โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี

“ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น”

“ศรีบูรพา” : “เล่นกับไฟ”

(พิมพ์ครั้งแรกในเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ : เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑)

“ความซื่อตรง คือความจริง

ความจริง คือความซื่อตรง”

กุหลาบ สายประดิษฐ์ : “มนุษยภาพ”

(พิมพ์ครั้งแรกในศรีกรุง : ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔)

ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติชีวิตและผลงานของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ค่อนข้างเป็นทางการครั้งแรก เป็นการเล่าและบันทึกมาจากผู้ใกล้ชิดโดยตรง คือจาก ชนิด สายประดิษฐ์ ผู้เป็นภรรยา และจาก พ.ญ. สุรภิณ ธนะโสภณ ผู้เป็นบุตรสาว (ซึ่งได้เก็บประวัติมาจากการเล่าของนางจำรัส นิมาภาส พี่สาวคนเดียวของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ อีกต่อหนึ่ง) ข้อมูลจากความทรงจำทั้งสองส่วนนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร โลกหนังสือ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ การเขียนประวัติ ชีวิตและผลงานของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในชั้นหลังต่อมา ส่วนใหญ่มักอ้างอิงมาจากแหล่งข้อมูลชั้นต้นส่วนนี้ นอกจากนั้นต่อมาภายหลังยังมีหลักฐานเพิ่มเติมมาจากเอกสารลายมือที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนขึ้นในชื่อ บรรทึกการแต่งหนังสือ ซึ่งถือเป็นการใช้หลักฐานชั้นต้นที่มาจากเจ้าของผลงานโดยตรง แต่กระนั้นก็ถือเป็นเพียง “บันทึก” ในระยะเริ่มต้นชีวิตการประพันธ์ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เท่านั้น ข้อมูลจาก “บันทึก” ส่วนนี้ เจ้าของบันทึกได้เขียนไว้ในสมุดนักเรียนเล่มบางๆ ระบุเวลาเกี่ยวกับเรื่องการแต่งหนังสือและเรื่องอื่นๆ ตั้งแต่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๕ จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ดังนั้นจึงถือเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตและผลงานบางส่วนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในช่วงเริ่มต้นการเขียนหนังสือ เมื่ออายุ ๑๗-๒๓ ปีอย่างถูกต้องที่สุดเป็นครั้งแรก (๑)

ชีวิตวัยดรุณ

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อปีมะโรง วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ (๒) เป็นคนจังหวัดกรุงเทพฯ พ่อชื่อสุวรรณ เป็นเสมียนเอก ทำงานอยู่กรมรถไฟ แม่ชื่อ สมบุญ เป็นชาวนาอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี พี่น้องทางแม่มีอาชีพทำนา เมื่อโตเป็นสาวจึงเข้ามาอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ เล่ากันว่าเคยอยู่ในวังเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาฯ หรือ “วังสวนกุหลาบ” ที่ถนนประชาธิปไตย จนได้พบกับนายสุวรรณและได้แต่งงานกัน ต่อมาได้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านพ่อของนายสุวรรณ ซึ่งเป็นหมอยาแผนโบราณ มีบ้านเป็นเรือนแฝดสองหลังอยู่ในตรอกพระยาสุนทรพิมล ใกล้ๆ หัวลำโพง นายสุวรรณกับนางสมบุญได้ให้กำเนิดบุตรสองคน คนโตเป็นหญิง ชื่อจำรัส นิมาภาส (แต่งงานกับนายกุหลาบ นิมาภาส) ส่วนคนเล็กเป็นชาย ชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ต่อมาภายหลังสี่ชีวิตพ่อแม่ลูกได้แยกครอบครัวมาเช่าห้องแถวที่เป็นของพระยาสิงหเสนีอยู่แถวๆ หัวลำโพง

เมื่ออายุ ๔ ขวบ กุหลาบเริ่มต้นเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนวัดหัวลำโพงจนถึงชั้นประถม ๔ นายสุวรรณได้ช่วยสอนหนังสือให้ลูกชายคนเดียวก่อนเข้าโรงเรียนด้วย เนื่องจากทำงานอยู่กับผู้จัดการฝรั่งที่กรมรถไฟ นายสุวรรณจึงพอพูดภาษาอังกฤษได้ เข้าใจว่ากุหลาบคงจะได้อิทธิพลเรื่องการเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาจากพ่อของเขาไม่มากก็น้อย แต่พ่อของกุหลาบอายุสั้น ป่วยเป็นไข้เสียชีวิตแต่เมื่ออายุเพียงแค่ ๓๕ ปี ตอนนั้นกุหลาบเพิ่งอายุ ๖ ขวบ แม่และพี่สาวได้เลี้ยงดูเขาต่อมา โดยแม่รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า และส่งพี่สาวไปฝึกเล่นละครรำและละครร้อง เพื่อหาเงินมาช่วยจุนเจือและส่งเสียให้กุหลาบได้เรียนหนังสือโดยไม่ติดขัด กล่าวคือเมื่อจบชั้นประถม ๔ แม่ก็ได้เอากุหลาบไปฝากเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนทหารเด็ก ของกรมหลวงนครราชสีมาฯ โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนประจำ สอนทั้งวิชาทั่วไปและวิชาทหาร กุหลาบได้เรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้ ๒ ปี แม่ก็รู้สึกสงสาร เพราะเห็นว่าลูกชายต้องอยู่เวรยามแบบทหาร และอยากให้กุหลาบได้เรียนวิชาทั่วไปมากกว่า ดังนั้นจึงเอาออกจากโรงเรียนทหาร ให้มาอยู่ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ โดยเริ่มต้นเรียนในชั้นมัธยม ๒ และได้เรียนเรื่อยมาจนจบชั้นมัธยม ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘

ชนิด สายประดิษฐ์ ได้เล่าไว้ในบันทึกที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารโลกหนังสือ (ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ : พฤศจิกายน ๒๕๒๑) มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ศึกษาที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และจบ ม. ๘ ที่โรงเรียนนี้ ได้เห็นชีวิตลูกผู้ดีและลูกชาวบ้านที่โรงเรียนนี้ รักการเขียนหนังสือมาตั้งแต่อยู่โรงเรียนนี้ เมื่ออยู่มัธยมชั้นสูง ได้ทำหนังสืออ่านกันในชั้นเรียน มี ม.จ. อากาศดำเกิง และเพื่อนคนอื่นอีกทำร่วมด้วย ครั้งหนึ่งหลวงสำเร็จวรรณกิจจับได้ขณะกำลังเข้าสอนในชั้นว่า นักเรียนกำลังอ่านอะไรกันอยู่ และได้ยึดเอาหนังสือไป รุ่งขึ้นได้เอามาคืนให้พร้อมกับให้เรื่องของหลวงสำเร็จฯ เอง…”

ในบันทึกของ พ.ญ. สุรภิณ ธนะโสภณ ที่นางจำรัส นิมาภาส ได้เล่าให้ฟัง ก็มีเหตุการณ์ตอนนี้กล่าวไว้เช่นกัน คือ

“ป๋าได้เริ่มหัดเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และได้ออกหนังสือชื่อดรุณสาร และศรีเทพ ร่วมกับเพื่อน เมื่อจบชั้นมัธยม ๘ จากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ป๋าก็ได้ออกทำงานโดยทำหนังสือพิมพ์กับเพื่อน และได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษตอนค่ำที่โรงเรียนสอนหนังสือไทยและอังกฤษของคุณแตงโม จันทวิมพ์ ชื่อโรงเรียนรวมการสอน และสำนักรวมการแปล ซึ่งคุณโกศล โกมลจันทร์เป็นผู้จัดการ…”

กำเนิดนาม “ศรีบูรพา”

เมื่อเริ่มอายุ ๑๗ คือในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ มีหลักฐานชั้นต้นที่เป็นลายมือของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ คือ บรรทึกการแต่งหนังสือ ซึ่งได้ลำดับชีวิตการเริ่มต้นทำงานประพันธ์หาเลี้ยงชีพในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕-๒๔๗๑ เป็นเวลารวม ๗ ปี รายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมด ได้นำมาแยกตีพิมพ์เป็นหลักฐานอยู่ในล้อมกรอบ

ข้อมูลจากหลักฐานในช่วงอายุ ๑๗-๒๓ ปี ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ทำให้เห็นถึงภาพชีวิตในช่วงนั้นว่าเต็มไปด้วยพลังมุ่งมั่นที่ต้องการจะเป็นนักเขียน นักประพันธ์ และต้องการฝึกฝนตนเองอย่างเข้มงวด เริ่มต้นตั้งแต่การออกหนังสือพิมพ์ในห้องเรียน การเขียนบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย เขียนเรื่องจากภาพยนตร์ กลอนเซียมซี กลอนลำตัด แปลหนังสือ และเริ่มชีวิตวัยหนุ่มในฐานะนักหนังสือพิมพ์อาชีพ ขณะเดียวกันก็ “ทดลองเรียนกฎหมาย” และฝึกฝน “การต่อยมวย” ไปพร้อมกันด้วย

ข้อมูลจากหลักฐาน บรรทึกการแต่งหนังสือ ชิ้นนี้ ทำให้ได้ทราบชีวิตวัยรุ่นของกุหลาบอย่างเป็นรูปธรรมหลายประการ เช่น

พ.ศ. ๒๔๖๕ อายุ ๑๗ ปี เริ่มฝึกหัดการแต่งหนังสือและทำหนังสือโดยใช้พิมพ์ดีด

พ.ศ. ๒๔๖๖ อายุ ๑๘ ปี เริ่มเขียนบทกวีและเขียนเรื่องจากภาพยนตร์ ส่งไปให้หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม มีข้อมูลเกี่ยวกับนามปากกาที่เคยใช้ในช่วงนั้น เช่น “ดาราลอย”, “ส.ป.ด. กุหลาบ”, “นายบำเรอ” และ “หมอต๋อง”

พ.ศ. ๒๔๖๖ อายุ ๑๘ ปี เริ่มต้นใช้นามปากกา “ศรีบูรพา” เป็นครั้งแรกโดยเขียนงานชื่อ แถลงการณ์ ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ทศวารบรรเทิง ไม่ทราบเป็นงานเขียนประเภทใด แต่นั่นก็หมายความว่าในช่วงนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้มาทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนรวมการสอน และเป็นนักประพันธ์อยู่ในสำนักรวมการแปลของนายแตงโม จันทวิมพ์ แล้ว และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปีนี้ คือได้พบกับนักเขียนรุ่นพี่ชื่อ บุญเติม โกมลจันทร์ (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โกศล”) บุญเติม หรือ โกศล ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการอยู่ที่สำนักทั้งสองนี้ มีชื่อเสียงเป็นนักแปลและนักเขียนกลอนลำตัดในรุ่นนั้น และเป็นผู้เริ่มใช้นามปากกาที่มีคำว่า ศรี นำหน้า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เด็กหนุ่มอายุ ๑๘ ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักประพันธ์จึงได้มาฝึกการประพันธ์อยู่ที่ “สำนัก” นี้ ด้วยความมุ่งหวังอยากเรียนรู้และหารายได้จากงานเขียนไปจุนเจือครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจน พร้อมกันนั้นก็ได้ชักชวนเพื่อนร่วมรุ่นอีกสองคน คือ ชะเอม อันตรเสน และ สนิท เจริญรัฐ ให้มาช่วยกันที่สำนักรวมการแปลด้วย

บุญเติม หรือ โกศล โกมลจันทร์ เจ้าสำนักแห่งตระกูล “ศรี” มีนามปากกาเริ่มต้นตระกูล “ศรี” ของตนเองว่า ศรีเงินยวง” ส่วนบรรดารุ่นน้องที่มาเข้าสำนัก เช่น ชะเอม อันตรเสน ได้นามปากกาว่า “ศรีเสนันตร์” สนิท เจริญรัฐ ได้นามปากกาว่า “ศรีสุรินทร์” และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้นามปากกาว่า “ศรีบูรพา”

พ.ศ. ๒๔๖๗ อายุ ๑๙ ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยม ๘ ถ้าใช้หลักฐานจาก บรรทึกฯ ที่ปรากฏ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ใช้นามจริงของตนเองเป็นครั้งแรกในการเขียนกลอนหก เรื่อง “ต้องแจวเรือจ้าง” พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนชื่อแถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ หนังสือพิมพ์โรงเรียนเล่มนี้ มีหลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันท์) ซึ่งเป็นครูวิชาภาษาไทยของเขาเป็นบรรณาธิการ ครูภาษาไทยคนนี้ได้สร้างความประทับใจและเป็นแบบอย่างที่ดีให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สืบต่อมาจนเมื่อเขาเขียนนวนิยายเรื่องแลไปข้างหน้า (พ.ศ. ๒๔๙๗, ๒๕๐๐) ตัวละครที่เป็นครูชื่อ “ขุนวิบูลย์วรรณวิทย์” แห่งโรงเรียนเทเวศร์สฤษดิ์นั้นก็ได้จำลองแบบมาจากครู “หลวงสำเร็จวรรณกิจ” แห่งโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์คนนี้ นอกจากนั้นงานเขียนกลอนหกเรื่อง “ต้องแจวเรือจ้าง” ที่ตีพิมพ์อยู่ใน แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ดังกล่าว ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้อีกเช่นกันว่า…”เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่เปี่ยมไปด้วยความรักในแรงงานของมนุษย์ที่หล่อเลี้ยงโลก” (๓)

อย่างไรก็ตามจากหลักฐานในปีเดียวกัน ขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ๘ โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ กุหลาบก็ได้เริ่มใช้นามปากกา “ศรีบูรพา” เขียนบทประพันธ์ขายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ผลงานเรื่อง คุณพี่มาแล้ว ที่ปรากฏอ้างไว้ใน บรรทึกฯ ไม่ได้ระบุว่าเป็นงานประเภทใด แต่มีวงเล็บไว้ว่า “สองเล่มจบ” ทำให้เข้าใจต่อไปว่า น่าจะเป็นงานเขียนประเภท “นวนิยาย” และถ้าหากเป็นงานเขียนประเภท “นวนิยาย” จริง ข้อสันนิษฐานก็มีต่อไปว่า น่าจะเป็นงานเขียนนวนิยายเรื่องแรกของ “ศรีบูรพา” ด้วย ซึ่งข้อสันนิษฐานเรื่องนี้ตรงกับข้ออ้างอิงในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของ ดร. ขวัญดี รักพงษ์ (มหาวิทยาลัยลอนดอน ๑๙๗๕) (๔) และวิทยานิพนธ์เรื่อง กุหลาบ สายประดิษฐ์ จากวรรณกรรมสู่หนังสือพิมพ์ ของ นุสรา อะมะลัสเสถียร (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๓๒) ที่ได้นำข้อความของ “ศรีบูรพา” จากคำนำนวนิยายเรื่อง คุณพี่มาแล้ว ของ “คณะรวมการแปล” มาอ้างอิงไว้ดังนี้

