“ศรีบูรพา”:ดั่งดวงเทียน ปืนและดอกไม้หอมในใจชน
ไพลิน   รุ้งรัตน์ 

หยดฝนย้อยหยาดฟ้ามาสู่ดิน ประมวลสิ้นเป็นมหาสาครใหญ่ 
แผดเสียงซัดปฐพีอึงมี่ไป พลังไหลแรงรุดสุดต้านทาน 
อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล 
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล มิอาจต้านแรงมหาประชาชน 

ข้าพเจ้านึกถึงบทกวีบทนี้ทันทีที่ทราบว่าองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติได้ประกาศยกย่องให้”ศรีบูรพา”หรือคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นบุคคลสำคัญของโลก และให้รายการฉลองครบชาตกาล 100 ปีของท่านในวันที่ 31 มีนาคม 2548 อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน) เป็นหนึ่งในรายการเฉลิมฉลองของยูเนสโกในปี 2548   บทกวีข้างต้นนี้เป็นของ”ศรีบูรพา”เองที่ท่านประพันธ์ไว้เมื่อครั้งยังอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้ข่าวเรื่องชัยชนะของประชาชนไทย ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  สมัยนั้นนักศึกษาได้นำมาร้องเป็นเพลงเพื่อชีวิตกันอยู่นานโดยไม่ทราบว่าเป็นบทประพันธ์ของท่าน  จนกระทั่งท่านเสียชีวิตแล้ว ความลับของบทประพันธ์นี้จึงได้เปิดเผยออกมา 

ความยืนยงของท่านช่างเหมือนกับความเปรียบในบทกวีนี้เหลือเกิน  ชีวิตและผลงานของท่านค่อย ๆก่อกำเนิดขึ้นมาเหมือนหยดน้ำเล็ก ๆ ที่หยาดจากฟ้ามาสู่ดิน  และรวมกันจนเป็นทะเลใหญ่  ใหญ่จนไม่อาจปิดบังเสียงที่แผ่ซัดปฐพีจนอึงมี่ไปนั้นได้  ชื่อเสียงและผลงานนั้นจึงไหลแรงรุดสุดใครจะต้านทาน  กลายเป็นคำประกาศขององค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติในที่สุด 

คุณกุหลาบ  สายประดิษฐ์ เป็นบุคคลพิเศษที่มีคุณลักษณะโดดเด่นปรากฏเป็นที่ประจักษ์ทั้งในความเป็น  “ชีวิต” และ “ผลงาน”  ไม่มีส่วนใดพร่องหรือด้อยไปกว่ากัน  หากกลมกลืนและสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์   กล่าวได้ว่า คุณกุหลาบ  สายประดิษฐ์ ในฐานะนักคิด นักหนังสือพิมพ์ผู้ต่อสู้เพื่อมนุษยชาติ  และ “ศรีบูรพา” ในฐานะนักเขียน ได้ดำเนินชีวิตไปอย่างไม่ขัดแย้งกัน    ซ้ำยังเสริมส่งให้แก่กันจนไม่อาจแยกจากกันได้  

ข้าพเจ้าเห็นว่า คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” คือภาพอันแยกไม่ได้ของ “นัก” หรือผู้ปฏิบัติการอันชำนาญในสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้      

หนึ่ง-นักคิดเพื่อมนุษยชาติ   

คุณกุหลาบ  สายประดิษฐ์ “คิด” และสื่อออกมาทั้งในชื่อ”กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ “ศรีบูรพา”และนามปากกาอื่น ๆบ้าง  ในรูปของบทความเป็นจำนวนมาก (อ่านได้จากนิพนธสาร  “ศรีบูรพา”เล่ม 1-2  รวบรวมโดยสมบัติ จำปาเงิน (สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2536) “ดวงเดือน ประดับดาว”  ได้เขียนถึง “ศรีบูรพา”ในแง่มุมนี้ไว้ในนิตยสารมติชนเทื่อ 15 เมษายน 2453 ว่า ท่านเป็น “ขุนพลคนสำคัญแห่ง”แนวรบ”วัฒนธรรมที่มีบทบาทเป็นอย่างสูง  เป็นบทบาทในการนำเสนอแนวคิดใหม่ แนวคิดด้าน”มนุษยภาพ”อันเป็นตัวแทนแห่งความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์”  

