คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมสมควรได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2552


นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นนักประวัติศาสตร์ นักคิด นักเขียน และครู เกิดเมื่อวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม  2484 ที่อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อจบชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดราชบุรีแล้ว จึงสอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ ร.ร. สวนกุหลาบวิทยาลัย และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามลำดับ จบเป็นบัณฑิตสอบได้ที่ 1 เกียรตินิยมดี และได้รับรางวัลภูมิพล 6 เดือน จากนั้นได้รับทุน จากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาต่อปริญญาโททางการทูตทีสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา2 ปี จากนั้นต่อระดับปริญญาเอก ด้าน South East Asian History  ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล มลรัฐนิวยอร์ก 5 ปี โดยเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง The Rise of Ayudhya เมื่อกลับมาประเทศไทย เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในมหาวิทยาลัยหลายตำแหน่ง อาทิ หัวหน้าสาขาวิชาประวัติศาสตร์  รองผู้อำนวยการและกรรมการสถาบันไทยคดีศึกษา คณบดี รองอธิการบดี และอธิการบดี


ตลอดเวลาที่ผ่านมา นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ
เป็นนักวิชาการและครูจริงแท้ มีความรู้จริง เป็นตัวอย่างของนักเรียนในระบบ เป็นนักวิชาการ มีความคิดก้าวหน้า มีความกล้าหาญในการแสดงออกทางความคิด และมีความกล้าหาญทางจริยธรรมของความเป็นนักวิชาการที่จะตีแผ่ “ความจริง” ในทุกเรื่องที่กำลังเป็นปัญหา เขาใช้ความรู้ที่มีจากระบบการศึกษา และการเรียนรู้ใหม่ๆ เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศและนอกประเทศ รวมทั้งในเวทีสัมมนา สร้างผู้รู้ให้สังคม ทั้งยังผลักดันให้เกิดโครงการต่างๆ ที่ลงสู่เวทีชาวบ้านในรูปแบบ “ตลาดวิชา” เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเหตุการณ์ และพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไทย และประเทศเพื่อนบ้าน


เป็นนักคิดผู้ติด “อาวุธทางปัญญา” บุกเบิกความคิดใหม่ๆ ผ่านผลงานทั้งที่เป็นงานเขียนรวมเล่ม หนังสือกว่า 75 เล่ม บทความมากกว่า 200ชิ้น บทเขียน “คำนำ” อีกมากมายนับไม่ถ้วน รวมทั้งบทวิจารณ์หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและดนตรี และนวนิยายสำหรับเด็ก รวมทั้งเป็นนักแปลและบรรณาธิการอีกด้วย ไม่ว่าบรรณาธิการต้นฉบับเขียน ต้นฉบับแปล ต้นฉบับรวมบทความ


เป็นนักประวัติศาสตร์ก้าวใหม่ โดยเป็นหนึ่งในนักประวัติศาสตร์ที่เปิดยุคสมัยของการศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเพื่อนบ้านให้ก้าวพ้นจากการบอกเล่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วอย่างแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา มาเป็นประวีติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวา มีผู้คนหลากหลาย มีการแย่งชิง มีสุขสงบ มีหยาดเหงื่อ น้ำตาและเลือด ในแบบที่จินตนาการได้และเข้าใจได้ โดยนอกจากการบรรยายให้ความรู้แล้ว เขายังสร้างผลงานประวัติศาสตร์ในรูปหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์มีมากมายทั้งที่เขียนคนเดียว และที่เขียนร่วมกับผู้อื่น โดยมีทั้งประเภท “บุกเบิก” “เติมเต็ม” “ชำระสะสาง” และ “รื้อฟื้น” เรื่องราวเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ด้วยมุมมองในแนวของความรัก ความเข้าใจธรรมชาติของมนุษยชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และสันติทั้งภายในสังคมนั้นๆ และกับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน


เป็นนักบุกเบิกความคิดใหม่ๆ เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เขาสร้างผลงานทั้งด้านวิชาการ และด้านกายภาพให้มหาวิทยาลัย นับเป็นมรดกตกทอดจนถึงทุกวันนี้ เช่น การเขียนประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในชื่อหนังสือ สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง (2535) การสร้างจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ โครงการ TU Walking Tour หนังสือ ธรรมศาสตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่ (2548) ปืนใหญ่ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่ถูกขุดขึ้นมาเมื่อมหาวิทยาลัยมีอายุครบ 50 ปี และวางตั้งเรียงเป็นแถวอยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัย อนุสาวรีย์ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ “สปอร์ต คอมเพล็กซ์” ที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หอจดหมายเหตุ และหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นต้น


ด้วยผลงานอันมีประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมา คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพาจึงขอประกาศเกียรติให้นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาประจำปี พ.ศ. 2552 นับเป็นผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาลำดับที่ 21 และขอแสดงความยินดีด้วยกับขอเป็นกำลังใจให้สร้างสรรค์งานอันทรงคุณค่าต่อไปอย่างเต็มกำลัง

ประยอม ซองทอง
ประธานกองทุนศรีบูรพา


หลักการ “รางวัลศรีบูรพา”

“ศรีบูรพา” หรือนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นนักเขียนผู้มีเกียรติประวัติ ทั้งในผลงานและชีวิตที่ดีงาม มีงานเขียนหลากหลายทั้งในรูปแบบนวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี บทความ กวีนิพนธ์และเรื่องแปล ผลงานของท่านทรงคุณภาพ มีเนื้อหาสร้างสรรค์ เชิดชูศีลธรรมและความเป็นธรรม ในสังคม เชิดชูประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันประกอบด้วย ประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางสังคม งานของท่านมีวรรณศิลป์สูง  ได้รับความนิยมจากคนอ่านทั่วไปโดยเฉพาะในหมู่นักศึกษาและปัญญาชน สืบเนื่องจาก พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบัน

“กองทุนศรีบูรพา”  ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติและเพื่อสนับสนุนส่งเสริมศิลปินในสาขาต่างๆ นักเขียน กวี และนักหนังสือพิมพ์ ได้เอาเยี่ยงอย่างแบบฉบับการใช้ชีวิตที่ดีงาม และแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคม
รางวัล “ศรีบูรพา” เป็นรางวัลประจำปีที่คณะกรรมการ “กองทุนศรีบูรพา” ได้พิจารณาหารือและลงมติด้วยเสียงข้างมากเพื่อมอบให้กับบุคคลที่เข้าข่ายตามเงื่อนไขดังนี้

1 เป็นนักคิดนักเขียน นักแปล กวี หรือนักหนังสือพิมพ์ ที่มีแบบฉบับการใช้ชีวิตที่งดงาม และแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคมและมนุษยชาติมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนอย่างเช่น “ศรีบูรพา”
2 มีผลงานติดต่อกันเป็นเวลายาวนานไม่น้อยกว่า 30 ปี และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
3 ยังมีชีวิตอยู่

เงิน รางวัลประจำปี ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยของกองทุนฯ ที่ได้รับ แต่ไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50,000 บาท โดยคณะกรรมการกองทุนฯ จะเป็นผู้พิจารณาเป็นรายปี และการแจกรางวัลจะประกาศและแจกกันในวันนักเขียน  5พฤษภาคมของทุกปี

รางวัล “ศรีบูรพา” ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2531มีนักเขียนได้รับรางวัลติดต่อกันมา เป็นลำดับดังนี้
นาย ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์, นางสาวอำพัน ไชยวรศิลป์, คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง, นายอาจินต์ ปัญจพรรค์, นายสุจิตต์ วงษ์เทศ, นายสักษณ์ ศิวลักษณ์, นายกรุณา กุศลาศัย, นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี, นายวิทยากร เชียงกูล, นางสุภัทร สวัสดิรักษ์, นายสมชัย กตัญญุตานนท์ (ชัย ราชวัตร), นายเสถียร จันทิมาธร, นายนิธิ เอียวศรีวงศ์, นายธีรยุทธ บุญมี กับ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล, นายสมบูรณ์ วรพงษ์. นายสุรชัย จันทิมาธร, นายวัฒน์ วรรลยางกูร  นายสุทธิชัย หยุ่น และล่าสุด นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