“…นี่เป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกของข้าพเจ้า ซึ่งได้รับเกียรติให้ตีพิมพ์และออกจำหน่าย ข้าพเจ้ายังคงเป็นนักเขียนหน้าใหม่สำหรับท่าน และด้วยหวั่นเกรงว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากพวกท่าน จึงเป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าต้องอธิบายเรื่องราว (เกี่ยวกับหนังสือ) และแนะนำตัวข้าพเจ้า”

ถ้าหากผลงานเรื่อง คุณพี่มาแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ คือนวนิยายเรื่องแรกของ “ศรีบูรพา” ดังหลักฐานปรากฏข้อมูลที่มีผู้เคยอ้างว่าเรื่อง คมสวาทบาดจิต คือนวนิยายเรื่องแรกของ “ศรีบูรพา” นั้นคงจะต้องตรวจสอบกันใหม่

พ.ศ. ๒๔๖๘ อายุ ๒๐ กุหลาบ เรียนจบชั้นมัธยม ๘ มีข้อมูลใน บรรทึกฯ ระบุไว้ว่า “เป็นหัวหน้าออกหนังสือรายทส ชื่อ สาส์นสหาย แต่ออกมาได้เจ็ดเล่มก็หมดกำลัง” นี่เป็นหลักฐานว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มชีวิตการเป็นบรรณาธิการครั้งแรกในทันทีที่เลิกนุ่งขาสั้น หนังสือรายทส (ราย ๑๐ วัน) ที่ชื่อ สาส์นสหาย นี้นายแตงโม จันทวิมพ์ เป็นผู้ออกทุนให้ ทั้งนี้เพื่อหารายได้ให้แก่ครูผู้สอนที่มาสอนเด็กในโรงเรียนรวมการสอน แต่ในที่สุดก็ต้องเลิกไปพร้อมกับสำนักทั้งสอง เพราะ “หมดกำลัง” อย่างที่ว่า ข้อมูลในหลักฐานต่อมา คือเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ กุหลาบได้เข้าทำงานที่กรมยุทธศึกษาฯ โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ โดยมีตำแหน่งเป็น “เจ้าพนักโรงวิทยาศาสตร์” ได้เงินเดือนเดือนละ ๓๐ บาท การที่กุหลาบไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการที่เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ สืบเนื่องมาจากเคยส่งเรื่องไปลงพิมพ์ที่นี่ จนเป็นที่พอใจของ พ.ท. พระพิสิษฐพจนาการ (ชื่น อินทรปาลิต) (๕) ผู้เป็นบรรณาธิการในขณะนั้น ซึ่งต้องการ “ผู้ช่วย” ที่มีความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไปทำงาน

พ.ศ. ๒๔๖๙ อายุ ๒๑ เริ่มเขียนงานประพันธ์อีกหลายชิ้น ได้ลงตีพิมพ์ที่เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ (รายเดือน), สมานมิตรบรรเทิง (รายปักษ์), มหาวิทยาลัย (รายเดือน), สวนอักษร (รายปักษ์), สาราเกษม (รายปักษ์), ปราโมทย์นคร (รายสัปดาห์), ดรุณเกษม (รายปักษ์), เฉลิมเชาว์ (รายเดือน), วิทยาจารย์ (รายเดือน) ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ได้ไปช่วยเพื่อนทำหนังสือพิมพ์ธงไทย รายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งออกในงานรื่นเริงของโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์

หนังสือพิมพ์ธงไทย มี เฉวียง เศวตะทัต เพื่อนร่วมรุ่นของกุหลาบเป็นหัวเรือใหญ่ เป็นหนังสือว่าด้วย “กลอนลำตัด” ออกอยู่ได้ ๒๐ เล่มก็เลิกไป ปัจจุบันถือเป็นหนังสือเก่า “หายาก” ประเภทหนึ่ง เพราะในรุ่นเก่าก่อนเมื่อประมาณ ๗๐-๘๐ ปี หนังสือ “กลอนลำตัด” ถือว่าจัดอยู่ในจำพวกขายได้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปจึงหมดความนิยม

ข้อสังเกต : “ศรีบูรพา” อาจลืมข้อมูลในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ไปเรื่องหนึ่ง คือมีผลงานของเขาเป็นเรื่องสั้นชื่อ อะไรกัน? พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือศัพท์ไทย ประจำเดือนมิถุนายน ๒๔๖๘

เรื่องสั้น “อะไรกัน?” ที่ใช้นามปากกา “ศรีบูรพา” ชิ้นนี้ บรรณาธิการโลกหนังสือ ในอดีตเคยเข้าใจว่าเป็น “เรื่องสั้นเรื่องแรก” ของ “ศรีบูรพา” เนื่องจากมีหลักฐานแน่นอนปรากฏอยู่ในหนังสือ ศัพท์ไทย ฉบับดังกล่าว แต่ข้อมูลจากบรรทึกการแต่งหนังสือ ทำให้เห็นว่าผู้ประพันธ์อาจลืมนึกถึงเรื่องสั้นชิ้นนี้ไป ดังนั้น จึงขอบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพิ่มเติม

ชีวิตวัยรุ่นและวัยหนุ่มของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในปี ๒๔๗๐ และ ๒๔๗๑ นั้น ขอให้ท่านอ่านเก็บรายละเอียดเอาจากสำนวนภาษาและลีลาที่ปรากฏอยู่ในบรรทึกการแต่งหนังสือ

การก่อเกิด “คณะสุภาพบุรุษ”

ช่วงรอยต่อระหว่างวัยรุ่นกับวัยหนุ่ม ขณะที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ อยู่ประมาณ ๒ ปีเศษนั้น ได้มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ “Young กุหลาบ” ตัดสินใจเลิกคิดที่จะเอาดีทางรับราชการและได้เบนชีวิตหันมาประกอบอาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์โดยอิสระเพียงอย่างเดียว ชนิด สายประดิษฐ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ในบันทึกดังกล่าว มีใจความตอนหนึ่งว่า

“จบการศึกษา ก็หัดเขียนหนังสือส่งไปให้ที่ต่าง ๆ อยู่ระยะหนึ่ง แล้วได้ทำงานหนังสือ เสนาศึกษาฯ ของโรงเรียนนายร้อย จนได้เงินเดือนเต็มขั้น ขึ้นอีกไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นนายทหาร ระหว่างทำงานอยู่ที่นี่ ก็ได้พบท่าทีวางเขื่องของนายทหารสมัยนั้นต่อผู้ทำงานที่เป็นพลเรือน

“ระหว่างเงินเดือนถูกกดเพราะไม่ได้เป็นนายทหาร คุณกุหลาบได้สมัครสอบเป็นผู้ช่วยล่ามที่กรมแผนที่ สอบได้ที่ ๑ แต่ถูกเรียกไปต่อรองเงินเดือนจากอัตราที่ประกาศไว้ โดยเจ้าหน้าที่กรมแผนที่อยากจะให้คนอื่นสอบได้ที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกของผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ หรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้ตำแหน่งนี้ เมื่อถูกต่อรองเป็นครั้งที่ ๒ คุณกุหลาบก็แน่ใจว่าเป็นการกีดกันและเล่นพรรคพวก ตั้งแต่นั้นก็ไม่คิดจะทำราชการอีก…”

บันทึกความทรงจำของ “ฮิวเมอริสต์” ว่าด้วย สุภาพบุรุษ ที่เขียนตอนแรกลงในนิตยสารไทยกรุง ฉบับปฐมฤกษ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ และต่อมาได้เขียนขยายความทรงจำว่าด้วย สุภาพบุรุษ ให้ยาวมากขึ้น โดยลงติดต่อกันเป็นตอนๆ ในนิตยสารลลนา ระยะใกล้เคียงกัน “ฮิวเมอริสต์” ได้ยกตัวอย่างด้วยอารมณ์ขันว่า เพราะกุหลาบมีปัญหากับทหารยามที่เฝ้าประตู เนื่องจากเป็นพลเรือน เวลาจะผ่านประตูเข้าไปทำงานในกรมทหารเขาต้องลงจากรถจักรยานก่อน ส่วนพวกพลทหารนายทหารไม่ต้องลง ขี่จักรยานผ่านเข้าไปได้เลย กุหลาบเห็นว่าไม่ยุติธรรม ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจ “เขียนใบลาออกจากหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการ” และได้ตรงไปหาครูอบในทันที

“ครูครับ ผมลาออกแล้ว”

ครูอบได้ฟังเหตุผลก็ตอบในทันทีเช่นเดียวกัน

“เอา ออกก็ออกกัน สมเหตุสมผลแล้ว แล้วจะทำอะไรยังไงกันต่อไป”

“เราออกหนังสือพิมพ์ของเราเองซีครู”

“เอาก็เอา มีโครงการยังไงว่าไปซี”

“เรื่องอยากออกหนังสือพิมพ์ของเรากันเองนี้ ผมก็คิดอยู่นานแล้ว เพราะมัวแต่ทำงานเป็นลูกจ้างของเขาอยู่ยังงี้ เมื่อไหร่จะก้าวหน้าไปในทางที่เราคิดจะไปให้ใหญ่กว่านี้ ผมก็หาทางจะทำของเรากันเอง ให้ผลประโยชน์ตกอยู่แก่พวกเรา เราพอจะรวมกันเป็นกลุ่มก้อนได้ พอจะสามารถรับงานหนังสือพิมพ์รายอะไรได้สักฉบับหนึ่ง พอจะมีผู้ออกทุนให้ยืมมาก่อนเพื่อเริ่มงานได้ขนาดออกรายปักษ์ ผมคิดอยู่นานแล้วว่าจะใช้คำว่า สุภาพบุรุษ เป็นชื่อหมู่คณะที่เราจะรวมกัน”

หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ได้ถือกำเนิดออกฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม ของนายวรกิจบรรหาร ออกจำหน่ายทุกวันที่ ๑ และ ๑๕ ของเดือน มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการและเจ้าของ “ห้องสมุดไทยหนุ่ม” เป็นเอเยนต์ “ห้องเกษมศรี หน้าวัดชนะสงคราม” เป็นสำนักงาน ค่าบำรุง ๑ ปี ๖ บาท ครึ่งปี ๓.๕๐ บาท (เมล์อากาศ และต่างประเทศเพิ่ม ๑ บาท) ราคาจำหน่ายขายปลีกเล่มละ ๓๐ สตางค์ เงินค่าบำรุงส่งล่วงหน้า

“สารบาน” ของหนังสือสุภาพบุรุษ ฉบับปฐมฤกษ์ จำนวน ๑๖๒ หน้า ประกอบด้วยเรื่องดังต่อไปนี้

ปรารมณ์พจน์คำฉันท์ (คณะสุภาพบุรุษ)

เชิญรู้จักกับเรา (บรรณาธิการ)

ปราบพยส (“ศรีบูรพา”)

ธาตุรัก (“แม่อนงค์”)

ธรรมบางข้อ (“แหลมทอง”)

เรื่องกินใจที่สุด (“แมวคราว”)

พูดกันฉันเพื่อน (บรรณาธิการ)

ม้าจริงๆ เป็นอย่างไร (“ฮิวเมอริสต์”)

น้ำตาลใกล้มด (“แก้วกาญจนา”)

ลีลาศาสต์ (สนิท เจริญรัฐ)

หมายเหตุเบ็ดเตล็ด (“อุทิศ”)

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นหมุดหมายสำคัญในหนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับปฐมฤกษ์ น่าจะอยู่ที่ข้อเขียนในลักษณะบทบรรณาธิการของตัวผู้เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการ ดังมีปรากฏอยู่ในเรื่อง “เชิญรู้จักกับเรา” และ “พูดกันฉันเพื่อน”

ข้อเขียนเรื่อง “เชิญรู้จักกับเรา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ประกาศหมุดหมายที่สำคัญไว้เป็นตัวอย่างให้แวดวงวรรณกรรมชั้นหลังได้ประจักษ์อย่างสำคัญ ก็คือทัศนะที่บอกว่า งานเขียนหนังสือเป็นงานที่มีเกียรติ และเป็นอาชีพได้

“เพื่อที่จะให้หนังสือสุภาพบุรุษ อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยเรื่องอันมีค่ายอดเยี่ยม จึงขอประกาศไว้ในที่นี้ว่า เราปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะรับซื่อเรื่องจากนักประพันธ์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเรื่องบันเทิงคดีและสารคดี…”

ทำไมเราจึงซื้อเรื่อง

สำหรับหนังสือพิมพ์ที่ออกเป็นรายปักษ์หรือรายเดือน ดูเหมือนยังไม่เคยมีฉบับใดได้นำประเพณีการซื้อเรื่องเข้ามาใช้ การซึ่งเราจะกระทำขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ก็เพราะเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะกระทำแล้ว… การประพันธ์ของชาวเราทุกวันนี้ เป็น เล่น เสียตั้ง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่จัดว่าเป็น งาน เห็นจะได้สัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ดอกกระมัง บัดนี้จึงควรเป็นเวลาที่เราจะช่วยกันเปลี่ยนโฉมหน้าการประพันธ์ให้หันจาก เล่น มาเป็น งาน…

สำหรับข้อเขียนของบรรณาธิการอีกชิ้นหนึ่ง “พูดกันฉันท์เพื่อน” กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “สุภาพบุรุษ” อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกเช่นเดียวกัน และนี่คือหมุดหมายสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าจะติดอยู่ในจิตวิญญาณของสามัญชนที่ชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ตลอดไปจนชั่วชีวิต

เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ ได้เขียน “พูดกันฉันท์เพื่อน” ว่าด้วยความหมายของคำว่า สุภาพบุรุษ อย่างชนิดที่เป็นเหมือน “คำมั่นสัญญา” บางอย่างของตัวเขาเอง ดังต่อไปนี้

…เรามีความเข้าใจหลายอย่างในคำว่า “สุภาพบุรุษ” แต่ความเข้าใจนั้น ๆ หาถูกแท้ทั้งหมดไม่ บางคนยกมือชี้ที่บุรุษแต่งกายโอ่โถง ภาคภูมิ แล้วเปล่งวาจาว่า “นั่นแลคือสุภาพบุรุษ” ความจริงเครื่องแต่งกายไม่ได้ช่วยให้คนเป็นสุภาพบุรุษที่มากน้อย เครื่องแต่งกายเป็นเพียง “เครื่องหมาย” ของสุภาพบุรุษเท่านั้น และ “เครื่องหมาย” เป็นของที่ทำเทียมหรือปลอมขึ้นได้ง่าย เพราะฉะนั้นผู้ที่ติด “เครื่องหมาย” ของสุภาพบุรุษ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นสุภาพบุรุษทุกคนไป

หนังสือเล่มหนึ่งแนะนำให้เรารู้จักสุภาพบุรุษของอังกฤษ โดยนัยดังต่อไปนี้

๑. ชอบการกีฬา.

๒. สุภาพเรียบร้อย.

๓. ถือตัว (คือไม่ยอมประพฤติชั่วง่าย).