บทความที่โดดเด่นและเป็นที่อ้างถึงของนักอ่านนักเขียนอยู่เสมอคือ “มนุษยภาพ” ซึ่งอาจารย์สุภา ศิริมานนท์  นักหนังสือพิมพ์ศิษย์รุ่นน้อง ได้กล่าวถึงบทความ”มนุษยภาพ”ว่า  “เนื้อหาสาระของบทความนี้เป็นเสียงอุทธรณ์ของผู้ซึ่งปรารถนาจะสร้างสรรค์ความเป็นธรรมแห่งสังคม และปรารถนาจะทลายล้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอันอยุติธรรม..”(ความทรงจำ:ชีวิตและการต่อสู้ของกุหลาบ  สายประดิษฐ์ โดยสุภา ศิริมานนท์ โลกหนังสือ พฤศจิกายน 2521) 

ความเป็นนักคิดของท่าน  นับแต่ พ.ศ.นั้น  นับได้ว่าคือดวงเทียนดวงใหม่ของสังคมไทย  และของคนรุ่นหลัง 

สอง นักหนังสือพิมพ์เพื่อความเป็นธรรม 

ในส่วนที่เป็นการต่อสู้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เป็นนักหนังสือพิมพ์  คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมขนาดไหนย่อมเป็นที่ประจักษ์กันดี   คุณกุหลาบเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีคุณภาพ   คุณสุภา  ศิริมานนท์ ได้กล่าวไว้(ในบทความที่อ้างแล้ว)ว่า  คุณกุหลาบนั้น “ในยุคสมัยของท่าน ก็ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ชั้นหนึ่ง  ประกอบภารกิจด้วยหลักวิชาและเกาะแน่นกับจริยธรรมแห่งอาชีวปฏิญาณ  มีความเป็นธรรมในฐานะของหัวหน้างาน  และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา  แนะแนวให้อนุสาส์นเท่าที่จะให้ได้ตามความเหมาะสม  

ท่านเป็นบรรณาธิการหนังสือหลายเล่ม  อาทิ สุภาพบุรุษ (รายปักษ์) ไทยใหม่ (รายวัน) สุภาพบุรุษ-ประชามิตร  รวมทั้งการก่อตั้งกลุ่มนักเขียน อาทิ กลุ่มสุภาพบุรุษ คุณกุหลาบมีความเชื่อในระยะแรกเริ่มของการทำหนังสือพิมพ์ว่า กำลังใจและความบริสุทธิ์จะสามารถบดขยี้อุปสรรคต่าง ๆให้แหลกลาญไปหมด  และเรียนรู้ต่อมาว่า กำลังใจและความบริสุทธิ์นั้นมิใช่เพียงสองสิ่งที่จะบดขยี้อุปสรรคทั้งมวลให้แหลกลาญลงได้  เพราะว่าถึงโดยกำลังใจใหญ่หลวงเพียงใด  เราก็ไม่อาจเอาศีรษะชนก้อนศิลา  เพื่อที่จะให้ก้อนศิลาแหลกลงได้  แต่กำลังใจและความบริสุทธิ์นั้น ก็เป็นพรและความดีงามในตัวเอง”(จากบทความชื่อ  “ไปสู่ความระยิบระยับแห่งจักรวาลนั้น” ในเล่ม นิพนธสาร เล่ม 2)  

แม้ท่านจะสอนน้องให้ไม่ให้เอาหัวชนก้อนศิลา  แต่พอถึงเวลาที่จะต้อง “ชน”  คุณกุหลาบก็ “ชน”  ด้วยความยึดมั่นในอุดมการณ์ของนักหนังสือพิมพ์โดยไม่อ่อนข้อให้แม้แต่รัฐบาล(จอมพล ป.พิบูลสงคราม)ในสมัยนั้น  คุณกุหลาบจึงถูกจับกุมคุมขังถึง 2 ครั้ง  ในข้อหากบฎภายในราชอาณาจักร ครั้งแรกถูกจำคุก 3 เดือน และครั้งที่ 2 (2495) ถูกคุมขังอยู่  4 ปีเศษ  และเมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน(2500)  ระหว่างนั้นเกิดปฏิวัติรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ท่านจึงตัดสินใจไม่กลับประเทศไทย และลี้ภัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2517  โดยตลอดมาท่านศึกษาและทำงานต่อเนื่อง อย่างผู้ใฝ่รู้ผู้ไม่เคยหยุด (อ่านบทความ”ชีวิตศรีบูรพาในสาธารณรัฐประชาชนจีน” โดยสุชาติ ภูมิบริรักษ์ จากนิตยสารศรีบูรพา 3 ประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2543) 

