ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒

๑. เกริ่นนำ
ท่านนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ท่านประธานกองทุนศรีบูรพา ท่านสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี และสุภาพชน

วันนี้ ขอใช้สรรพนามแทนตัวว่า “ข้าพเจ้า” เพราะคำนี้  “ศรีบูรพา” ใช้ในความหมายของความเท่าเทียมกัน  ไม่ว่าจะด้วย “คุณวุฒิ-วัยวุฒิ-ชาติวุฒิ” และก็น่าจะขยายรวมถึง “เพศวุฒิ”

ขอขอบคุณคณะกรรมการฯ ที่ให้เกียรติในการประสาทรางวัล “ศรีบูรพา” ให้แก่ข้าพเจ้า ในปีนี้ซึ่งเป็นปีสำคัญมากๆ
เพราะเป็นปีที่ “ประเทศไทย” มีอายุครบรอบ ๗๐ ปีในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ (เปลี่ยนเมื่อ ๒๔๘๒)
ปีนี้ “ศรีบูรพา” ก็ครบรอบ ๑๐๔ ปี (เกิด ๒๔๔๘/๑๙๐๕ สิ้น ๒๕๑๗/๑๙๗๔)

ข้าพเจ้าเคยบ่นกับ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” และ “เสถียร จันทิมาธร” ว่าเมื่อไรจะได้รางวัล “ศรีบูรพา” เหมือนนักคิดนักเขียนใหญ่ๆทั้งหลายกับเขาสักที คำตอบก็คือว่า “ใจเย็นๆ แล้วก็จะได้เอง” ครับ จริงสิ ก็ไม่นานเกินรอ และก็ต้องขอบอกว่า “ภูมิใจจริงๆ ขอบใจจริงๆ”นี่ก็เหมือนอย่างที่เคยได้เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์นั่นแหละ คิดว่า “เท่ดี” เอาไว้ต่อท้ายชื่อ ซึ่งแต่นี้ต่อไปเบื้องหน้า
ข้าพเจ้าก็คงจะลงชื่อและตำแหน่งว่า “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิบการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา” ครับ

ข้าพเจ้าเป็นคนต่างจังหวัด (บ้านโป่ง ราชบุรี) มาจากครอบครัวอนุรักษ์นิยม เราเป็นครอบครัวที่อ่านหนังสือไม่น้อย
แต่ก็เป็นหนังสือที่เลือกค่าย คือ พ่ออ่าน “สยามรัฐ” และ “ชาวกรุง” แม่อ่าน “ศรีสัปดาห์” และ “สตรีสาร”

เมื่อข้าพเจ้ายังเยาว์วัยยังไม่ได้เข้ามา “ชุบตัว” ในพระนคร ก็รู้จักแต่เพียง “ป. อินทรปาลิต” พอเข้ากรุงก็ขยับมาสู่ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” “วิลาศ มณีวัต” และที่สำคัญ/ประทับใจอย่างยิ่ง คือ “รงค์ วงษ์สวรรค์” จำได้ว่าแปลกประหลาดดีที่ให้ “น้ำค้าง” นางเอกจากโพธาราม “เสียตัว” ตั้งแต่ต้นเรื่อง
ท่านสุภาพชน คงไม่ค่อยเชื่อว่าในชีวิตการอ่านครั้งโน้น ข้าพเจ้าไม่รู้จัก“เสนีย์ เสาวพงศ์” หรือ “ศรีบูรพา”

ทั้งๆที่ก็รู้จัก “ก. สุรางคนางค์”  รู้ว่าพจมานนั้น แม้จะเป็น “พินิตนันท์” ก่อนจะเป็น “สว่างวงศ์ฯ” เธอก็มีสิทธิเป็นเจ้าของ “บ้านทรายทอง”หาใช่ “หม่อมแม่” หรือ “หญิงเล็ก” พวกสว่างวงศ์ไม่แม้จะเข้าไปครอบครองอยู่นานแสนนาน
แต่มรดกตกทอดที่ทำไว้แต่สมัย “เจ้าคุณตา เจ้าคุณปู่” ก็ต้องตกเป็นของพจมานอยู่วันยังค่ำ (ยังกับเรื่อง “ปราสาทเขาพระวิหาร” หรือ “พื้นที่ทับซ้อน” ยังไงอย่างงั้นแหละ เศร้า !)