๔. ไม่อึกทึกครึกโครม.

๕. ชอบอ่านหนังสือพิมพ์.

๖. มีนิสสัยซื่อสัตย์.

กฎกติกาของสุภาพบุรุษอังกฤษบางข้อไม่จำเป็นสำหรับสุภาพบุรุษไทยนัก แต่ถ้าเรามีกฎที่ดี และปฏิบัติตามได้มากๆ ก็ย่อมแน่ละ ที่ความเป็นสุภาพบุรุษของเราจะต้องเด่นขึ้น. ถึงอย่างไรก็ดี, เครื่องแต่งกายก็ไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์ของสุภาพบุรุษอังกฤษในข้อใดข้อหนึ่ง บางทีสุภาพบุรุษ เหมือนดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ข้างต้น.

ข้าพเจ้าค่อนข้างแน่ใจว่า ประเพณีได้บังคับให้สุภาพบุรุษของเรามีลักษณะต่างกับสุภาพบุรุษของชาติอื่นในบางประการ แต่จะต่างกันอย่างใดไม่ใช่ความมุ่งหมายที่ข้าพเจ้าตั้งใจเขียนในเวลานี้.

ชาวอังกฤษยังถือกฎที่พิสดารอยู่อีกอย่างหนึ่ง ที่ว่า “Three generations make a gentleman” เนื้อความดูจะกะเดียด ๆ มาข้าง “ผู้ดีแปดสาแหรก” ของเรา กฎอันนี้ชาวอังกฤษในยุคปัจจุบันดูเหมือนไม่ค่อยได้เอาใจใส่ พาลจะเป็นว่าเป็นกฎที่น็อนเซ็นส์เอาทีเดียว ถ้าคนเราจะเป็นสุภาพบุรุษได้ต่อเมื่อบรรพบุรุษต้องเป็นสุภาพบุรุษมาแล้วถึง ๓ ชั่วคน ก็ดูออกจะเป็นบาปอันหนักสำหรับสุภาพบุรุษที่ไม่มีบรรพบุรุษเป็นสุภาพบุรุษอยู่ครันๆ. จากกฎอันนี้, สุภาพบุรุษดูเหมือนจะมีรูปร่างหน้าตาใกล้เข้าไปทางขุนนางเป็นอันมาก เพราะต้องอาศัยบารมีของผู้อื่นช่วย และก็ในหมู่พวกขุนนางอาจมีคนชั่วรวมอยู่ด้วยได้ ฉะนั้นในหมู่สุภาพบุรุษก็เห็นจะต้องมีคนชั่วรวมอยู่ได้ด้วยอีกกะมัง? เป็นของน่าขันมาก, ถ้าสมัยนี้ยังมีคนนิยมนับถือในกฎที่ว่า Three generations make a gentleman’

ถ้าจะว่า “สุภาพบุรุษ” มีรูปร่างหน้าตาใกล้เข้าไปกับ “ผู้ดี” ดูจะไม่ค่อยมีข้อคัดค้าน แต่ต้องให้เป็น ผู้ดี ซึ่งคนในสมัยนี้เข้าใจกัน ถ้าเป็น “ผู้ดีเดิรตรอก” อย่างสมัย ๑๐ ปีก่อนลงไป สุภาพบุรุษของเราก็คงไม่มีโอกาสใกล้เข้าไปได้อีกตามเคย. แต่อย่างไรก็ตาม, คำว่า “สุภาพบุรุษ” ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีความหมายแรงกว่า “ผู้ดี” เพราะผู้ดี, ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า, เป็นแต่ทำตัวสุภาพอ่อนโยนอยู่ในกรอบของจรรยาเท่านั้น ส่วนสุภาพบุรุษ นอกจากจะต้องทำหน้าที่อย่างผู้ดี ยังมีหน้าที่จุกจิกอื่นๆ ที่จะต้องทำอยู่มาก.

หัวใจของ “ความเป็นสุภาพบุรุษ” อยู่ที่การเสียสละ เพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดของคุณความดีร้อยแปดอย่าง หากผู้ใดขาดภูมิธรรมข้อนี้ ผู้นั้นยังไม่เป็นสุภาพบุรุษโดยครบครัน. ถ้าจะอธิบายความหมายของสุภาพบุรุษให้กะชับเข้า ก็จำต้องยืมถ้วยคำที่ว่า “ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น”, ซึ่งข้าพเจ้าได้แต่งไว้ในหนังสือเรื่องหนึ่งมาใช้…(๖)

ประโยคที่ว่า “ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น” ที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยกข้อความมาไว้ในเครื่องหมายคำพูดนั้น เป็นข้อความที่มาจากนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง เล่นกับไฟ ที่ “ศรีบูรพา” ได้เขียนลงตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ถือเป็นประโยคที่ยังสดๆ ร้อนๆ สำหรับคนหนุ่มอายุ ๒๓ ที่ได้ประกาศ “อุดมคติ” เอาไว้อย่างเป็นรูปธรรม โดยแทรกอยู่ในนิยายรักโรแมนติกเรื่องเล่นกับไฟ ของเขาเอง และได้นำมาประกาศคล้ายเป็นเข็มมุ่งของหมู่คณะว่า จะรักษาความเป็นสุภาพบุรุษเอาไว้ให้ถึงที่สุด เพราะ สุภาพบุรุษ นั้นหมายถึง “ผู้เกิดมาสำหรับคนอื่น” นี่คือแก่นหลักของหมู่คณะที่เรียกตัวเองว่า สุภาพบุรุษ ที่ได้แสดงปณิธานว่า ในภายภาคหน้า แม้หมู่คณะนี้จะกระจัดกระจายกันไป หรือยังรวมกลุ่มกันทำงานในฐานะนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ แต่ความมุ่งมั่นของบรรณาธิการ-กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ว่าจะ “เกิดมาสำหรับคนอื่น” นั้น คงยังยืนยงอยู่ต่อมาจนกลายเป็นเบ้าหลอมสำคัญของตัวเขาเองจวบจนสิ้นชีวิต (๗)

คณะสุภาพบุรุษที่ก่อเกิดมาพร้อมกับหนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ นั้น ประกอบด้วยคนหนุ่มในวัยไล่เลี่ยกัน ที่เห็นว่าอาวุโสมากกว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็มีอยู่บ้าง เช่น ขุนจงจัดนิสัย ชิต บุรทัต สถิต เสมานิล หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา และ อบ ไชยวสุ แต่ทว่าทั้งหมดก็ล้วนเป็น “เกลอ” กัน มีชีวิตผูกพันกันด้วยผลงานทางการประพันธ์

ความทรงจำของ “ร. วุธาทิตย์” (นามปากกาของ จรัล วุธาทิตย์) ที่เขียนเล่าถึง คณะสุภาพบุรุษ โดยพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือชมรมนักเขียน ของ ประกาศ วัชราภรณ์ (บำรุงสาส์น : ๒๔๐๙)

ล้อมกรอบ

บันทึกประจำวัน

กุหลาบ สายประดิษฐ์

วันอาทิตย์ที่ ๓ กันยายน ๙๓

บำรุงสุขภาพ, สมาธิจิตต์, กำลังงาน

– ฝึกสมาธิจิตต์ ระวังการบริโภค ออกกำลัง สำรวมความประพฤติ สร้างกำลังประสาทความคิด

– ความสำรวมและความสม่ำเสมอ เคร่งครัดในการปฏิบัติงานตามกำหนดการ มีกำหนดการทำงาน และรักษากำหนดการ ทำงานพอควรแก่กำลัง

– กำหนดการตื่นนอน และลงมือทำงาน ๖. น. ทำงานด้วยสมาธิ ก่อนรับอาหารเช้า ๒-๓ ชั่วโมง

– ศึกษาและภาวนาธรรม เพื่อมีจิตต์ใจเปนอิสระ สงบเย็น เบาสบาย

– วันนี้มีเพียงครั้งเดียว และจะไม่กลับมาอีก อย่าปล่อยให้เวลาล่วงไปโดยไร้ประโยชน์

Self-denial, Self-negation

– หนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหว และสงบเย็นต่อเหตุการณ์และถ้วยคำที่มีธรรมชาติผันแปร ไม่เป็นที่สบอารมณ์ แล้วกลับสบอารมณ์ เป็นดังนี้อยู่ไม่ขาด

วันจันทร์ ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์๒๔๙๔

ชีวิตของนักศึกษาและนักเขียนที่มีระเบียบ และวิธีการทำงานอันก้าวหน้k

กฎก้าวหน้าที่ถือเคร่งครัด

๑. ลงมือทำงาน ๖ น. ด้วยสมาธิจิตต์อย่างเคร่งครัด และลงมือทำงานรอบสองอย่างเคร่งเวลา ๑๐ น.

๒. ภาวนาก่อนนอนพักกลางวัน

๓. ภาวนาและกำหนดการก่อนเข้านอน

๔. ฝึกฝนภาษาอังกฤษ เปนกิจวัตร

๕. อ่านหนังสืออย่างมีระเบียบ และให้ได้ผลมากที่สุด บันทึกข้อความรู้ และข้อความคิดอย่างมีระเบียบ

๖. ศึกษา และปฏิบัติพุทธธรรม, ศึกษาคำสอนของสาสดาต่าง ๆ

๗. ศึกษาและฝึกฝนสมาธิจิตต์

๘. จิตต์ที่เข้มแข็งและอดทนในการปฏิบัติงานเพื่อมนุษย์ธรรมและสันติสุข

ข้อบังคับเคร่ง

๑. สละการนอนตอนใกล้รุ่ง

๒. สละการดื่ม

๓. สำรวมในการสนทนา, ด้วยเมตตา ด้วยหนักแน่นในหลักการ ด้วยจิตต์ใจสงบเย็น และอาจหาญ

๔. อ่านหนังสือข่าวอย่างมีระเบียบ

หมายเหตุ : บันทึกประจำวันที่ปรากฏด้วยลายมือเหล่านี้ ชนิด สายประดิษฐ์ ได้ถ่ายสำเนามอบให้แสดงในงานนิทรรศการ “นักเขียนเก่ายังไม่ตาย ๙๖ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๗๒ ปี คณะสุภาพบุรุษ” การตีพิมพ์ ณ ที่นี้ ได้คงสะกดการันต์และสำนวนภาษาไว้ตามต้นฉบับ

ข้อเขียนเรื่อง “ชมรมสุภาพบุรุษ” ของ วิลาศ มณีวัต ที่อยู่ในหนังสือโฉมหน้านักประพันธ์ (คลังวิทยา : ๒๕๐๒) ตลอดจนข้อเขียนอย่างเช่น “เมื่อพรหมลิขิตให้ข้าพเจ้าเป็นนักประพันธ์” ของ ยศ วัชรเสถียร ที่พิมพ์ครั้งแรกอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้นมนุษย์เดินดิน ของเขาเอง (โอเดียนสโตร์ : ๒๕๐๓) หนังสือเหล่านี้ถือเป็นงานเขียนในยุคมืดของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยุคเผด็จการ “ถนอม” “ประภาส” ที่สามารถต่อยอดให้นักอ่านในชั้นหลัง รุ่น พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๑๐ สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวเกี่ยวกับคำว่า คณะสุภาพบุรุษ และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเห็นว่าหนังสือบางเล่ม อย่างเช่น ๑ ศตวรรษหนังสือพิมพ์ไทย ของ เสลา เลขะรุจิ (บำรุงสาส์น : ๒๕๑๐) กลับไม่ให้ความสำคัญแก่ คณะสุภาพบุรุษ และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ แม้แต่น้อย

ข้อเขียนที่เป็นความทรงจำของ “ร. วุธาฑิตย์” หนึ่งในนักเขียนคณะสุภาพบุรุษ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือของ ประกาศ วัชราภรณ์ เมื่อ ๔ ทศวรรษก่อนถือเป็นเรื่องต่อยอดที่สำคัญ เพราะได้ให้รายละเอียดเกียวกับคณะสุภาพบุรุษไว้มากที่สุด พร้อมทั้งได้ตีพิมพ์รูปถ่ายที่ถือว่าคลาสสิกอย่างยิ่ง ทำให้เกิดภาพคุ้นตาเป็นครั้งแรกว่า คณะสุภาพบุรุษนั้นเคยมีตัวตน (นัดถ่ายเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๓ หน้าบันไดศาลสถิตยุติธรรม) โดยให้รายละเอียดว่าคณะสุภาพบุรุษนั้น ประกอบไปด้วย กวี นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ทั้งหมด ๑๘ คน

คณะผู้ก่อการมีทั้งหมด ๑๐ คน คือ

๑. กุหลาบ สายประดิษฐ์ (“ศรีบูรพา”)

๒. อบ ไชยวสุ (“ฮิวเมอริสต์”)

๓. มาลัย ชูพินิจ (“แม่อนงค์”)

๔. ระคน เภกะนันท์ (นามปากกา “กู๊ดบอย”)

๕. อุเทน พูลโภคา (นามปากกา “ช่อมาลี”)

๖. โชติ แพร่พันธุ์ (นามปากกา “ยาคอบ”) (๘)

๗. บุญทอง เลขะกุล (นามปากกา “วรมิตร”)

๘. สนิท เจริญรัฐ (นามปากกา “ศรีสุรินทร์”)

๙. สุดใจ พฤทธิสาลิกร (นามปากกา “บุศราคำ”)

๑๐. จรัญ วุธาฑิตย์ (นามปากกา “ร. วุธาฑิตย์”)

คณะผู้มาร่วมก่อการ มีทั้งหมด ๘ คน

๑. ขุนจงจัดนิสัย (ไม่ทราบนามปากกา)

๒. ชิต บุรทัต (นามปากกา “แมวคราว”)

๓. หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา (นามปากกา “คุณฉิม”)

๔. เสนอ บุณยเกียรติ (นามปากกา “แสงบุหลัน”)

๕. ฉุน ประภาวิวัฒน (นามปากกา “นวนาค”)

๖. สถิต เสมานิล (นามปากกา “นายอยู่”)

๗. โพยม โรจนวิภาต (นามปากกา “อ.ก. รุ่งแสง”)

๘. พัฒน์ เนตรรังษี (นามปากกา “พ. เนตรรังษี”)