การต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวในฐานะนักหนังสือพิมพ์ ทำให้คุณกุหลาบเป็นดั่ง “ปืน”ที่มีกระสุนที่ทรงอานุภาพน่าพิศวง  ยิงครั้งใดก็ตรงหัวใจของเผด็จการครั้งนั้น 

สาม-นักประพันธ์ผู้เปี่ยมด้วยสาระและวรรณศิลป์ 

ชื่อเสียงของ “ศรีบูรพา”ในฐานะนักประพันธ์นั้นเกรียงไกรและเกรียวกราว   ข้าพเจ้ารู้จักความเป็นนักประพันธ์ของท่านก่อนที่จะรู้จักความเป็นนักคิดและนักหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำไป   เพราะตัวอักษรของท่านนั้นอ่อนหวานและปลุกเร้าหัวใจให้กระโดดโลดเต้นอยู่ด้วยความพิศวง  ทั้งในความงามที่เห็นและในความลึกทางรสอารมณ์ที่ได้รับ  ไม่ว่าจะเป็น  ข้างหลังภาพ  สงครามชีวิต แสนรักแสนแค้น  ลูกผู้ชาย ฯลฯ   

ภาษาอันไพเราะมหัศจรรย์ของ “ศรีบูรพา” ทำให้นักอ่านจำนวนไม่น้อยกลายเป็น “หนอนหนังสือ” ที่ตามติดต่อเนื่อง และกลายเป็นนักคิดที่มีคุณภาพไปในที่สุด   นวนิยาย “ข้างหลังภาพ” (ตีพิมพ์กว่า 20 ครั้ง) ของท่านไม่เพียงทิ้งวลี 

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน   
แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”    

ไว้ในใจของนักอ่านมาจนปัจจุบันเท่านั้น  หากแต่ยังกลายเป็นนวนิยายที่มีผู้นำไปถ่ายทอดเป็นศิลปะแขนงอื่นหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งกลายเป็น”ตัวอย่างวรรณกรรม”สำหรับนักวิจารณ์ได้คิดค้นและหาแง่มุมใหม่ ๆมาวิจารณ์กันอยู่เป็นประจำ 

นวนิยายเรื่อง “จนกว่าเราจะพบกันอีก”และ “แลไปข้างหน้า” ( 1 ใน 100 เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน  งานวิจัยของ สกว. โดยวิทยากร  เชียงกูลและคณะ ) รวมทั้งเรื่องสั้น”คำขานรับ”และ “ขอแรงหน่อยเถอะ” ก็กลายเป็นคัมภีร์ความคิดสำหรับนักอ่านที่ต้องการ”สาระ”มากกว่า “วรรณศิลป์”   “ศรีบูรพา” สามารถปั้นตัวอักษรให้คนซึมซับความคิดและติดตามไปจนถึงแก่นแท้   ใช้ตัวอักษรสร้างให้คนได้ดื่มด่ำ  และได้คิดไปพร้อมกัน 

หากเปรียบตัวอักษรของ “ศรีบูรพา”เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง   ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นดั่งดอกไม้หอมที่เร้าใจ รื่นอารมณ์ ในขณะเดียวกันใช้ประโยชน์ได้  จะร้อยเป็นมาลัยหรือจะใช้บูชาพระ หรือจะเก็บไว้ดอมดมเองก็ดูจะเป็นประโยชน์ได้ทั้งสิ้น  

คุณกุหลาบ  สายประดิษฐ์  หรือ “ศรีบูรพา” จึงเป็นบุคคลสำคัญ เป็นบุคคลพิเศษ  เป็นนักหนังสือพิมพ์ตัวอย่าง  เป็นนักประพันธ์ในดวงใจ  และเป็นศิลปินวีรบุรุษที่ใครได้รู้จักผ่านตัวอักษรและแนวคิดแล้วไม่อาจถอนใจจากได้เลย