดินทางไปนมัสการและสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุที่สวนโมกข์ ปฏิบัติธรรม และได้เขียนจดหมายสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ ต่อมาคณะศิษย์ของท่านได้รวบรวมพิมพ์เผยแพร่

ได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาที่พุทธสมาคมเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐

นักต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยและสันติภาพตลอดมา โดยได้เขียนบทความ มนุษยภาพ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ เสนอความคิดสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย จนทำให้หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ถูกสั่งปิด แท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่ เมื่อได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย เขียนบทความคัดค้านการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เขียนบทความคัดค้านการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ทำให้การฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ต้องระงับไปในที่สุด

ในช่วงแห่งสงครามได้เขียนบทความคัดค้านรัฐบาลร่วมมือกับญี่ปุ่นในการทำสงคราม ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองศรีบูรพาได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ องค์การสันติภาพสากลประชุมที่กรุงเบอร์ลินเรียกร้องสันติภาพ คัดค้านสงครามเกาหลี และประกาศแต่งตั้ง ศรีบูรพา กับคนไทยอีก ๒ คนเป็นกรรมการองค์การสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รับตำแหน่งรองประธานกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย เรียกร้องสันติภาพและคัดค้านสงครามเกาหลี และได้รับมอบหมายจากสมาคมหนังสือพิมพ์ให้เป็นประธานนำคณะไปแจกสิ่งของที่มีผู้บริจาคแก่ประชาชน าคอีสานที่ประสบภัยธรรมชาติอย่างร้ายแรง

การต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยของศรีบูรพา ทำให้ต้องตกเป็นนักโทษการเมือง ถูกจับกุมคุมขัง ๒ ครั้ง โดยรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่สามารถทำลายอุดมคติและอุดมการณ์ของศรีบูรพาได้.