ในบรรดาคณะสุภาพบุรุษทั้ง ๑๘ คนนี้ มีเพียงบางคนเท่านั้นที่มีข้อมูลเชิงประวัติให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ แต่ส่วนใหญ่แล้วขาดข้อมูล ไม่รู้แม้แต่วัน เดือน ปีเกิดปีตายด้วยซ้ำ (หนังสือเรื่องสุภาพบุรุษนักประพันธ์ ของ ประกาศ วัชราภรณ์ ที่รวบรวมขึ้นใหม่ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ไม่ได้ช่วยให้เห็นภาพในแง่ข้อมูลเพิ่มเติมมากนัก) นอกจากนี้ที่บอกว่า คณะสุภาพบุรุษมี ๑๘ คน ถ้าหากอ่านเพิ่มเติมใน ความทรงจำของสุภาพบุรุษ ที่ “ฮิวเมอริสต์” เขียน ก็จะพบว่ามีเพื่อนนักเขียนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่ครั้งสมัยเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ อีกสองคน ที่อยู่ใน “ก๊วน”นี้ตั้งแต่วันแรกที่มาชุมนุม “ดื่ม” กันที่ “ห้องเกษมศรี” คือ ทองอิน บุณยเสนา (นามปากกา “เวทางค์” และ ร.ท. ขจร สหัสรจินดา (นามปากกา “พันเพ็ชร”) ทั้งสองคนเป็นนักเขียนมือดีทั้งในแง่เรื่องสั้นและนวนิยายที่ถูกลืมไปแล้ว  นอกจากนั้นคณะสุภาพบุรุษยังน่าจะมีเพื่อนนักเขียนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ชื่อ เฉวียง เศวตะทัต (นามปากกา “วงศ์เฉวียง”) รวมอยู่ด้วย  เพราะทั้งสองคนเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ครั้งทำหนังสือพิมพ์ธงไทย ที่ว่าด้วย “กลอนลำตัด” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘

หนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อ ๗๒ ปีก่อน มียอดพิมพ์ครั้งแรก ๒,๐๐๐ เล่ม หนังสือได้รับความนับถือในทันที เพราะจำหน่ายได้หมดในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ สุภาพบุรุษ ฉบับที่ ๒ เพิ่มยอดพิมพ์เป็น ๒,๓๐๐ เล่ม และฉบับที่ ๓ เพิ่มยอดพิมพ์เป็น ๒,๕๐๐ เล่ม  มีสมาชิกส่งเงิน “ค่าบำรุงหนังสือ” เข้ามาเป็นประจำประมาณ ๕๐๐ คน  ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ประชากรประเทศสยามยังมีไม่ถึง ๑๕ ล้านคน นับว่าน่าอัศจรรย์เอาการที่หนังสือในลักษณะเรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย บทความ ตอบปัญหา ฯลฯ ซึ่งจัดเป็น Literary Magazine มากกว่าเป็นลักษณะ “ข่าวสาร การบ้าน การเมือง” หรือ Current Newspaper  แม้ขณะนั้นจะเรียกตัวเองว่าเป็นหนังสือ, หนังสือพิมพ์ แต่ก็เพราะในยุค พ.ศ. ๒๔๗๒ ยังไม่มีคำว่า “นิตยสาร” เกิดขึ้นในภาษาไทย  การจัดทำหนังสือทั่วไปทุกลักษณะ ไม่ว่าจะเป็น “ราย” อะไรก็ตาม จะเรียกเหมือนกันหมดว่าเป็น “หนังสือ” หรือไม่ก็ “หนังสือพิมพ์” แม้รัชกาลที่ ๖ จะทรงบัญญัติคำว่า “วารสาร” ขึ้นใช้กับทวีปัญญา รายเดือน ในความหมายที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Periodical แล้วก็ตาม  แต่ส่วนใหญ่แล้ว ไม่ว่าใครทำหนังสือแบบไหนก็ตาม มักจะเรียกรวมกันว่า “ทำหนังสือพิมพ์” ไปทั้งหมด  ชี้ให้เห็นว่าบ่อเกิดของการเป็นนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ แต่ดั้งเดิมนั้น ถือเป็นภาวะเดียวกัน ไม่แยกกันเหมือนอย่างปัจจุบัน

ตามหลักฐานชั้นต้นที่พบในงานนิทรรศการ “นักเขียนเก่าไม่มีวันตาย” เพื่อแสดงคารวะนักเขียน นักประพันธ์ คณะสุภาพบุรุษ นั้น ได้มีการนำหนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ ที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการและเจ้าของมาแสดงไว้ทั้งหมดจำนวน ๒๓ เล่ม  ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๒ ก็ว่าได้ที่มีการนำหลักฐานชั้นต้นว่าด้วยหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ มาแสดงไว้มากที่สุด  (ก่อนหน้านี้ กองบรรณาธิการโลกหนังสือ เคยนำมาแสดงไว้ครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย)  จากข้อมูลเท่าที่มี หลักฐานชั้นต้นของหนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ ๒๓ เล่ม ทำให้ปะติดปะต่อได้ว่า หนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ ที่ถือเป็นบ่อเกิดของคณะสุภาพบุรุษ เมื่อ ๗๒ ปีก่อนนี้ ได้มีการจัดทำกันทั้งหมด ๓๗ เล่ม โดยมีขนาดรูปเล่มแบบ Pocket Magazine ตลอดทั้งปี พ.ศ. ๒๔๗๒ อยู่ ๒๔ เล่ม  คือตั้งแต่ฉบับที่ ๑-๒๔ ราคาจำหน่าย ๓๐ สตางค์  ครั้นขึ้นปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ได้ขยายรูปเล่มให้ใหญ่ขึ้น (ขนาดใกล้เคียงกับโลกหนังสือ ) คือตั้งแต่ฉบับที่ ๒๕-๓๗ และได้เพิ่มราคาจำหน่ายเป็น ๔๐ สตางค์

จากหลักฐานนี้จึงน่าจะชัดเจนว่าหนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ ได้จัดทำกันทั้งหมด ๓๗ เล่ม  ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ และฉบับสุดท้าย คือปีที่ ๒ เล่มที่ ๓๗ ระบุเวลาไว้คือวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ศิลปินผู้วาดปกของสุภาพบุรุษ รายปักษ์ มักชอบวาดรูป “สุภาพสตรี” ขึ้นปกแทบทุกเล่ม และบางเล่มก็จะวาดเป็นรูปผู้หญิงกับผู้ชายอยู่ด้วยกัน  เริ่มต้นจากผู้ใช้นามว่า “ธัญญา” แห่งสยามศิลป์ สลับกับ “เฉลิมวุฒิ” (นามปากกา เฉลิม วุฒิโฆษิต) และ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ เล่มสุดท้ายเป็นภาพปกที่วาดโดย อ.ก. รุ่งแสง (ทำให้ทราบว่า โพยม โรจนวิภาต ผู้ใช้นามปากกา “งามพิศ” เวลาเขียนบทกลอน และ “อ.ก. รุ่งแสง” เวลาเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายนั้น ก็เป็นหนึ่งในบรรดานักประพันธ์ที่ชอบวาดรูปในสมัยนั้น)

หนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับสุดท้าย คือปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓๗ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้ยุติการจัดทำลงไปโดยไม่มีหลักฐานการแถลงอยู่ในบทบรรณาธิการแต่ประการใด  บางทีอาจจะเป็นเหตุผลเหมือนอย่างที่ สุภา ศิริมานนท์ ได้เคยกล่าวไว้

“การแต่งหนังสือเป็นอย่างเดียว ไม่มีความรู้ไม่มีความสันทัดในทางบริหาร ถึงจะจำหน่ายได้ดี นิตยสารนี้ก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้ (โลกหนังสือ : ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๑)

แต่ถ้าพิจารณาอีกประเด็นหนึ่งจากข้อเขียนความทรงจำของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานนี้  กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนความทรงจำของคนในช่วงนั้นไว้อย่างน่าสนใจว่า

ฉันมีโชคชะตาของฉันที่จะดำเนินต่อไปด้วยความดำริริเริ่มของฉันเอง  ฉันต้องการจะทดลองความคิดและความสามารถของฉัน จากความฝึกฝนที่ฉันได้รับมา ๔-๕ ปี  ดังนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ฉันจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกจัดตั้งหนังสือพิมพ์รายปักษ์ สุภาพบุรุษ ขึ้น โดยได้รับความอุดหนุนจากนายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา เจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันไทยหนุ่ม ซึ่งในเวลานั้นเปนหนังสือพิมพ์รายวันที่มีวิธีการอันก้าวหน้ากว่าหนังสือพิมพ์ใด ๆ ในสมัยเดียวกัน

กิจการของเราได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม ชื่อเสียงของคณะเรา สุภาพบุรุษ แผ่กว้างออกไปจนกระทั่งราวต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง ซึ่งเปนหนังสือพิมพ์ผู้น้องของหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ (คือเป็นหนังสือพิมพ์ร่วมเจ้าของเดียวกัน) ของบริษัทสยามฟรีเปรส ประสพความเสื่อมโทรม ขาดความนิยม และจำนวนหนังสือที่พิมพ์จำหน่ายได้ลดลงเปนลำดับ ทางกองอำนวยการจึงได้ประชุมปรึกสาหาทางแก้ไข  นายชะอุ่ม กมลยะบุตร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส และในเวลานั้นเปน “พี่เบิ้ม” อยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ได้เสนอต่อกองอำนวยการว่า ถ้าจัดการให้ได้ตัวฉันมาเปนบรรณาธิการ ก็คงปรับปรุงหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง ให้ขึ้นสู่ความนิยมได้ ด้วยได้เห็นความสำเร็จของฉันในการจัดตั้งหนังสือพิมพ์รายปักษ์ สุภาพบุรุษ มาแล้ว ทางกองอำนวยการของสำนักนั้น ตกลงรับข้อเสนอของนายชะอุ่ม และได้ให้คนมาติดต่อ บอกเชินฉันเปนบรรณาธิการ

ว่าตามจริง ในเวลานั้นฉันก็กำลังเพลิดเพลินในกิจการงานหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ของฉันอยู่ไม่น้อย  เพราะประการหนึ่ง งานของเรากำลังเจรินเปนปึกแผ่น  ประการที่สอง เรามีเวลาเป็นอิสระแก่ตัว ที่จะเชื้อเชินมิตรสหายนักเขียนของเรามาร่วมชุมนุมสนทนาเลี้ยงดูรื่นเริงกันได้ทุกเวลาเย็น นะที่สำนักงานของเรา หรือนะที่สรรพานิช หรือนะที่ใดที่หนึ่งตามแต่เราจะพอใจ  เรามีรายได้จากกิจกรรมงานของเราเพียงพอที่จะจับจ่ายเลี้ยงดูกันได้ โดยไม่ต้องระมัดระวังในความสิ้นเปลือง  เรามีเสรีเต็มเปี่ยม เพราะว่ารายได้เหล่านั้นมันเปนของเรา

รายได้ทางหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ของฉันนั้น สูงกว่ารายได้ในตำแหน่งบรรณาธิการ บางกอกการเมือง สักสองสามเท่า  แต่เมื่อฉันได้คำเชิน ใจฉันก็ไหวกลิ่นหนังสือพิมพ์ข่าวแตะจมูกและความรู้สึกซาบซ่านสั่นสเทือน  ฉันใช้เวลา ๕ ปีของเยาวมานพ ฝึกฝนและหาความชำนาญอยู่ในโลกหนังสือแม็กกาซีนและนวนิยาย  ความกระหายคั่นต่อไปของฉันก็มีอยู่ว่า ทำไฉนฉันจะได้ผ่านอาณาจักรหนังสือพิมพ์ข่าวอย่างจริงจังสักครั้งหนึ่ง  ฉันต้องการรู้รสชีวิต และต้องการผเชินภัย ถ้าหากมีภัยอยู่จริงในอาณาจักรนั้น

เมื่อฉันมีความเอนเอียงในใจที่จะไปสู่อาณาจักรใหม่ ฉันก็ปรึกสาหารือกันกับพรรคพวก และจัดแจงชีวิตของเราให้สำเร็จผลไปในทางนั้น  หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ นั้น เปนหน่อเนื้อเชื้อไขของเราเอง จะเปรียบก็เหมือนเปนเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของเรา พวกเรา  ธุระสำคัญของเราจึงอยู่ที่จะต้องจัดแจงให้กิจการน่อเนื้อเชื้อไข ได้ดำรงอยู่และได้ดำเนินต่อไปโดยราบรื่น…

(กุหลาบ สายประดิษฐ์ : บทบาทอันหนึ่งในชีวิตการหนังสือพิมพ์ของฉัน : อ้างใน “สิงห์  สนามหลวงสนทนา” เนชั่นสุดสัปดาห์ : ๑๖-๒๒ เมษายน ๒๕๔๔)

หลังจากเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตำนานแห่งคณะสุภาพบุรุษ ยังคงมีสืบต่อมา แต่ทว่ามิได้เป็นไปในลักษณะของการจัดทำ Literary Magazine อีกต่อไป  การยุติลงของ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ อาจมีสาเหตุมาจาก “การบริหารจัดการ” (เช่นเก็บเงินจากสายส่งไม่ได้) หรืออาจมีสาเหตุมาจากการ “อิ่มตัว” ของบรรณาธิการเองก็เป็นได้ ดังที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เอ่ยความในใจบอกว่า “ฉันมีความเอนเอียงในใจที่จะไปสู่อาณาจักรใหม่… ความกระหายคั่นต่อไปของฉันก็มีอยู่ว่า ทำไฉนฉันจะได้ผ่านอาณาจักรแม็กกาซีนและนวนิยายไปสู่อาณาจักรหนังสือพิมพ์ข่าวอย่างจริงจัง…”

คำว่า หนังสือพิมพ์ข่าว คือคำตอบที่แจ่มชัดในตัวของมันเอง

บนเส้นทางหนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์รายวัน บางกอกการเมือง ซึ่งนายหลุย คีรีวัต เป็นเจ้าของได้เริ่มออกตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๖๖) มีพระสันทัดอักษรสารเป็นบรรณาธิการ  ภายหลังมีปัญหาทางสุขภาพจึงได้ให้พระวินัยสุนทรการรักษาการแทน  แต่ความนิยมหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้เริ่มลดลง ดังนั้นจึงได้ติดต่อให้ กุหลาบ  สายประดิษฐ์ มาเป็นบรรณาธิการแทน เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๗๓ และได้มีการปรับปรุงจัดตั้งกองบรรณาธิการใหม่ โดยมี สนิท เจริญรัฐ, เฉวียง เศวตะทัต, ชะเอม อันตรเสน จากคณะสุภาพบุรุษมาช่วยงาน  ปรับเปลี่ยนรูปแบบแปลกใหม่เรียกร้องความสนใจ เช่น พิมพ์สีตามวัน หรือริเริ่มจัดทำฉบับพิเศษ จนผู้อ่านเรียกขานกันว่า “บางกอกการเมืองยุคใหม่”  ทำยอดจำหน่ายสูงมาก จนเมื่อเกิดปัญหาตีพิมพ์ข่าวพระยาสมบัติบริหารเจ้ากรมมหาดเล็กหกล้มต่อหน้าพระที่นั่ง  ข่าวนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ตกเป็นข่าว ดังนั้นจึงหาทางบีบมาทางเจ้าของทุน  กุหลาบ สายประดิษฐ์ เห็นว่าไม่ยุติธรรมจึงขอลาออกทั้งคณะ หลังจากทำมาได้เพียง ๓ เดือนเท่านั้น  เรื่องนี้กลายเป็นข่าวเกรียวกราวในวงการหนังสือพิมพ์และผู้อ่านระยะนั้น

ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๓ นั้นเอง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับการชักชวนอีกครั้งจากนายเอกโป้ย (เอก) วีสกุล เป็นนายทุนออกหนังสือพิมพ์รายวันไทยใหม่ ในนามของบริษัทไทยใหม่จำกัด มีนายเอก วีสกุล และนายเต็ก โกเมศ เป็นผู้ถือหุ้น และมี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ เปิดสำนักงานที่ตรอกกัปตันบุช สี่พระยา

คณะผู้จัดทำเป็นกลุ่มสุภาพบุรุษอีกเช่นเคย โดยกุหลาบได้ตั้งคำขวัญว่า “ตั้งต้นชีวิตใหม่ โดยอ่านไทยใหม่”  ถือเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่ก้าวหน้าโดดเด่นอีกฉบับหนึ่งในยุคนั้น  นอกจากจะเสนอข่าวและบทความเป็นที่นิยมของผู้อ่านแล้ว กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังได้สนับสนุนให้เปิดด้านบันเทิงคดีขึ้นด้วย โดยให้จัดทำออกเป็นไทยใหม่วันอาทิตย์ มอบให้ มาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ดูแล และออกหนังสือพิมพ์ที่เน้นไปทางด้านบันเทิงคดีโดยตรงอีกฉบับหนึ่ง ในชื่อหนังสือพิมพ์สุริยา โดยให้ โชติ แพร่พันธุ์ เป็นบรรณาธิการ และ สันต์ เทวรักษ์ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ  หนังสือพิมพ์สุริยา เปิดฉากเรียกความฮือฮาด้วยเรื่องยอดขุนพล ของ “ยาขอบ” อันถือเป็นตอนเริ่มต้นของนวนิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ในเวลาต่อมาที่หนังสือพิมพ์ ประชาชาติรายวัน

หนึ่งปีผ่านไป กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ใช้นโยบายให้ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่บรรณาธิการกันคนละปี  ขึ้นปีที่ ๒ สนิท เจริญรัฐ ได้เป็นบรรณาธิการ และได้นำเสนอบทความทางการเมืองเรื่องว่า “ชีวิตของประเทศ” โดย “ศรทอง” (นามปากกาของพระยาศราภัยพิพัฒ) เนื้อหาเป็นทำนองเรียกร้องให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบรัฐสภา ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายของรัฐบาลกษัตริย์อย่างมาก

แต่ครั้นได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้  หลวงวิจิตรวาทการก็ได้เข้ามาถือหุ้น และเบี่ยงเบนนโยบายไม่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในที่สุด กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ลาออกทั้งคณะ จากนั้นก็มาร่วมทำหนังสือพิมพ์ ผู้นำรายสัปดาห์ โดยมีนายเทียน เหลียวรักวงศ์ เจ้าของโรงพิมพ์สยามพานิชการ จำกัด เป็นผู้ออกทุน  มีนายทองอิน บุณยเสนา (เวทางค์) เป็นบรรณาธิการ  เริ่มออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕  ต่อจากนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เข้าร่วมประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ได้เขียนบทความทางการเมืองลงตีพิมพ์หลายชิ้น จนถึงเรื่อง “มนุษยภาพ” ซึ่งเขียนต่อจากที่เคยได้ลงในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่   บทความเรื่องนี้เป็นการจี้จุดอ่อนของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และกลายเป็นบทความที่มีความสำคัญที่สุดในวงการหนังสือพิมพ์ไทยชิ้นหนึ่ง แต่แล้วกลับส่งผลให้หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ถูกปิด และพระยาอุปการศิลปเศรษฐ ผู้เป็นบรรณาธิการ ถูกถอนใบอนุญาต  คำว่า “แท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่” ก็น่าจะมีที่มาจากกรณีนี้  ครั้นปิดได้ ๙ วันจึงได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการต่อไป โดยเปลี่ยนบรรณาธิการเป็นนายเจริญ วิศิษฏศรี (๙)

ด้วยเหตุผลที่ว่ามีการโจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างกว้างขวาง และประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานต่อระบอบประชาธิปไตย หลังจากที่สยามประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดย “คณะราษฎร” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕  พลตรี พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งพระอิสริยยศในขณะนั้นเป็นหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ได้ตกลงพระทัยออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน โดยมอบให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ  ฉบับปฐมฤกษ์ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน กำเนิดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕  มีคำขวัญประจำหนังสือพิมพ์ว่า “บำเพ็ญกรณีย์ ไมตรีจิตต์ วิทยาคม อุดมสันติสุข”

กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รวบรวมเพื่อนพ้องในคณะสุภาพบุรุษที่เคยร่วมงานกันมาแต่เก่าก่อนกลับมาอีกครั้ง ได้แก่ มาลัย ชูพินิจ, สนิท เจริญรัฐ, เฉวียง เศวตะทัต, โชติ แพร่พันธุ์ ฯลฯ  โดยมาช่วยกันจัดทำหนังสือพิมพ์รายวันฉบับนี้  ขณะนั้นทุกคนต่างล้วนเป็นนักเขียนนักประพันธ์ที่เริ่มมีชื่อเสียงแล้ว  ดังนั้นจึงย่อมสร้างความนิยมให้แก่ผู้อ่านเป็นอย่างดี เพราะมีประสบการณ์อยู่พร้อมมูล และมีวิธีการเขียนอย่างมีชีวิตชีวา  นอกเหนือจากบทนำ บทความ คอลัมน์ และความรู้ที่มุ่งสร้างความเข้าใจเรื่องระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังพร้อมที่จะให้ความบันเทิงด้วยงานวรรณกรรม อาทิ นวนิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ของ “ยาขอบ” และข้างหลังภาพ ของ “ศรีบูรพา” เป็นต้น

หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ รายวัน ได้ประกาศความมีศักดิ์ศรีที่จะพัฒนาหนังสือพิมพ์ไปสู่ยุคใหม่ โดยได้ปวารณาตัวว่า ประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม คือ เข็มทิศของหนังสือพิมพ์ และมีจุดยืนเคียงข้างประชาธิปไตย  ผลที่ได้รับคือถูกสั่งปิดถึงสองครั้ง ด้วยบทความที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองในยุคนั้นอย่างตรงไปตรงมา (๑๐)

พ.ศ. ๒๔๗๗ อยู่ในช่วงที่หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ รายวัน ได้รับความนิยมนำหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ  กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ละงานให้เพื่อนๆ ดูแลแทน และได้อุปสมบทที่วัดเบญจมบพิตรฯ อยู่หนึ่งพรรษา

พ.ศ.๒๔๗๘ แต่งงานกับ ชนิด ปริญชาญกล (อาชีพครูและแปลหนังสือ ใช้นามปากกาว่า “จูเลียต”) งานแต่งงานจัดขึ้นที่วังถนนเพลินจิต มี ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นเจ้าภาพ  พร้อมทั้งได้ประทานที่ดินในซอยพระนางให้ปลูกเรือนหอ  กุหลาบและชนิดมีบุตรด้วยกันสองคน  คือ แพทย์หญิงสุรภิณ ธนะโสภณ และนายสุรพันธ์ สายประดิษฐ์

พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นช่วงที่หลวงพิบูลสงครามมีบทบาททางการเมืองสูงมาก และเกิดไม่พอใจที่กองบรรณาธิการประชาชาติ ให้การสนับสนุนพระยาทรงสุรเดชคู่แข่งทางการเมืองของตน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของกับกองบรรณาธิการ  กุหลาบ สายประดิษฐ์ ไม่ประสงค์จะให้เกิดการแตกหัก จึงถือโอกาสเดินทางไปดูงานด้านหนังสือพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาหกเดือน โดยได้รับคำเชิญจากหนังสือพิมพ์อาซาฮี  หลังจากนั้นไม่นาน หม่อมพร้อย วรวรรณ ณ อยุธยา ชายาของ ม.จ. วรรณไวทยากร (“พระองค์วรรณ”) ในนามเจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน ก็ได้ขอร้องให้ มาลัย ชูพินิจ รักษาการแทน  แต่ต่อมากองบรรณาธิการได้ลาออกทั้งคณะ  หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวันจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงเป็นลำดับ

กุหลาบ สายประดิษฐ์ กลับจากญี่ปุ่นก็ไม่ได้กลับไปทำงานที่ประชาชาติ อีก  เขาได้ใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนหนังสืออยู่กับบ้าน  นวนิยายของเขาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็มีเช่นเรื่องข้างหลังภาพ (ประชาชาติ รายวัน : ๒๔๘๐) และเรื่องป่าในชีวิต (สยามนิกร รายวัน : ๒๔๘๐) เป็นต้น (๑๑)

ช่วงกลางและช่วงหลังแห่งชีวิต

เพื่อรวบรัดให้เห็นชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยสรุป  ขอนำ “ชีวประวัติโดยสังเขป” ที่ปรากฏในหนังสือข้อคิดจากใจ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (บ้านศรีบูรพา : ๒๕๓๗) มาลงไว้ ณ ที่นี้  โดยถือเอาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นต้นมา จนถึงช่วงมัชฌิมวัยและปัจฉิมวัย

พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๔๘๙

– เป็นกรรมการอำนวยการหนังสือพิมพ์ ประชามิตร

– เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ

รวม ประชามิตร สุภาพบุรุษ เป็นฉบับเดียวกัน มอบหมายให้มิตรสหายรับช่วงงาน ทำหน้าที่โดยร่วมเป็นผู้รับผิดขอบ (๑๒)

– ก่อนสงครามยุติใน พ.ศ. ๒๔๘๘ เขียนบทความขับเคี่ยวกับรัฐบาลที่คืบหน้าไปสู่ระบอบเผด็จการแทบตลอดเวลา

พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ

พ.ศ. ๒๔๘๕ หลังจากเขียนบทความติดต่อกันคัดค้านการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับผลสำเร็จ  การฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ครั้งนั้นต้องระงับพับไป  และเขียนบทความคัดค้านรัฐบาลที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นในการทำสงคราม ได้ถูกจับด้วยข้อหากบฎภายในประเทศ ถูกคุมขังอยู่ราวสามเดือนจึงได้รับอิสรภาพเพราะคดีไม่มีมูล

พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙ ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (๑๓)

พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๕๑๐ ตั้งสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ พิมพ์-จำหน่ายหนังสือของ “ศรีบูรพา” และ “จูเลียต” เขียนหนังสืออยู่กับบ้าน

– พ.ศ. ๒๔๙๕ รับตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย เรียกร้องสันติภาพคัดค้านสงครามรุกรานเกาหลี

– พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับมอบหมายจากสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ ให้เป็นประธานนำคณะไปแจกสิ่งของที่มีผู้บริจาคแก่ประชาชนภาคอีสานที่ประสบภัยธรรมชาติอย่างร้ายแรง ประกอบกับการที่ได้ร่วมคัดค้านสงครามรุกรานเกาหลี จึงถูกจับกุมพร้อมด้วยมิตรสหายในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ถูกตัดสินจำคุกเป็นคณะใหญ่ ๑๓ ปี ๔ เดือน และถูกคุมขังไว้ในเรือนจำบางขวางฐานนักโทษการเมือง

พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับนิรโทษกรรมเนื่องในวโรกาสครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ (หลังจากถูกคุมขังอยู่ ๔ ปีเศษ)

เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับอิสรภาพมาไม่ทันถึงสองเดือน ได้ไปร่วมประท้วงรัฐบาลกรณีจับบรรณาธิการ สยามรัฐ (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) โดยร่วมปราศรัยในที่ประชุมใหญ่ตามคำเชิญของสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ (๑๔)

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับเชิญให้ไปเยือนสหภาพโซเวียตเพื่อร่วมฉลองครบรอบ ๔๐ ปีของการปฏิวัติโซเวียต

เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้รับเชิญให้นำ “คณะผู้แทนส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน  ขณะที่กำลังเยือนจีนอยู่นั้น ในประเทศไทย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารจับกุมคุมขังผู้รักชาติรักประชาธิปไตยอย่างขนานใหญ่ (รวมทั้งนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่กลับจากไปเยือนจีนด้วย) เพื่อมิให้ถูกจับกุมคุมขัง กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงขอลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างอยู่ในจีน ได้เขียนและพูดกระจายเสียงออกอากาศ เล่าเรื่องสาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่ได้ไปเห็นทางสถานีวิทยุปักกิ่ง และได้ร่วมประชุมสากลหลายครั้ง

เดือนตุลาตม พ.ศ. ๒๕๐๑ เดินทางจากจีนไปร่วมประชุมกลุ่มนักเขียนเอเชีย-แอฟริกาที่เมืองทาชเคนท์ สหภาพโซเวียต

พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิทยาศาสตร์ (สาขาสังคมศาสตร์) ที่ปักกิ่ง

พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมกลุ่มนักเขียนเอเชีย-แอฟริกาที่ปักกิ่ง

๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดบวมและเส้นโลหิตหัวใจตีบตัน ที่โรงพยาบาลเซียนเหอในปักกิ่ง  ทางการรัฐบาลจีนได้จัดพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ มีมิตรสหายทั้งชาวไทย ชาวจีน และชาวต่างประเทศอื่น ๆ ไปร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

ร่องรอยแห่งความจำได้

กุหลาบ สายประดิษฐ์ มีสิริอายุ ๖๙ ปี ๓ เดือน ๓ วัน เมื่อเขาได้ลาร่างจากสังขารไป เหลือทิ้งไว้แต่ผลงานแห่งการทำความดี ความงาม และความจริงให้ปรากฏ  ทางการจีนได้กล่าวไว้อาลัยในงานพิธีศพที่สุสานปฏิวัติปาเป่าซานครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า “กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นผู้อุทิศชีวิตเพื่องานทางวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ ผลงานเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อการต่อสู้ในการเรียกร้องเอกราชและประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง…”

ในหนังสือ รำลึกถึงศรีบูรพา-กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ “เพื่อนร่วมคุก ๒๔๙๕-๒๕๐๐ และสหธรรมมิก” ได้จัดทำขึ้นไว้อาลัยเมื่อทราบข่าวการจากไปครั้งนั้น (สำนักพิมพ์สันติธรรม : ๒๕๒๘) กรุณา กุศลาสัย ได้กล่าวไว้อาลัยว่า “คุณกุหลาบเป็นนักมนุษยธรรมอย่างแท้จริง”     ร่างของคุณกุหลาบได้สลายไปแล้วตามกฎของธรรมชาติ แต่อุดมการณ์และแนวความคิดของคุณกุหลาบจะไม่มีวันสลายตาม ตราบเท่าที่หนังสือไทยยังมีอยู่”

นิตยสารโลกหนังสือ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๑ ที่จัดทำขึ้นเพื่อ “รำลึกถึงศรีบูรพาและกลุ่มนักประพันธ์คณะสุภาพบุรุษ” สุภา ศิริมานนท์ อดีตบรรณาธิการอักษรสาส์น ได้กล่าวอ้างถึง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่าเคยเฝ้าเตือนย้ำเขาเสมอว่า “ในการเป็นหนังสือพิมพ์นั้น เราจะต้องเป็นสุภาพบุรุษพร้อมกันไปด้วยเสมอ”