๒. “ศรีบูรพา-อากาศดำเกิง-ดอกไม้สด”

ข้าพเจ้าเริ่มรู้จัก “ศรีบูรพา” ก็เมื่อกำลังเรียนปริญญาเอกเข้าไปแล้ว ตอนนั้นก็ใกล้ “วันมหาปิติ” ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เข้าไปทุกทีจำได้ว่าเยาวชนคนหนุ่มสาว “รุ่นเดือนตุลา” ทำให้ข้าพเจ้าต้องทำความรู้จักกับ“สาย สีมา” หรือ “นพพรกับคุณหญิงกีรติ”ข้าพเจ้าจำได้ว่านักวรรณกรรมวิจารณ์ นำ “๓ นักเขียนใหญ่” มาวิเคราะห์เปรียบเทียบคือ “ศรีบูรพา” “ดอกไม้สด” และ “อากาศดำเกิง”ข้าพเจ้าจำได้เลาๆว่า รุ่นพ่อรุ่นแม่ (คือ ๙๐ กว่าปีมาแล้ว) จะพูดถึงนวนิยายเช่น “ผู้ดี” หรือ “ชัยชนะของหลวงนฤบาล” ส่วนคนรุ่นข้าพเจ้า (คือ ๖๐/๗๐ ปี หรือ “รุ่นขิงแก่” รุ่นท่านอดีต นรม. สุรยุทธ จุลานนท์ นั่นแหละ) ก็เป็นรุ่นที่คุ้นเคยกับ “อากาศดำเกิง” เพราะต้องอ่านหนังสือนอกเวลาอย่าง“ละครแห่งชีวิต” หรือไม่ก็“ผิวขาวผิวเหลือง”

เมื่อเร็วๆนี้ข้าพเจ้าตั้งคำถามกับนักศึกษาปี ๑ ที่ท่าพระจันทร์เยาวชนคนหนุ่มสาววัยเกือบๆ ๒๐ ซึ่งเป็นคนรุ่นที่เกิดมาพร้อมๆกับการสิ้นสุดของ“สงครามเย็น” และการพังทลายของ “กำแพงเบอร์ลิน” ช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ และต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ว่า ประโยคสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตคุณหญิงกีรติกล่าวว่าอะไรเชื่อไหม นักศึกษา (ส่วนใหญ่หญิง)
ไม่เพียงแต่จำได้เท่านั้น ยังท่องได้เกือบทุกคนแถมท่องให้ฟังลั่นห้องเรียนอีกว่า

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน
แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

แต่พอถามว่ารู้จัก “วิมล” ไหม และรู้ไหมใครพูดประโยคนี้ “แม้การเป็น “ผู้ดี…จะไม่ใช่สิ่งที่ง่ายนัก …
แต่ … ทุกคน … ก็มีสิทธิ์ … ที่จะเป็นไปได้” ปรากฏว่าไม่มีใครตอบได้เลยสรุป สำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาว
คนรุ่น “รักแห่งสยาม” และ “สะบายดีหลวงพระบาง” นั้น ทั้ง “อากาศดำเกิง” และ “ดอกไม้สด” ทั้ง “วิสูตร” และ “วิมล”
หาได้อยู่ในความทรงจำของเขาและเธอไม่

นี่ทำให้ข้าพเจ้าต้องตั้งคำถามว่า“ดอกไม้สด” “อากาศดำเกิง” และ “ศรีบูรพา”ต่างก็เป็นนักคิดนักเขียนใหญ่พอๆกัน ทั้งสามต่างผลิตงานเขียนที่สะท้อนยุคสมัยนั้นของท่าน ต่างก็เกิดปีเดียวกัน คือ พ.ศ. ๒๔๔๘ หรือ ค.ศ. ๑๙๐๕ คือ ๑๐๔ ปีมาแล้วแต่ทำไม “ศรีบูรพา” ถูกจำ หรือถูกให้จำ ส่วน “ดอกไม้สด” และ “อากาศดำเกิง” ถูกลืม หรือถูกให้ลืม
แน่นอนส่วนหนึ่งก็คือ ขึ้นอยู่กับว่านวนิยายเล่มไหนถูกกระทรวงศึกษาฯ หยิบขึ้นมาบังคับให้นักเรียนต้องอ่าน ให้ครูต้องนำมาออกข้อสอบ ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าคำอธิบายเพียงแค่ว่าเป็น“หนังสือบังคับ” จะเพียงพอ

ข้าพเจ้าคิดว่า “ความเป็นอมตะ” ของ “ศรีบูรพา” ถึงขนาดต้องมี “รางวัล” ถึงขนาดต้องมีการรำลึกถึงใน “วันนักเขียน”ถึงขนาดว่าต้องตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกเกือบ ๔๐ ครั้ง ถึงขนาด “เปี๊ยก โปสเตอร์” กับ “เชิด ทรงศรี” ต้องนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ (๒๕๒๘ และ ๒๕๔๔) ท้ายสุดเป็น “มิวสิคัล” โดยถกลเกียรติ วีรวรรณ ๒๕๕๒

แต่น่าจะมาจากการที่ “ศรีบูรพา” สะท้อนยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลง/ของความขัดแย้งของ “สังคม” ของเราเป็นอย่างดีในขณะเดียวกันก็สร้างความบันดาลใจไปสู่ “สังคมใหม่” ที่น่าจะดีกว่านั่นคือการสะท้อนให้เห็น “ความขัดแย้ง” ของ “สังคมเก่า” กับ “สังคมใหม่ สะท้อนอย่างโรแมนติค งดงาม เศร้า อย่างใน “ข้างหลังภาพ” แต่ก็อย่างเจ็บปวดและ “มีความหวัง” อย่างใน “แลไปข้างหน้า” กับ “จนกว่าเราจะพบกันอีก”

และตัวของ “ศรีบูรพา” เองก็ต้องตกเป็น “เหยื่อ” ของ “อธรรมแห่งยุคสมัย”ของ “อำมาตยาธิปไตย” ของ “ฟาสซีสต์” ของ “เผด็จการทหาร” ทั้งต้องติดคุก ทั้งต้องไปตายในต่างแดน

ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าตนเอง จะคิดเลยเถิดไปถึงขนาดว่า สังคมไทยที่ “ศรีบูรพา”พยายามสะท้อนออกมาให้เราเห็นและเข้าใจในขณะนั้น อาจจะไม่ต่างกับประโยคทองของ Gramsci นักปรัชญามาร์กซีสต์อิตาลี (1891-1937) ที่ถูกย่ำยีโดยฟาสซิสต์มุสโสลินีที่กล่าวไว้ว่า

The old world is dying away,
and the new world struggles to come forth:
now is the time of monsters.

“โลกเก่า กำลังตายจากไป
แต่โลกใหม่ยังต้องต่อสู้เพื่อให้เกิดขึ้นมาให้ได้
ณ เวลานี้แหละที่ปีศาจอสูรกายก็จะปรากฏ”

ข้าพเจ้าก็เชื่อว่า นี่แหละที่เป็นสาระสำคัญที่ทำให้ “ศรีบูรพา” เป็น “อมตะ” ที่ทำให้ต่างกับนักเขียนรุ่นเดียวกันอีก ๒ ท่านที่กล่าวมา

และหากจะศึกษางานของ “ศรีบูรพา” โดยละเอียดเราก็จะเห็นถึงวิวัฒนาการและการพัฒนาของความคิดและการเขียนของท่าน ซึ่งใน “ข้างหลังภาพ” (พ.ศ. ๒๔๘๐) นั้นเป็นยุคสมัยของโรแมนติก แม้จะมีเรื่อง “การปะทะสังสรรค์” กันของ “โลกเก่า” (คุณหญิงกีรติ) กับ “โลกใหม่ (นพพร)แต่ในขณะที่อีก ๒๐ ปีให้หลังทั้ง “จนกว่าเราจะพบกันอีก” (๒๔๙๓)
กับ “แลไปข้างหน้า” (๒๔๙๘ และ ๒๕๐๐) ได้พัฒนาไปไกลอีกขั้นหนึ่งแล้ว และ “ศรีบูรพา” ก็กำลังเดินทางทางความคิดของท่านไปสู่ “โลกใหม่” – “สังคมใหม่”