สอดคล้องกับที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้แสดงปาฐกถาที่สมาคมหนังสือพิมพ์ ในโอกาสวันครบ ๒๐ ปีแห่งมรณกรรมของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗ มีความตอนหนึ่งคือ

“นามของกุหลาบนั้นบ่งไปถึงต้นไม้ที่ดอกมีกลิ่นหอม ดมก็ได้ ชมความงามก็ได้ ใช้ทำยาก็ได้ ใช้ลอยน้ำเพื่อดื่มด้วยความชื่นใจก็ได้  พร้อมกันนั้น กุหลาบ ก็มีหนามอันแหลมคม พร้อมที่จะทิ่มตำฝ่ายอธรรมและฝ่ายเผด็จการ…  แม้คุณกุหลาบจะมีคุณค่าในฐานะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ แต่คุณค่าที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการเป็นสุภาพบุรุษผู้มีมนุษยภาพ…

ร่องรอยแห่งความจำได้ที่เป็นเกียรติประวัติสำคัญของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในประการต่อมาเมื่อไม่นานนี้คือการที่เขาได้รับรางวัลปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านประชาธิปไตยและสันติภาพ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งในคำประกาศเกียรติคุณตอนหนึ่ง ได้กล่าวยกย่องเขาว่าเขาเป็นบุคคลพิเศษ

“ในฐานะนักคิด นักเขียน และนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ด้วยวิธีทางอันปราศจากการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ และจริงจัง…”

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ นี้ คือวาระ ๑๐๐ ปี ชาตกาล ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สยามประเทศแห่งนี้จะมีกลุ่มหรือองค์กรใดบ้างที่เตรียมงานฉลองให้เขาอย่างจริงจังและจริงใจ

จนกว่าเราจะพบกันอีก…

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน

แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

“ศรีบูรพา” : ข้างหลังภาพ : ๒๔๘๐

“ไนเวลาสงบ ท้องฟ้าโปร่ง สว่างจ้าด้วยแสงตวัน ไคร ๆ ก็แลเห็นว่าเรายืนอยู่ที่ไหน เวลาพายุกล้าฟ้าคนอง ผงคลีฟุ้งตลบไปไนอากาส ไม่เห็นตัวกัน ต่อพายุสงบฟ้าสว่าง ไคร ๆ ก็จะเห็นอีกครั้งหนึ่งว่า เรายืนอยู่ที่เดิม และจักหยู่ที่นั่น…”

กุหลาบ สายประดิษฐ์

บทนำ : ประชามิตร สุภาพบุรุส

๑ ธันวาคม ๒๔๘๗

หมายเหตุอ้างอิง :

(๑) หลักฐาน บรรทึกการแต่งหนังสือ ที่เขียนด้วยลายมือของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ชิ้นนี้  ชนิด สายประดิษฐ์ เป็นผู้ค้นพบระหว่างรื้อค้นแฟ้มเอกสารที่บ้านซอยพระนาง  พร้อมกับหลักฐานชิ้นนี้ ยังได้พบบันทึกประจำวันของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนด้วยลายมือ ครั้งถูกตั้งข้อหาว่าเป็น “กบฏภายในราชอาณาจักร” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ อีกจำนวนหนึ่ง  โดยมีหัวเรื่องบันทึกเขียนไว้ที่หน้าแรกว่า ทิณกรณ์ของผู้ต้องคุมขังโดยข้อหาว่าเป็นกบฎ ๑๗ มกร ๘๕ ก.ส. บันทึกประจำวัน (diary) หรือที่กุหลาบ  สายประดิษฐ์ เรียกว่า ทิณกรณ์ ชิ้นนี้ กำลังมีการตรวจชำระ และเตรียมพิมพ์เผยแพร่โดย “สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม” เร็ว ๆ นี้ สำหรับหลักฐานบรรทึกการแต่งหนังสือ ชิ้นเดียวกันนี้ ได้มีผู้นำไปเขียนเป็นบทความในชื่อ จากสมุด “บันทึกการแต่งหนังสือ” ของ “ศรีบูรพา” เขียนโดย ช่วย พูลเพิ่ม (ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารสวนหนังสือ ฉบับที่ ๑๐ และฉบับที่ ๑๑, โครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าฯ สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ไม่ระบุปีที่พิมพ์)

(๒) มีข้อท้วงติงเกี่ยวกับเรื่องวันเกิดของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่าครบ ๙๖ ปี หรือ ๙๕ ปี : ดูจาก เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๒-๑๘ มีนาคม ๒๕๔๔ และหนังสืออนุสรณ์ ๙๖ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ -๗๒ ปี คณะสุภาพบุรุษ นักเขียนเก่าไม่มีวันตาย, สำนักพิมพ์สามัญชน พ.ศ. ๒๕๔๔

(๓) ความเห็นเรื่องครูวิบูลย์วรรณวิทย์ จากนวนิยายเรื่อง แลไปข้างหน้า และความเห็นเกี่ยวกับกลอนหก เรื่อง “ต้องแจวเรือจ้าง” เป็นของ รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน อ้างจากหนังสือ ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรม สำนักพิมพ์แสงดาว พ.ศ. ๒๕๒๒

(๔) หมายถึงวิทยานิพนธ์ Kwandee Rakpongse : The Novel of Mom Luang Buppha Nimmanheminda (London : University of London, School of Oriental and African Studies 1975)

(๕) บิดาของ ป. อินทรปาลิต

(๖) อ้างจากหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ : ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ พิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ หน้า ๙๐-๙๙ สะกดการันต์และเครื่องหมายวรรคตอนที่อ้าง ได้คงไว้โดยสมบูรณ์ ยกเว้นย่อหน้าที่เป็นตัวเน้นเป็นของผู้เขียน

หนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับปฐมฤกษ์ ปกหน้าของหนังสือวาดเป็นรูปหญิงชายแต่งกายตามสมัยนิยมกำลังยืนคุยกัน  ผู้ชายสวมหมวกถือไม้เท้า ผู้หญิงคาดผมสวมเสื้อคลุม  ดูจากบรรยากาศของรูปที่วาด เข้าใจว่าน่าจะเป็นบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งถือเป็นถนนที่ทันสมัยที่สุดในยุคเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒  ส่วนปกหลังเป็นการโฆษณาหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์เล่มที่ ๒ กล่าวว่า จะมีเรื่องของ “เจ้าเงาะ”  “ร. วุธาฑิตย์” “ศรีบูรพา” ขุนสุนทรภาษิต  “ช่อมาลี”  และ “แม่อนงค์”  โดยใช้ข้อความตัวใหญ่ประชาสัมพันธ์บอกว่า ท่านต้องไม่เผลอตัวในวันที่ ๑๕ มิถุนายน !

(๗) คำว่า สุภาพบุรุษ (บางแห่งเขียน “สุภาพบุรุส”) ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เห็นว่าได้นำเอานัยมาจากคำว่า gentleman ในภาษาอังกฤษ ด้วยความประสงค์อยากให้เป็นส่วนขยายของคำว่า “ผู้ดี” ที่มีความหมายเข้าใจกันแบบแบ่งชนชั้นในสังคมไทยว่า ไพร่-ผู้ดี

การใช้คำว่า สุภาพบุรุษ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า ตัวเขาเองนั้นเกลียดการแบ่งชนชั้นวรรณะ ดังนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงได้เสนอคำนี้ขึ้นมาอย่างตั้งใจ และทัศนะนี้ตรงกับที่ วิทยากร เชียงกูล ได้แสดงข้อคิดเห็นของเขาในงานชุมนุมช่างวรรณกรรมประจำปี ๒๕๔๔ ว่า

“ผมคิดว่าอาจจะเป็นความพยายามที่ท้าทายคำว่า ผู้ดี ว่าคนเรานั้นไม่จำเป็นต้องมาจากชาติตระกูล คนเราสามารถเป็นสุภาพบุรุษ เป็นคนดี เป็นผู้ดีได้โดยไม่ต้องมีชาติตระกูล” (อ้างใน ศรีบูรพา ๔ : วารสาร กองทุนศรีบูรพา ฉบับวันนักเขียน-๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ หน้า ๕๔)

คำว่า ผู้ดี ในความหมายที่เปลี่ยนไป ได้รับการนำมาพิจารณาในเนื้อหาใหม่เช่นเดียวกัน  ดังจะเห็นจาก “วิมล” ตัวละครในนวนิยายเรื่อง ผู้ดี ของ “ดอกไม้สด” (นามปากกาของ ม.ล. บุปผา นิมมานเหมินท์) ซึ่งเป็นนวนิยายที่เขียนขึ้นในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕

คำว่า สุภาพบุรุษ ของ “ศรีบูรพา” และผู้ดี ของ “ดอกไม้สด” จึงมีนัยแฝงว่า ด้วยสังคมชนชั้นแบบไทยๆ ที่น่าสนใจยิ่ง

(๘) แต่เดิมนามปากกาของ โชติ แพร่พันธุ์ หนึ่งในนักเขียน คณะสุภาพบุรุษ นั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นผู้ตั้งให้ โดยเลียนเสียงมาจากชื่อของนักเขียนแนวบันเทิงคดีของอังกฤษ คือ J.W. JAKOB ซึ่งแต่แรกเขียนเลียนเสียงเป็นไทยว่า “ยาคอบ” ไม่ใช่ “ยาขอบ”  หลักฐานนี้อ้างอิงมาจากเรื่องสั้นชื่อ “บันทึกของกุมภกรรณ” ของ “ยาคอบ” ในหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓๓ : วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓

(๙) บทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ลงตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ รายวัน เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ และวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๔  แต่ยังเขียนไม่จบก็เกิดปัญหา เพราะหลวงวิจิตรวาทการและคณะได้เข้ามาถือหุ้นในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ และมีนโยบายไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พร้อมกับเพื่อนคณะสุภาพบุรุษ แต่เดิม ได้ลาออกพร้อมกันทั้งคณะอีกครั้ง โดยไปทำหนังสือพิมพ์ผู้นำ รายสัปดาห์ ให้แก่ เทียน เหลียวรักวงศ์  แต่ก็ไม่ได้เป็นบรรณาธิการ  ปล่อยให้เพื่อนคือ ทองอิน บุณยเกสนา (“เวทางค์”) เป็นบรรณาธิการ  อย่างไรก็ตามการเข้าแทรกแซงของหลวงวิจิตรวาทการในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ นั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้แสดงปฏิกิริยาไว้พอสมควรในหนังสือพิมพ์ ผู้นำ ฉบับวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ดังนี้

“การทำงานของนักหนังสือพิมพ์หนุ่มชุดนี้… ในส่วนที่จะบำเรอน้ำใจผู้อ่านให้เป็นสุขนั้น เขาได้ชนะมาแล้วทุกเกม  แต่ในด้านการครองตัวรักษาตัวให้เหมาะเจาะกับความต้องการของโลก เขามักเป็นแพ้เสมอ ถ้าโลกนี้เป็นโลกที่สกปรก คนพวกนี้ก็มีความสะอาดเกินไป จึงเข้ากันได้ไม่สนิท  และเหตุดังนี้มักล้มตัวของเขาลงในท่ามกลางความเจริญรุ่งเรืองที่เขาได้ก่อสร้างไว้ด้วยความสามารถของเขา เขาเป็นผู้อาภัพในข้อนี้”

บทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ที่โดนแทรกแซงเมื่อครั้งหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ได้รับการปรับปรุง นำมาตีพิมพ์อีกครั้งในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เข้าไปประจำกองบรรณาธิการ โดยปรับปรุงออกมาตีพิมพ์เป็นสามตอนคือ ตอนที่ ๑ ความซื่อตรงคือความจริง ความจริงคือความซื่อตรง (๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔) ตอนที่ ๒ ความหลงของมนุสส์ ถือว่าอำนาจทำอะไรถูกหมด (๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔) และตอนที่ ๓ ความสงบ (๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔)  บทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ทั้งสามตอนนี้ ถือเป็นบทความการเมืองที่ทรงพลัง และเป็นบทความที่มีความสำคัญที่สุดบทหนึ่งในหน้าประวัติหนังสือพิมพ์ไทยและการเมืองไทยช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕  โดยจัดความสำคัญได้เทียบเท่า “แถลงการณ์ ฉบับที่ ๑ “ของ “คณะราษฎร” ที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียนขึ้น เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

(๑๐) อ่านรายละเอียดได้จากวิทยานิพนธ์ เช่น พรภิรมย์ เอี่ยมธรรม บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทย (๒๔๗๕-๒๔๘๘ ) กรุงเทพฯ : โครงการตำราฯ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๒๐ วิทยานิพนธ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์-จากวรรณกรรมสู่หนังสือพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๒ และหนังสือเรื่อง กุหลาบ  สายประดิษฐ์-ศรีบูรพา ที่ข้าพเจ้ารู้จัก โดย ยศ วัชรเสถียร, สำนักพิมพ์อาร์ตแอนด์ซายน์, ๒๕๒๕

(๑๑) รายชื่องานวรรณกรรมประเภทต่างๆ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พร้อมกับนามปากกาและประวัติชีวิตช่วงต่างๆ ที่เป็นรายละเอียดบางประการ ข้อมูลที่ค่อนข้างทันสมัย อ่านได้จากข้อเขียนเรื่อง รู้จัก “ศรีบูรพา” โดย ช่วย พูลเพิ่ม ซึ่งลงตีพิมพ์เป็นภาคผนวกอยู่ในการจัดพิมพ์ผลงานต่างๆ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ “ศรีบูรพา” ในโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายากของสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ที่มี อาจิณ จันทรัมพร เป็นบรรณาธิการ  โครงการนี้ได้รื้อฟื้นงานเขียนของนักเขียน นักประพันธ์คณะสุภาพบุรุษ และคณะอื่นๆ นำมาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่อย่างค่อนข้างเป็นระบบ