และดังนั้น จึงมีบทกวีนี้

หยดฝนย้อย หยาดฟ้า มาสู่ดิน
ประมวลสิ้น เป็นมหา สาครใหญ่
แผดเสียงซัด ปฐพี อึงมี่ไป
พลังไหล แรงรุด สุดต้านทาน
อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง
เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล
แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล
ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน

“สุชาติ สวัสดิ์ศรี บก. บันทึกไว้ในรวมเล่ม“ร้อยนักเขียน ร้อยกวี ร้อยปี ศรีบูรพา” เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่าบั้นปลายชีวิต ขณะลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน“กุหลาบ สายประดิษฐ์” ได้ทราบข่าวชัยชนะของนักศึกษา-ประชาชนในเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เขารู้สึกประทับใจและสะเทือนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้แต่งบทกวีชื่อ “พลังประชาชน” ชิ้นนี้ส่งมา…..และนี่อาจจะเป็นบทกวีชิ้นสุดท้ายของ เขาก็ได้ เพราะต่อจากนั้น อีกประมาณ ๙ เดือนต่อมา กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ถึงแก่กรรมที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๗ รวมอายุได้ ๖๙  ปี”

“ช่างเป็นความตายที่งดงามเสียนี่กระไร”

๓. ตามรอย “ข้างหลังภาพ” ที่ “มิตาเกะ”

เนื่องจากวันนี้เป็นวันดี และสิ่งที่ทางคณะกรรมการฯ ต้องการให้ข้าพเจ้าพูดก็ตั้งชื่อไว้ว่า “สุนทรกถา” ดังนั้น ข้าพเจ้าก็ขอพูดแต่เรื่องที่งดงามอย่างเรื่องของ “ความรัก” ก็แล้วกัน อย่างที่เราทราบกันดีว่า๕ ปีภายหลังการปฏิวัติ  พ.ศ. ๒๔๗๕ มีนวนิยายรักที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นเล่มหนึ่ง คือ “ข้างหลังภาพ” ของ  “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) นางเอก ม.ร.ว. หญิง กีรติ เป็นสตรีสูงศักดิ์ งดงามประหนึ่งดอกฟ้า แต่วัยและเวลาของเธอได้ล่วงเลยไปจนอายุ ๓๕ ปี ส่วนเจ้าคุณสามีก็อายุปาเข้าไป ๕๐ ทั้งคู่กำลัง “ขาลง”ในขณะที่ชายหนุ่มพระเอกนพพรก็มีอายุเพียง ๒๒ กำลังรุ่งโรจน์ “ขาขึ้น” ศึกษาวิชาธนาคารอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น อนาคตของเขากำลังสดใส และฉากรักของบุคคลทั้งสอง ที่ต่างทั้งวัย และต่างกัน ทั้งฐานะสภาพทางสังคมก็เกิดขึ้นที่ “มิตาเกะ” MITAKE

นพพรหลงรักและบูชาคุณหญิงกีรติอย่างบ้าคลั่ง ตามวิสัย “รักครั้งแรก” ของชายหนุ่ม หลายปีต่อมาเขาก็ลืมและเลือนความรู้สึกนั้นไป ในขณะที่คุณหญิงกีรติยังคงประทับใจและฝังแน่นกับความรักครั้งแรกของเธอที่ข้างหลังภาพ “มิตาเกะ” MITAKE

อย่างที่เรารู้กัน นวนิยายเรื่องนี้จบลงเมื่อคุณหญิงกีรติตายไปด้วยความโศกเศร้าและด้วยวัณโรค (โรคของนางเอก/พระเอกสมัยทศวรรษ ๒๔๗๐-๘๐)เธอทิ้งประโยคอมตะไว้ให้เราต้องท่องจำ

ข้าพเจ้าประทับใจนวนิยายเรื่องนี้มาก จำได้แม้แต่ว่าเมื่อคุณหญิงกีรติพบนพพรครั้งแรกนั้นเธอแต่งชุดสีน้ำเงินมีดอกขาว เธอสวยงามเหลือเกิน และก็ประทับใจต่อฉากรัก ที่นพพรลืมตัวสารภาพรักที่ “มิตาเกะ” และ “มิตาเกะ” ก็คือ “ข้างหลังภาพ” ของนวนิยาย ที่เต็มไปด้วยความรักและความเจ็บปวด

นี่ก็เป็นที่มาที่ข้าพเจ้าในฐานะของคนที่ถูกคุณยายบ่นว่า “ชีพจรลงเท้า” ตะเกียกตะกาย ไป “มิตาเกะ” ให้จงได้

ครั้งแรกไปกับเพื่อนญี่ปุ่นเมื่อปี ๒๕๒๖ครั้งหลังพานักคิดนักเขียนหลายคนไปเมื่อปี ๒๕๕๐ (เมื่อครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตของสยามกับญี่ปุ่น๑๒๐ ปี ระหว่างรัฐบาลของรัชกาลที่ ๕ กับจักรพรรคิเมจิ)

ครั้งแรกปี ๒๕๒๖ นั้นเป็นเดือนตุลาคม ฤดูใบไม้ร่วง อากาศเริ่มหนาว ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแดง ข้าพเจ้าโชคดีได้เพื่อนหญิงชาวญี่ปุ่นชื่อคาซึเอะ อิวาโมโต เป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ นำทางไป“มิตาเกะ” Mitake

อิวาโมโต ตอนนั้นทำงานอยู่ที่มูลนิธิโตโยต้า เราติดต่อกันมานานจนรู้จักกันดีพอควรเธอเป็นคนญี่ปุ่นที่แข็งขันและเป็นคนที่มีส่วนสำคัญให้นวนิยายไทยหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น “ข้างหลังภาพ” ของ “ศรีบูรพา” หรือ “ปีศาจ” ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” “สี่แผ่นดิน” ของ “ศึกฤทธิ์ ปราโมช” “จดหมายจากเมืองไทย” ของ “โบตั๋น” ฯลฯ

เราขึ้นรถไฟกันที่สถานีคิซิโจจิ ที่ชานเมืองโตเกียว(ไม่ได้ขึ้นที่สถานีชิงจูกุ ดังคุณหญิงกีรติและนพพรอย่างในเรื่อง) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ค่ารถไฟคนละ 470 เยนตกเป็นเงินไทยตอนนั้นประมาณ 50 บาท “มิตาเกะ” เป็นเมืองเล็กๆ สถานีรถไฟก็เล็กน่ารัก แบบสถานีรถไฟที่บ้านโป่งหรือโพธาราม

เราลงรถไฟที่นั่นวันนั้น อากาศเย็นแต่แดดจ้าเหมาะกับการไปชมฉากรักของ “ศรีบูรพา” เสียนี่กระไร เราขึ้นรถเมล์ต่อเพื่อขึ้นไปบนภูเขา “มิตาเกะ” ที่นั่น เรานั่งรถสายเคเบิล ซึ่งลากเราขึ้นไปไปครึ่งทางเกือบถึงยอดเขา ถามได้ความว่ารถสายเคเบิลนี้สร้างมาก่อนสงครามโลกที่สองแต่ “ศรีบูรพา” มิได้เอ่ยถึงไว้ในฉากรักของคุณหญิงกีรติและนพพร