(๑๒) ประชามิตร เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ก่อตั้งโดยหนึ่งใน คณะสุภาพบุรุษ-สนิท เจริญรัฐ (นามปากกา “ศรีสุรินทร์”) เป็นหนังสือพิมพ์ในเครือของบริษัทไทยวิวัฒน์ ที่มีนายวรกิจบรรหาร (พงษ์ รังควร) และนางวรกิจบรรหาร (ชะลอ รังควร) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  กำเนิดเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ตั้งสำนักงานอยู่ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม  ณ ที่แห่งนี้ ชื่อเรียกขานกันว่า เป็น วิกบางขุนพรหม เป็นคล้ายศูนย์กลางของนักเขียนนักประพันธ์รุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เข้าคู่กับโรงพิมพ์ไทยพณิชยการ ของ อารีย์ ลีวีระ ที่เรียกกันว่า วิกสีลม  กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้มาร่วมงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ประชามิตร เล่มนี้ และได้มีโอกาสจัดทำหนังสือ สุภาพบุรุส รายสัปดาห์ ขึ้นด้วย  แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุปกรณ์ด้านการผลิตมีราคาสูง และมีการควบคุมหนังสือพิมพ์อย่างเข้มงวด เพราะนโยบาย “รัฐนิยม” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้หนังสือประชามิตร และสุภาพบุรุส ได้ยุบรวมกันเป็นหนังสือประชามิตร สุภาพบุรุส ฉบับเดียว  ยุคระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นยุคอักขระวิบัติ ดังนั้นชื่อสุภาพบุรุษ จึงเขียนเป็น สุภาพบุรุส ส่วนชื่อกุหลาบเขียนเป็น กุหลาบ สายประดิสถ์  หนังสือประชามิตร สุภาพบุรุส รายสัปดาห์ ออกมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ซึ่งระยะนี้มี มาลัย ชูพินิจ เป็นบรรณาธิการ และ วิตต์ สุทธเสถียร เป็นบรรณาธิการผู้ช่วย ที่ต้องกล่าวถึงเรื่องนี้ก็เพราะจะได้ไม่สับสนกัน  เนื่องจากหนังสือสุภาพบุรุษ ที่อยู่ในความเกี่ยวข้องของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ มีด้วยกันสองระยะ คือระยะก่อตั้งสุภาพบุรุษ รายปักษ์ ที่เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และระยะที่ เป็นสุภาพบุรุส รายสัปดาห์ และประชามิตร สุภาพบุรุส รายสัปดาห์ ของ “วิกบางขุนพรหม” ในยุคอักขระวิบัติ ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๘

(๑๓) กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นประธานการก่อตั้ง สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘  ซึ่งถือเป็นการรวมตัวครั้งแรกของ “ผู้มีวิชาชีพทางหนังสือพิมพ์” ที่จะเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมต่างๆ ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเจ้าของหนังสือพิมพ์ และเพื่อการจัดการเกี่ยวกับสวัสดิการให้แก่นักหนังสือพิมพ์อาชีพโดยทั่วไป  ดังนั้นจึงถือว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ คือผู้เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสมาคมให้วงการหนังสือพิมพ์ไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์  แต่เนื่องจากต้องการอยู่เบื้องหลัง จึงได้เสนอให้พระยาปรีชานุสาส์น (บิดาของนายอานันท์ ปันยารชุน) เป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยคนแรก ดำรงตำแหน่งอยู่สองสมัย (พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๖) นายกสมาคมคนที่ ๒ คือ นายมานิต วสุวัต ดำรงตำแหน่งอยู่สมัยเดียว (พ.ศ. ๒๔๘๗) และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นนายกสมาคมคนที่ ๓ ดำรงตำแหน่งอยู่สองสมัย (พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๙)  (๑๔) นี่เป็นข้อเปรียบเทียบบางประการระหว่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังมีเรื่องปรากฏอยู่ในข้อเขียนของ สุพจน์ ด่านตระกูล ตอนหนึ่ง คือ ระยะที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกขังอยู่ในคุกบางขวาง และกำลังเขียนนวนิยายเรื่อง แลไปข้างหน้า “กิจวัตรประจำวันภายในคุกของคุณกุหลาบก็คือการเขียนหนังสือ และถึงแม้ว่าท่านจะเขียนหนังสือช้า แต่ท่านก็ขยันนั่งอยู่กับโต๊ะเขียนหนังสือของท่านครั้งละหลายๆ ชั่วโมง และตอนบ่ายๆ จึงจะลุกออกจากโต๊ะเขียนหนังสือไปเดินออกกำลัง…และลักษณะการเดินของคุณกุหลาบ เป็นการเดินที่เรียกว่าเดินแบบนักเรียนนอก คือ เอาหัวไปก่อน ข้าพเจ้าเคยทราบว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าววาจาถากถางคุณกุหลาบว่า ออกไปอยู่เมืองนอกไม่เท่าไร (ไปอยู่ออสเตรเลีย) กลับมาเดินหัวทิ่มเป็นนักเรียนนอก ซึ่งความจริงคุณกุหลาบเดินในลักษณะเช่นนั้นมานานแล้ว ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับคุณกุหลาบ ข้าพเจ้าจึงรู้ว่า ที่คุณกุหลาบเดินเอาหัวไปก่อนนั้น เป็นเพราะที่ส้นเท้าของท่านเป็นตาปลา เวลาเดินจะต้องทิ้งน้ำหนักที่ปลายเท้าโดยอัตโนมัติ จึงทำให้หัวไปก่อน  เพราะถ้าเผลอทิ้งน้ำหนักที่ส้นเท้าเป็นต้องสะดุ้งเพราะเจ็บที่เป็นตาปลาทุกทีไป  ลักษณะการเดินของคุณกุหลาบจึงเป็นลักษณะการเดินของคนที่เป็นตาปลาที่ส้นเท้าโดยแท้ หาใช่เดินแบบหัวนอกดังที่คึกฤทธิ์กล่าวถากถางไม่…” (จากบทความเรื่อง “คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์” โดย สุพจน์ ด่านตระกูล, อ้างใน รำลึกถึง ศรีบูรพา โดยเพื่อนร่วมคุก : สำนักพิมพ์ สันติธรรม, ๒๕๒๘ หน้า ๙๖-๙๗)

คำขอบคุณ

ขอบคุณ : ลำเพา สุทธเสถียร ภรรยาของ วิตต์ สุทธเสถียร (นักเขียนและบรรณาธิการในอดีต) ที่ได้กรุณาให้ยืมหนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๗๓ จำนวนหลายสิบเล่มมาแสดงในงานนิทรรศการ “๙๖ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๗๒ ปี คณะสุภาพบุรุษ” โดยเอื้อเฟื้อผ่านมาทาง ศรัณย์ ทองปาน แห่งวารสาร เมืองโบราณ

ขอบคุณ : “บ้านพิพิธภัณฑ์” ของ อเนก นาวิกมูล “สำนักพิมพ์ต้นฉบับ” ของ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ “โครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายากฯ” ของ อาจิณ จันทรัมพร คลังหนังสือเก่าของ มนู พีระพันธ์ และ จุลศักดิ์ อมรเวช

ขอบคุณ : สุรพันธ์-วาณี สายประดิษฐ์ แห่ง “บ้านศรีบูรพา”ที่เอื้อเฟื้อภาพเก่าหายาก

ล้อมกรอบ

บรรทึกการแต่งหนังสือ

บรรทึกการแต่งหนังสือของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เห็นนี้ถือเป็นเอกสารชั้นต้น

พ.ศ. ๒๔๖๕ : เรียนหนังสือชั้นมัธยม ๖ เริ่มฝึกหัดการแต่งหนังสือในปีนี้ งานที่ทำคือ :

(๑) ออกหนังสือพิมพ์ในห้องเรียน (type) ชื่อ ศรีเทพ ใช้นามปากกา “ดาราลอย” แล ฯลฯ หนังสือนี้ออกจนกระทั่งสิ้นปี

พ.ศ. ๒๔๖๖ : เรียนชั้นมัธยม ๗ งานที่ทำคือ :

(๑) ออกหนังสือพิมพ์ (type) ประจำห้อง ชื่อ เทพคำรน ออกได้ประมาณ ๔-๕ ฉบับ เปลี่ยนชื่อจาก เทพคำรณ เปน ศรีสัตตคารม และออกเป็นระเบียบมาจนสิ้นปี ในระหว่างนี้ได้เริ่มเขียนออกสนาม คือ

(๑) คุณสมบัติของเธอ (อินทรวิเชียรฉันท์) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ ฉันทราบหมด

(๒) รำพึงภาพ (กลอน) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม

(๓) ลมสลาตัน ตอน ๗-๘-๙-๑๐ (ภาพยนตร์เรื่องยาว) เขียนในนามของ “แก้ว กาญจนา” ในหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม

(๔) เบื่อโสด (กลอน ๘) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ ทสวารบรรเทิง

(๕) ยอมเปลี่ยน (เรื่องอ่านเล่นตลก) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ ทสวารบรร

เทิง

(๖) แถลงการณ์ (สำหรับหนังสือทสวารฯ) ในการเขียนครั้งนี้เริ่มใช้ปากกา “ศรีบูรพา” เปนครั้งแรกที่สุด ในหนังสือพิมพ์ ทสวารบรรเทิง

(๗) กุหลาบสงวนพันธ์ (อินทรวิเชียรฉันท์) ฝีปาก “ส.ป.ด. กุหลาบ” ในหนังสือพิมพ์ ทสวารบรรเทิง

พ.ศ. ๒๔๖๗ : เรียนชั้นมัธยม ๘ เขียนเรื่อง

(๑) หล่อนยังเขลา (โคลงสี่สุภาพ) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม

(๒) ฉันเรียนเปนหนุ่ม (กลอน ๖) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ นักเรียน

(๓) ประโยชน์ที่ได้จากหนังสือ (อาร์ติเกิล) ฝีปาก “นางสาวโกสุมภ์  สายประดิษฐ์” ในหนังสือพิมพ์นักเรียน

(๔) ต้องแจวเรือจ้าง (กลอน ๖) ฝีปาก นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มใช้นามจริงเปนครั้งแรกในหนังสือพิมพ์แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ อนึ่ง ในตอนต้นปีนี้ได้ทำงานกลางคืน เปนครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ในคณะ “รวมการสอน” และเปนนักประพันธ์ในคณะ “รวมการแปล” ได้เขียนเรื่องอ่านเล่นขายให้ผู้อื่นพิมพ์ออกจำหน่าย ดังนี้คือ :

(๑) คุณพี่มาแล้ว (สองเล่มจบ) ฝีปาก “ศรีบูรพา”

(๒) คางคกขึ้นวอ (สองเล่มจบ) “ศรีบูรพา” แปล “ศรีเงินยวง” เรียบเรียง

(๓) จ้าวหัวใจ (๔ เล่มจบ) ฝีปาก “ศรีบูรพา”

(๔) ดิฉันยังหยิ่ง ฝีปาก “ศรีบูรพา”

(๕) คมเสน่ห์ยอกอก ฝีปาก “ศรีบูรพา”

(๖) เธอผู้มีกรรม ฝีปาก “ศรีบูรพา”

(๗) วาสนากรรมกร ฝีปาก “ส.ป.ด. กุหลาบ”

นอกจากนี้ยังได้เขียนกลอนเซียมซีให้แก่ศาลเจ้า ได้รับรางวัลในการเขียน ๘๐ บาท

พ.ศ. ๒๔๖๘ : ออกจากโรงเรียน เริ่มทดลองเรียนกฎหมายในปีนี้ แต่งหนังสืออ่านเล่น ๒ เรื่อง

(๑) หล่อนยังเขลา ฝีปาก “ศรีบูรพา”

(๒) เกียรติอนาถา ฝีปาก “ศรีบูรพา”

เดือนพฤษภาคม : เปนหัวหน้าออกหนังสือพิมพ์รายทส ฉะบับหนึ่ง เปนครั้งแรกที่สุด ชื่อ สาสน์สหาย แต่มีอุปสัคเรื่องทุนไม่พอ ออกมาได้เพียง ๗ เล่มเลยหมดกำลัง ได้เขียนเรื่องลงในหนังสือนี้คือ

(๑) ความรัก… (อาร์ติเกิล) ฝีปาก “แม่โกสุมภ์”

(๒) คนึงสาส์น (โคลงดั้น) ฝีปาก “ส.ป.ด. กุหลาบ”

(๓) เมื่อจากกรุง (กลอน ๘) ฝีปาก “ศรีบูรพา”

(๔) นางกำนัลพระเจ้าเฮนรี่ ฝีปาก ก. สายประดิษฐ์

(๕) สตรีแต่งตัวเพื่อ… (อาร์ติเกิล) ฝีปาก “ศรีบูรพา”

(๖) ตอบคำถามผู้หญิง ฝีปาก “หนูศรี”

(๗) แถลงการณ์ ฝีปาก “ส.ป.ด. กุหลาบ”

เดือนกรกฎาคม : ได้ช่วยเขียน “ลำตัด” ในหนังสือพิมพ์สมานไมตรี เริ่มตั้งแต่เล่ม ๕-๖-๗-๘-๙-๑๐-๑๑ และได้ช่วยพิเศษอีกครั้งหนึ่ง  การเขียนนี้เจ้าของตอบแทนไมตรีจิตต์อย่างงาม ลำตัดทั้งหมดใช้นามปากกาว่า “หมอต๋อง”

เดือนกันยายน : แปลเรื่องอ่านเล่นยาวลงในหนังสือพิมพ์รายวันข่าวด่วน ชื่อทะแกล้วทหาร ๓ เกลอ ภาค ๓ ใช้นามว่า “นายกุหลาบ” ร่วมมือกับ “นายมาโนช”

วันที่ ๒๙ ตุลาคม : ได้เข้าทำงานในกรมยุทธศึกษาฯ มีน่าที่เปนผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสนาศึกษาฯ  แต่มีตำแหน่งเปนเจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์ ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๓๐ บาท ได้เขียนเรื่องลงในหนังสือพิมพ์เสนาศึกษาฯ ดังต่อไปนี้

(๑) พระนางราโชอาห์ โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์

(๒) รู้เล็กรู้น้อย โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์

เดือนมกราคม : ได้ร่วมมือกับเพื่อนออกหนังสือพิมพ์รายวันฉะบับหนึ่งชื่อหนังสือพิมพ์เสียงไทย ได้แปลเรื่องอ่านเล่นเรื่องยาวชื่อพิษผู้หญิง ปากกา “ศรีบูรพา”  ร่วมมือกับ “แม่อนงค์” แต่มีอุปสัคเรื่องทุนไม่พอ ออกมาได้ราว ๓ เดือนก็ต้องเลิก (กฎหมายเลิกเรียนในปีนี้)

พ.ศ. ๒๔๖๙ : ได้รับพระราชทานเงินเดือนเพิ่ม ๒ บาท รวมได้รับเดือนละ ๓๒ บาท ได้เขียนเรื่องลงในหนังสือพิมพ์เสนาศึกษาฯ คือ

(๑) พิษเสน่หา โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์

(๒) วาสนามนุสส์ โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์

(๓) กวีภาษิต โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์

เดือนพฤษภาคม : ได้ช่วยเพื่อนทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ธงไทย อย่างแข็งแรงตั้งแต่ ฉบับ ๑ ถึง ๒๐ จึงได้พัก  ได้เขียนอาร์ติเกิล โดยสถาปนานามปากกาขึ้นในหนังสือพิมพ์นี้คือ :

(๑) พวกไม่กลัวตาย

(๒) ไปกันหรือยัง?