เราค่อยๆ เดินกันต่อเพื่อไปให้ถึงยอดเขา หนทางเดินคดเคี้ยวไปตามไหล่เขามีนักท่องเที่ยวบางตา ทุกอย่างดูสงบ เห็นต้นซีดาขนาดใหญ่อย่างที่ “ศรีบูรพา” พูดถึงบางแห่งเป็นต้นเมเปิล ใบกำลังเหลืองเกือบป็นแดงหนทางที่เราเดินไปสงบเงียบ คดเคี้ยว และยังมีสภาพเป็นธรรมชาติที่สุด อิวาโมโตหันมาพูดกับข้าพเจ้าว่า“คุณคงเข้าใจแล้วใช่ไหม ว่าทำไม “ศรีบูรพา” เลือก “มิตาเกะ” เป็นฉากรักของ “ข้างหลังภาพ”ครับ ข้าพเจ้าต้องพยักหน้าเห็นด้วยเพราะ “มิตาเกะ” งดงามอย่างเรียบๆ เป็นธรรมชาติ เหมาะกับรสนิยมของ “ศรีบูรพา” ไม่หวือหวา หรูหรา และโด่งดังอย่าง “นิกโก” ซึ่งใครๆ ก็รู้จัก ใครๆ ก็ไปเที่ยวแต่ “มิตาเกะ” มีคนญี่ปุ่นที่ไม่รู้จักมากมาย คล้ายเป็นที่ลี้ลับ และมีความเฉพาะเป็นส่วนตัวของคนบางคน

เราไต่เขาตามทางเดินที่คดเคี้ยวไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงประตูเข้าศาลเจ้า “มิตาเกะ” ที่ด้านหน้าประตู มีบ่อน้ำและกระบวย
เราตักขึ้นมาดื่ม น้ำเย็นจัด เพราะเป็นน้ำภูเขาและก็ทำความสะอาดมือไม้นิดหน่อย ก่อนเข้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

“มิตาเกะ” เป็นศาลเจ้าเล็กๆ ตามแบบศิลปะญี่ปุ่นที่เราเห็นทั่วไป งดงามเป็นระเบียบ และที่สำคัญคือสะอาดมาก
เพราะนักบวชประจำศาล ขยันทำงานปัดกวาดไม่เอาแต่ “จำวัด/จำศาล”กันเฉยๆ

ในทัศนะของข้าพเจ้า ศิลปะญี่ปุ่นเก่านับว่าพัฒนาไปสู่ความเป็นสุนทรีสุดยอดแม้จะได้อิทธิพลจีนราชวงศ์ถังมา
แต่ก็กลายเป็นญี่ปุ่นไปแล้ว ที่น่าทึ่งมากก็คือการที่คนญี่ปุ่นพัฒนาศิลปะของตนให้เข้ากับธรรมชาติ ด้วยการใช้สีสันและขนาดไม่ฉูดฉาด ไม่อหังการ์ ไม่ท้าทายว่าตนซึ่งเป็นมนุษย์ จะอยู่เหนือธรรมชาติ
ศาล “มิตาเกะ” มีส่วนผสมระหว่างชินโตและพุทธศาสนาพูดง่ายๆ คือ ผสมระหว่างศาสนาเดิมของญี่ปุ่นที่มีเทพเจ้าและการบูชาบรรพบุรุษ กับการถือพระรัตนตรัย

วันนั้น ข้าพเจ้าเดินลงจาก “มิตาเกะ” ด้วยหัวใจที่อิ่มเอิบดีใจที่ได้มาเห็นภาพของ “ข้างหลังภาพ” นึกถึงความรักและความตายอันเจ็บปวดของคุณหญิงกีรติ เธอร่วงโรยไปพร้อมกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ในขณะที่นพพรชายหนุ่มซึ่งเป็น “คนใหม่” กำลังมากับ “สังคมใหม่” เป็นนักเรียนนอกและนายธนาคาร กำลังทำท่าจะมีอนาคตรุ่งโรจน์ทั้งด้านการงานและชีวิตครอบครัว

“ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายใดดอก แต่เป็นภาพชีวิตรักที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมและกาลเวลา”

ขอบคุณครับ “ศรีบูรพา” ที่สอนให้ข้าพเจ้า “รักธรรมศาสตร์” “รักประชาชน” และยัง “รักวรรณกรรม” อีกด้วย