การช่วยทำหนังสือพิมพ์ธงไทย นี้ เจ้าของตอบแทนไมตรีจิตต์อย่างงาม

เดือนสิงหาคม : ใกล้ ๆ กับเวลานี้ เริ่มมีหนังสือพิมพ์ประเภทบรรเทิงคดีรายคาบออกอย่างแพร่หลาย  นับแต่เดือนนี้ ได้ช่วยเขียนเรื่องให้แก่หนังสือพิมพ์ที่ชอบพอ คือ :

(๑) รักกันหนา ฝีปาก “ศรีบูรพา” ในหนังสือพิมพ์สมานมิตรบรรเทิง รายปักษ์

(๒) คืนวันอังคาร ฝีปาก “ศรีบูรพา” ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย รายเดือน

(๓) คืนที่สอง ฝีปาก “ศรีบูรพา” ในหนังสือพิมพ์สมานมิตรบรรเทิง

(๔) ความหวัง ฝีปาก “ศรีบูรพา” ในหนังสือพิมพ์สวนอักษร รายปักษ์

(๕) คืนที่ลืมไม่ได้ ฝีปาก “ศรีบูรพา” ในหนังสือพิมพ์สวนอักษร

(๖) คนขับรถรางคนใหม่ (กลอน ๖) ฝีปาก “ศรีบูรพา” ในหนังสือพิมพ์สาราเกษม รายปักษ์

(๗) แผนที่บ่อทอง (บทที่ ๓) ฝีปาก “ศรีบูรพา” ในหนังสือพิมพ์สวนอักษร

(๘) ผมเจ้าค่ะ ! (ดอกสร้อย) ฝีปาก “ดาราลอย” ในหนังสือพิมพ์ปราโมทย์นคร รายสัปดาห์

(๙) วีรบุรุษตวันออก (ประวัติคนสำคัญ) ฝีปาก “แม่โกสุมภ์” ในหนังสือพิมพ์ดรุณเกษม รายปักษ์

(๑๐) ข้อสงสัยของชาย (อินทรวิเชียรฉันท์) ฝีปาก “ศรีบูรพา” ในหนังสือพิมพ์เฉลิมเชาว์ รายเดือน

เดือนกันยายน : ได้เริ่มเขียนเรื่องอ่านเล่นเปนเล่ม ขายให้แก่ผู้ซื้อไปพิมพ์จำหน่าย คือ

(๑) พิษนางกำนัล ฝีปาก “ศรีบูรพา”

(๒) ชีวิตวิวาห์ ฝีปาก “ศรีบูรพา”

(๓) โลกสันนิวาส ฝีปาก “ศรีบูรพา”

เดือนมกราคม : ถูกชักชวนให้ช่วยเขียนเรื่องลงในหนังสือพิมพ์สยามรีวิว  เรื่องที่เขียน คือ

(๑) หมายเหตุเบ็ดเตล็ด ใช้นามว่า “นายบำเรอ”

(๒) หมายเหตุเบ็ดเตล็ด ใช้นามว่า “นายบำเรอ”

(๓) วิทยาจารย์ (เขียนคัดค้าน) ใช้นามว่า “นายบำเรอ” แลเมื่อเดือนมีนาคม ยังได้เขียนเรื่องให้หนังสือพิมพ์ธงไทย  อีกหนึ่งเรื่อง คือ ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน (ค้านบางกอกการเมือง) ใช้นามว่า “หมอต๋อง”  และในเดือนนี้ได้ช่วยเพื่อทำหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งออกในงานรื่นเริงของโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ เปนอันสิ้นสุดงานในปี ๒๔๖๙ เพียงเท่านี้

หมายเหตุ : งานที่สำเร็จมาตั้งแต่ต้นบรรทึกจนกระทั่งที่สุดนี้ กระทำอย่างที่เรียกว่า ฝึกหัดชีวิตของความเปนผู้ใหญ่ (๒๔๖๔-๒๔๖๙)

ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เปนต้นไป จะต้องทำงานด้วยความละเอียดถี่ถ้วน โดยให้มีพลาดพลั้งน้อยที่สุด อย่างไรก็ดีจะ    ต้องพยายามไม่ให้มีพลาดเลย!

ชีวิตในปี พ.ศ. ๒๔๗๐

A. Health : ๑. บำบัดโรคที่เปนอยู่

๒. Self defence (Boxing)

๓. บำรุงร่างกายให้สุขสมบูรณ์ขึ้น

B. Wealth :     ทำงาน และเรียนภาษาอังกฤษ (ยอดเยี่ยม)

C. Morality :   สมาคม-กล้าหาญ-และบริสุทธิ์ !

ซื่อสัตย์-ไม่มีความลับ-พูดน้อย !

D. Ambition :   ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น แต่งหนังสือ !

LOVE-POWER-HAPPINESS

หมายเหตุประจำปี ๗๐ :

A. Health : ๑. ยังทำเหลาะแหละมาก ไม่ได้ผลเลย ต้องรักษาเท้าและโรคพยาธิให้หายขาดภายในเดือนมิถุนายน ๗๑  ๒. ปฏิบัติพอใช้ได้ นับว่ามีภูมิขึ้นบ้าง ในปีใหม่ต้องฝึกหัดให้ชำนาญ ตั้งต้น ๑๓ พฤษภาคม  ๓. ต้องบริหารกายทุกวันอย่างน้อย ๕ นาที เริ่ม ๑๒ พฤษภาคม กินน้ำมันตับปลาหรือดื่มนมสด

B. Wealth :  การทำงานเรียบร้อย แต่การเรียนภาษาอังกฤษไม่รู้จริงจัง ปีใหม่ต้องเรียนกลางคืน และอ่านตามลำพังวันละอย่างน้อย ๓๐ นาที ต้องให้ได้ ยอดเยี่ยม ในปลายปี ๗๑

C. Morality : ดี, ต้องพยายามทิ้งนิสสัยเด็ก ฝึกตัวให้เปนที่รักและยำเกรงของคนทั้งปวง, แม้แต่เพื่อนสนิท ถ้าไม่จำเปนต้องไม่พูดให้เปนที่ขัดใจและเสื่อมเสียแก่คนอื่น

D. Ambition : ดีมาก ต้องตั้งใจทำให้ดียิ่งขึ้นในปีใหม่

พ.ศ. ๒๔๗๐

เดือนเมษายน : ๑. (Wealth) ได้เปลี่ยนตำแหน่งจากเจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์ มาเปน เลขานุการพแนกบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสนาศึกษาฯ ได้รับเงินเดือนเพิ่ม ๘ บาท รวมได้รับเดือนละ ๔๐ บาท  ๒. (Ambition) เขียนหมายเหตุเบ็ดเตล็ดลงในหนังสือพิมพ์สยามรีวิว  ๓. (Ambition) เขียนเรื่อง ความรักไม่มีขาย ได้ ๓ บท  ๔. (Ambition) เขียนเรื่องอำนาจใจ ลงเสนาศึกษาฯ

เดือนพฤษภาคม : ๑. (Health) หยุดทำงานไปเปลี่ยนอากาศที่ศรีราชา ตั้งแต่วันที่ ๓-๒๐ และผ่าเท้าได้ ๑ แห่ง  ๒. (Ambition) เขียนคำนำปีที่ ๒ ให้หนังสือธงไทย  ๓. (Ambition) เขียนเรื่องความปรารถนา ได้ ๑ ยก

เดือนมิถุน : ๑. (A.+W.) เขียนภาพยนตร์เรื่องวันสำคัญ  ๒. หมัดปราบเสือ เริ่มใช้นามปากกา “ฉันทมิตร” เปนครั้งแรก  ๓. ล้างความผิด  ๔. มานะลูกผู้ชาย  ๕. A. แปลความเห็นเรื่อง “งานกับความสำเร็จ”  ลงเสนาศึกษาฯ  ๖. A. เขียนเรื่อง “ความในใจ”  ให้หนังสือพิมพ์แถลงการณ์ศึกษา เทพศิรินทร์  ๗. A. เขียนกลอนเรื่อง “ข้อสัญญาของชายฯ” ลงในหนังสือพิมพ์ภาพยนตร์  ๘. H. ผ่าเท้า ๑ แห่ง

หมายเหตุ : เขียนภาพยนตร์ ได้ค่าเขียนเรื่องละ ๑๐ บาท

เดือนกรกฎา : ๑. (A.+W.) เขียนภาพยนตร์เรื่องดักเศรษฐี  H. รักษาเท้า ๔ แห่ง

เดือนสิงหาคม : ๑. H. วันที่ ๘ เริ่มหัด Boxing  ๒. H. รักษาโรคเกี่ยวแก่เส้นประสาท  ๓. (A.+W.) เขียนภาพยนตร์เรื่องลูกพ่อ  ๔. นางก้นครัว  ๕. บุรุษผู้องอาจ  ๖. A. เขียนหมายเหตุเบ็ดเตล็ดให้สยามรีวิว  ๗. A. ให้เรื่องความรักสมัยใหม่ลงในหนังสือพิมพ์ธงไทย

เดือนกันยายน : ๑. H. การต่อยมวยดำเนินไปอย่างดี  ๒. H. ฉีดยารักษาโรคเส้นประสาท  ๓. (A.+W.) แต่งหนังสืออ่านเล่นชื่อชีวิตสมรส ฝีปาก “ศรีบูรพา”

เดือนตุลาคม : ๑. H. การต่อยมวยพอใช้ได้  ๒. A. สอนหนังสืออังกฤษกลางคืนเปนพิเศษที่ร้านสายสมบูรณ์  ๓. (A.+W.) ชักชวนเพื่อนฝูงจัดพิมพ์หนังสือออกจำหน่ายเดือนละเล่ม ใช้นามในงานนี้ว่า “นายเทพปรีชา” และได้พิมพ์เรื่องชีวิตสมรส เปนเรื่องแรก

เดือนพฤศจิกายน : ๑. A. แต่งเรื่องสั้นชื่อ “ของแสลง”” ให้แก่หนังสือพิมพ์ สมานมิตรบรรเทิง  ๒. A. เขียนหมายเหตุเบ็ดเตล็ดให้หนังสือพิมพ์สยามรีวิว  ๓. A. แต่งเรื่องสั้นชื่อ “ความสุขอยู่ที่ไหน?”  ตอนที่ ๑ ฝีปาก “ศรีบูรพา” ให้แก่หนังสือพิมพ์เริงรมย์  ๔. H. การต่อยมวยมีเวลาเล่นราว ๑ อาทิตย์ พิมพ์หนังสือคนละเลือด ออกจำหน่าย (W.)

เดือนธันวาคม : วัดน้ำหนักตัวได้ ๔๓ กิโลกรัม = ๙๔ ๓/๕ ปอนด์ การต่อยมวยพักตลอดเดือน ไม่ค่อยได้ทำอะไรเปนชิ้นเปนอัน ถ่ายยาฆ่าตัวพยาธิไม่สำเร็จ

เดือนมกราคม : แต่งหนังสือเรื่องมารมนุสส์ ยาว ๑๗ ยกครึ่ง ฝีปาก “ศรีบูรพา” (A.+W.) earn 30 tical (w.) รักษาเท้า  การต่อยมวยพักตลอดเดือน พิมพ์หนังสือเรื่องคู่สร้าง ออกจำหน่าย (W.)

เดือนกุมภ์ : พิมพ์หนังสือเรื่องมารมนุสส์ ออกจำหน่าย (W.) ไม่ค่อยได้ทำอะไรเปนชิ้นเป็นอัน อ่านหนังสือราชาธิราช ๑ จบ  การใช้จ่ายค่อนข้างเปลือง earn 40 tical (W.) แต่ง “ความผิดของพ่อบ้าน” ลงเสนาศึกษาฯ

เดือนมีนาคม : พิมพ์หนังสือเรื่องอย่าลืมฉัน ออกจำหน่าย แต่ง “ตายหนแรก” ลงเสนาศึกษาฯ เล่ม ๑๐ ตอน  ๒. การต่อยมวยเล่นบ้างเล็กน้อย  H. ไปปิกนิกบ่อย ๆ H. มีการถ่ายรูปกันอย่างสนุก ๆ มาก เนื่องด้วย สด กูรมะโรหิต ไปเรียนนอก  ใช้จ่าย…

ภาษาอังกฤษ  ยอดเยี่ยม !

ต่อยมวย  เก่ง !

อนามัย ดี !

พยามยามปฏิบัติ ทุกวัน !

พ.ศ. ๗๑

พ.ศ. ๒๔๗๑

เดือนเมษายน : ๑. พิมพ์หนังสือเรื่องนามหล่อนคือหญิง ออกจำหน่าย  ๒. เขียนเรื่องหัวใจปรารถนา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นเดือน เสร็จวันที่ ๑๘ ขนาด ๑๑ ยก earn 5 tical (75 w.)  ๓. ได้รับพระราชทานเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก ๔ บาท รวมเปน ๔๔ บาท (W.)  ๔. เดือนนี้มีฮอลิเดย์ ๒๐ วัน วันที่ ๒๑ เดินทางไปเปลี่ยนอากาศที่ประจวบฯ (H.)  การต่อยมวยมีสองสามวัน ภาษาอังกฤษไม่ได้ดูเลย.

เดือนพฤษภาคม :  ๑. พิมพ์หนังสือเรื่องหัวใจปรารถนา ออกจำหน่าย (W.)  ๒. เรียนหนังสืออังกฤษกับเจ้าคุณวรวิทย์ วันที่ ๗ เรียนอาทิตย์ละ ๔ ครั้ง ครั้งละ ๒ ชั่วโมง (A.)  ๓. วันที่ ๑๒ เริ่มบริหารกายทุกวัน  วันที่ ๑๓ เริ่มหัดมวย กำหนดอาทิตย์หนึ่งอย่างน้อย ๓ ครั้ง

เดือนมิถุนายน :  ๑. พิมพ์หนังสือเรื่องพรางรัก และโลกสันนิวาส ออกจำหน่าย (W.)  ๒. ภาษาอังกฤษเรียนเพียงครึ่งเดียว ต้องลาออกเพราะเวลาไม่มี แต่หาโอกาสดูโดยลำพังเสมอ (A.)  ๓. การบริหารกายพอใช้ได้ (W.)  ๔. แต่ง ลูกผู้ชาย ได้ ๒ บท (A.)

เดือนกรกฎาคม : ๑. พิมพ์หนังสือเรื่องดรุณีพี่น้อง กับเถ้าสวาท ออกจำหน่าย (W.)  ๒. ภาษาอังกฤษไม่ได้ดูเลย (A.)  ๓. การบริหารกาย มีบ้างเล็กน้อย  ต่อยมวยไม่มีเลย (H.)   ๔. แต่ง ลูกผู้ชาย ๑ บท (A.)  ๕. แต่งเล่นกับไฟ ตอนต้น ลงเสนาศึกษาฯ (๕๐๐)

เดือนสิงหาคม :  ๑. พิมพ์หนังสือเรื่องเถ้าสวาท เล่ม ๒ กับเล่ม ๓ ออกจำหน่าย (W.)

หมายเหตุ : หลักฐานชั้นต้นที่เป็นลายมือจาก บรรทึกการแต่งหนังสือ ของ กุหลาบ  สายประดิษฐ์ ในช่วงต้นของชีวิตการทำงานประพันธ์ ได้ทิ้งค้างไว้เพียงเท่านี้

พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๑๙๖ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